xs
xsm
sm
md
lg

“โปเกมอน Go” ในญี่ปุ่น ปรากฏการณ์ล่าของปลอมในโลกแห่งความจริง ที่คุณอาจยังไม่รู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ภาพเอพี
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความจริงจัง เมื่อทำงาน ก็นั่งทน ก้มหน้าก้มตาอยู่อย่างนั้นได้นาน ๆ และเท่าที่ผ่านมาสองสามสัปดาห์นี้ แม้แต่ที่นอกห้องทำงาน อาการก้มหน้าก้มตาก็ยังติดตัวออกมา คราวนี้สาเหตุไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นการก้มหน้าตามล่าโปเกมอน ตอนนี้เมื่อผมจะไปไหน จึงต้องมองซ้ายมองขวามากขึ้น เพราะอาจถูกเหล่านักล่าที่สายตาจ้องแต่หน้าจอสมาร์ทโฟนเพื่อเล่นเกมโปเกมอน Go เดินมาชน ซึ่งก็เกือบจะเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง

เกมโปเกมอน Go เริ่มกลายเป็น “ปรากฏการณ์ทางสังคม” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เปิดให้เล่นในประเทศไหนก็กลายเป็นประเด็นทุกที่ไป รวมทั้งในไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เช่นกัน สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนโปเกมอนนั้น เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดเกมนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. และเป็นดังคาด คือ ผู้คนพากันดาวน์โหลดมากมาย แล้ว ปรากฏการณ์ล่าของปลอมในโลกแห่งความจริง ก็กลายเป็นข่าวเด่นในสื่อทุกแขนงทันที

ในด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับเกมนี้ มีคำอธิบายจากหลายแหล่งอยู่แล้ว (เช่น ดร.ฐิติรัตน์ ศิริบวรรัตนกุล www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071065) ผมคงไม่กล่าวซ้ำ แต่ในขณะที่คนไทยเพิ่งได้เล่นเกมไม่กี่วัน ก็อยากจะแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพที่เห็นและข้อมูลในญี่ปุ่น ซึ่งเหล่านักล่าได้เล่นเกมมานี้สักสองสามสัปดาห์แล้วให้ทราบกัน

ดังที่หลายคนคงทราบแล้ว “โปเกมอน” เป็นคำญี่ปุ่นที่มาจากภาษาอังกฤษ “pocket monster” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “สัตว์ประหลาด (พกใส่) กระเป๋า” สองคำนี้ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า โพะ-เกะ-เอ็ต-โตะ (ポケット;pocket) กับ มน-ซุ-ตา (モンスター;monster) เมื่อนำมาพูดสั้น ๆ จึงได้ว่า “โพะเกะมน” หรือ “โปเกมอน”

บริษัท นินเท็นโด นำเกมโปเกมอนรุ่นแรกออกจำหน่ายเมื่อปี 1996 ซึ่งสมัยนั้นเป็นเกมบอย ต่อมาก็ทำให้เกิดการ์ตูน ภาพยนตร์ และสินค้าโปเกมอนตามออกมาอีกมากมาย ลำพังการ์ตูนโทรทัศน์เองก็มีการซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายใน 95 ประเทศ (นสพ.โยะมิอุริชิมบุง 23 ก.ค. 2559) ปัจจุบันนี้ก็มีร้านจำหน่ายสินค้าโปเกมอนหลายแห่งทั่วญี่ปุ่น จำนวนตัวละคร (คาแรกเตอร์) ตระกูลโปเกมอนในช่วงอายุ 20 ปีมานี้ รวมทั้งพิกะจู มีมากกว่า 720 ชนิด และว่ากันว่า เป็นธุรกิจตัวละครการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในญี่ปุ่น

ผมเป็นคนยุคดรากอนบอล และถึงแม้ว่าภูมิปัญญาด้านการ์ตูนกับเกมได้หยุดเติบโตตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา แต่ก็พอจะทราบว่าในช่วงสองทศวรรษนี้ แม้โปเกมอนมีฐานแฟนหนาแน่น ก็นับได้ว่า ผ่านช่วงพีกไปแล้วด้วยระยะเวลา และด้วยผลงานเรื่องอื่นที่ผู้ผลิตของญี่ปุ่นพยายามสร้างสรรค์ออกมาลองตลาดตามครรลองของระบบทุนนิยม (เรื่องที่เด่นมาก ๆ ถ้าเป็นสายการ์ตูนเลย ก็คือ “วันพีซ” หรือถ้าเป็นเกมที่ต่อยอดไปสู่ความบันเทิงอื่น เช่น การ์ตูนโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ ก็คือ “โยไควอทช์”) ทว่าด้วยการพัฒนาเกมโปเกมอน Go ที่มุ่งเน้นการใช้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ ชื่อโปเกมอนก็กลับมาติดปากไปทั่วโลกอีกครั้ง แต่คราวนี้ผู้พัฒนาไม่ใช่นินเท็นโดโดยตรง และนี่คงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งสำหรับผู้คนมากมายรวมทั้งคนญี่ปุ่นเองด้วยว่า ทำไมในอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เล่นได้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม แต่ญี่ปุ่นกลับถูกปล่อยให้รอไปอีกราวสองสัปดาห์

เมื่อพิจารณาโครงสร้างทางธุรกิจที่นำไปสู่เกมโปเกมอน Go ในที่สุด จะพบว่าผู้พัฒนาตัวเกมขึ้นมาจริง ๆ คือ บริษัท ไนแอนติก (Niantic, Inc.) ของอเมริกาโดยมีจอห์น ฮันเก (John Hanke) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยแยกบริษัทเป็นอิสระจากกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอีก 3 บริษัทซึ่งร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนแก่โปเกมอน Go ได้แก่ กูเกิล นินเท็นโด และโปเกมอน ซึ่งแบ่งหน้าที่ต่างกันออกไป ดังแผนภาพ
ที่มา: ประมวลโดยผู้เขียนจาก นสพ.นิฮงเคไซชิมชุง (23 ก.ค.2559) และ นสพ.โยะมิอุริชิมบุง (23 ก.ค. 2559)

จอห์น ฮันเก เรียนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กลีย์) ตอนทำงานอยู่ที่กูเกิลเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการสร้างกูเกิลเอิร์ธ และกูเกิลแมป และบัดนี้กลายเป็นหัวเรือใหญ่ของไนแอนติก พอโปเกมอน Go เป็นกระแสไปทั่วโลก นักข่าวของ นสพ.นิฮงเคไซชิมบุง ก็ไปสัมภาษณ์ และได้ถามประเด็นหลัก ๆ เช่น คาดหวังไว้หรือไม่ ว่า โปเกมอน Go จะมีกระแสตอบรับดีขนาดนี้ ฮันเก ตอบว่า “ทั้งใช่และไม่ใช่ คือ เข้าใจดีถึงฐานที่แข็งแกร่งของโปเกมอนในฐานะทรัพย์สินทางปัญญา และตัวละครโปเกมอน ที่มีเสน่ห์ แต่ก็ไม่ได้นึกว่าเมื่อสองอย่างนี้มารวมกันแล้วจะก่อให้เกิดผลที่น่าทึ่งถึงขนาดนี้” ทำไมถึงไม่ให้ผู้เล่นในญี่ปุ่นได้เล่นเกมนี้ก่อนเป็นที่แรก “เข้าใจความรู้สึกของแฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของโปเกมอนดีครับ แต่ที่ดำเนินการเช่นนี้ ก็เพราะมาตรฐานที่แฟน ๆ คาดหวังนั้นสูงมาก ดังนั้น จึงต้องการนำออกสู่ตลาดที่ค่อนข้างเล็กกว่าเสียก่อน เมื่อพบปัญหาในเบื้องต้นก็จะได้แก้ไข และนำไปสู่การเปิดให้ใช้อย่างเต็มที่”
John Hanke
เป้าหมายของโปเกมอน Go คืออะไร “ในสังคมปัจจุบันนี้ ผู้คนมักจะเก็บตัวอยู่ในบ้านนาน ๆ แล้วก็นั่งจ้องจอเล็ก ๆ ไม่พูดไม่คุยกับใคร การสื่อสารระหว่างคนในชุมชนก็ไม่มี ในอเมริกาเอง สวนสาธารณะ หรือสนามที่ผู้คนไม่เข้าใกล้ก็มีอยู่มากมาย การจะสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา ผู้คนต้องออกไปยังสถานที่เหล่านี้ ทำความรู้จักกัน พูดคุยกัน เกมที่เราสร้างขึ้นมีเป้าหมายอยู่ตรงนั้นครับ” เข้าใจว่า รายได้เกิดจากการขายไอเท็มภายในแอปนั้น นอกจากนี้แล้ว จะมีรายได้จากแหล่งใดอีกบ้าง “ทางเราจะนำระบบที่เรียกว่า ‘สปอนเซอร์โลเกชัน’ [sponsored location (สถานที่ที่เป็นจุดส่งเสริมการจับโปเกมอน)] ในญี่ปุ่นแมคโดนัลด์คือที่แรกครับ...”

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกมถึงมือผู้ใช้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้พัฒนาบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเหนือความคาดหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมนี้ทำให้ผู้เล่นได้เพื่อน ทำให้สวนคึกคักขึ้น ทำให้ผู้คนไปสถานที่ที่ไม่เคยคิดจะไปมาก่อน และในแง่เศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นทันที คือ มูลค่าการซื้อขายหุ้นของนินเท็นโดที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มเล่นได้ในญี่ปุ่น มียอดสูงเป็นอันดับ 1 ของวันนั้น ตามมาด้วยแมคโดนัลด์ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ จะเห็นได้ว่ามูลค่าซื้อขายสูงกว่าโตโยต้า และหุ้นของบริษัทอิมะจิกาโรบอตโฮลดิงส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนและเป็นบริษัทลูกของนินเท็นโด ก็เพิ่มขึ้นถึง 22%

เรื่องหุ้นอาจจะไกลตัวสำหรับหลาย ๆ คน แต่ถ้ามองเรื่องใกล้ตัวหน่อย ก็จะพบว่า นี่เป็นการเปิดช่องทางให้สามารถดึงลูกค้าได้มากขึ้น อย่างแมคโดนัลด์ซึ่งมีอยู่ราว 2,900 ร้านทั่วญี่ปุ่นนั้น ด้วยเชื่อมั่นในพลังเรียกแขกของโปเกมอน จึงเป็นรายแรกที่ตกลงร่วมมือกับไนแอนติก และตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเล่นเกม ร้านแมคก็มีคนเข้าร้านเพิ่มขึ้นทันที จากนี้ต่อไป จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าแผนการตลาดที่ใช้ประโยชน์จากโปเกมอน Go จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน อาจจะขยายตัวไปยังธุรกิจอื่น เช่น ร้านสะดวกซื้อ สวนสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปรับพื้นที่ของตนให้เป็นจุดที่สามารถเก็บไอเท็มหายากได้ ก็จะยิ่งมีคนมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดมาจากวัตถุประสงค์ที่ดี แต่บางทีก็หลุดจากการควบคุมไปดังที่กลายเป็นข่าว เช่น ความไม่เหมาะสมของการเข้าไปตามเก็บโปเกมอนในบางสถานที่, จำนวนอุบัติเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับเกมนี้จนถึงกลางวันของวันที่ 25 กรกฎาคม คือ 36 กรณีทั่วญี่ปุ่น และเกิดการทำผิดกฎจราจร 71 กรณี (นสพ.อะซะฮิชิมบุง 26 กรกฎาคม 2559), มีข่าวลือเกิดขึ้นในทวิตเตอร์ ว่า โปเกมอนหายากที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ปรากฏอยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์เมื่อปี 2554 และตอนนี้เป็นพื้นที่ต้องห้ามด้วย, นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เล่นเพลินจนเดินเข้าใกล้หมีโดยไม่รู้ตัว โชคดีที่ไม่เป็นไร หรือในกรณีของแมคโดนัลด์เองก็ตาม บางสาขาก็โอดครวญว่า ลูกค้าเข้ามาซื้อกาแฟแก้วเดียวแล้วนั่งแช่เพื่อเล่นเกม ทำให้ผู้อื่นเข้าร้านไม่ได้ และรอบการหมุนเวียนของลูกค้าก็สะดุด เป็นต้น

เนื่องด้วยทานกระแสไม่ไหว จากคนซึ่งไม่ใส่ใจเรื่องเกมเท่าไร ผมจึงดาวน์โหลดมาลองด้วย การเปิดฉากล่าโปเกมอนเริ่มขึ้นขณะนั่งอยู่ในรถไฟใต้ดิน วิธีเล่นก็ไม่รู้ ต้องขอให้เพื่อนเป็นครูผ่านทางไลน์ อธิบายทีละขั้น และแล้วโปเกมอนก็ปรากฏตัวขึ้นมา 3 ตัว พร้อม ๆ กัน เป็นจังหวะเดียวกับที่ประตูรถไฟใต้ดินเปิด และมีผู้โดยสารก้าวเข้ามา

เหลือบดูอีกที...อ้าว โปเกมอนตัวที่กำลังเล็งไว้ไปปรากฏบนหน้าของคุณป้าที่ก้าวขึ้นรถไฟมาพอดี จะยิงดีหรือไม่ยิงดี...ชักไม่แน่ใจ แล้วรถไฟก็ออก จึงพลาดตัวนั้นไป รถไฟแล่นไปจอดที่อีกสถานีหนึ่ง โปเกมอนปรากฏอีก ทีนี้ปรากฏบนศีรษะของคนนั่งฝั่งตรงข้าม ผมนึกอยู่ในใจ เกมนี้มันเป็นแบบนี้น่ะหรือ? ชักจะยังไง ๆ อยู่ พร้อมกับนึกในใจว่า ถ้าสักวันลูกศิษย์ลูกหางัดขึ้นมาเล่นในห้องเรียน แล้วตัวพวกนี้มาปรากฏบนหน้าผม จะเป็นยังไง นักศึกษาคนไหนไม่ชอบเรา คงใส่เอา ๆ นึกแล้วก็อยากจะเขียนไปบอกจอห์น ฮันเก ว่า ช่วยทำให้สัตว์ประหลาดพวกนี้เกาะหน้าคนไม่ติดได้ไหม แล้วผมก็เลิกเล่นบนรถไฟ พอลงป้ายของตัวเองก็จับได้ 1 ตัว และคิดว่าคงจะเป็นตัวสุดท้ายที่จับได้ พร้อมกับความสนใจที่ลอยหายตามรถไฟไป

แล้วก็กลับมาคิดว่า ถึงแม้เราไม่สนใจ แต่ในเมื่อเกิดกระแสเช่นนี้ มันแพราะอะไรกัน ค้นไปค้นมาประมวลความได้ว่า น่าจะมองได้จากแง่มุมของตัวเกมกับลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่น หากพิจาณาจากมุมของเกม โปเกมอน Go มีลักษณะที่ “บางและกว้าง” ในแง่การมีส่วนร่วม กล่าวคือ ดาวน์โหลดเล่นได้ฟรี ใช้เงินน้อยในการมีสวนร่วม และเล่นได้ง่ายในวงกว้าง สำหรับด้านนี้ ว่ากันว่านี่คือ การนำตู้หยอดเหรียญเพื่อไขไข่พลาสติกบรรจุของสะสม ซึ่งคนไทยเรียกว่า “กาชาปอง” มาประยุกต์ลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน การหยอดเงินเพื่อไขไข่พลาสติกแต่ละครั้งจะต้องใช้ 200 - 300 เยน และคนที่สะสมจริงจัง ก็ยอมที่จะเสียเงินเป็นพัน ๆ หรือหมื่นเยน เพื่อให้ได้ของหายากโดยที่ไม่รู้ว่าจะเจอเมื่อไร แต่ในกรณีของโปเกมอน Go “ดูเหมือน” จะทำได้ง่ายกว่า (แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะถ้าต้องเดินทางไกล ๆ ไปจับตัวที่หายาก) และดีกว่าในแง่ที่ว่าควบคุมแผนการได้ในขอบข่ายที่กว้างกว่า และใคร ๆ (ที่โตพอ) ก็เล่นได้ ขอแค่มีสมาร์ทโฟนที่รองรับ
ผู้เล่นหน้าสวนโยะโยะงิ
หากมองในแง่ของความรู้สึกของคนญี่ปุ่น คำตอบที่ใช้ได้กับแทบจะทุกกรณี คือ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ ไม่ว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็ตื่นเต้น หรือเห่อนั่นเอง ความรู้สึกแบบนี้มีมาแต่โบราณ เห็นลูกมะพร้าวลอยมาเกยตื้นก็ตื่นเต้น (สมัยก่อน มะพร้าวหายาก) หรือถ้าสินค้าดังรุ่นใหม่ ๆ อย่างไอโฟนจะออกวางจำหน่าย ก็จะมีคนญี่ปุ่นที่พร้อมจะไปเข้าแถวรอตั้งแต่คืนก่อนหน้าเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเป็นคนแรก ๆ และเมื่อโปเกมอน Go มาถึง สถานการณ์จึงไม่แตกต่างไปจากกรณีอื่น

และถ้าว่ากันด้วยจิตวิทยาทั่วไปของคนเล่นเกม ซึ่งคงไม่ใช่เฉพาะคนญี่ปุ่น การเล่นเกมทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้เมื่อเล่นชนะ แต่ธรรมชาติของเกมเท่าที่ผ่านมา คือ เป็นโลกสมมติที่อยู่บนจอเป็นส่วนใหญ่ พอมีโปเกมอน Go ซึ่งลดเส้นแบ่งระหว่างโลกจริงกับโลกสมมติลงอย่างมาก จึงทำให้คนเล่นยิ่งรู้สึกว่า “ฉันทำได้จริง ๆ” และสนุกยิ่งขึ้น
เหล่านักเล่นโปเกมอน โก ที่เมืองฮิโระชิมะ (ภาพเอพี)
นั่นคือพื้นฐาน และเมื่อว่ากันถึงบทสรุปโดยโยงเข้ากับความเป็นญี่ปุ่นในแง่ที่ว่า คนญี่ปุ่นมักจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำทุกสิ่งให้ถึงที่สุด ย่อมกล่าวได้ว่า โปเกมอน Go ทำให้คนญี่ปุ่นซึ่งก้มหน้าก้มตาอยู่แล้ว มีเวลาเงยหน้ามองโลกที่สวยงามน้อยลง จากที่ก้มอยู่แล้ว ก็ก้มหนักเข้าไปอีก และคนที่ก้มก็มีทุกเพศทุกวัย

เมื่อสุดสัปดาห์ ผมผ่านไปที่สวนสาธารณะโยะโยะงิ ในย่านฮะระจุกุ ก็ได้เห็นแม่กับลูกชายตัวเล็ก ๆ พากันเดินหาโปเกมอน หันไปทางขวาก็เจอคุณลุง หันไปทางซ้ายก็เจอวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ ดูท่าทางทุกคนตั้งใจมาก พลอยทำให้นึกถึงคำตอบของวัยรุ่นคนหนึ่งต่อคำถามของนักข่าวที่ว่า “ทำไมถึงติด”

คำตอบที่ได้รับก็มีความเป็นญี่ปุ่นมาก คือ “พอพยายามเล่นแล้ว (ความพยายาม) ก็ไม่สูญเปล่า” หมายความว่า ทำแล้วเห็นผล นี่คือความพยายามที่ได้รับผลตอบแทน แล้วผมก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตของนักข่าวที่ว่า... อ้อ ในโลกของความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นสินะ
บรรยากาศในร้านสินค้าโปเกมอน
บรรยากาศในร้านสินค้าโปเกมอน
บรรยากาศในร้านสินค้าโปเกมอน
บรรยากาศในร้านสินค้าโปเกมอน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น