คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
การ์ตูนผู้หญิงของญี่ปุ่นมักมีเนื้อเรื่องว่าพระเอกหรือนางเอกทำงานพิเศษ หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “อะรุไบโตะ” หรือสั้นๆ ว่า “ไบโตะ” สมัยยังวัยรุ่นฉันชอบอ่านการ์ตูนพวกนี้เลยนึกอยากทำงานพิเศษบ้าง จนมาวันหนึ่งก็มีโอกาสได้ไปทำงานพิเศษในร้านอาหาร
ร้านอาหารที่ฉันทำเป็นร้านอย่างที่คนญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า “ฟะมิเลส” ย่อมาจากคำว่า family restaurant ซึ่งร้านแบบนี้จะมีหลายสาขา มีเมนูสีสันสวยงามบอกหน้าตาอาหารทุกจาน หรืออาจมีระบุแคลอรี่ต่อจานด้วย ราคากลางๆ ปริมาณไม่มากไม่น้อย อาหารแต่ละร้านจะคล้าย ๆ กัน ส่วนมากออกแนวอาหารฝรั่ง มีตั้งแต่สลัด ซุป พาสต้า ไส้กรอก พิซซ่า เค้ก ไอศครีมพาเฟ่ต์ อาหารญี่ปุ่นก็มีบ้างเหมือนกัน เช่น ข้าวราดแกงกระหรี่ญี่ปุ่น อาหารชุดหรือจานเดียวง่าย ๆ บางเจ้าก็มีราเม็งนิดหน่อย และมีขนมหวานญี่ปุ่นด้วยคล้าย ๆ กับตามร้านอาหารญี่ปุ่นบ้านเรา
เกือบทุกร้านมีอาหารชนิดหนึ่งที่เหมือน ๆ จะเป็นอาหารฝรั่งแต่ในประเทศฝรั่งไม่มี พอจะเดาออกไหมว่าคืออะไร มันคือ “ฮัมบากุ” (ออกเสียง “บา” ยาวเป็นสองเท่า) เดาว่ามาจากคำว่า hamburg ที่อยู่ใน hamburger เป็นเนื้อสับปรุงรสปั้นเป็นก้อน ๆ แล้วกดให้เป็นแผ่นหนา ๆ เอาไปย่างในกระทะ หรือลองนึกภาพเนื้อที่อยู่ในแฮมเบอร์เกอร์ก็ได้ค่ะ แต่มันจะหนากว่ากัน ร้านไหนทำอร่อยมันจะออกนุ่มๆ ไม่ใช่เคี้ยวแล้วหยาบๆ แข็งๆ บางทีก็จะมีโปะไข่ดาว หรือโปะชีส หรือมีชีสอยู่ภายในตัวเลย ฮัมบากุที่ว่านี้เป็นเมนูที่เด็ก ๆ มักจะชอบ และคุณแม่ทั้งหลายก็สามารถทำได้เองที่บ้าน สามีฉันก็ชอบเหมือนกัน แต่ฉันรู้สึกว่าอาหารชนิดนี้มันตลกดี เหมือนเอาไส้ของแฮมเบอร์เกอร์มากิน แถมยังกินกับข้าวสวยอีกต่างหาก ดูไม่เข้ากันอย่างไรก็ไม่ทราบ นานๆ ฉันถึงจะนึกครึ้มอยากกินสักที (แต่กินกับข้าวสวยก็ไม่เอานะ)
และอีกอย่างที่คิดว่ามีทุกร้านคือ ดริ้งค์บาร์ เป็นที่กดเครื่องดื่ม มีตั้งแต่น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ บางร้านที่ดี ๆ หน่อยจะมีชาหลายชนิดให้เลือก 10 กว่าชนิด มีกาน้ำชาใบใสน่ารักวางเรียงรายให้ยกไปที่โต๊ะได้ตามสบาย กาแฟหรือโกโก้ก็สามารถเลือกประเภทที่ชอบได้ แค่นี้ก็สนุกแล้ว ลูกค้าบางคนมานั่งทำงาน อ่านหนังสือ ก็จะสั่งแค่ดริ้งค์บาร์แล้วนั่งยาวก็มี ฉันเองยังเคยชอบไปฟะมิเลสเพราะเพลิดเพลินกับดริงค์บาร์นี่แหละ
ฉันเห็นประกาศของร้านฟะมิเลสที่ว่านี้ระบุว่ารับสมัครพนักงานเสิร์ฟ เงินเดือนเท่านี้ ๆ ต่อชั่วโมง ทำงานวันละอย่างต่ำกี่ชั่วโมง ต้องใช้อะไรในการสมัครบ้าง ทุกอย่างดูลงตัวดี ก็เลยไปหาซื้อใบสำหรับเขียนสมัครงานซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ร้านร้อยเยนทั่วไป และไปถ่ายรูปสำหรับแปะใบสมัคร
การถ่ายรูปนี้สะดวกโยธินมาก เพราะมันมีตู้เล็กๆ ให้คนสามารถเข้าไปถ่ายรูปได้เอง โดยกดปุ่มเลือกว่าจะเอารูปขนาดเท่าไหร่ และเครื่องมันจะบอกให้เรานั่งให้ตำแหน่งศีรษะอยู่ตรงกับในจอที่ระบุไว้ ถ้าถ่ายแล้วไม่ชอบใจก็เอาใหม่ไปเรื่อยๆได้ พอได้รูปที่พอใจแล้วก็สั่งพิมพ์ออกมาได้ทันใจเลย แต่ก็ทำให้พวกร้านถ่ายรูปเสียลูกค้าไปเหมือนกัน ร้านถ่ายรูปเลยโฆษณากันว่า ถ้ามาถ่ายที่ร้านก็มีคนช่วยคุณดูว่าเสื้อผ้าหน้าผมดีแล้วหรือยัง แต่ถ้าคุณไปถ่ายรูปตามตู้ก็อาจจะออกมาทั้งๆที่ผมใส่เจลแข็งๆ เป็นหนาม หรือทำหน้าตาเหนื่อยๆ เซ็งๆไม่รู้ตัว
ตอนไปส่งใบสมัครที่ร้าน ฉันบอกพนักงานว่ามาสมัครงาน เขาก็ไปเรียกผู้จัดการมาให้ ผู้จัดการก็จะสัมภาษณ์ง่าย ๆ คือดูว่ามีความตั้งใจจะทำงานจริง ดูแล้วน่าจะทำงานได้ ทำตามกฎระเบียบของเขาได้ ก็ผ่านค่ะ ไม่ยากอะไร เราต้องเสียค่าเช่าเครื่องแบบ ต้องเอาไปซักเองที่บ้านแล้วหิ้วมาเปลี่ยนในวันทำงาน ตอนสัมภาษณ์นี้ผู้จัดการร้านพูดจาสุภาพมาก ท่าทางใจดี ก็รู้สึกสบายใจ
หารู้ไม่ว่าพอวันแรกที่เริ่มเข้างาน “ผู้จัดการเปลี๊ยนไป๋” ยังกะคนละคน วันก่อนใช้ภาษาสุภาพมาก วันนี้มาภาษาสนทนาห้วนๆ แถมยังดูดุๆ กลายเป็นผู้มีอำนาจวางโต ทำเอาฉันช็อคไปเลย โอ...คนญี่ปุ่นเขามีการแบ่ง “นอก” และ “ใน” กันชัดเจนจริงๆ ถ้าคุณคิดว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนใจดี สุภาพกันหมดล่ะก็ แสดงว่าคุณยังไม่ได้เห็นอีกด้านหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังหน้ากากใบนั้น….พูดเสียน่ากลัว จริง ๆ แล้วก็คือตัวตนอีกแบบหนึ่งที่จะไม่ได้แสดงให้คน “นอก” เห็นเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งก็เป็นมนุษย์ทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี้แหละ ไว้ถ้ามีโอกาสฉันจะเล่าเรื่อง “นอก” และ “ใน” นี้ให้ฟังนะคะ
วันแรกที่ไปเขายังไม่ให้เริ่มทำงาน แต่ให้ศึกษาวิธีการทำงานก่อนและยังไม่นับชั่วโมง ก็เลยไม่ได้เงินในวันนี้ ผู้จัดการให้ฉันนั่งดูวีดีโอฝึกอบรมประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก็จะอธิบายเรื่องมารยาท วิธีการพูด การรับลูกค้า การใช้อุปกรณ์สั่งอาหาร ซึ่งมันประณีตมากและเข้าใจง่าย กระทั่งวิธีวางแก้วน้ำยังมีเลยค่ะ คือแทนที่จะวางโครมลงบนโต๊ะ เขามีวิธีทำให้วางโดยไม่เกิดเสียง ด้วยการเอานิ้วก้อยรองใต้แก้วก่อน พอวางลงแล้วค่อยกระเถิบนิ้วก้อยออกมา มันเป็นวิธีที่ฉันทึ่งมาก ความละเอียดอ่อนทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักพลิกแพลงอะไรง่าย ๆ แต่สร้างความแตกต่างได้เยอะดีนะคะ
งานที่พนักงานเสิร์ฟเริ่มตั้งแต่เตรียมแก้วน้ำวางเรียงรายในถาดให้เต็มแล้วใส่น้ำแข็งและน้ำเย็นลงไปทีละถาด ๆ ซ้อนกันไว้เป็นชั้นๆ รวมถึงเตรียมช้อนส้อม มีด และผ้าเช็ดมือไว้เป็นกล่อง ๆ เพื่อเตรียมต้อนรับลูกค้า พอลูกค้าเข้าร้านปุ๊บก็ต้องกล่าวคำที่คนไทยพอคุ้นหูว่า “อิรัชไชมาเสะ” (ยินดีต้อนรับ) เสียงดังร่าเริง ถามว่ามากี่คน แล้วพาไปที่โต๊ะ ยกน้ำเปล่ามาเสิร์ฟ พร้อมกล่องอุปกรณ์รับประทานอาหารแล้วถอยไปจากตรงนั้นก่อน พอลูกค้าจะสั่งอาหาร เขาค่อยกดปุ่ม เสียงปิ๊งป่องจะดังไปทั่วร้าน พร้อมขึ้นหมายเลขโต๊ะไฟกระพริบบนหน้าจอที่ห้อยจากเพดาน พนักงานเสิร์ฟก็ต้องรีบพูดว่า “จะไปเดี๋ยวนี้ค่ะ/ครับ” ทีนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะเป็นคนไปรับลูกค้าก็ได้ ไม่เคยเห็นใครเกี่ยงกันว่าใครจะไป แต่ละคนจะรู้หน้าที่กันดี
เวลาลูกค้าสั่งอาหาร พนักงานเสิร์ฟต้องทวนชื่ออาหารและจำนวนไปทีละอย่างๆ ด้วย มีอยู่เมนูหนึ่งที่มันตลกดี คือ ซีซาร์สลัดซึ่งต้องใช้น้ำสลัดซีซาร์เฉพาะของมันอยู่แล้ว แต่ในเมนูให้เลือกจากน้ำสลัด 3 ชนิดว่าจะเอาอย่างไหน วันหนึ่งลูกค้าสั่งซีซาร์สลัด ฉันถามว่าเอาน้ำสลัดอะไร เขาถามฉันด้วยความงงว่า “ซีซาร์สลัดก็ต้องใส่น้ำสลัดซีซาร์ไม่ใช่หรือ?” ฉันเลยเผลอหลุดแสดงความเห็นไปว่า “นั่นน่ะสิคะ ฉันก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน” ลูกค้าบอกว่า “ตรงไปตรงมาดีนะ” ฉันเลยอายมาก รีบพูดต่อว่า “งั้นเอาน้ำสลัดซีซาร์นะคะ” ลูกค้าบอก “อื้ม” พอสั่งอาหารครบฉันก็รีบเผ่นไปจากตรงนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ไม่มีลูกค้าคนอื่นถามฉันแบบนี้ และก็ไม่เคยเห็นลูกค้าคนไหนสั่งน้ำสลัดอื่นสำหรับเจ้าซีซาร์สลัดนี่เสียที แหม ก็มันเข้ากันที่ไหนละ
พอไปเสิร์ฟอาหาร เราต้องบอกชื่ออาหารนั้นก่อนวางลงบนโต๊ะ โดยมากแล้วถ้ามากันหลายคน พอเราพูดชื่ออาหารปุ๊บ ลูกค้าคนไหนเป็นคนสั่งก็จะยกมือบอกว่าของเขา พออาหารทุกอย่างมาครบแล้วก็ต้องถามลูกค้าว่าอาหารมาครบหมดไหม (แม้ว่าเราจะรู้ดีว่ามาครบแล้วก็ตาม) ถ้าโอเคแล้วค่อยม้วนบิลลงสอดไว้ในกล่องวางบิล แล้วบอกลูกค้าด้วยว่าวางบิลไว้ตรงนี้นะ ถึงเวลาพอลูกค้ารับประทานเสร็จก็ไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ ถ้าเห็นว่าลูกค้าลุกจะไปจ่ายเงินแล้ว ก็ต้องพูดขอบคุณลูกค้าเสียงดัง เวลาพูดทีก็จะพูดต่อ ๆ กันทุกคน
แน่นอนว่าพอลูกค้าไป เราก็ต้องไปเก็บกวาดโต๊ะให้เรียบร้อย ซึ่งวิธีเช็ดโต๊ะนี้ก็ยังต้องมีขั้นตอนสอนไว้ในวีดีโออีกเหมือนกัน หรือว่าถ้าจะเช็ดโต๊ะด้านที่นั่งโซฟาก็ต้องสอดตัวเข้าไปในที่นั่งอย่างไรเพื่อเช็ดโต๊ะ เป็นต้น ฉันคิดว่าคงเพื่อไม่ให้เกิดท่าทางที่ไม่น่าดูต่อลูกค้าที่กำลังรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนและช่างใส่ใจเอามาก ๆ การที่ญี่ปุ่นได้บอกแนวทางในการปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าทุกๆ อย่างแบบนี้ทำให้ทุกคนรู้หน้าที่ รู้วิธีการทำงาน และวิธีการรับมืออย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด จะมีใครมาอ้างมาตรฐานที่สองตามอำเภอใจไม่ได้ กระทั่งคนเป็นหัวหน้าเองก็ตาม
รายละเอียดปลีกย่อยยังมีอีกมากมาย อย่างเช่น เวลาเดินผ่านด้านหลังของเพื่อนร่วมงานที่กำลังถือถาดอาหาร หรือว่าตัวเองเป็นคนถือถาดอาหารแล้วเดินผ่านเองก็ต้องพูดว่า “จะเดินผ่านข้างหลังนะคะ/ครับ” เพื่อให้ไม่เกิดการชนกันอาหารหล่นกระจาย เวลาคุยกันต่อหน้าลูกค้า ภาษาที่ใช้ก็ต้องเป็นภาษาสุภาพแทนภาษาสนทนาทั่วไป หรือระหว่างเก็บกวาดโต๊ะนั้น ถ้าหากลูกค้ากดปุ่มเรียก จะต้องรีบพูดเสียงดังว่า “จะไปเดี๋ยวนี้ค่ะ/ครับ” แล้วผละจากการเก็บกวาดเพื่อไปรับออเดอร์ลูกค้าก่อน เว้นแต่เพื่อนร่วมงานคนอื่นสามารถไปรับออเดอร์นั้นได้
จำนวนพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นมีน้อยมากไม่เหมือนร้านอาหารในเมืองไทย ร้านที่มีโต๊ะประมาณ 20-30 โต๊ะอาจมีพนักงานเสิร์ฟอยู่แค่ 3-4 คน ทุกคนจะคอยสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น ถ้าเพื่อนร่วมงานง่วนกับอะไรอยู่ ควรจะช่วยก็เข้าไปช่วย หรือไปดูแลส่วนอื่น ถ้าพอมีเวลาก็คอยเติมน้ำให้ลูกค้า ไม่ค่อยมีเวลาอยู่นิ่งๆ เว้นแต่ลูกค้าน้อยเกินคาด ซึ่งผู้จัดการก็จะอัญเชิญให้กลับบ้านไปจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าแรง ซึ่งมันก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่เพราะเราก็ต้องจัดเวลาของเรามาทำงาน แต่เวลาลูกค้าเยอะเขาก็ไม่ให้เราเพิ่ม วันแรกๆ ของการทำงานนี่ พอเลิกงานทีแทบขาลากเพราะไม่เคยยืนตลอด 3-4 ชั่วโมงโดยไม่ได้นั่ง ถึงบ้านก็สลบไปเลย
เพื่อนผู้อ่านคงเห็นภาพชีวิตพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารของญี่ปุ่นกันพอหอมปากหอมคอไปบ้างแล้ว เอาไว้ในตอนหน้าจะมาเล่าประสบการณ์ในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานและการรับลูกค้าให้ฟังนะคะ.
"ซาระซัง" สาวไทย ที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.