xs
xsm
sm
md
lg

นัยยะและความสำคัญของการเสด็จฯ เยือนไทยครั้งที่ 3 ของ “จักรพรรดิญี่ปุ่น”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


พระจักรพรรดิญี่ปุ่นในฐานะ “คนธรรมดา” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงมีพระราชภารกิจทางการทูตซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น หลักๆ แล้วก็คือการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศและการให้อาคันตุกะเข้าเฝ้าฯ ข้อมูลสำนักพระราชวังชี้ว่า พระราชกรณียกิจภายในประเทศของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 76% ส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศคือ 24%

ในบรรดาการเสด็จฯ มีน้อยประเทศมากที่สมเด็จพระจักรพรรดิพร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีจะเสด็จฯ เยือนซ้ำ หากพิจารณาจำนวนครั้งของการเสด็จฯ นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2532 (1989) เป็นต้นมาแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนอเมริกามากที่สุดคือ 4 ครั้ง ส่วนรายละเอียดตลอดรัชสมัยจนถึงขณะนี้ มีดังนี้

จะเห็นได้ว่า เมื่อนับจำนวนครั้งแล้ว รองจากอเมริกาซึ่งแน่นอนว่ามีนัยด้านการเมืองเกี่ยวข้องอยู่ด้วย อันดับถัดมาคืออังกฤษ 3 ครั้ง และไทยเมื่อรวมครั้งล่าสุดก็คือ 3 ครั้งเช่นกัน (2534, 2549, 2560) ไม่บ่อยนักที่กษัตริย์ของประเทศหนึ่งจะเสด็จฯ เยือนประเทศหนึ่งซ้ำกันถึง 3 ครั้ง การที่สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ เยือนไทยอีกครั้งช่วงวันที่ 5 และ 6 มีนาคมจึงมีความหมายที่พิเศษอย่างยิ่ง และเชื่อได้ว่าเป็นไปด้วยความรู้สึกล้วนๆ ซึ่งคงไม่มีคำใดอธิบายได้ดีกว่าภาษาญี่ปุ่นคำว่า “ชิงกิงกัง”
เสด็จฯสู่เวียดนาม 28 ก.พ. 2560 (宮内庁)
“ชิงกิงกัง” (親近感;shinkin-kan)—ความรู้สึกใกล้ชิด คือคำที่อธิบายความรู้สึกของคนไทยกับคนญี่ปุ่นได้ดีที่สุดคำหนึ่ง จะด้วยวัฒนธรรม หรืออุปนิสัย หรือความแตกต่างที่ต่างฝ่ายชื่นชมกัน หรือความเหมือนที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันก็ตาม เมื่อประมวลผลลัพธ์แล้ว สิ่งที่ปรากฏออกมาในทุกวันนี้คือ ญี่ปุ่นกับไทยมี “ชิงกิงกัง” ต่อกันในระดับที่ไม่ธรรมดา เรียกได้ว่ามีตั้งแต่เจ้าฟ้าไปจนถึงข้าแผ่นดิน ในกรณีของไทย ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารก็เคยเสด็จฯ เยือนไทยแล้วด้วยเมื่อ พ.ศ.2507 และนอกจากพระองค์แล้ว ปัจจุบันนี้ เชื้อพระวงศ์พระองค์อื่นก็เสด็จฯ เยือนไทยแทบจะทุกปี

และเพราะ “ชิงกิงกัง” ระหว่างราชวงศ์ไทยกับญี่ปุ่นนั่นเอง การที่สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีเสด็จเยือนครั้งนี้ก็มิได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่ให้ความรู้สึกทำนองว่า ‘และแล้ววันนี้ก็มาถึง’ เสียมากกว่า เพราะอันที่จริง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทั้งสองพระองค์ก็เสียพระทัยและคงร้อนพระทัยอยู่แล้วว่าเมื่อใดจึงจะมีโอกาสเหมาะๆ ได้เสด็จฯ เยือนไทยเพื่อสักการะพระบรมศพ
เสด็จฯ เยือนไทย พ.ศ. 2534 (宮内庁)
ขณะที่ยังไม่สามารถเสด็จฯ ก็ทรงไว้ทุกข์หลายวัน ซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่น และทางสำนักพระราชวังของญี่ปุ่นก็เฝ้ารอข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดว่าเมื่อใดควรจะดำเนินการประสานงานอย่างไร จนกระทั่งทุกอย่างลงตัวเมื่อทั้งสองพระองค์ทรงมีหมายกำหนดการเยือนเวียดนามครั้งแรก และมีพระราชประสงค์เข้าถวายสักการะพระบรมศพระหว่างเสด็จฯ กลับญี่ปุ่น ยังความปลาบปลื้มมาสู่คนไทย สำนักข่าวทุกแห่งในญี่ปุ่นก็รายงานเรื่องนี้อย่างกว้างขวางติดๆ กันมาตลอดสัปดาห์

เรื่องแปลกที่น่าสนใจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น คือ สองประเทศนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกันโดยบังเอิญ หนึ่งในนั้นคือสถาบันกษัตริย์ สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันทรงพยายามวางพระองค์ใกล้ชิดกับประชาชน (เท่าที่รัฐสภากับสำนักพระราชวังจะเห็นสมควร) เช่นเดียวกับสถาบันของไทย เพราะทรงตระหนักดีว่า พระองค์ทรงเป็นแค่เพียง “จักรพรรดิสัญลักษณ์” ตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น
สุโขทัย พ.ศ. 2534 (宮内庁)
เสด็จฯ เยือนไทย พ.ศ.2549

พระราชกรณียกิจจึงสะท้อนภาพสถานะมนุษย์ที่ใกล้ชิดมนุษย์ด้วยกัน เช่น ในการเสด็จฯ ต่างแดน ประเทศผู้รับเสด็จฯ จะต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เมื่อครั้งที่เสด็จฯ อเมริกา ทางการของฝั่งนั้นแจ้งว่า ได้วางกฎเข้มงวดไว้ ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าใกล้ทั้งสองพระองค์ในรัศมี 100 เมตร ด้วยเหตุผลที่ว่าในระยะที่เกิน 100 เมตร ความแม่นยำของกระสุนปืนจะลดลง แต่ทั้งสองพระองค์ทรงทัดทานไว้ โดยแสดงพระราชประสงค์ว่าจะรักษาความปลอดภัยอย่างไรก็ทำไป แต่ขอให้ได้ใกล้ชิดประชาชนในท้องที่ ผลที่สุดทั้งสองประเทศก็ต้องต่อรองกันอยู่พักใหญ่ ส่วนการเสด็จในประเทศ เช่น ในพื้นที่ประสบภัย ก็มีหลายต่อหลายครั้งที่พระองค์ประทับลงที่พื้นในระดับเดียวกันกับราษฎร และมีพระราชปฏิสันถารโดยไม่ถือพระองค์

และสำหรับเรื่องคล้ายกันที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือ ขณะที่ไทยเข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 10 แล้ว ญี่ปุ่นเองก็กำลังอยู่ในช่วงเตรียมการผลัดแผ่นดินเช่นกัน เพราะสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งมีพระชนมายุ 83 พรรษา ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าจะสละราชสมบัติ และคาดว่ารัชสมัยของพระองค์จะหมดลงในสิ้นปี 2561 จากนั้นมกุฎราชกุมารก็จะทรงขึ้นครองราชย์ ศักราชเฮเซแห่งญี่ปุ่นจะปิดฉากลงในสิ้นปีที่ 30 (ปัจจุบันคือเฮเซ 29) และญี่ปุ่นจะเข้าสู่แผ่นดินใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับของไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วย “ชิงกิงกัง” ที่มีต่อกันมาช้านาน แม้จะผลัดแผ่นดิน แต่คนไทยก็มั่นใจได้ว่าความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในระดับราชวงศ์ก็จะไม่เปลี่ยนไป เพราะเชื้อพระวงศ์ทรงคุ้นเคยกันดีมาช้านาน และสำหรับงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งจะมีในช่วงปลายปีนี้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งซึ่งรู้สึกได้ถึง “ชิงกิงกัง” กับญี่ปุ่นมานาน ผมก็อยากให้สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ ทรงร่วมพิธีด้วยพระองค์เอง แต่ ณ จุดนี้ ด้วยพระชนมายุของพระองค์ ก็คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเสด็จฯ หรือไม่ การเสด็จฯ เยือนไทยเมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2560 จึงอาจเป็นครั้งสุดท้ายในสถานะพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น