xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นญี่ปุ่นอายุสิบแปด (เพิ่ง) เลือกตั้งได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ** โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

อายะโนะ ทาเคอุจิ นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 19 ปี ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าที่มหาวิทยาลัยเคโอ ในเมืองโยโกฮาม่า (ภาพเอพี)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


วันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ญี่ปุ่นจัดการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ซึ่งเปิดให้ลงคะแนนเสียงกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า และยุติตอน 2 ทุ่ม ในเชิงการเมือง สิ่งที่ผู้คนจับตามองอย่างกว้างขวาง คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย กับ บรรดาพรรคที่เป็นพันธมิตรจะได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากหรือไม่ ซึ่งก็มีการวิเคราะห์รายงานผ่านทาง “โต๊ะญี่ปุ่น” แล้ว แต่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งถือได้ว่ามีนัยทางสังคม และเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ด้วย คือ เรื่องที่ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่คนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นได้ ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ วันนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” จึงเลือกมุมว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเกณฑ์อายุในการเลือกตั้งของญี่ปุ่นในบริบทสังคมโลก

สังคมญี่ปุ่น หรือหากจะระบุให้ชัดเจนคือ “ผู้ใหญ่” ญี่ปุ่นที่เป็นผู้ใหญ่จริง ๆ ในวัย 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมาย มองว่า บุคคลจะก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวก็ต่อเมื่ออายุครบ 20 ปี ทว่า เอาเข้าจริง วัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่เมื่ออายุ 18 ปี ถือตัวเองว่ามีอิสรภาพมากขึ้นทั้งด้านความคิดและการกระทำ ตลอดจนเข้าใจความเป็นไปของโลกแล้วด้วย

แม้จะไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป แต่ก็เป็นความจริงสำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย และคงเพราะเด็กสมัยนี้โตเร็ว ญี่ปุ่นจึงลดอายุสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก 20 ปีลงมาเป็น 18 ปีแล้ว ถ้าพิจารณากฎหมายของญี่ปุ่น เมื่อบุคคลมีอายุ 20 ปีถือว่า “บรรลุนิติภาวะ” และสามารถทำนิติกรรมได้ หรือถ้ากล่าวในเชิงสังคม คนญี่ปุ่นมองว่าผู้ที่มีอายุ 20 ปีเป็นผู้คิดอ่านได้ด้วยเหตุผลและพร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม อีกทั้งยังมีการจัดพิธีบรรลุนิติภาวะ ซึ่งเรียกว่า “เซจิง-ชิกิ” (成人式;seijin-shiki) ให้คนอายุ 20 ปี ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ในหลายประเทศอายุที่มีสิทธิเลือกตั้งเท่ากับอายุบรรลุนิติภาวะ แต่ก็มีบางประเทศที่แตกต่างกัน สำหรับญี่ปุ่น เดิมอายุเลือกตั้งกับอายุบรรลุนิติภาวะก็เท่ากัน คือ 20 ปี แต่ตอนนี้อายุเลือกตั้งต่างจากอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว ทีนี้มาดูบ้านใกล้เรือนเคียงเทียบกันว่าเป็นอย่างไร

คน “อายุ 18 ปี” ก็ถือว่าไม่เด็กแล้ว แต่ช่วงคาบเกี่ยว จะเด็กก็ไม่ใช่ จะผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากมานาน เพราะเด็กมัธยมปลายเข้ามหาวิทยาลัยตอนอายุสิบแปด หลายคนได้ทำสิ่งที่พ้นหูพ้นตาพ่อแม่ บางคนต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไกลบ้าน มีสังคมใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง หรือบางคนเริ่มดื่มเหล้าด้วยซ้ำทั้ง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าต้องอายุ 20 ปีก่อนถึงจะดื่มได้

ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้เชื่อได้ว่าเด็กสมัยนี้โตเร็ว และเรียนรู้เร็วผ่านเทคโนโลยี ญี่ปุ่นจึงลดเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับกระแสโลก เพราะหากพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์ของประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน จะพบว่ากว่าประมาณ 90% กำหนดไว้ที่ 18 ปีขึ้นไป หรือในกรณีของออสเตรีย เมื่อปี 2550 ถึงกับลดจาก 18 ปี เป็น 16 ปีเลยทีเดียว เมื่อประมวลภาพกว้างจากประเทศต่าง ๆ จะได้ดังนี้

นับตั้งแต่มีข้อกำหนดใหม่นี้ออกมา การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม จะเป็นการเลือกตั้งแบบทั่วประเทศครั้งแรก ที่คนญี่ปุ่นอายุ 18 ปี จะได้ใช้สิทธิ และนั่นได้ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้าน 4 แสนคน

พอปิดหีบเลือกตั้งได้ไม่นาน สื่อมวลชนก็ไม่รอช้า สถานีข่าว NHK รายงานผลการสำรวจหน้าคูหาเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงของคนอายุ 18 - 19 ปี เมื่อประมาณ 20.40 น. หลังการเลือกตั้ง มีรายงานความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้ออกมา จากคำถามในประเด็นหลัก ๆ ตัวอย่างสัดส่วนที่ปรากฏออกมา เช่น อัตราของผู้ที่ตอบเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อะเบะ ว่า “ประเมินในทางบวกอย่างสูง” กับ “ประเมินในทางบวกอยู่บ้าง” รวมแล้ว 64%, ส่วนผู้ที่ตอบว่า “ประเมินในระดับที่ไม่ดีนัก” กับ “ไม่ประเมินให้เลย” รวมแล้ว 36% (แปลโดยคงนัยตามภาษาญี่ปุ่นซึ่งใช้คำว่า 評価 (hyōka) แปลว่า “ประเมิน” ไม่ได้ใช้คำว่า “เห็นด้วย” หรือ “สนับสนุน”) หรือในอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ที่ตอบว่า “จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ” มี 22% , “ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรนมนูญ” มี 26% และ “ไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องแก้หรือไม่” มี 52%
รัฐสภาญี่ปุ่น
จากความคิดเห็นข้างต้นที่สำรวจคร่าว ๆ นี้ คงตีความได้ว่า คนหนุ่มสาววัย 18 - 19 กว่าครึ่ง คิดว่า ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลของ นายชินโซ อะเบะ ที่ชูนโยบาย “อะเบะโนมิกส์” นั้นสอบผ่าน แต่ในด้านการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่ประเด็นความมั่นคงด้วยนั้น คนกลุ่มนี้ชักไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนายอะเบะมาถูกทาง ดังนั้น ต่อไปเมื่อรัฐบาลคิดจะทำอะไรก็คงต้องมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องใส่ใจความคิดของคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้นด้วย เพราะเท่าที่ผมสังเกตจากบรรดาลูกศิษย์ตัวเอง ปรากฏว่า คนวัยนี้ แม้ไม่เด็ก แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ ในหลาย ๆ แง่ จะสื่อสิ่งใด ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน ไม่งั้นบางคนก็ตีความผิด ๆ และจากประสบการณ์ของตัวเอง บางครั้งอาจารย์พูดอะไรที่คิดว่าผู้ใหญ่น่าจะเข้าใจ แต่ปรากฏว่าคนวัยสิบแปดสิบเก้าไม่เข้าใจก็มี

อย่างไรก็ตาม หากมองในระดับสากล ถือว่าญี่ปุ่นช้ากว่าประเทศอื่นเกือบทั้งโลกในการให้ความสำคัญกับคนอายุ 18 ปี และผมก็เห็นด้วยกับการให้สิทธิ์คนวัยนี้ออกไปเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าคนอายุ 18 ปีสมัยนี้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้ใหญ่จำนวนมาก และอาจมีศักยภาพมากกว่าที่ผู้ใหญ่เคยประเมินไว้หากชี้แนะให้ถูกทาง
 
อันที่จริง พัฒนาการด้านการเลือกตั้งของญี่ปุ่นดังกล่าว คือ ความเปลี่ยนแปลงครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว พอมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่าการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชนเคยผ่านยุคที่ไม่เท่าเทียมกันมา แม้แต่ผู้หญิงก็เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งมาไม่ถึงร้อยปี และเมื่อประมวลความเปลี่ยนแปลงด้านเกณฑ์อายุของการมีสิทธิเลือกตั้งในญี่ปุ่นจะได้ดังนี้

ด้วยความที่คนญี่ปุ่นอายุ 18 ปี ก็ยังไม่ชินกับการเมือง จึงมีการรณรงค์ตามสื่อต่าง ๆ ให้คนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะผู้ใหญ่บางส่วนก็คงเป็นห่วงอยู่ลึก ๆ ว่า สรุปแล้วอายุ 18 ปี นี่จะเรียกว่าผู้ใหญ่ได้ไหม? แล้วคนอายุเท่านี้รู้จักการเมืองดีแค่ไหน?

แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรถ้าผู้ใหญ่ปลูกฝังให้ดี ๆ อัตราการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งคงจะกระเตื้องขึ้นบ้างด้วยพลังของคนกลุ่มนี้ และผมยังคิดอีกว่า สักวันญี่ปุ่นคงจะลดอายุบรรลุนิติภาวะจาก 20 ปี เป็น 18 ปี ก็ดูแถวร้าน “อย่างว่า” นั่นสิ ล่วงหน้าไปนานแล้ว ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 18 ปี ใครอายุเท่านี้ก็เข้าร้านได้ ถูกว่ารู้จักโลกมาเนิ่นนานก่อนที่รัฐบาลกับการเลือกตั้งจะรู้สึกตัวเสียอีก

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น