xs
xsm
sm
md
lg

คนชาติไหนมา “ค้าแรงงาน” ในญี่ปุ่นมากที่สุด?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ทุกวันนี้ พนักงานในร้านค้าของญี่ปุ่นที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ชัดมีมากขึ้นจนรู้สึกได้ โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ด้วยหน้าตาแบบคนเอเชีย หากไม่ฟังสำเนียง บางทีก็ดูไม่ออกว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่พอพูดออกมา จึงทราบว่าไม่ใช่แน่ ๆ พอเหลือบมองป้ายชื่อจึงยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็นคนต่างชาติ และที่สะดุดตากว่าเมื่อก่อนคือ เดิมมักเห็นป้ายชื่อคนต่างชาติเขียนด้วยตัวอักษรจีนเพราะเป็นคนจีนหรือเกาหลี แต่ตอนนี้เห็นป้ายชื่อเป็นตัวอักษรคะตะกะนะมากขึ้น นั่นหมายความว่าคนเหล่านี้มาจากชาติอื่นที่ไม่ได้ใช้ตัวอักษรจีน

คนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มาระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงคนที่อยู่นาน ๆ และไปลงทะเบียนเป็นผู้พำนักกับทางเขต เมื่อปี 2560 ในประชากรรวมของญี่ปุ่นราว 120 ล้านคน มีคนต่างชาติประมาณ 2.47 ล้านคน หรือเกือบ 2% ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับหลายประเทศในยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ (29%) ยังถือว่าต่ำมาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสี่ห้าปีนี้

คนญี่ปุ่นเคยเชื่อว่าประเทศนี้มีความเป็นเนื้อเดียวกันสูงในด้านชาติพันธุ์ หรือเรียกว่า “เอกพันธุ์” หมายความว่า มีคนชาติพันธุ์อื่นเข้ามาปะปนอยู่ในสังคมญี่ปุ่นน้อย แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นเพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยน เด็กเกิดน้อยลง ผู้สูงวัยมีมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาแรงงานที่ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนำหน้าประเทศไทยไปแล้ว และไทยก็ควรดูความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นให้ดี เผื่อจะนำมาเป็นแนวทางปรับตัวในอนาคต อย่างของไทย ลองไปดูได้ในภาคประมง แทบจะหาคนไทยไม่ได้ มีแต่พม่ากับกัมพูชา

ของญี่ปุ่นนั้นทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างก็ขาดคนทำงาน เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่พากันละทิ้งภาคเกษตร แล้วมุ่งหน้าเข้าเมือง โรงงานอุตสาหกรรมหาคนได้ไม่พอกับงาน จึงต้องจ้างแรงงานต่างชาติมากขึ้น จากการสำรวจของกระทรวงยุติธรรม ในปี 2560 จากชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นทั้งหมด มี 1.08 ล้านคนเป็นคนทำงาน (ส่วนที่เหลือ เช่น นักศึกษา คู่สมรส) ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 2550 หลังจากเกิน 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 สำหรับจำนวนชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นมากที่สุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 มีดังนี้

1 .จีน 711,486
2. เกาหลีใต้ 452,953
3. ฟิลิปปินส์ 251,934
4 .เวียดนาม 232,562
5. บราซิล  185,967
6. เนปาล 74,300
7. อเมริกา  54,918
8. ไต้หวัน 54,358
9. ไทย 48,952
10. เปรู  47,861


จากอันดับข้างต้น เมื่อมองในเชิงภูมิศาสตร์กับประวัติศาสตร์ก็พอจะทำความเข้าใจแบบกว้าง ๆ ได้ว่าทำไมคนจากบางประเทศจึงมีมากในญี่ปุ่น ในกรณีของคนจีนกับเกาหลีใต้ มีมากเพราะอยู่ใกล้ญี่ปุ่น ทำธุรกิจระหว่างกันมาก และนักศึกษาจากสองประเทศนี้นิยมไปเรียนที่ญี่ปุ่นกันมาก ทั้งจีนและเกาหลีมีรากทางวัฒนธรรมร่วมกับญี่ปุ่นด้านภาษา คนญี่ปุ่นใช้ตัวอักษรจีนซึ่งเรียกว่าคันจิ คนเกาหลีก็เคยใช้ตัวอักษรจีนอย่างแพร่หลายเมื่อสมัยก่อนและไวยากรณ์ภาษาเกาหลีก็คล้ายกับภาษาญี่ปุ่นมาก ทำให้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นได้เร็ว ญี่ปุ่นในฐานะประเทศชั้นนำของโลกจึงเป็นที่หมายอันดับต้น ๆ ของนักศึกษาของสองประเทศนี้ ในห้องเรียนภาษาญี่ปุ่นตามสถาบันต่าง ๆ คนจีนคือลูกค้าอันดับ 1 และแทบไม่มีห้องไหนที่ไม่มีนักศึกษาจีนกับเกาหลีใต้

หรืออย่างคนสัญชาติบราซิลกับเปรู หากมองในเชิงภูมิศาสตร์จะเห็นชัดว่าอยู่ไกลญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อมองประวัติศาสตร์จะพบว่าในประเทศเหล่านี้มีคนเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่า “นิกเก-จิง” (日系人;Nikkeijin ) อยู่มาก เพราะสมัยก่อน ญี่ปุ่นจน ไม่ได้เจริญอย่างตอนนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงออกไปเสี่ยงโชคในต่างแดนและกลายเป็นนิกเกจิงในปัจจุบัน เช่น ในบราซิล มีคนเชื้อสายญี่ปุ่นราว 1.4 ล้านคน ในเปรูมีเกือบ 1 แสนคน ทางการญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะมองคนเหล่านี้แบบอะลุ้มอล่วยมากกว่าคนต่างชาติทั่วไป นิกเกจิงที่เข้ามาเป็นแรงงานในญี่ปุ่นจึงมีมานานแล้ว

สมัยที่ผมเรียนภาษาญี่ปุ่น ก็มีคนเปรูมานั่งเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน ทีแรกสงสัยว่าคนเปรูหน้าตาแบบนี้มีด้วยหรือ ดูเป็นญี่ปุ่นไปหมดแต่มาจากเปรู เนื่องจากไม่ทราบประวัติศาสตร์ จึงงงว่าคนญี่ปุ่นคนนี้มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกับนักศึกษาต่างชาติทำไม ต่อมาถึงได้รู้จักคำว่า “นิกเก-จิง” และเมื่อไปทัศนศึกษาโรงงานในต่างจังหวัด เห็นผู้หญิงหน้าตาเป็นลูกผสมญี่ปุ่นกับลาติน ถึงได้เข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้นว่าญี่ปุ่นรับแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือเข้ามาทำงานด้วย แต่ก็เลือกประเภท (หรือประเทศ) ที่จะรับ

ส่วนคนจากประเทศอื่นที่อาจมีมิติทางภูมิศาสตร์กับประวัติศาสตร์กับญี่ปุ่นไม่ชัดนัก ส่วนใหญ่มีมิติทางเศรษฐกิจว่าด้วยกำลังแรงงานเป็นเหตุผล หากถามว่าในปัจจุบันการไปทำงาน หรือ “ขายแรงงาน” ในญี่ปุ่นนั้นทำได้ง่าย ๆ หรือ? คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่คนในประเทศกำลังพัฒนาทราบดีคือ การทำงานในญี่ปุ่นมีรายได้ดีกว่าในประเทศตัวเอง เพราะค่าแรงสูงกว่ากันมาก จึงพยายามไขว่คว้าโอกาสนั้นมาด้วยช่องทางต่าง ๆ ทั้งการไปเรียน แต่งงาน หรือแม้กระทั่งลักลอบ

ในกรณีของคนไทย มักมีข่าวลือเป็นระยะ ๆ ว่าไปทำงานที่ญี่ปุ่นเก็บเงินได้เยอะอย่างโน้นอย่างนี้ ในฐานะคนที่อยู่มานาน คงต้องบอกว่า หากมีคนชวนไปทำงานที่ญี่ปุ่น (ประเภทร้านอาหาร ร้านนวดแผนโบราณ) ขอให้ตั้งข้อสงสัยและสืบข้อมูลให้ดีเสียก่อน เพราะโดยระบบของญี่ปุ่นนั้น ไม่ออกวีซ่าทำงานให้คนต่างชาติง่าย ๆ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วทำไมคนฟิลิปปินส์ เวียดนาม เนปาลถึงได้มีมากมาย? โดยเฉพาะคนเวียดนามกับเนปาลซึ่งตอนนี้เพิ่มขึ้นมากชนิดที่คนญี่ปุ่นเองก็ประหลาดใจเมื่อได้เห็นสถิติ

ปัจจัยหนึ่งคือระบบฝึกงาน ชื่อญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของโครงการนี้ เรียกว่า Ginō Jisshū Seido (技能実習制度) หรือ “ระบบฝึกปฏิบัติทางเทคนิค” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาฝึกงานเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในสถานที่จริงโดยได้รับค่าตอบแทน พอได้ยินคำว่าฝึกงานแถมยังได้เงินด้วยย่อมดึงดูดความสนใจของคนในประเทศที่ค่าแรงถูก แต่เอาเข้าจริงมีทั้งกรณีที่ได้ฝึกจริงหรือเรียนรู้จริง และกรณีที่เป็นวาทกรรมปิดบังการขูดรีดแรงงานแบบโหด ๆ เท่าที่ผ่านมาคนจีนมีอัตราส่วนสูงสุดในระบบนี้ รอง ๆ ลงมาคือคนเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีคนไทยประปราย แต่ระยะหลัง เนื่องจากค่าแรงในจีนเริ่มสูงขึ้น คนจีนที่สมัครเข้าโครงการนี้จึงเริ่มลดลง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่เปิดรับคนงานประเภทใช้แรงอยู่แล้ว แต่ ‘ระบบฝึกงาน’ ซึ่งเป็นคำที่ดูดีคือช่องทางที่ทำให้ญี่ปุ่นมีคนเข้ามาทำงานในภาคที่แรงงานไม่พอ ไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารเครือข่ายเท่านั้น แต่ในโรงปฏิบัติการที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้เห็นก็มีคนต่างชาติทำงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานหนัก ๆ ประเภทที่ต้องใช้แรงและทำตอนกลางคืนซึ่งคนญี่ปุ่นไม่อยากทำ เช่น โรงทำข้าวกล่อง โรงทำแซนด์วิช โรงคัดอาหารทะเล คลังแยกสินค้าเพื่อจัดส่ง การส่งหนังสือพิมพ์ (ซึ่งต้องตื่นเช้ามาก ถ้าหน้าหนาวละก็ สุดแสนจะทรมาน)

สำหรับคนเนปาลซึ่งถือว่ามาแรงในช่วงห้าหกปีนี้ ช่องทางที่ทำให้ไปญี่ปุ่นได้คือ “การศึกษา” ที่ไม่ใช่การเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอีกมากมาย แม้วีซ่าจัดอยู่ในประเภทนักศึกษาต่างชาติ แต่เป็นที่รู้กันว่าคนจำนวนมากมีวัตถุประสงค์ด้านการทำงานเก็บเงิน เรื่องเรียนกลายเป็นเรื่องรอง

อันที่จริง ประเทศที่คนเนปาลไปหางานทำได้ง่ายที่สุดคืออินเดีย เพราะอยู่ติดกันและอยู่ในระยะพัฒนาอย่างกว้างขวาง แต่สวัสดิภาพที่นั่นเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งอย่างหนึ่งที่ทำให้ลังเล นอกจากนั้นยังมีประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่การได้มาซึ่งวีซ่าก็ยากเย็น ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นที่หมายใหม่ โดยเฉพาะหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2554 ทำให้นักศึกษาจากจีนและเกาหลีใต้ลดลงไปช่วงหนึ่ง นักศึกษาจากเนปาลและเวียดนามคือส่วนที่มาเติมจุดนั้น และเป็นที่ทราบกันว่าคนจากทั้งสองประเทศนี้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้ได้ไปเรียน (เพื่อทำงาน) ที่ญี่ปุ่น ซึ่งกฎหมายญี่ปุ่นก็อนุญาตให้นักศึกษาทำงานได้ในจำนวนชั่วโมงที่จำกัด

แนวโน้มด้านแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นชัดเจนขึ้นทุกปี และต่อจากนี้ไปอีกไม่นานจะต้องมีการปรับตัวแน่นอน เพราะต่อให้เทคโนโลยีพัฒนาแค่ไหน อุตสาหกรรมบางประเภทก็ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนอยู่ดี ในเมื่อคนญี่ปุ่นไม่ทำ หรือไม่มีคนญี่ปุ่นเกิดมาทำ แล้วจะหาใครมาทำได้นอกจากคนต่างชาติ การจัดโครงการที่เรียกว่า “ฝึกงาน” นั้น จริง ๆ ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นคือ ต้องรัดกุมและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และหากต้องการแรงงานที่จะมาทำงานจริง ๆ ควรจะประกาศให้ชัดหรือแก้กฎหมายไปเลยว่าต่อไปนี้ญี่ปุ่นจะรับแรงงานมาทำงาน...ไม่ใช่ฝึกงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าลุ้นกันต่อไปว่า หากประกาศรับจริง ๆ คนไทยจะได้รับสิทธิ์ให้สมัครไปด้วยหรือไม่

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น