xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าพ่อยากุซ่ามีอิทธิพลอย่างไรกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเอเอฟพี
สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ อาทิตย์ก่อนผมพูดเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่น พูดเรื่องเงิน 1เยน มีเพื่อนๆ หลายท่านให้ความสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น วันนี้เลยอยากพูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและบริษัทญี่ปุ่นสักหน่อย

ช่วงนี้ตามร้านหนังสือที่ญี่ปุ่นมีหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ออกขายมากมาย บางเรื่องเขียนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนี้หนังสือประเภทนี้ฮิตมาก ทำไมจึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้ เพราะตอนนี้เปรียบไปญี่ปุ่นก็เหมือนอยู่ในยุคที่กำลังพักฟื้นเยียวยาตัวเองจาก バブル経済 ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ Economic Bubble

ขออธิบายเรื่องภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่คร่าวๆ ครับ Economic Bubble คือภาวะที่ราคาทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ การใช้เงินเพื่อลงทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดอุปสงค์เทียมจากการเก็งกำไร มีการปั่นราคาทำให้ราคาของนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นวงจร เปรียบเหมือนการขยายตัวของฟองสบู่ โดยที่ราคาของสินทรัพย์ในภาวะฟองสบู่ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อราคาเริ่มลดลงภาวะฟองสบู่ก็จะหดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้นตามมานั่นเองครับ เเล้วก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่เลย

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ญี่ปุ่นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ก็มีนักวิเคราะห์บอกว่าเริ่มมาตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน ราคาทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ที่โตเกียวแพงมาก ๆ คอนโดมิเนียมเอย ที่ดินเอย ราคาสูงลิ่วขึ้นมาเรื่อยๆ ตัวอย่างTop of bubble คือช่วงนั้นที่ดินที่อยู่ภายในวงบริเวณของทางรถไฟสาย 山手線 Yamanote line แพงขนาดซื้อที่ดินของประเทศอเมริกาได้ 2 เท่าเลยทีเดียว

ตอนนั้นเกิดการปั่นราคาที่ดินให้สูงอาจจะโดยกลุ่มยากุซ่า กลุ่มการเงินการธนาคาร ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือสมมุติใจกลางกรุงโตเกียวมีพื้นที่ ที่ธนาคารอยากปล่อยเงินกู้ให้สร้างตึกที่ใหญ่โตหรูหราแต่การก่อสร้างพวกนี้ต้องพึ่งกลุ่ม Construction หรือบริษัทก่อสร้างที่ญี่ปุ่นบริษัทเหล่านี้ก็มียากุซ่าเอี่ยวอยู่แล้วเพราะบางทีต้องเป็นพวกมีอิทธิพล แล้วพอตึกใหญ่โตหรูหราคลอดก็ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นแพงมหาศาลเพื่อจะได้มีคนทำงานจ่ายเงินค่าเช่า ค่าเงินที่ผ่อนต้องกู้แบงค์มาในราคาสูงมาก การปั่นกระแสเช่นนี้เกิดขึ้นเยอะ ตั้งแต่สามสิบปีก่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้เช่า หรือคนจ่ายเงินเริ่มเบี้ยวหนี้ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย บริษัทก่อสร้างก็ไม่มีเงินจ่ายคืนจนทำให้ธนาคารเริ่มเข้าสู่ภาวะย่ำแย่ ต้องขอให้รัฐบาลช่วยพยุงเยียวยา ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เงินงบประมาณที่ประชาชนจ่ายไปช่วยพยุงธนาคาร

นั่นหมายถึงคนญี่ปุ่นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อจ่ายภาษีเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ทางธนาคารเองก็หาทางปล่อยพวกอสังหาริมทรัพย์ที่มีในมือมากมายก็ขายไม่ได้ จนต้องลดราคาแบบขาดทุนขายให้ต่างชาติเอาไปครอง

ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับกลุ่มยากุซ่ามีหลากหลายเคส มีเคสหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องแบกภาระหนี้สินจำนวนมากคือ イトマン事件 Itoman jiken สมัยนั้นลูกสาวของกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร Sumitomo เป็นแฟนกับหนุ่มเจ้าของกลุ่มบริษัทหนึ่งที่เชื่อว่ามีเอี่ยวกับยากุซ่า ทำให้หนุ่มคนนั้นสามารถกู้ยืมเงินได้จำนวนมากโดยนำทรัพย์สินราคาไม่แพงมาก บ้างก็เป็นแค่ภาพวาดทางศิลปะ มาจำนองเพื่อขอกู้ได้วงเงินมหาศาล แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถคืนได้ แค่เคสนี้ทำให้ธนาคารสูญเงิน จำนวนกว่า 36,000,000,000 เยน นอกจากนั้นยังมีการกู้ในรูปแบบอื่นๆ อีกทำให้เคสลูกสาวนายแบงกับยากุซ่านี้กวาดเงินไปกว่า 300,000,000,000 เยน เป็นต้น

ทำไมยากุซ่าจึงร่ำรวยจากเหตุการณ์ฟองสบู่ เพราะจากแหล่งข่าวจากนิตรสารฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขียนไว้เกี่ยวกับความมั่งคั่งร่ำรวยของกลุ่มยากุซ่าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นถึงแหล่งที่มาของรายได้ว่า ในปี 2014 กลุ่มนี้มีรายได้มากถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.86 ล้านล้านบาท คิดแล้วมากกว่างบประมาณของเมืองไทยอีกแนะ จากการวิเคราะห์ถึงแหล่งที่มาของรายได้พบว่ามาจากการลักลอบค้ายาเสพติด การทำธุรกิจผิดกฎหมาย จากอุตสาหกรรมบันเทิง และการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ นี่เองที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ฟองสบู่

เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติฟองสบู่ในญี่ปุ่น กลุ่มยากุซ่านี้ก็เริ่มเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น พวกเขาซื้อสิ่งของต่างๆในราคาถูกก่อนจะนำไปขายต่อด้วยราคาสูงในตลาดมืด และบางเคสก็ไม่จ่ายเงินที่ไปกู้มา และหลังจากญี่ปุ่นพ้นวิกฤติฟองสบู่ในช่วงปี 1990 พวกเขาก็รีบเข้าซื้อทรัพย์สินที่มูลค่ากำลังตกฮวบให้เป็นของตัวเอง นั่นเองครับ

แต่อย่างไรก็ตามครับปัจจุบันกลุ่มยากุซ่าที่ใหญ่ที่สุดนี้กำลังเกิดวิกฤตแตกแยกตัวเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยจากกลุ่มใหญ่เดิมที่เคยสังกัด ทำให้ตำรวจทั่วประเทศญี่ปุ่นตื่นตัวและประกาศให้มีการเฝ้าระวังเหตุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเข้มงวด เพราะในอดีตก็เคยเกิดการนองเลือดจากความแตกแยกภายในกลุ่มมาแล้ว แถมสดๆ ร้อนๆ วันก่อนมีข่าวว่าหัวหน้ากลุ่มคนหนึ่งที่เพิ่งแตกคอกับกลุ่มเดิมถูกตำรวจจับด้วยเหตุผลที่ไม่น่าจะจับได้คือแค่ใช้ชื่อคนอื่นซื้อโทรศัพท์แต่ผมคิดว่าตำรวจคงกลัวว่าถ้าไม่รีบปราบปรามไว้ก่อนอาจมีสงครามระหว่างพวกยากุซ่ากระมังครับ

สภาพคนญี่ปุ่นตอนนี้ก็เหมือนคนเป็นหนี้ รัฐบาลที่มีรายได้จากการให้ต่างชาติยืมเงิน และบริษัทเกี่ยวกับรถยนต์ที่ยังทำรายได้เข้าประเทศได้บ้าง ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกก็ใช่ว่าจะดี ถ้าแต่ละประเทศก็ไม่มีจ่าย ไม่มีเงินคืน บริษัทรถญี่ปุ่นมีปัญหาขึ้นมา ไม่อยากคิดเลยว่าแล้วต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น !?

อนึ่งญี่ปุ่นเรียกปีญี่ปุ่นตามยุคที่เจ้าจักรพรรดิ์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์เป็นปีเริ่มต้นและนับไปเรื่อยๆ จนสิ้นยุคจักรพรรดิ์พระองค์นั้น ปัจจุบันคือ รัชสมัยเฮเซ 平成 Heisei เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1989 - ปัจจุบัน เป็นช่วงยุคสมัยที่เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จีดีพีไม่เพิ่มเลย คนญี่ปุ่นบางส่วนไม่ชอบยุคนี้ซะเท่าไหร่ครับ ตอนที่ผมเป็นนักศึกษานั้นจีดีพีค่าเฉลี่ยคนญี่ปุ่นต่อคนต่อปี ประมาณ 6 ล้านเยน แต่ปัจจุบันน่าจะประมาณคนละ 5 ล้านเยน ผมนึกย้อนกลับไปตอนผมเรียนก็มีคนบอกกันมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ดีๆ แต่ผมว่ามันยังดีกว่าตอนนี้มาก ผมยังโชคดีที่ตัดสินใจแบ็คแพ็กเกอร์ไปท่องเที่ยวหลายๆ ที่หลายๆ ประเทศในตอนนั้น เพราะตอนนี้แบ็คแพ็กเกอร์มาเที่ยวญี่ปุ่นแทนแล้ว
เรื่องเศรษฐกิจการเมืองนี่เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไวมากและมีผลกระทบไปทั่วจริงๆ เลย มาคิดดูแล้วทางเดินที่ดีที่สุดคงจะต้องยึดถือแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงใช่ไหมครับ วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น