รัฐสภาญี่ปุ่นลงมติร่างกฎหมายที่จะทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันทรงสละราชสมบัติได้ และพ่วงมติให้พิจารณาเรื่องการให้เชื้อพระวงศ์ที่เป็นสตรีสามารถอยู่ในราชวงศ์ต่อไปได้ ถึงแม้จะสมรสกับสามัญชน
รัฐสภาญี่ปุ่นมีมติในวันนี้ (9 มิถุนายน) ผ่านร่างกฎหมายพิเศษที่มีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันที่แสดงพระราชประสงค์สละราชสมบัติ และให้มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อไป ซึ่งเป็นการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 200 ปี
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา และเมื่อปีที่แล้วทรงแสดงความกังวลพระราชหฤทัยว่าการดำเนินพระราชกรณียกิจต่อไปอาจเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นมาเนื่องด้วยพระชนมพรรษาของพระองค์
ในร่างกฎหมายระบุว่า สาธารณชนญี่ปุ่นมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อการที่พระองค์ดูเหมือนจะทรงมีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติ ร่างกฎหมายระบุว่าหลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้แล้ว การสละราชบัลลังก์ควรจะเกิดขึ้นภายในเวลา 3 ปี และกฎหมายนี้จะใช้กับสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์นี้เท่านั้น
จับตา “มติเพิ่มเติม” เปิดทาง “สตรีสืบราชราชวงศ์”
ร่างกฎหมายเพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิสละราชสมบัติ ยังมีมติเพิ่มเติมที่ให้รัฐบาลศึกษาแนวทางที่ให้เชื้อพระวงศ์ที่เป็นสตรีสามารถอยู่ในราชวงศ์ต่อไปได้ถึงแม้จะสมรสกับสามัญชน จากระบบปัจจุบันที่เจ้าหญิงจะต้องทรงสละฐานันดรศักดิ์ในฐานะเชื้อพระวงศ์เมื่อสมรสกับสามัญชน
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภาวะที่สมาชิกราชวงศ์ลดน้อยลง โดยหากเจ้าหญิงมะโกะสมรสกับเพื่อนชายที่เป็นสามัญชน และต้องสละฐานันดรแล้ว จะทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นเหลือสมาชิกเพียง 18พระองค์ ในจำนวนนี้เป็นสตรีถึง 13 พระองค์ จึงเป็นเรื่องอยากมากที่สมาชิกราชวงศ์จะปฏิบัติภารกิจที่มากมายได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่น ที่เกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้สามีและลูกหลานสามัญชนที่เกิดจากเชื้อพระวงศ์สตรีสามารถเข้าสู่ราชวงศ์ได้ และที่สำคัญ คือ อาจทำให้ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีได้
กลุ่มอนุรักษ์นิยมเหล่านี้มีความเชื่อว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า จึงจำเป็นต้องรักษาความบริสุทธิ์ของสายโลหิต ไม่ให้ปะปนกับสามัญชน กลุ่มอนุรักษ์นิยมนี้ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวญี่ปุ่นไม่มากนัก แต่ในทางการเมืองกลับเป็นฐานสนับสนุนสำคัญของนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ จึงต้องจับตาว่าผู้นำญี่ปุ่นจะดำเนินการตามมติเพิ่มเติมของกฎหมายนี้อย่างไรต่อไป.