ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ปีนี้มีหลายเรื่องใหญ่ที่สร้างรอยยิ้มให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ เหรียญทองโอลิมปิก 12 เหรียญ หรือการที่ผู้นำสหรัฐฯ เยือนเมืองฮิโรชิมาเป็นครั้งแรกหลังจากที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองนี้เมื่อกว่าเจ็ดสิบปีก่อน
แม้ยังมีหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่โดยรวมก็ถือได้ว่าเป็นปีดีปีหนึ่ง และเมื่อถึงเดือนสุดท้ายของปี ทุกคนก็หวังว่าปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีเช่นกัน คำญี่ปุ่นที่ได้ยินบ่อยที่สุดในช่วงนี้จึงได้แก่ “โยะอิ โอะ-โตะชิ โอะ” (良いお年を;Yoi o-toshi o) มีความหมายตามตัวอักษรว่า “(รับ)ปีดี” ในข้อความนี้ หากพิจารณาดีๆ จะพบความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่นเชิงภาษา อีกทั้งยังจะพบอีกว่า คำว่า “ปีดี” ของคนญี่ปุ่นเกี่ยวพันกับศาสนาชินโตและพุทธด้วย
อันดับแรก ในแง่ของภาษา ภาษาญี่ปุ่นรุ่มรวยสำนวนทักทายและคำที่ใช้แสดงมารยาททางสังคม รวม ๆ แล้วมีความหลากหลายและความเฉพาะเจาะจงมากกว่าภาษาไทย ทำให้บางทีก็เกิดปัญหาเมื่อคนญี่ปุ่นอยากจะพูดสำนวนของตนเป็นภาษาต่างประเทศ และสิ่งที่เกิดกับผมในช่วงนี้ก็คือ มีคนญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยได้มาพูดกับผมว่า “สวัสดีปีใหม่” ทั้งๆ ที่ยังเป็นปีเก่าอยู่ สาเหตุคือ ภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนที่ใช้พูดส่งท้ายปีเก่า แต่ในวัฒนธรรมไทย เราไม่พูด พอคนญี่ปุ่นจะพูดอวยพรส่งท้ายปีเก่าเป็นภาษาไทย ก็ไม่รู้จะใช้สำนวนอะไร จึงใช้ “สวัสดีปีใหม่” ทั้งในปีเก่าและปีใหม่
“โยะอิ โอะ-โตะชิ โอะ” (良いお年を;Yoi o-toshi o) คือสำนวนที่ได้ยินเสมอในช่วงครึ่งหลังของเดือนธันวาคม ใช้พูดเมื่อจะลาจากกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะหมดปี คำว่า “โยะอิ” (良い;yoi) แปลว่า “ดี”, “โอะ-โตะชิ” (お年;o-toshi) แปลว่า “ปี”, และ “โอะ” (を; o) เป็นคำช่วยที่ใช้บ่งชี้กรรม ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ปีที่ดี” อันที่จริง นี่เป็นการพูดแบบย่อ สำนวนเต็มคือ “โยะอิ โอะ-โตะชิ โอะ, โอะ-มุกะเอะ คุดะไซ” (良いお年をお迎えください;Yoi o-toshi o, o-mukae kudasai) แปลว่า “ขอให้พบ (รับ) ปีที่ดี” ซึ่งหมายถึงปีหน้า
พอขึ้นปีใหม่ จะใช้อีกสำนวนหนึ่งคือ “อะเกะมะชิเตะ โอะเมะเดะโต โกะไซมะซุ” (明けましておめでとうございます;Akemashite O-medetō gozaimasu) แปลตามตัวอักษรคือ “เปิดศักราชใหม่ ขอแสดงความยินดีด้วย” หรือเทียบกับภาษาไทยคือ “สวัสดีปีใหม่” นั่นเอง
ถ้าอย่างนั้น คำอวยพรส่งท้ายปีเก่าในภาษาไทยที่เทียบเท่ากับสำนวนภาษาญี่ปุ่นควรจะเป็นอะไร? เมื่อมีคนญี่ปุ่นถามเช่นนั้น ผมจึงเสนอสำนวนง่ายๆ ไปว่า “โชคดีปีใหม่” (เพราะฟังแล้วเป็นการอวยพรมากกว่าการทักทาย) หรือไม่ก็ “เจอกันปีหน้า” ก็น่าจะสะดวกดี
ส่วนในแง่ของความเชื่อ คำว่า “ปีดี” หมายถึง “ปีหน้า” และเพื่อปีหน้าที่ดีกว่า อิทธิพลของศาสนาก็เข้ามามีบทบาทด้วย คนญี่ปุ่นเชื่อว่า “เทพเจ้าแห่งปี” ซึ่งเรียกว่า “โทะชิ-งะมิซะมะ” (年神様;Toshi-gamisama) คือผู้บันดาลความสุขความเจริญ นี่คือเทพเจ้าทางชินโต ซึ่งจะมาเยือนแต่ละบ้านในวันปีใหม่ แต่ละปีทิศทางที่เทพเจ้าจะมา ซึ่งเรียกว่า “เอะโฮ” (恵方;ehō) นั้นก็แตกต่างกันออกไป และไม่ใช่การมาสถิตที่ศาลเจ้า แต่เป็นการมาสถิตที่บ้านคนปกติ ในปีนั้นๆ หากทำสิ่งใดในทิศมงคลตามเส้นทางของเทพเจ้าแล้ว ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง อย่างในปี 2560 “เอะโฮ” เทียบตามเข็มนาฬิกาคือ 11 โมงครึ่ง, ปี 2561 คือ 5 โมงครึ่ง, และปี 2562 คือ 2 โมงครึ่ง แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องทิศในการประกอบกิจเจือจางลงไปมากแล้ว
คนญี่ปุ่นเชื่ออีกว่าเทพเจ้าชอบสถานที่สะอาด จึงต้องเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเตรียมรับปีใหม่ ซึ่งจริง ๆ คือเพื่อรอรับเทพเจ้า นี่คือที่มาของการปัดกวาดครั้งใหญ่ที่สุดประจำปี ดังที่ลูกหลานจีนก็ทำในช่วงตรุษจีน นอกจากความสะอาดแล้ว ก็ยังมีสิ่งของที่นำมาประดับบ้านในฐานะเครื่องบูชาเทพเจ้าด้วย สองสิ่งที่สำคัญ ได้แก่ พุ่มสน (門松;kadomatsu) ซึ่งถือว่าเป็น ‘สื่อสายใย’ ให้เทพเจ้าลงมาสถิต กับโมะชิกระจกเงา (鏡餅;kagamimochi; [เชื่อกันว่าได้ชื่อ “กระจกเงา” เพราะมีลักษณะกลมๆ แบบกระจกโบราณ กระจกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชินโต]) ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า
คนญี่ปุ่นจะเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จสิ้นก่อนจะถึงสิ้นปี ซึ่งเรียกว่า “โอมิโซะกะ” (大晦日;Ōmisoka) และวันหยุดช่วงสิ้นปีกับปีใหม่ของญี่ปุ่นก็ยาวนานอย่างน้อย 5-6 วันแม้ว่าวันหยุดราชการตามปฏิทินจะมีแค่วันที่ 1 มกราคมก็ตาม อย่างปีนี้บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ว่าแต่ทำไมต้องทำอะไรต่ออะไรให้เสร็จโดยถือว่าคืนสิ้นปีเป็นเส้นตาย?
ในสมัยโบราณ โดยทั่วไปมองว่า “วันใหม่” เริ่มตั้งแต่ตอนกลางคืน เรื่อยไปจนถึงฟ้าสว่างจนกระทั่งหมดวัน พอมืดอีกทีก็จะถือว่าขึ้นวันใหม่อีกวัน ดังนั้น จึงมองว่า “คืน” วันสิ้นปีคือการเข้าสู่ปีใหม่แล้ว และในคืนนี้เอง ผู้คนจะไม่รีบเข้านอน แต่จะรอรับเทพเจ้าแห่งปี ว่ากันว่าถ้ารีบเข้านอน ผมจะหงอกทั้งหัว หรือหน้าตาจะเป็นริ้วรอยยับย่น ในปัจจุบัน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังทำเช่นนั้น โดยอยู่กันจนดึกดื่นเพื่อรอรับวันใหม่ ซึ่งตอนนี้นับเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นวันปีใหม่
ในคืนเดียวกันนี้ ความเชื่อทางศาสนาพุทธก็ปรากฏเช่นกัน กล่าวคือ ถ้าบ้านใดอยู่ใกล้วัด จะได้ยินเสียง “ระฆังข้ามคืน” (除夜の鐘 ; joya no kane) ตามนัยเชิงศาสนาคือ “ระฆังไล่กิเลส” อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ระฆังจะตีร้อยแปดครั้ง เพราะถือว่ากิเลสมีร้อยแปด โดยผ่านเข้ามาทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งเหล่านั้นแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจ สิ่งที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ สิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจ และในแต่ละประเภทแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ สิ่งที่สะอาด และสิ่งที่สกปรก รวมทั้งสิ้น 6x3x2 = 36 เมื่อคำนวณ 3 ชาติ ได้แก่ ชาติที่แล้ว ชาตินี้ และชาติหน้า จึงกลายเป็น 36x3 = 108 ระฆังไล่กิเลสของญี่ปุ่นในคืนสิ้นปีจึงตีร้อยแปดครั้งด้วยประการฉะนี้
แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง ปีต่อไปอาจไม่ใช่ปีดีสำหรับทุกคนก็เป็นได้ คนญี่ปุ่นจึงเตือนสติกันไว้ด้วยความเชื่อเรื่อง “ยะกุโดะชิ” (厄年;yakudoshi) หรือ “ปีชง” อายุที่ถือว่าเป็นปีอันตรายในชีวิตตามที่คนญี่ปุ่นเชื่อนั้นแตกต่างกันระหว่างชายกับหญิง ของผู้ชายคือ 25, 42, 61 ของผู้หญิงคือ 19, 33, 37 ในช่วงอายุอันตรายเหล่านี้ วัยที่ถือว่าอันตรายที่สุดคือ ชาย-42 และ หญิง-33
จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน มีแต่คำอธิบายตามความเชื่ออยู่บ้าง เช่น ชาย-หญิงอายุ 25 และ 19 ปี คือคนวัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นวัยคะนอง เป็นช่วงที่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือต้องเริ่มตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ส่วนอายุ 42 และ 33 ปี คือวัยกลางคน ซึ่งอาจกำลังเป็นพ่อเป็นแม่คน แบกรับความรับผิดชอบใหญ่โต และอาจเกิดปัญหารุมเร้าจนกลายเป็นวิกฤติดังที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า midlife crisis เรื่องปีชงนี้ คนญี่ปุ่นยังคงเชื่ออย่างเหนียวแน่น ใครที่นับปีแล้วปะกับปีชง พอขึ้นปีใหม่ก็มักจะไปซื้อเครื่องรางตามวัดหรือศาลเจ้ามาติดตัวไว้เพื่อความอุ่นใจ
อนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดายาก แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือทำใจให้ดีเข้าไว้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีดีอยู่ข้างใน อะไรๆ ก็จะผ่านไปได้ด้วยดี และเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในปีหน้าคือ ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นสมัยใหม่จะครบ 130 ปี ก็ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทั้งไทยและญี่ปุ่น “โยะอิ โอะ-โตะชิ โอะ”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th