xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ย 1 เยน จะเก็บหรือทิ้ง หรือควรเปลี่ยนเป็นลูกอม ?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ ช่วงกลางเดือนเมษาที่ผ่านมา ก่อนที่ผมจะเดินทางไปญี่ปุ่น คุณพ่อผมได้ส่งไลน์มาบอกว่ามีเอกสารจากธนาคารส่งมาที่บ้านแจ้งว่าบัญชีธนาคารของผมนั้นไม่เคลื่อนไหวมาเกือบจะสิบปีแล้ว ถ้าเกินสิบปีระบบจะตัดบัญชีได้ จึงแจ้งให้ผมไปติดต่อธนาคารโดยเร็ว ถ้าไปติดต่อแล้วจะมีของขวัญให้มากมาย ยิ่งถ้าฝากเงินมากกว่าสามล้านเยน (ประมาณหนึ่งล้านบาท)จะมีของขวัญให้เพิ่มขึ้นอีก ผมคิด บ้ารึเปล่าให้ฝากเงินล้านบาท!! เหตุผลหรอครับนอกจากไม่มีตังค์แล้ว ลองดูเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารญี่ปุ่นซึ่งน้อยมาก เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ที่ผมได้รับดอกเบี้ยมานั้นแค่ 0.35% ( สมมุติถ้าฝาก 10,000 เยน ครบ 1 ปี จะได้ดอกเบี้ยแค่ 35 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 11 บาท) น้อยมากใช่ไหมครับ ผมรู้สึกว่าแค่นี้ก็น้อยมากแล้ว ก่อนมาอยู่เมืองไทยสักประมาณเจ็ดปีที่แล้ว เคยไปปรึกษาธนาคารว่ามีรูปแบบการฝากแบบอื่นอีกไหมที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่านี้ ธนาคารแนะนำว่าอย่าเปลี่ยนเลยเพราะดอกเบี้ยเดิมที่ได้นั้นเยอะมากกว่าตอนที่จะขอเปลี่ยนอีก จนเรื่องล่วงเลยไปอีกหลายปี คุณพ่อผมก็ติดต่อมาว่าธนาคารให้ไปทำเรื่องเกี่ยวกับบัญชีธนาคารนี่ล่ะครับ

ตอนแรกผมคิดว่าจะให้พ่อช่วยไปทำธุระให้แต่พอดีช่วงสงกรานต์ได้กลับญี่ปุ่นและพอมีวันว่างอยู่ จึงได้มีโอกาสไปพบที่ปรึกษาธนาคารเพื่อทำการต่ออายุบัญชี ผมต้องเขียนเอกสารเยอะมาก ในขณะที่เขียนผมก็คิดขึ้นมาได้ว่าเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่เคยบอกว่าดอกเบี้ย 0.35% ก็เยอะมากแล้ว แล้วตอนนี้ดอกเบี้ยเท่าไหร่กัน?! ผมถามพนักงานดู พนักงานทำหน้าตกใจแล้วบอกว่า ไฮ้! ที่จริงแล้วดอกเบี้ยตอนนี้ 0.01% ครับ ( คือถ้าฝาก 10,000 เยน ครบ 1 ปี จะได้ดอกเบี้ยแค่ 1 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 30 สตางค์) ว้าว!! ฝากไปเพื่อไรครับเนี่ยมันเยี่ยมมากจริงๆ ( ´ ∀`)……( Д ) ゜゜

จากเหตุที่ผมได้รับอัตราดอกเบี้ยแค่ 0.01% นี้ หรืออย่างที่บอกไปว่าเท่ากับ 1 เยน เท่านั้นทำให้ผมนึกถึง คอลัมน์ที่เขียนไว้โดยปีเตอร์ แฟรงค์ ピーター・フランクル (Péter Frankl) นักคิดนักเขียนคอลัมนิสต์ ทางคณิตศาสตร์ เขาเกิดที่ประเทศฮังการี เรียนจบปริญญาเอกที่ปารีส แล้วกลับมาทำงานที่บ้านเกิดที่ฮังการี อยากเป็นนักคณิตศาสตร์แต่ต้องโดนเกณฑ์ทหารประมาณ 6 เดือน ตามกฏของประเทศ ซึ่งขณะนั้นประเทศฮังการีเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว จากคนที่เคยเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยคุณพ่อของเขาก็ถูกริบเงินและทรัพย์สินไปจนหมด เขาคิดว่ามีสิ่งเดียวที่ไม่มีใครมาขโมยจากเขาไปได้นั่นคือ ความรู้ หลังจากนั้นสุดท้ายลี้ภัยมาอยู่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นรู้จักเขาในฐานะนักเล่น juggling คือนักโยนลูกบอล 3 ลูก(ขึ้นไป) ด้วยมือสองข้างครับ คล้ายๆ ที่ตัวตลกเล่นละครับ เหตุผลหนึ่งที่เขาเรียนและฝึกซ้อม juggling เพราะพ่อเคยสอนว่าเรียนจบคณิตศาสตร์ไปถึงจะทำเงินได้มากมาย แต่ถ้ารัฐบาลของประเทศเกิดภาวะพลิกผัน หรือเกิดสงคราม มันเอาไปใช้ได้ไม่เท่ากับเล่น juggling เพราะการทำให้คนมีรอยยิ้มจะทำให้เกิดมิตรภาพ และตามมาด้วยข้าวปลาอาหารและเพื่อนอีกมากมาย

ตอนที่ผมจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Mathematics มีคอลัมน์เขียนเกี่ยวกับ ピーター・フランクル (Péter Frankl) พูดเกี่ยวกับสิ่งที่ปีเตอร์เขียนถึงญี่ปุ่น ก่อนอื่นถ้าเพื่อนๆ เจอเหรียญที่ตกอยู่ตามทาง เพื่อนๆ จะเก็บไหมครับ ที่ญี่ปุ่นบางคนก็เก็บบางคนก็ไม่ แต่ส่วนใหญ่ไม่เก็บครับ แล้วถ้าเป็นเงินของตัวเองตกจะเก็บไหม ถ้าเงินนั้นแค่ 1 เยน คือเป็นใครก็ต้องเก็บใช่ไหมครับ แต่ปีเตอร์เขียนว่าไม่ควรเก็บให้เสียประโยชน์ โดยเนื้อความประมาณว่า ถ้าคนญี่ปุ่นทำเหรียญหล่น 1 เยน ก็ไม่ควรเก็บเหรียญนั้นมาใช้ให้เสียประโยชน์นะ เพราะอะไรเพราะว่าแม้ได้เงิน1เยนมาแล้วเอา 1เยนนั่นไปใช้ก็ไม่คุ้ม สมมุติเงินรายได้เฉลี่ยของคนทั่วไป ณ ช่วงเวลาที่ปีเตอร์เขียนนั้น คนทำงานได้รับค่าแรงเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ 1,700 เยน ( ประมาณ 600 บาท ถ้าคิดที่ 1 วินาที คือ 0.167 บาท) การเก็บเงิน 1 เยน ( ประมาณ 30 สตางค์) ขึ้นมา ไม่มีประโยชน์เลย (ถ้าไม่เก็บให้ทันในเวลา 2 วินาที) เอาเวลานั้นไปทำงานยังจะได้เงินมากกว่า เรื่องการใช้พลังงานแคลอรี่เพื่อไปเก็บเหรียญนั้นตีเป็นตัวเงินแล้วยังแพงกว่า 1 เยนเป็นไหนๆ แถมต้นทุนที่รัฐบาลผลิตเหรียญหนึ่งเยนขึ้นมาก็สูงกว่าหนึ่งเยนมาก คือถ้าหล่นแล้วปล่อยไปแล้วรีบไปทำการทำงานยังได้ประโยชน์มากกว่า แต่ 1 เยนนี้ก็มีประโยชน์นะถ้าสร้างประโยชน์ให้มัน เช่นถ้าจะให้ 1 เยนนั้นมีประโยชน์ต้องทำแบบเมืองๆ หนึ่งที่เขายกตัวอย่างน่าจะที่อเมริกาที่จะมีกล่องใส่เศษเหรียญที่คนไม่ต้องการ แต่เงินในกล่องนั้นก็เป็นเงินสาธารณะที่อาจจะมีคนที่ต้องการจะใช้เศษเหรียญในกล่อง สามารถมาหยิบไปใช้ได้

ซึ่งข้อนี้ผมก็เห็นด้วยกับเขานะครับเพราะเรื่องค่าเงินเนี่ยบางประเทศเงินย่อยมากๆ เช่น สมมุติเหตุการณ์ที่อินโดนีเซียเมื่อสมัยผมเป็นนักศึกษานะครับ ผมเคยไปซื้อยากันยุง ราคา 3,254 รูเปีย (ประมาณ 10 บาท แล้วถ้าเงินหลักหน่วยของเขาจะเท่ากับกี่บาท) ผมจ่ายเงินแบ็งค์ 10,000 รูเปีย ได้เงินทอนมาเยอะแยะไปหมด บางครั้งเขาทอนเงินย่อยกว่านี้ไม่ได้ จ่ายมาเลขกลมๆ และให้ลูกอมมาแทนเงินย่อย ผมก็ร้อง ออ... ก็จริงนะเงินมันค่าเล็กมากจนบางที 1 รูเปียแทบหาทอนยาก

มีอีกประเทศค่าเงินหยิบย่อยกว่าอินโดนีเซียอีกคือ ตุรกี เรทเงินตอนนั้นสมัยผมเป็นนักศึกษาเช่นกัน 1US Dollar (ประมาณ 36บาท) = 1,200,000 ลีร่า ผมรับเงินมานี่อึ้งไปหลายยก ผมฝันไปรึเปล่า ผมไปซื้อแซนวิสปลาโซบะ ราคา 2 ล้านลีร่า กินไปก็นั่งขำแซนวิสราคา 2 ล้านเหมือนอยู่ในภาพความฝัน ให้เงินไปได้เงินทอนมาก็นับกันไม่ถูก รับๆ ไปงั้นเช่นเงินทอน 250,000 ลีร่า นับกันยาวไป มีวันหนึ่งไปกินข้าวกับเพื่อนตุรกีรวม 4 คนกินกันไป 42,500,000 ลีร่า คือกินแพงไปป่าวคับพี่Leon คงเป็นครั้งที่ผมรู้สึกว่าผมจ่ายเยอะสุดในชีวิตล่ะ ( ´)Д(`) ( ´)Д(`) ( ´)Д(`) ( ´)Д(`)ปกติเวลาไปทานอาหารที่ร้านอาหารควรจ่ายทิปด้วยเค้าจะจ่ายเป็นเลขกลมๆ ไปเช่นกรณีนี้อาจจะจ่ายทิปบวกไปอีกสัก 2,500,000 ให้เป็นยอด 45,00,000 หรือทิปสัก 7,500,000 ให้เป็นยอด 50,000,000 ลีร่าก็แล้วแต่กรณีแต่พวกผมมีคนเหนียวมากไปด้วยก็ถามเค้าว่าลดได้ไหม ตอนแรกคิดว่าถ้าได้คงได้ลดสัก 500,000 แต่เขาลดให้เหลือ 40 ล้านถ้วน ราคาสูงว่านับยากแล้วเวลาที่ผมไปซื้อของที่ซูเปอร์ พวกผัก หรือของที่ไม่แพง บางทีได้เงินทอนเป็นเหรียญ 5 พันลีร่า ถ้าวันไหนเขาไม่มีทอนก็ให้เป็นลูกอมเหมือนกัน และอีกหลายๆ ประเทศที่เป็นลักษณะเดียวกันนี้

ซึ่งที่อินโดนีเซียและตุรกีที่ผมเจอมา จะต่างกับญี่ปุ่นตรงที่ที่ญี่ปุ่นแม้ว่าต้องทอน 1 เยนเขาจะต้องทอนให้ลูกค้า 1 เยน ไม่มีให้ลูกอมมาแทนเงิน แต่ความหมายของปีเตอร์คือการหาหรือใช้เงิน 1 เยนนี่แหละอาจทำเสียเวลา คอลัมน์ที่เขาเขียนไว้ดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานในทางลบคนของญี่ปุ่นมาก แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดีนักค่าแรงก็น้อยกว่าเดิม ผมคิดว่าแม้เงิน 1 เยนก็เก็บดีกว่านะ

ดังนั้นเมื่อผมคิดถึงดอกเบี้ยเงินฝากที่ผมได้รับจากการฝากเงินที่ญี่ปุ่นแล้ว เวลามองไปตรงช่องเงินได้จากดอกเบี้ยแล้วก็ถอนหายใจนึกว่าเศษอะไรติดที่สมุดเงินฝากธาคารหรือเปล่า !! แถมค่าเงินเฟ้ออีกอนาคตคนญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรเนี้ย หรือว่าผมควรจะเริ่มเรียนการโยนลูกบอล juggling บ้างดี วันนี้สวัสดีครับ

เพลง " 1 Yen's traveling "
กำลังโหลดความคิดเห็น