xs
xsm
sm
md
lg

ชื่อคุ้นหู แต่ไม่รู้ที่มา (2) : ชินจุกุ อะซะกุซะ ชิบุยะ ซูชิ ซะเกะ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ย่านนิฮมบะชิ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ชื่อย่านดัง

นอกจากชื่อพื้นที่ระดับจังหวัด ก็ยังมีชื่อย่านที่นักท่องเที่ยวเจาะจงไปสัมผัสตามความชอบของตัวเองอีก และจุดที่คนไทยไปกันมากที่สุด ได้แก่ ชินจุกุ อะซะกุซะ และชิบุยะในโตเกียว มาดูกันว่าย่านเหล่านี้ได้ชื่อมาอย่างไร

ชินจุกุ (新宿;Shinjuku) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ที่พักแห่งใหม่” (新 = ใหม่, 宿 = ที่พัก) เป็นย่านการค้าที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เป็นแหล่งรวมสารพัดร้าน ชินจุกุมีหมดไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ที่พัก ชินจุกุได้ชื่อเช่นนี้ตามลักษณะการใช้งานจริงๆ คือ เป็นย่านที่พักแห่งใหม่สำหรับคนเดินทางในสมัยโบราณ
ย่านนิฮมบะชิ
สมัยก่อน พื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของการสัญจรคือแถว “นิฮมบะชิ” (日本橋 ; Nihombashi) แปลว่า “สะพานญี่ปุ่น” (日本= ญี่ปุ่น, 橋 = สะพาน) ตรงนั้นมีสะพานจริงๆ และอยู่ไม่ไกลจากสถานีโตเกียว แต่คงจะไม่คุ้นหูคนไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลสมัยเอะโดะกำหนดเส้นทางหลักไว้ 5 สายเมื่อ พ.ศ.2147 โดยมีจุดกำเนิดจากนิฮมบะชินี่เอง
แผนที่แสดงเส้นทางหลัก 5 สายสมัยเอะโดะ (โดย Hobe / Holger Behr - Own work)
เส้นทาง Tōkaidō ค.ศ. 1825
แต่ละเส้นทางจากย่านสะพานญี่ปุ่น มีที่พักตามจำนวนที่กำหนดไว้ สำหรับ “เส้นทางโคชู” (甲州街道;Kōshū kaidō) ซึ่งมุ่งไปทางตะวันตกของโตเกียว (เส้นทาง C ตามแผนภาพ) นั้น กว่าจะถึงที่พักแห่งแรกก็ต้องเดินทางถึงประมาณ 16 กิโลเมตร สร้างความลำบากแก่ผู้สัญจรมาก จึงเกิดการร้องขอให้รัฐบาลสร้างที่พักเพิ่ม ทางการจึงเวรคืนพื้นที่ระหว่างเส้นทางนั้น และได้พื้นที่ซึ่งเป็นของนายไนโตซึ่งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นชินจุกุในปัจจุบัน จึงตั้งชื่อว่า “ที่พักแห่งใหม่ไนโต” ต่อมาก็เหลือแค่ชื่อ “ชินจุกุ” กลายเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้
แบบจำลองชินจุกุ (โดย GFDL)
ชินจุกุในปัจจุบัน ช่วงกลางวัน
ชินจุกุในปัจจุบัน ช่วงกลางคืน
อะซะกุซะ (浅草;Asakusa) ความหมายตามตัวอักษรคือ “หญ้าตื้น” หรือ “หญ้าบาง” ( 浅 = ตื้น, 草 = หญ้า) เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในโตเกียว อยู่ใกล้กับอ่าวเอะโดะ (โตเกียว) และดูเหมือนเป็นสถานที่ภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่ไปโตเกียวครั้งแรก จุดศูนย์กลางคือวัด “เซ็นโซ-จิ” (浅草寺; Sensō-ji) บางคนเรียกว่า “วัดอะซะกุซะ” ตั้งอยู่ที่เชิงเขาเตี้ยๆ ชื่อ “มะสึชิ” (待乳山;Matsuchi-yama) แต่ตอนนี้แทบไม่มีใครสังเกตเห็นว่ามีภูเขาอยู่เพราะภูมิประเทศเปลี่ยนไปมาก และถูกตึกสูงบังหมด
แม่น้ำซุมิดะ
เซ็นโซจิ
อะซะกุซะอยู่ริมแม่น้ำซุมิดะ สมัยโบราณเคยมีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้วย แต่ในยุคเอะโดะ เมื่อตระกูลโชกุนโทะกุงะวะต้องการสร้างเมือง ก็สั่งให้ถมบ่อน้ำ และถมอ่าวเอะโดะออกไป ทุกวันนี้อะซะกุซะจึงอยู่ห่างจากอ่าว ชะเง้อมองจากตรงนั้นก็ไม่เห็นทะเล แต่ยังถือว่าเป็นที่ลุ่ม และมีดินปนทรายมาก หญ้าไม่ค่อยขึ้น หญ้าต้นสูง ๆ ก็มีน้อย จึงได้ชื่อว่า “หญ้าบาง” ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นอีกเกี่ยวกับชื่อนี้ แต่ทฤษฎีหญ้าบางน่าเชื่อถือที่สุด
ชิบุยะ
ชิบุยะ (渋谷;Shibuya) แปลตามตัวอักษรคือ “หุบเขาชะงักงัน” (渋 = ติดขัด หยุดชะงัก, [รสชาติ] ฝาด; 谷 = หุบเขา) ย่านนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในโตเกียวที่มีคนพลุกพล่านมากไม่แพ้ชินจุกุ มีสัญลักษณ์โด่งดังระดับโลกคือ “ห้าแยกอลวน” กับ “รูปปั้นสุนัขฮะชิโก” นอกจากเป็นชื่อย่านแล้ว ชิบุยะยังเป็นนามสกุลของคนญี่ปุ่นอีกด้วย เมื่อเทียบกับชินจุกุ คล้ายคลึงกันในฐานะแหล่งจับจ่ายซื้อของ แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือ อายุเฉลี่ยของผู้คนที่มาเดินเที่ยวในย่านนี้น่าจะน้อยกว่าในชินจุกุซึ่งมีบรรยากาศแบบผู้ใหญ่วัยทำงานมากกว่า
ชิบุยะ
แม่น้ำชิบุยะ (โดย mhiguera)
ที่มาของชื่อชิบุยะมีหลายกระแส บ้างก็ว่าแผลงมาจากชื่อเดิม “ชิโอะยะ โนะ ซะโตะ” (塩谷の里;Shioya no sato)—ที่พำนักแห่งหุบเขาเกลือ เพราะในสมัยก่อน พื้นที่แถวนั้นใกล้ปากน้ำ เมื่อเวลาผ่านไป คำว่า “ชิโอะยะ” ก็แผลงเป็น “ชิบุยะ” บ้างก็ว่ามาจากชื่อแม่น้ำ บริเวณนั้นมีแม่น้ำไหลผ่าน ในน้ำมีส่วนผสมของแร่เหล็กอยู่มาก สีของน้ำจึงออกน้ำตาลแดง หรือสีคล้ายๆ ลูกพลับ คนญี่ปุ่นเรียกว่า “สีชิบุ” (渋色;shibu-iro) แล้วแม่น้ำก็ได้ชื่อว่า “แม่น้ำชิบุยะ” และกลายเป็นชื่อย่าน ปัจจุบันแม่น้ำชิบุยะก็ยังอยู่ อยู่ไม่ห่างจากสถานีชิบุยะเท่าไร แต่เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ความยาวประมาณ 2.6 กิโลเมตร และไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไป คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแม่น้ำชื่อนี้อยู่ในย่านดัง

ซื่ออาหารคุ้นหู

วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองไทยมากมาย ส่วนใหญ่พอเป็นชื่อเฉพาะ ก็มักจะไม่มีคำแปล กลายเป็นการเรียกทับศัพท์ไป คำเกี่ยวกับอาหารที่คุ้นหูคนไทยมาพักใหญ่และน่าหยิบยกมาขยายความว่าด้วยที่มา คือ ซูชิ กับสาเก

ซุชิ (寿司;sushi) หรือ “ซูชิ” คือข้าวปั้นพอดีคำที่โปะด้วยปลาทะเลหรืออาหารทะเลชนิดอื่นเป็นหลัก ซูชิมีต้นกำเนิดจากอาหารประเภทปลาร้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง คนญี่ปุ่นกินซูชิมาเป็นพันปีแล้ว มีบันทึกตั้งแต่สมัยนะระ ซูชิยุคแรกก็คือปลาร้านั่นแหละ เรียกว่า “นะเระซุชิ” (なれずし;nare-zushi) คือ เอาปลาดิบไปดอง (หมัก) เกลือโดยใส่ข้าวสารลงไปด้วย ต่อมาระยะเวลาการหมักก็สั้นลงๆ จนกลายเป็นการกินปลาดิบกับข้าวสวยที่ใส่น้ำส้มสายชู โดยปั้นข้าวเป็นก้อนๆ และกลายเป็นซูชิกระแสหลักอย่างในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้นะเระซุชิก็ยังมีอยู่

คำอ่าน “ซุชิ” เป็นคำญี่ปุ่นโบราณ แปลว่า “เปรี้ยว” (酸し;sushi) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเพราะรสชาติของอาหารชนิดนี้เปรี้ยวนั่นเอง และมีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งว่า เดิมคำนี้คือ “ซุ-เมะ-ชิ” (酢飯;sumeshi) แปลว่า “ข้าวเปรี้ยว” เพราะในการผลิตต้องใช้ข้าวเช่นเดียวกับปลาร้าปลาส้ม แต่ต่อมาคำว่า “เมะ” กร่อนไป จึงกลายเป็น “ซุชิ” ทั้งนี้ ตัวอักษร 寿司 ที่ใช้เรียก “ซุชิ” อย่างแพร่หลายที่สุดในปัจจุบันไม่ใช่อักษรที่ใช้แทนความหมายนั้นโดยตรง แต่ใช้แทนเสียงที่ su กับ shi ที่มีมานานมากแล้ว เหตุที่คนญี่ปุ่นเลือกใช้อักษร 2 ตัวนี้เพราะความหมายเป็นมงคล “ซุชิ” คือ อาหารที่จะ “อำนวยพรให้อายุมั่นขวัญยืน” (寿 = อายุมั่นขวัญยืน, 司 = อำนวยการ)

ซะเกะ (酒;sake) หรือ “สาเก” แปลว่า “เหล้า” คำนี้ใช้อักษรตัวเดียวสื่อความหมาย โดยประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 氵หมายถึงของเหลว (ดูดี ๆ ก็พอจะเห็นได้ว่า สามขีดนั้นคือหยดน้ำ) กับ酉 หมายถึง ไหบรรจุเหล้า (จ้องดี ๆ ก็จะเห็นคล้าย ๆ ไหมีฝาปิด) จึงได้酒 แปลว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด” ตามความหมายกว้าง และแปลว่า “เหล้าขาวของญี่ปุ่น” ตามความหมายแคบ แต่ไม่ได้แปลว่าเหล้าสาเกที่ผลิตจากลูกสาเก (ซึ่งก็คือขนุนพันธุ์หนึ่ง) อย่างที่ผมเข้าใจผิดเมื่อตอนเด็กๆ

เรื่องราวสั้นๆ ว่าด้วยที่มาของชื่อญี่ปุ่นราวสิบคำที่นำมาบอกเล่ากันนี้คงจะช่วยคลายความสงสัยหรืออาจจะจุดประกายความสนใจให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้บ้าง แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ว่า “คิกขุอะโนะเนะ” มีความเป็นมาอย่างไร อันนี้คนญี่ปุ่นก็คงตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นคำไทยสำเนียงญี่ปุ่นที่คนไทยผลิตใช้เอง

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น