ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
“กลุ่มเรามาจากญี่ปุ่น ดีใจที่ได้มาเมืองไทย ซึ่งเป็นที่ที่มีความหลากหลายครับ คนญี่ปุ่นมีสองเพศ แต่คนไทยมีได้ถึงสิบแปดเพศ! เราจะมาเก็บข้อมูลเรื่องนี้” นักศึกษาญี่ปุ่นคนหนึ่งแนะนำกลุ่มของตัวเองต่อหน้าเพื่อนๆ เป็นภาษาอังกฤษในชั่วโมงหนึ่งที่ผมสอน
เรื่องของเรื่องก็คือ นั่นคือ “วิชาศิลปะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม” ซึ่งผมไปสอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวการเกษตรและเทคโนโลยีในหัวข้อ “อัตลักษณ์” และสุดท้ายก็แบ่งกลุ่มให้อภิปรายกันว่า “สมมุติว่าคุณเดินทางไปเมืองไทยเพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องแนะนำตัวต่อหน้าคนไทย ขอให้ทุกกลุ่มกำหนดอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม จะสมมุติขึ้นมาก็ได้ ขณะพูดก็ขอให้อ้างอิงความแตกต่างทางด้านอัตลักษณ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยไปด้วย อย่าพูดถึงแต่ตัวเอง ควรพูดถึงเจ้าบ้านด้วยเพื่อให้เกียรติ การสื่อสารที่ดีเริ่มจากตรงนั้น”
ผลที่ออกมาส่วนหนึ่งคือข้อความข้างต้น พอผู้สอนได้ยินเข้าก็ทึ่งด้วย งงด้วย และงงเด้เพราะชักจะตามโลกไม่ทันว่าคนไทยมีสิบแปดเพศแล้วหรือ แต่ก็กลั้นยิ้มไว้ไม่อยู่เพราะนึกไม่ถึงว่านักศึกษาญี่ปุ่นจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด จากนั้น อาจารย์ก็ถามว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน แล้วภาพบนสมาร์ทโฟนก็ปรากฏเป็นแผนภูมิขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพที่ผมเคยเห็นผ่านๆ แต่ไม่ได้สนใจ พอไล่อ่านจริงจังถึงได้พบว่า มีคำที่ใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศที่คนไทย (บางกลุ่ม) เข้าใจกันปรากฏบนแผนภูมินั้นสิบแปดคำ บางคำผมเองก็ไม่เข้าใจและได้ยินเป็นครั้งแรก สิบแปดคำที่ว่าคือ
ผู้ชาย – เพศชายทั่วไปที่ชอบผู้หญิง
ผู้หญิง – เพศหญิงทั่วไปชอบผู้ชาย
ทอม – ผู้หญิงที่มีท่าทางแบบผู้ชาย และชอบผู้หญิงหรือดี้
ดี้ – ผู้หญิงที่มีท่าทางแบบผู้หญิงทั่วไป ชอบทอมหรือชอบผู้หญิงด้วยกัน
ทอมเกย์ – ทอมที่ชอบผู้หญิงก็ได้ ทอมหรือดี้ก็ได้
ทอมเกย์คิง – ทอมที่ชอบทอมด้วยกันเอง
ไบ – รักร่วมสองเพศ (ไบเซ็กชวล)
โบธ – ผู้ชายที่คบได้ทั้งหญิง เกย์คิง เกย์ควีน ยกเว้นสาวประเภทสอง
เกย์ควีน – ผู้ชายที่ชอบผู้ชายโดยเป็นฝ่ายรับการกระทำ
เกย์คิง – ผู้ชายที่มีลักษณะเป็นผู้ชายและชอบเกย์ควีน
ทอมเกย์ทูเวย์ – ทอมที่เป็นได้ทั้งทอมเกย์คิงและทอมเกย์ควีน
ทอมเกย์ควีน – ทอมที่มีลักษณะแบบผู้หญิงและชอบทอม
เลสเบี้ยน – ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง
กะเทย – ผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง มีท่าทางกระตุ้งกระติ้ง
อดัม – ผู้ชายที่ชอบทอม
แองจี้ – สาวประเภทสองที่ชอบทอม
เชอร์รี่ – ผู้หญิงที่ชอบเกย์และสาวประเภทสอง
สามย่าน – ผู้หญิงที่คบได้ทั้งทอม เลสเบี้ยน และผู้หญิง
พอการนำเสนอสั้นๆ ของนักศึกษาจบลงและเมื่อผมลำดับความคิดได้ ก็พยายามอธิบายเป็นวิชาการว่า คำว่า “เพศ” ที่คนญี่ปุ่นมีแค่สองนั้นคือ เพศสภาพ (สภาพร่างกาย) ส่วนที่บอกว่าคนไทยมี 18 อย่างนั้น คือ เพศวิถี (เป้าหมายทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศ) ถ้าเอามาเปรียบเทียบแบบสนุกๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าพิจารณาอย่างเคร่งครัดแล้ว มันคือเกณฑ์คนละอย่าง จึงเทียบกันไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริง เพศวิถีของคนญี่ปุ่นก็คงมีมากกว่า 2 อย่างแน่นอน ในเชิงวิชาการว่ากันอย่างนั้นก็ว่าไป แต่ผมก็เข้าใจประเด็นสำคัญที่นักศึกษาต้องการสื่อ คือ เมืองไทยนี้ดีนักหนาที่เปิดกว้างทางเพศวิถี คนไทยมีวิธีคิดที่น่าสนใจ ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ไม่รู้ว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงไม่ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่น
ผมจึงบอกว่าจริงอยู่ที่ประเทศไทยขึ้นชื่อในระดับโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ (พอๆ กับฟิลิปปินส์) ว่า open—เปิดเผย และ tolerant—รับได้หรือทนได้ “แต่อาจารย์ก็ไม่กล้าใช้คำว่า ‘ยอมรับ’ อย่างเต็มปากนะครับ เพราะแต่ละคนให้นิยามคำว่า ‘ยอมรับ’ ต่างกัน ถ้ามองในเชิงสังคม ปัจจุบันคงถือว่าเป็นเรื่องแปลกน้อยลงในเมืองไทย แต่ขณะที่อเมริกาและหลายประเทศในยุโรป คนเพศเดียวกันแต่งงานได้โดยมีกฎหมายรับรอง และผู้นำของบางประเทศก็เปิดเผยอัตลักษณ์ของตนต่อโลก ในเมืองไทย กระแสความเคลื่อนไหวแบบนี้กลับอ่อนแรงมาก ถ้าอย่างนี้แล้ว นักศึกษาคิดว่าเป็นที่ ‘ยอมรับ’ หรือไม่”
นักศึกษาก็เงียบกันไปเพราะเป็นเรื่องที่ตอบยาก และไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด แต่ละประเทศคงมีคำตอบไม่เหมือนกันและขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วย แต่เมื่อเทียบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแล้ว คำตอบของสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันน่าจะง่ายกว่าคือ “ไม่ยอมรับ” ไม่ว่าจะด้วยมุมมองทางกฎหมายหรือทางสังคม เรื่องทางกฎหมายไม่ต้องพูดถึงเพราะคงอีกนานมากกว่าญี่ปุ่นจะก้าวไปถึงจุดที่เบลเยียมทำได้ ส่วนทางสังคมก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดกันสุดชีวิตทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกันแล้ว ญี่ปุ่นเคยเปิดเผยมานานตั้งแต่โบราณก่อนไทยเสียอีก มีทั้งเอกสาร มีทั้งคำเรียกพร้อมสรรพ (และมีภาพยืนยันชัดเจน แต่คงไม่เหมาะที่จะนำมาลง)
ในสมัยเฮอัง (平安時代; Heian jidai; ค.ศ. 794 – 1185) การที่ชายกับชายมีความสัมพันธ์ทางกายกันเป็นเรื่องปกติในหมู่นักบวชและคนในราชสำนัก โลกียลักษณ์แบบนี้ภาษาญี่ปุ่นเรืยกว่า “นันโชะกุ” หรือ “ดันโชะกุ” (男色; nanshoku, danshoku) แปลตามตัวอักษรคือ “สีสันแห่งชาย” ต่อมาในสมัยมุโระมะชิ (室町時代; muromachi; ค.ศ. 1336 – 1573) ในหมู่นักรบซะมุไรก็ปฏิบัติกัน ก็ซะมุไรแมนๆ นี่แหละ มีคู่ขาเป็นเด็กหนุ่มแรกรุ่นที่มารับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ ถ้าเด็กชายยินยอมและซะมุไรเจ้านายยินดี สองคนก็ตกลงปลงใจเป็นคู่รักกันได้จนเมื่อเด็กชายอายุถึงวัยผู้ใหญ่ ขนบนี้เรียกว่า “วิถีเด็กหนุ่ม” หรือ “วะกะชู-โด” (若衆道;wakashūdō) ขณะเดียวกันสองคนก็ไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้มีอะไรกับผู้หญิง และเมื่อเด็กหนุ่มกลายเป็นผู้ใหญ่ ต่างคนต่างก็เป็นอิสระที่จะหาคู่ขาคนใหม่ได้อีก
วัฒนธรรมในข่ายนี้มีต่อเนื่องมานานในญี่ปุ่น จนกระทั่งแนวคิดของคริสเตียนจากโลกตะวันตกแพร่เข้ามาในสมัยเมจิ (明治時代; Meiji jidai ; ค.ศ. 1868 – 1912) “วิถีเด็กหนุ่ม” จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลายเป็นเรื่องพ้นสมัย แล้วเพศวิถีที่นอกเหนือจากหญิงชายก็ถูกมองเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับคนหมู่มาก แต่ถ้าถามว่าเรื่องแบบนี้ห้ามกันได้ไหม ก็คงไม่ได้ เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องที่จะเปิดเผยได้ง่ายๆ เหมือนในสมัยโบราณ และทุกวันนี้แหล่งรวมตัวสังสรรค์ของคนกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ที่ใจกลางเมืองเลยทีเดียว คือ ย่านชินจุกุซอยสองในกรุงโตเกียว และย่านโดยะมะในโอซะกะ
หากนำแนวคิดด้านอัตลักษณ์มาวิเคราะห์เพศวิถีของญี่ปุ่นยุคใหม่ตั้งแต่สมัยเมจิแล้ว ถือได้ว่ายังคงเป็นอัตลักษณ์แบบต่อต้านอยู่ คือ พยายามจะเกิด แต่ก็ออกมาไม่ได้ จึงอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มานูเอล คาสเตลส์ (Manuel Castells) นักสังคมวิทยาชื่อดังได้เสนอแนวคิดไว้ในหนังสือ The Power of Identity (พลังแห่งอัตลักษณ์) ว่าด้วยต้นกำเนิดของอัตลักษณ์ 3 ทาง คือ
1) อัตลักษณ์โดยสถาบันอันชอบธรรมทางกฎหมาย (legitimizing identity) คือ องค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างรัฐบาลหรือหน่วยงานสร้างอัตลักษณ์ให้ เช่น สัญชาติไทย สัญชาติญี่ปุ่น
2) อัตลักษณ์อันเกิดจากการต่อต้าน (resistance identity) คือ กลุ่มคนที่ตกอยู่ในสภาพถูกลดคุณค่าหรือกดดันตามครรลองของสังคม ณ ขณะนั้น พยายามยันกระแสการถูกกดไว้โดยเชิดชูหลักการที่แตกต่างของตนขึ้นมา
3) อัตลักษณ์แบบแผนใหม่ (project identity) คือ ผู้คน ‘สร้าง’ ลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นมาใหม่ตามพื้นฐานทางวัฒนธรรมหรือองค์ประกอบที่มีอยู่แล้ว จนกลายเป็นกระแสสำคัญที่ได้รับการยอมรับอีกกระแสหนึ่ง
จากสภาพที่อัตลักษณ์ของกลุ่มคนเพศเดียวกันถูกกดไว้นานทั่วโลกด้วยหลักทางศาสนาหรือกระแสสังคม พอเวลาผ่านไปอัตลักษณ์ต่อต้านก็อาจพัฒนาเป็นอัตลักษณ์แบบแผนใหม่จนได้รับการยอมรับในหลายๆ ที่ สำหรับเรื่องนี้ย่อมถือได้ว่าไทยนำหน้าญี่ปุ่นไปแล้วแม้ยังไม่สำเร็จแบบหมดจดก็ตาม ส่วนญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มประปราย เช่น การจัดกิจกรรมขบวนพาเหรด Tokyo Rainbow Pride ของกลุ่มคนรักร่วมเพศทุกปีโดยมีธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์
หลังจากสอนวันนั้น ผมกลับไปสืบค้นย้อนดูก็พบว่า การแชร์ภาพแผนภูมิความหลากหลายทางเพศที่นักศึกษานำมาใช้นั้นกลายเป็นกระแสราวๆ ต้นปี 2560 นี้ และเมื่อสืบค้นไปอีกก็พบว่าเคยมีบทความที่คนญี่ปุ่นเขียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ 18 อย่างของไทยไว้แล้วตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งอนุมานได้ว่ามาจากข้อมูลที่คนไทยเขียนเป็นภาษาไทยอยู่ก่อนนั่นเอง เมื่อสรุปเป็นแผนภูมิให้ดูง่าย จึงเกิดการแชร์สนั่น และกลายเป็นกระแสข่าวกลับเข้ามาในเมืองไทยอีกทีว่าคนญี่ปุ่นทึ่ง
อันที่จริง ถ้าดูจากคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่แพร่หลาย ผมเดาว่าอัตลักษณ์ในด้านนี้ของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ด้อยกว่าของไทยเท่าใดนัก และคงมีคำที่ผมไม่รู้จักอีกมาก เอาเท่าที่ได้ยินบ่อยๆ ก็เช่น “ดันเซ” (男性;dansei) – ผู้ชาย, “โจะเซ” (女性;josei) – ผู้หญิง, “ไบ” (バイ;bai)–ไบ, “เก” (ゲイ;gei) – เกย์, “เระซุบิอัง” (レズビアン;rezubian) – เลสเบี้ยน (เรียกสั้น ๆ ว่า “เระซุ” หรือ “บิอัง” แต่คำว่า “เระซุ” บางครั้งฟังเหมือนคำเหยียด คนกลุ่มนี้นิยมให้เรียกว่า “บิอัง” มากกว่า), “โอะกะมะ” (オカマ;okama) – กะเทย, “นิวฮาฟ” (ニューハーフ;nyūhāfu) – สาวประเภทสอง แต่งตัวเป็นผู้หญิง (เป็นคำที่คนญี่ปุ่นบัญญัติเองจากภาษาอังกฤษ new-half)
ผมคิดว่าการที่คนญี่ปุ่นทึ่งนั้น คงไม่ได้ทึ่งแค่เรื่องจำนวนของไทยที่มีมากกว่า แต่คงทึ่งเพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าวิถีเหล่านี้ ‘เป็นไปได้’ ในสังคมนอกญี่ปุ่นด้วย
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th