xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ "สาวไทย" ต้องเป็น "สาวเสิร์ฟ" ในญี่ปุ่น (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ฉันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการทำงานพิเศษที่ร้านอาหารหลายอย่าง ได้เห็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ซ่อนอยู่ในเนื้องาน รวมทั้งจากการสังเกตเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้า

เวลาเข้างาน พนักงานจะทักทายกันว่า “อรุณสวัสดิ์” เสมอไม่ว่าจะเข้างานกะเช้า บ่าย หรือค่ำ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นทำงาน แรก ๆ ก็รู้สึกแปลก ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ชิน เพื่อนร่วมงานในร้านที่ฉันทำงานมีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลายจนกระทั่งคุณป้าแม่บ้าน แต่ละคนก็บุคลิกลักษณะนิสัยไปกันคนละแบบ มีตั้งแต่คนใจดี คนสุภาพ คนหยาบคาย และคนถือตัว ก็แล้วแต่ว่าดวงจะมาจ๊ะเอ๋กับใครในกะไหนบ้าง

หนึ่งในงานที่พนักงานเสิร์ฟทำคือกวาดเศษอาหารจากจานทิ้งลงถังขยะใบโตแล้วเอาไปทิ้งหลังร้าน ถังขยะนี้เมื่อเต็มแล้วมันหนักมาก ปกติแล้วในกรณีอย่างนี้ถ้าเป็นเมืองไทยหรืออเมริกา ผู้ชายจะไม่ปล่อยให้ผู้หญิงถือของหนักตามลำพังและจะเข้ามาช่วยเอง แต่ที่นี่ ต่อให้มีพนักงานชายอยู่ด้วยและเห็น ๆ อยู่ว่าเราหิ้วถุงขยะที่สูงถึงระดับเอวและเดินไปหลังร้านอย่างทุลักทุเล เขาก็แค่มองเฉย ๆ ปล่อยให้เราทำไปอย่างนั้น ก็อดแอบคิดไม่ได้เหมือนกันว่าผู้ชายญี่ปุ่นแล้งน้ำใจอะไรอย่างนี้ แต่จริง ๆ ก็อาจเป็นเรื่องวัฒนธรรมบ้านเขา เพราะโดยมากผู้ชายญี่ปุ่นจะไม่ใจดีกับผู้หญิงทั่วไปเว้นแต่จะเป็นแฟนกัน ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนที่เห็นผู้ชายไทยไม่ได้มีข้อจำกัดอย่างนี้เลยรู้สึกว่าผู้ชายไทยใจดีกว่าผู้ชายญี่ปุ่น เรื่องนี้คุณสุภาพบุรุษชาวไทยอมยิ้มกันได้เลยนะคะ

ตอนแรกฉันไม่รู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ อายุน้อยกว่าฉันกันหลายคน เพราะทุกคนดูทำงานกันอย่างขยันขันแข็งราวมืออาชีพ พอรู้อายุจริงเข้าฉันก็เลยตกใจว่าคนญี่ปุ่นแม้จะอายุน้อยแต่ก็มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบและทำหน้าที่อย่างดีที่สุด คงเพราะคนญี่ปุ่นค่อนข้างจะพึ่งพาตัวเองกันได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ อย่างเด็กประถมก็สามารถที่จะขึ้นรถไฟหรือเดินไปกลับโรงเรียนเองโดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องไปส่ง และเริ่มทำงานพิเศษตั้งแต่อยู่มัธยมปลายกันเป็นเรื่องปกติ

เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ฉันเจอบ่อย ๆ มีชื่อตัวว่า “วาคานะ” แรก ๆ ฉันเรียกเธอด้วยชื่อนามสกุลต่อท้ายด้วย “ซัง” ไป ๆ มา ๆ พอคุ้นเคยกันเข้าฉันก็เรียกเธอว่าวาคานะจัง วาคานะจังอายุน้อยกว่าฉันมากแต่ดูเป็นผู้ใหญ่ เธอเป็นคนสุภาพ น่ารัก และมีน้ำใจ คอยช่วยบอกอะไรต่อมิอะไรและไขข้อข้องใจให้ฉันเสมอ ฉันเคยถามวาคานะจังโดยพูดถึงลูกค้าซึ่งนั่งอยู่โต๊ะหนึ่งพลางชี้ไปทางนั้น วาคานะจังรีบจับแขนฉันวางลงข้างตัว ก่อนจะบอกว่า “ชี้ไม่ได้นะ ต้องทำอย่างนี้” แล้วเธอก็ทำท่าให้ดูด้วยการผายมือไปทางนั้นแทนการชี้ ลองมานึกดูก็มักเห็นคนญี่ปุ่นมักใช้การผายมือแทนการชี้อยู่เสมอจริง ๆ

เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ก็มีที่น่ารักใจดีอีกเหมือนกัน เช่น คุณป้าที่มีนามสกุลว่าซาคาโมโตะ ซึ่งเป็นแม่บ้านเต็มตัวแต่ทำงานพิเศษนิด ๆ หน่อย ๆ เธอจะมีบรรยากาศรอบตัวที่อบอุ่นคล้ายแม่ และมีคุณลุงในครัวคนหนึ่งซึ่งฉันแอบเรียกในใจว่า “ลุงหมี” เพราะแกตัวกลม ๆ ยิ้มแล้วทำให้นึกถึงตุ๊กตาหมี มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งด้วยที่ดูท่าทางจะรุ่นเดียวกับผู้จัดการร้าน เธอคนนี้อยู่ทีไร ผู้จัดการจะอารมณ์ดี บรรยากาศเปลี่ยนไปเป็นกอง อาจได้เห็นรอยยิ้มของผู้จัดการในวันที่เธออยู่ ฉันสังเกตว่าผู้จัดการสุภาพกับเธอไม่เหมือนท่าทีที่มีต่อคนอื่น ๆ ซึ่งฉันก็แอบลุ้นเงียบ ๆ อยู่ในใจเพราะรู้ว่าผู้จัดการยังโสด

ในความเป็นจริง เราไม่สามารถเรียกคนเหล่านี้ว่าพี่ป้าน้าอาหรือลุงได้อย่างที่เราเรียกกันในเมืองไทย ถ้าไปเรียกอย่างนั้นจริงเขาคงตกใจ เราต้องเรียกนามสกุลเขาต่อท้ายด้วย “ซัง” ส่วนผู้จัดการร้านก็ต้องเรียกนามสกุลเขาต่อท้ายด้วยคำว่าผู้จัดการร้าน คำนี้ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เท็นโจ” คนไทยบางคนไปเรียกว่า “ซาโจ้” ซึ่งคาดว่าออกเสียงเพี้ยนไปจากคำว่า “ฉะโจ” ที่แปลว่า “ประธานบริษัท” ฉันไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปของการใช้คำนี้อย่างไร ได้แต่เดา

โดยมากแล้วความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นไปในฐานะ “ผู้ร่วมงาน” แต่ละคนจะมีกำแพงของตัวเอง ข้องเกี่ยวกันเฉพาะเรื่องงานจริง ๆ อยู่มาวันหนึ่งฉันทำฟักทองแกงบวดไปฝากเพื่อนร่วมงานเพราะอยากให้ลองชิมรสชาติแบบไทย ๆ กันดู ลุงหมีใจดีบอกว่าเดี๋ยวอุ่นทิ้งเอาไว้ให้ในครัวก็แล้วกัน ใครจะกินก็มากิน ฉันก็เลยบอกเพื่อนร่วมงานทีละคน ๆ ว่าฉันทำขนมมาฝาก อยู่ในครัว มีเวลาก็ลองไปชิมดูนะ เชื่อไหมคะว่ากำแพงที่แต่ละคนสร้างทลายลงในทันที สีหน้าท่าทางพวกเขาดูอ่อนโยนผิดไปจากเดิม (กระทั่งผู้จัดการร้าน) พลางกล่าวขอบคุณ ส่วนพวกคนครัวที่ลองชิมดูแล้วติดใจก็พากันมาถามสูตรฉัน จากนั้นเราก็มีเรื่องอื่น ๆ คุยกันสนุกสนานทั้ง ๆ ที่ที่ผ่านมาไม่เคยมีบรรยากาศแบบนั้นเลย ฉันรู้สึกขอบคุณแม่ที่ท่านมักสอนฉันแต่เล็กว่าให้แบ่งขนมให้เพื่อน ๆ กินบ้าง อย่ากินคนเดียว แม้ตอนนั้นฉันจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแบ่งด้วย เสียดายออก แต่บางทีฉันก็ทำตามบ้างเพราะไหน ๆ แม่ก็สอนมา พอโตขึ้นนิสัยนี้เลยช่วยให้ฉันได้เพื่อนใหม่ในหลายโอกาส จะลองเอาไปใช้ดูกันบ้างก็ได้นะคะ ได้ผลอย่างไรอย่าลืมมาเล่าให้ฟังกันบ้าง

ฉันชอบงานเสิร์ฟอาหารมากตรงที่ได้ให้บริการลูกค้า ชอบที่จะเข้าหาลูกค้าด้วยรอยยิ้มเป็นมิตร และได้รับรอยยิ้มตอบกลับมา แต่ต่อให้ไม่ยิ้มตอบมา ถ้าลูกค้าไม่ได้บ่นว่าหรือหยาบคายใส่ ฉันก็รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันดี ๆ อยู่ดี โชคดีด้วยว่าลูกค้าชาวญี่ปุ่นโดยมากจะเป็นคนที่สุภาพและมีมารยาทกันโดยปกติ

ลูกค้าบางคนน่ารักมาก พอรู้ว่าฉันเป็นคนต่างชาติและเพิ่งทำงานพิเศษร้านอาหารเป็นครั้งแรกก็ให้กำลังใจว่าสู้ ๆ นะ เคยมีคุณแม่คนหนึ่งมากับลูกชายวัยรุ่น ตอนฉันเข้ามายกจานที่เขาทานเสร็จแล้วออกไป ฉันเผลอทำผ้าเย็นตกที่พื้น กำลังจะก้มลงเก็บ คุณแม่ก็รีบบอกลูกชายให้เก็บให้แทน ฉันประหลาดใจระคนดีใจที่เจอลูกค้ามีน้ำใจ แต่ก็รีบห้ามลูกค้าไว้แล้วบอกว่าฉันเก็บเอง เพราะลำบากใจที่จะปล่อยให้เป็นภาระให้ลูกค้า ความรู้สึกเกรงใจลูกค้าแบบนี้ก็แปลกดี ถ้าอยู่ประเทศอื่นในสถานการณ์เดียวกัน ฉันจะรู้สึกแบบนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่เหมือนว่าสภาพแวดล้อมและกรอบของวัฒนธรรมจะมีส่วนทำให้ฉันคิดและทำตามกรอบนั้นไม่มากก็น้อย

เวลาต้องเสิร์ฟโต๊ะที่ลูกค้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ฉันจะไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะมันเสิร์ฟอาหารให้ตรงหน้าไม่ได้ บางทีก็ต้องผ่านด้านหลังลูกค้าคนอื่น แล้วมันก็เป็นอาหารจานร้อนทั้งนั้น แต่ความกังวลของฉันดูเหมือนจะเป็นความกังวลอันสูญเปล่า เพราะมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว และใคร ๆ เขาก็ทำกันอย่างนั้น ความสบายใจของฉันเริ่มขึ้นตอนยกน้ำไปเสิร์ฟทีละเกือบสิบแก้ว แล้วลูกค้าก็ช่วยส่งต่อ ๆ กันให้คนอื่นในโต๊ะ ตอนไปเสิร์ฟอาหาร ถ้าผ่านด้านหลังก็แค่บอกขอโทษลูกค้าก่อน ลูกค้าก็จะหลีกทางให้เสิร์ฟเอง

พูดถึงเรื่องลูกค้า นึกได้ว่ามีเรื่องเล่าตอนที่ฉันทำงานพิเศษร้านอาหารไทยที่มีหลายสาขาซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีลูกค้าฝรั่งครอบครัวหนึ่งเข้าร้านมา พอได้โต๊ะแล้วเขาก็นั่งกันเงียบ ๆ ไม่เห็นสั่งอาหารกันเสียที ฉันเห็นเขามองมายิ้ม ๆ หลายหน แต่ก็ไม่เข้าใจ สักพักถึงนึกสงสัยว่าคนฝรั่งเขาอาจจะไม่เรียกพนักงานเสิร์ฟกัน แต่พนักงานเสิร์ฟต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาเอง ในขณะที่ร้านในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นฝ่ายเรียกหาพนักงานเมื่อต้องการสั่งอาหาร ฉันเลยเดินเข้าไปหาโต๊ะนั้น แล้วลูกค้าก็เริ่มสั่งอาหาร พอสั่งเสร็จ ฉันก็ถามว่ามาเพิ่งเคยมาเที่ยวญี่ปุ่นใช่ไหม ถ้างั้นเวลาคุณไปทานอาหาร คุณต้องคอยเรียกพนักงานเอานะ ไม่งั้นเขาจะไม่เดินมาหาคุณ ที่นี่เป็นแบบนี้ค่ะ เขาก็ร้องอ๋อกัน

กลับมาที่ร้านฟะมิเลสกันบ้าง บางวันก็มีลูกค้าแย่ ๆ เหมือนกันค่ะ ฉันเคยเห็นผู้จัดการยกอาหารไปเสิร์ฟสองถาดพร้อมกัน วันนั้นคนเยอะมาก เผอิญผู้จัดการเดินผ่านลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งลูกค้าเองก็ไม่ทันมองเลยชนกันเล็กน้อย แต่ลูกค้าต่อว่าผู้จัดการอย่างโกรธเคือง ทำให้ผู้จัดการต้องทำหน้าจ๋อยขอโทษลูกค้า ฉันเห็นแล้วก็สงสารผู้จัดการเหมือนกันเพราะเขาก็เหนื่อยและก็ไม่ได้ตั้งใจ

ส่วนตัวฉันเองก็เคยเจอแจ็คพ็อตเรื่องแย่ ๆ เข้าให้ในวันหนึ่ง คราวนั้นลูกค้ามากันเป็นครอบครัว พอนั่งโต๊ะแล้วเขาพูดอะไรบางอย่างที่ฉันฟังไม่ถนัด ฉันเลยขอให้เขาพูดอีกรอบ คราวนี้เขาเลยเงียบมองฉันด้วยสีหน้าเย็นชา และทุกคนในโต๊ะก็จ้องมองฉันด้วยสีหน้าแบบเดียวกันเหมือนพร้อมจะมีเรื่อง ฉันก็เลยขอตัวและไปบอกผู้จัดการ ผู้จัดการก็เลยให้วาคานะจังไปรับแทน ได้ยินเสียงลูกค้าคนนั้นตวาดว่าทำไมถึงเอาคนต่างชาติมาทำงานในร้าน ฉันรู้สึกเสียใจมากที่ถูกตั้งแง่รังเกียจเพียงเพราะไม่ได้เป็นคนชาติเดียวกับเขาแต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกมา ผู้จัดการบอกมีแก่ใจบอกฉันว่าไม่ต้องคิดมากนะ และวาคานะจังที่เดินกลับมาก็บอกฉันเหมือนกันว่าอย่าไปสนใจคนพรรค์นั้น ก็นับว่ายังโชคดีว่าเพื่อนร่วมงานมีน้ำใจ รวมทั้งฉันก็ไม่เคยเจอคนแบบนี้อีกเป็นครั้งที่สอง

เพื่อนผู้อ่านที่เคยไปญี่ปุ่นมาก่อนคงสังเกตว่าที่ญี่ปุ่นไม่มีการให้ทิป เพราะผู้จ้างจะให้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อดีแล้ว เคยอ่านเจอว่าหากไปให้ทิปเขาจะกลายเป็นการดูถูก หรือหาว่าเขาน่าสงสารที่ได้ค่าแรงไม่พอ เรื่องนี้ต่างจากอเมริกามากตรงที่นายจ้างร้านอาหารในอเมริกาให้ค่าตอบแทนต่ำจนแทบไม่เรียกว่าเป็นการจ้างงานเลย ทำให้พนักงานต้องพึ่งรายได้จากการทิปแทนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าพนักงานจะบริการดีหรืองั้น ๆ ก็ต้องให้ทิปขั้นต่ำ 15% เพราะฉะนั้นอาหารที่เราสั่งในร้านอาหารที่อเมริกานี่บวกทั้งภาษีซื้อขายและทิป ตอนกินเสร็จแล้วเห็นบิลมาอาจจุกได้ เคยได้ยินว่ามีพนักงานบางคนโวยวายเพราะได้ทิปน้อยกว่านั้นด้วย เรื่องนี้ถ้าเป็นเมืองไทยขืนพนักงานมีการโวยวายว่าให้ทิปน้อยคงเป็นเรื่องแน่ เพราะบ้านเราการให้ทิปเป็นเหมือนการให้เพิ่มเป็นพิเศษ

ธรรมเนียมพวกนี้แต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน มีค่านิยมต่างกัน เวลาไปเยี่ยมเยือนประเทศอื่น ถ้ารู้ธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ไว้ก็จะเป็นการเซฟตัวเองได้มากเหมือนกันค่ะ เมื่อดูจากสามประเทศนี้แล้ว ฉันรู้สึกว่าการให้ค่าตอบแทนแบบในญี่ปุ่นแบบสมน้ำสมเนื้อและไม่มีระบบการทิปเป็นเรื่องดี ทำให้พนักงานรู้สึกว่างานที่ทำมีเกียรติ รายได้ก็เพียงพอให้พึ่งพาตัวเองได้ เลยมีแก่ใจขยันขันแข็งในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และบริการด้วยใจโดยไม่คาดหวังทิปเพิ่ม พอฉันต้องมาทิปพนักงานเสิร์ฟในอเมริกาไม่ว่าจะบริการดีหรือไม่ ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าอย่างนี้พนักงานเสิร์ฟญี่ปุ่นที่บริการกันสุด ๆ นี่มิควรจะได้ทิปกัน 100% เลยหรือนี่

ไว้พบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ


"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น