xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ : “กฎหมายว่าด้วยการสละราชสมบัติ” ของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ภาพเอพี
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นกำลังจะผลัดแผ่นดินในไม่ช้า เพราะสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันจะสละราชสมบัติค่อนข้างแน่นอนภายในสิ้นปี 2561 ความเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นที่จับตาไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า รัฐสภาผ่านกฎหมายรองรับออกมาแล้ว ชื่อเต็มของกฎหมายค่อนข้างยาว คือ “กฎหมายกรณีพิเศษกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิ” (天皇の退位等に関する皇室典範特例法; Tennō tai-i tō ni kan suru kōshitsu tenpan toku rei hō) คำสำคัญที่ได้ยินบ่อยในระยะนี้จึงได้แก่ กฎมณเฑียรบาล โจโก โจโกโง

คำว่า “กฎมณเฑียรบาล” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “โคชิสึ เท็มปัง” (皇室典範; kōshitsu tenpan) เป็นกฎที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นในปัจจุบันคือบทบัญญัติที่กำหนดความเป็นไปของจักรพรรดิวงศ์ ประกาศใช้เมื่อปี 1947 (พ.ศ. 2490) ร่างโดยรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีชิเงะรุ โยะชิดะโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่อเมริกาเขียนขึ้นหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นประกอบด้วย 5 หมวดใหญ่ คือ
1) การสืบราชสันตติวงศ์
2) จักรพรรดิวงศ์ เช่น สมาชิก การเอ่ยพระนาม
3) ผู้สำเร็จราชการ
4) ข้อกำหนดเชิงพิธีการ เช่น การเฉลิมพระชนมายุ พระราชพิธี สาแหรกจักรพรรดิวงศ์ เป็นต้น
5) สภาสำนักพระราชวัง

ในแต่ละหมวดมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกมาก แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือเรื่องการสืบสันตติวงศ์ กล่าวคือ ผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แต่เชื้อพระวงศ์รุ่นหลังๆ ของญี่ปุ่นต่อจากมกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีเจ้าชายฮิซะฮิโตะพระองค์เดียวที่เป็นชายโดยในปี 2560 มีพระชันษา 11 พรรษา อีกทั้งเชื้อพระวงศ์ผู้หญิงที่เสกสมรสกับสามัญชนก็สละฐานันดรศักดิ์ออกมาเป็นสามัญชน ดังเช่นพระธิดาองค์สุดท้องของสมเด็จพระจักรพรรดิ และในระยะนี้ก็เกิดกระแสเรียกร้องขึ้นมาอีกระลอกว่า ควรปรับเปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันได้แล้ว เมื่อมีข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า เจ้าหญิงมะโกะพระนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิจะเสกสมรสกับพระสหายร่วมมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นชายสามัญชน ซึ่งทำให้จำนวนเชื้อพระวงศ์ยิ่งลดลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ในกฎมณเฑียรบาลไม่ได้ระบุถึงการสละราชสมบัติ และการสืบสันตติวงศ์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นเท่าที่ผ่านมาในช่วง 200 ปีก็เกิดขึ้นเมื่อจักรพรรดิสวรรคตเท่านั้น แต่ข่าวลือเรื่องพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิเกี่ยวกับการสละราชสมบัติก็เกิดขึ้นพักใหญ่ตั้งแต่ปีต้นๆ ปี 2559 และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยแสดงพระราชประสงค์ โดยระบุเป็นนัยถึงเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ทราบอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วด้วยเหตุผลด้านพระพลานามัยของพระองค์ซึ่งมีพระชนมายุ 83 พรรษา

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มหาทางออก โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ จนในที่สุดก็จัดทำกฎหมายดังที่ประกาศออกมา กฎหมายว่าด้วยการสละราชสมบัติฯ นั้นจะเรียกว่าเป็นการแก้กฎหมายก็ไม่เชิง เพราะเดิมไม่มีกฎหมายแบบนี้ ครั้งนี้เป็นการออกกฎหมายใหม่ และเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้กับกรณีสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเท่านั้น และเนื่องจากเข้าข่ายกฎหมายเฉพาะกาล จึงดำเนินการเสร็จสิ้นได้ในเวลาไม่นาน
ภาพเอพี
สาระสำคัญประกอบด้วย อารัมภบท ซึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระจักรพรรดิผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมายาวนานและพระชนมายุของพระองค์ และมกุฎราชกุมารซึ่งขณะนี้มีพระชนมายุ 57 พรรษา จากนั้นก็ระบุรายละเอียดว่า รัชทายาทจะขึ้นครองราชย์ต่อทันทีเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติตามกฎหมายนี้ และจะมีการเฉลิมพระนามสมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีองค์เดิมว่า “โจโก” กับ “โจโกโง” ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทบัญญัติบางส่วนแล้ว กฎหมายนี้จะมีอายุไม่เกิน 3 ปีนับตั้งแต่ประกาศเป็นกฎหมาย

สำหรับการเอ่ยพระนามนั้น โดยทั่วไปคำว่า “จักรพรรดิ” เรียกว่า “เท็นโน” (天皇;tennō) กับ “จักรพรรดินี” เรียกว่า “โคโง” (皇后;kōgō) หลังจากการสละราชสมบัติ ตามกฎหมายนี้จะเรียกว่า “โจโก” (上皇;jōkō) กับ “โจโกโง” (上皇后;jōkōgō) เมื่อเทียบเป็นภาษาไทยจะตรงกับ “พระเจ้าหลวง” —พระเจ้าแผ่นดินที่สละราชสมบัติให้แก่รัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน และ “พระพันปี” —คำเรียกพระราชชนนี ตามลำดับ

แต่ประเด็นเดิมตามที่มีกระแสเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สืบสันตติวงศ์ได้สะดวกขึ้นนั้นไม่ถูกแตะต้อง นักการเมืองและนักวิชาการหลายคนเรียกร้องให้ร่างกฎหมายเพื่อให้สตรีขึ้นครองราชย์ได้และให้จัดโครงสร้างเสียใหม่แม้ว่าเชื้อพระวงศ์หญิงจะแต่งงานกับสามัญชนก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะดูเหมือนลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะยังมีนักการเมืองสายอนุรักษนิยมยึดมั่นจุดยืนเดิมอยู่คือ “ผู้ชายและผู้สืบเชื้อสายทางพ่อเท่านั้น” นั่นหมายความว่า ผู้สืบบัลลังก์ต้องเป็นผู้ชายโดยมีฝ่ายพ่อที่มาจากเชื้อพระวงศ์ เช่น สมมุติว่า เจ้าหญิงไอโกะซึ่งเป็นพระธิดาในมกุฎราชกุมาร เสกสมรสกับสามัญชนและทรงมีพระโอสร แต่พระโอรสก็จะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์จักรพรรดิไม่ได้เพราะพ่อเป็นคนนอก

เมื่อการสละราชสมบัติมาถึง ก็จะเป็นครั้งแรกในช่วงประมาณสองศตวรรษของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และญี่ปุ่นก็จะเปลี่ยนชื่อศักราชด้วย การะบุศักราชในวันเดือนปีที่ญี่ปุ่นเมื่อต้องเขียนเอกสารทางการนั้น ใช้ทั้ง 2 ระบบ คือ “ศักราชญี่ปุ่น” ซึ่งก็คือยุคสมัยของจักรพรรดิแต่ละพระองค์ และคริสตศักราชตามที่รู้จักกันทั่วไป ดังนั้น พอจักรพรรดิองค์ใหม่เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จากศักราช “เฮเซ” (平成; Heisei) ในปัจจุบันซึ่งปีนี้คือ “เฮเซ 29” ก็จะขึ้นต้นศักราชใหม่

ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป ญี่ปุ่นเริ่มเตรียมการอย่างเงียบๆ แล้วในด้านพิธีการ ซึ่งจะมีทั้งการสละราชสมบัติและการขึ้นครองราชย์ติดๆ กัน ทางด้านมกุฎราชกุมารก็ทรงตระหนักดี พระองค์จึงทรงแสดงพระราชปณิธานในการสานต่อพระราชกรณียกิจแล้วก่อนเสด็จเยือนเดนมาร์กเมื่อช่วงกลางเดือน

แต่ถึงแม้ว่าเรื่องการสละราชสมบัติจะผ่านพ้นไปได้ แต่ประชาชนญี่ปุ่นยังเฝ้าดูอยู่ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะปฏิรูประบอบจักรพรรดิซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างไรต่อไป การออกกฎหมายที่เปิดทางให้มีการสละราชสมบัติได้นั้นเป็นแค่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาหากสายอนุรักษนิยมลดท่าทีให้อ่อนลงคือจำนวนเชื้อพระวงศ์ที่ลดลงมากโดยเฉพาะผู้ชายจะเป็นอุปสรรคในการสืบทอดบัลลังก์เบญจมาศอย่างแน่นอน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น