รอยเตอร์ - รัฐสภาญี่ปุ่นในวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งที่เปิดทางให้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงสามารถสละราชสมบัติตามพระราชประสงค์ นับเป็นการสละราชสมบัติครั้งแรกในรอบกว่า 2 ศตวรรษของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระชนมายุ 83 พรรษา ซึ่งทรงเคยได้รับการผ่าตัดพระหทัยและทรงเคยรับการรักษาโรคมะเร็งพระอัณฑะ เคยตรัสกับสาธารณะเมื่อปีที่แล้ว แสดงความกังวลพระทัยว่าความชราอาจทำให้พระองค์ไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างเต็มที่ และทรงมีพระราชประสงค์สละราชสมบัติ ส่งมอบราชบัลลังก์แด่เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 57 พรรษา
ทั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ได้ทรงงานหนักมาตลอดหลายทศวรรษทั้งภายในและต่างประเทศ ในความพยายามบรรเทาบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสู้เพื่อพระนามของพระราชบิดา สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ
ในการโหวตที่ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค วุฒิสภา หรือสภาบนของญี่ปุ่น ลงมติรับรองกฎหมายฉบับดังกล่าว หลังจากที่มันผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างที่มีอำนาจมากกว่า ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
“จะเป็นการสละราชสมบัติครั้งแรกในรอบ 200 ปี มันเป็นการเตือนความทรงจำของผมอีกครั้ง ว่า เรื่องนี้มีความสำคัญกับรากฐานของประเทศเรามากแค่ไหน ทั้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานและในอนาคตสืบไป” นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะบอกกับผู้สื่อข่าวหลังผลโหวต
จากนี้รัฐบาลจะเป็นผู้สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับการสละราชบัลลังก์ ในนั้นรวมถึงกำหนดเวลา โดยสื่อมวลชนคาดหมายว่าการสละราชสมบัติน่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2018
การแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้จักรพรรดิสละราชสมบัติได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมญี่ปุ่นถกเถียงกันว่า ญี่ปุ่นควรแก้กฎมนเทียรบาลเพื่ออนุญาตให้สตรีสามารถสืบราชบัลลังก์ได้ด้วยหรือไม่
ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นจากความวิตกกัน ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชายในราชวงศ์ดอกเบญจมาสกำลังลดจำนวนลง เจ้าชายนารุฮิโตะนั้นไม่มีพระโอรส ทำให้หากพระองค์ขึ้นครองราชย์ เจ้าชายอะกิชิโนะ พระอนุชา จะขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร แล้วจากนั้นรัชทายาทลำดับถัดไป คือ เจ้าชายฮิซะฮิโตะ พระโอรสของพระองค์ที่ปัจจุบันมีพระชันษาเพียง 10 ปี หากต่อไปเจ้าชายฮิซะฮิโตะไม่มีพระโอรส ราชวงศ์ญี่ปุ่นจะประสบวิกฤตทันที
ข้อถกเถียงเรื่องความเสมอภาคทางเพศในการสืบราชสันติตวงศ์ยังรวมถึงการเรียกร้องให้พระราชวงศ์ฝ่ายหญิงสามารถรักษาฐานันดรศักดิ์ไว้สืบไป แม้จะเสกสมรสกับสามัญชน เพื่อเพิ่มจำนวนของพระบรมวงศานุวงศ์