คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน บ้านเราอากาศร้อนตับแลบแทบทุกวันแบบนี้ อย่าลืมพกน้ำดื่มหรือร่มกันแดดติดตัวไว้เวลาออกไปข้างนอกนะคะ จะได้ช่วยคลายร้อน ไม่เป็นลมล้มพับกันไปเสียก่อนค่ะ
พอถึงหน้าร้อนทีไรที่ญี่ปุ่นจะมีการรณรงค์เรื่องประหยัดไฟฟ้ากันอย่างเอิกเกริกเป็นประจำ เดิมทีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้าเพื่อลดภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่ากับหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งทำลายโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จนเกิดรังสีรั่วไหล และมีการระงับการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่ง ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะขาดแคลนพลังงาน ต้องนำเข้าพลังงานทรัพยากรธรรมชาติจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาใช้แทน คราวนี้ดูเหมือนทั่วประเทศจะพร้อมใจกันทำตามนโยบายประหยัดไฟฟ้าในทันที
ฉันจำได้ว่าช่วงแรก ๆ หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิไปได้ไม่นาน เมื่อเข้าไปในอาคารต่าง ๆ ทางเดินบางช่วงจะออกสลัว ๆ แค่ให้มองเห็นทาง เพราะไฟถูกปิดไปหลายดวง ส่วนในยามค่ำคืนสถานที่ต่าง ๆ ดูจะมืดลงไปมากจากการประหยัดไฟ อย่างย่านชิบุยะที่เคยสว่างไสวด้วยแสงสีของป้ายโฆษณาบริเวณแยกที่มีทางม้าลายละลานตาอันเป็นจุดเด่นของชิบุยะยังมืดไปถนัดตา แต่หลังจากช่วงเวลาแห่งความแตกตื่นจากภัยพิบัติจางหายไป ชิบุยะก็ดูจะกลับมาสว่างไสวเหมือนเดิม
นโยบายประหยัดไฟฟ้าในฤดูร้อนนี้เรียกกันโดยรวมว่า “Cool Biz” คำนี้เป็นคำใหม่ที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นมา (cool หมายถึง เย็น หรือ เท่ และ biz มาจากคำว่า business) ปัจจุบันคำนี้ปัจจุบันถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทอื่นที่มีความหมายในเชิง “ลดร้อน” ด้วย
ทั้งนี้ นโยบายประหยัดไฟฟ้าในฤดูร้อนเน้นลดการใช้เครื่องปรับอากาศกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และครัวเรือน โดยให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศาเซลเซียส และเวลามาทำงานผู้ชายไม่ต้องสวมสูท ไม่ต้องผูกเนกไทอย่างที่เคยทำอันเป็นแบบฉบับ “สุภาพ” ของผู้ชายญี่ปุ่น แต่ให้แต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นแทนเพื่อให้อยู่กับอุณหภูมิที่ตั้งไว้ที่ 28 องศาเซลเซียสได้ ตั้งแต่หลังเกิดภัยพิบัติเป็นต้นมา ระยะเวลาของ cool biz นี้จะเริ่มเร็วขึ้น 1 เดือนคือตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี เว้นแต่ทางการจะกำหนดเป็นอื่น
มีข้อสังเกตอยู่ว่าพอรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างจริงจัง เขาก็มีนโยบายผ่อนปรนอย่างจริงจังในการแต่งตัวไปทำงานเพื่อให้รองรับกับนโยบายตามไปด้วย ไม่ได้สักแต่ว่าออกนโยบายโดยไม่มีมาตรการรองรับให้สอดคล้องกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นความยืดหยุ่นไม่น้อยเมื่อดูจากความเคร่งครัดในระเบียบแบบแผนของชาวญี่ปุ่นด้วยแล้ว แต่กว่าแนวคิดนี้จะปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายก็ฝ่าด่านความไม่คุ้นเคยและความไม่สบายใจของคนญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะพวกข้าราชการที่รับสนองนโยบายนี้โดยตรงเป็นกลุ่มแรก พวกเขารู้สึกว่าตัวเองแต่งตัวไม่สุภาพเมื่อต้องพบปะกับผู้คนจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เขาสวมสูทผูกเนกไทกัน บางคนก็เลยยอมกลับมาสวมสูทผูกเนกไทเหมือนเดิมเพื่อความสบายใจแทน
แต่ที่น่าแปลกคือเขาระบุไว้ชัดเจนสำหรับผู้ชายเท่านั้นว่า cool biz คือให้แต่งตัวอย่างไร แต่สำหรับผู้หญิงไม่ได้ระบุไว้เลย ทำให้ผู้หญิงมึนงงว่าควรจะแต่งตัวอย่างไรให้เหมาะสมดี ฉันก็ไม่แน่ใจว่าเพราะว่าผู้หญิงไม่ต้องใส่สูทผูกเนกไทเป็นแบบฉบับเหมือนผู้ชาย หรือเพราะเขาไม่เห็นความสำคัญของผู้หญิง (ซึ่งปกติมีสถานะด้อยกว่าผู้ชายในสังคมญี่ปุ่น) ก็ไม่ทราบเหมือนกัน
พอหน่วยงานต่าง ๆ ทยอยกันอนุญาตให้พนักงานแต่งตัวแนว cool biz ได้ บริษัทเสื้อผ้าหลายแห่งก็เอาคำว่า cool biz มาเป็นจุดขาย เสื้อผ้าซึ่งทำด้วยเนื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ใส่แล้วเย็นสบาย ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น มีเนื้อผ้าแบบใหม่ ๆ ออกมาบ่อยในช่วงฤดูร้อน เนื้อผ้าบางอย่างพอแนบตัวแล้วรู้สึกเย็นทันที พวกเสื้อโปโลที่เนื้อผ้าบาง ระบายอากาศได้ดีก็มีผลิตออกมามากขึ้น อย่างบริษัทสามีของฉันอนุญาตให้ใส่เสื้อโปโลได้ด้วย คงเพราะเสื้อมันบาง สามีฉันบอกว่าเขาใส่แล้วรู้สึกโป๊จนอยากเอาเทปมาปิดบริเวณหน้าอก ฉันเลยออกตัวว่าถ้าเจอสติกเกอร์รูปดาวสำหรับการนี้โดยเฉพาะจะซื้อมาฝาก แต่ฉันก็ยังไม่เคยเจอเสียที
ว่าแต่เรื่องตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในหน้าร้อนให้อยู่ที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียสนี่นับเป็นความทุกข์ทรมานไม่น้อย เพราะมันให้ความเย็นในระดับที่ต่ำมาก ชวนให้เกิดความอึดอัดเกินห้ามใจ ฉันเคยดูสารคดีโทรทัศน์ตอนกลางคืนรายการหนึ่ง เขาบอกว่าจริง ๆ แล้วการปรับอุณหภูมิไว้ที่ 28 องศาเซลเซียสนั้นไม่ดีต่อร่างกาย เพราะเมื่อคนเพิ่งเดินฝ่าอากาศร้อนจากภายนอกซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าเข้ามาในอาคาร แทนที่อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง ร่างกายจะขับความร้อนออกไปไม่ค่อยได้ แต่ฉันก็ไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศหลังรายการนี้ออกอากาศเลย ซึ่งก็น่าเสียดายมากอยู่เหมือนกัน เพราะคนญี่ปุ่นทำงานกันหนักมาก แถมยังต้องทำงานในห้องหับอันร้อนอบอ้าวร่วมกับคนนับสิบนับร้อยแบบนี้ คงยิ่งเครียดกันเข้าไปใหญ่
เรื่องนี้พอมามองดูที่ไทยก็กลับข้างกัน เราฝ่าความร้อนจากภายนอกเข้ามาปะทะกับความเย็นระดับขั้วโลกในอาคารจนต้องสวมเสื้อหนาวท่ามกลางฤดูร้อน พอออกจากอาคารก็ผงะกับความร้อนระดับทะเลทรายอีก มันก็ไม่ดีกับร่างกายกันไปคนละแบบ เรื่องนี้คนต่างชาติจะไม่เข้าใจคนไทยว่าทำไมต้องเปิดแอร์ให้เย็นจัดจนต้องใส่เสื้อกันหนาวด้วย แทนที่จะเปิดให้อุณหภูมิเย็นสบาย ๆ พอดีก็พอ จะว่าไปแล้วที่บ้านเราอากาศร้อนระอุขึ้นทุกวัน ๆ ก็อาจจะมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศมากเกินไปก็เป็นได้ แถมความเคยชินกับความเย็นจัดก็อาจทำให้เรามีความอดทนกับความร้อนน้อยลงไปอีก
กลับมาที่ญี่ปุ่นกันต่อนะคะ นอกจากเรื่องเสื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อนแล้ว คนญี่ปุ่นยังรู้จักหาตัวช่วยหลาย ๆ อย่างเพื่อลดความร้อนมาประกอบด้วย ฉันเคยเห็นรายการโทรทัศน์ที่เขาให้ผู้ชมทางบ้านเสนอไอเดียลดความร้อนมา แม่บ้านคนหนึ่งเอาน้ำขวดขนาด 2 ลิตรแช่ช่องแข็งไว้ พอแข็งเป๊กได้ที่ก็เอามาตั้งบนโต๊ะ แล้วเปิดพัดลมเป่าใส่โดยให้พัดลมส่ายซ้ายขวา ถ้าเรานั่งอยู่ด้านหน้าของขวดน้ำซึ่งมีลมพัดผ่านก็จะได้รับความเย็นไปด้วย ก็เข้าท่าดีไม่หยอก
ผู้หญิงญี่ปุ่นบางคนยังใช้ผ้าพันคอพิเศษที่ผลิตมาเพื่อใช้แก้ร้อนด้วย โดยเอาผ้าชนิดนี้ไปชุบน้ำเย็นไว้แล้วเอามาพันคอ ฉันเห็นแล้วพิศวงเหลือหลายกับการพันผ้าพันคอในหน้าร้อน เพราะแค่เห็นก็รู้สึกร้อนแล้ว แต่เพื่อนที่เขาใช้ก็บอกว่าช่วยได้ไม่น้อย พอฉันลองไปจับดู เนื้อผ้านั้นก็เย็นจริงๆ ทั้งๆ ที่เพื่อนก็พันไว้อย่างนั้นสักพักใหญ่ ๆ แล้วโดยยังไม่ได้ไปชุบน้ำใหม่ ที่จริงคนญี่ปุ่นก็ช่างคิดไม่เบา จากผ้าพันคอที่ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวกลายมาเป็นไอเดียผ้าพันคอที่ให้ความเย็นในฤดูร้อนแทนได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าคาดหมอน (คาดทับปลอกหมอนอีกชั้นเพื่อซับเหงื่อ) และผ้าห่มที่ให้สัมผัสเย็นสบายวางจำหน่ายด้วย ฉันก็ซื้อมาลองใช้ดู มันเบาๆ นิ่มๆ เย็นๆ สบายดี แต่ถ้าเปิดเครื่องปรับอากาศด้วยแล้วใช้เครื่องนอนที่ทำจากผ้าพวกนี้ก็มีสิทธิ์หนาวได้เหมือนกัน เว้นแต่จะเป็นคนขี้ร้อนก็จะนอนสบายไป
บ่ายวันหนึ่งฉันไปเดินเล่นอยู่แถวกินซ่าซึ่งตอนนั้นเขาปิดถนนให้คนเดิน วันนั้นรู้สึกจะมีงาน คือให้คนแต่งตัวด้วยชุดยุคาตะมาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาจัดไว้สำหรับฤดูร้อน มีตกแต่งสถานที่บางส่วนด้วยน้ำแข็งแกะสลักก้อนใหญ่ ๆ บางก้อนมีดอกไม้สดอยู่ภายในด้วย แค่มองก็รู้สึกหายร้อนเป็นปลิดทิ้งแล้ว
บางจุดเห็นคนยืนเรียงแถวหน้ากระดานถือขันไม้ที่มีน้ำเต็มกันคนละใบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างรู้สึกสนุกเตรียมพร้อมรอให้คนนำให้จังหวะแล้วสาดใส่พื้นพร้อมกัน คนต่างชาติเห็นแปลกก็เข้าร่วมวงด้วยก็มี การสาดน้ำของญี่ปุ่นนี้ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่อง “มารยาท” ที่ถือเป็นแนวปฏิบัติกันด้วย เช่น ห้ามเป็นน้ำประปาที่มาจากก๊อกโดยตรงเพราะเป็นการสิ้นเปลือง ต้องเป็นน้ำฝน น้ำในบ่อ น้ำในสระ น้ำในแม่น้ำ หรือน้ำที่ใช้แล้วเท่านั้น เช่น น้ำที่ใช้อาบแล้ว หรือน้ำจากสระว่ายน้ำ ถ้าทำกันเองตามบ้านเรือนก็มีตัวเลือกเพิ่มอีก อย่างเช่น น้ำซาวข้าว น้ำที่ใช้ล้างอะไรต่อมิอะไรในครัว กระทั่งน้ำจากเครื่องปรับอากาศที่ไหลออกนอกห้องก็ยังเอามาใช้ได้
เรื่องการสาดน้ำใส่พื้นหน้าบ้านหรือสวนนี้ญี่ปุ่นทำกันมาแต่สมัยเอโดะแล้ว (ประมาณ 400 ปีก่อน) เพื่อลดความร้อนหรือเพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิตต่อลูกค้าที่เข้าร้านของตน แต่เขาจะไม่ทำในเวลาที่แดดจัด ไม่อย่างนั้นสาดปุ๊บน้ำก็ระเหยหมด ไม่เกิดประโยชน์อันใด จะเลือกเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็นแทน วัฒนธรรมนี้ค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อมีการพัฒนาเครื่องปรับอากาศเข้ามา หลัง ๆ เริ่มกลับมาใหม่ในรูปแบบของการละเล่นไปเสียมากกว่า แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ลดโลกร้อนของรัฐด้วยซึ่งเป็นที่ต้อนรับกันดีในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น ฉันว่ามันเป็นความฉลาดและน่ารักของญี่ปุ่นที่รู้จักรื้อฟื้นประเพณีเก่า ๆ ให้กลับมาในรูปแบบที่น่าสนใจ และยังเป็นการสอนให้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เรียนรู้ทั้งเรื่องการประหยัดน้ำ นำทรัพยากรมาใช้ซ้ำ ทั้งยังสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว ถ้าบ้านเรามีแนวคิดสร้างสรรค์แบบนี้ออกมาและเป็นที่แพร่หลายบ้างก็คงดีไม่น้อยเลยทีเดียว
เพื่อนผู้อ่านที่รักอย่าลืมเอาวิธีคลายร้อนโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศไปลองดู หรือถ้ามีไอเดียดี ๆ ก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่อาทิตย์หน้า สวัสดีค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.