xs
xsm
sm
md
lg

ยะมะดะ นะงะมะซะ — ซามูไรอโยธยา ออกญาเสนาภิมุข

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ยะมะดะ นะงะมะซะ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


หลักฐานว่าด้วยออกญาเสนาภิมุข

นักศึกษาใหม่ภาคไทยศึกษาที่ผมสอนอยู่เพิ่งไปเข้าค่ายปฐมนิเทศสานสัมพันธ์กันที่จังหวัดชิซุโอะกะ โดยมีผมร่วมเดินทางไปด้วย ถ้านั่งรถไฟชิงกันเซ็งจากโตเกียว ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษก็จะถึงชิซุโอะกะ แต่คณะของเราซึ่งประกอบด้วยนักศึกษากับอาจารย์ รวมประมาณ 40 คน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าเพราะนั่งรถบัสไป และไม่ได้ไปแค่แถบตัวเมือง แต่เลยลงไปถึงแถบคาบสมุทร

ก่อนไปก็ไม่ได้นึกอะไรมากนอกจากการจะได้เปลี่ยนบรรยากาศจากของปีก่อนๆ ซึ่งไปซ้ำที่เดิมมาถึงสองสามปีติดกัน พอถึงเวลาไปจริงๆ ก็มีเรื่องสะกิดใจให้นำมาบอกเล่าแก่นักศึกษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงชิซุโอะกะกับเมืองไทยเข้าด้วยกัน เรื่องที่ว่าคือ ‘ว่ากันว่า’ จังหวัดนี้คือบ้านเกิดของบุคคลในประวัติศาสตร์นามว่า ยะมะดะ นะงะมะซะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข
ตำแหน่งที่ตั้งจังหวัดชิซุโอะกะ
วันนั้นเอ่ยได้แค่สั้นๆ วันนี้จึงขอนำมาขยายอีกทีตรงนี้ เผื่อมีผู้สนใจนำไปศึกษาต่อยอด และสิ่งที่จะบอกเล่าในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องชิซุโอะกะ แต่เป็นเรื่อง ยะมะดะ นะงะมะซะ (山田長政;Yamada, Nagasama) และผมไม่ได้ตั้งใจจะเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เสียทีเดียว เพราะตลอดหลายสิบปีมานี้ ไม่ได้มีหลักฐานใหม่ๆ ที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนผู้นี้แต่อย่างใด แต่ตั้งใจจะแนะนำให้เห็นแง่มุมทางวรรณกรรมแทน ถือเป็นการเพิ่มมิติให้แก่เรื่องที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาก่อนแล้ว

เมื่อใดก็ตามที่รับฟังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ชื่อของบุคคลที่จะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเอ่ยอยู่เสมอคือ ยะมะดะ นะงะมะซะ แต่ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนรู้เรื่องราว เช่นเดียวกับที่คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่รู้รายละเอียดชีวิตของออกญาเสนาภิมุข ทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทย หลายคนอาจเพียงแค่ได้ยินชื่อ หรือบางคนที่อาจจะรู้มากกว่าชื่อก็สืบค้นต่อไปไม่ได้ลึกนัก เพราะหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับคนผู้นี้มีน้อย ใจความหลักๆ ที่ทราบกันทั่วไปทั้งในไทยและญี่ปุ่น คือ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีคนญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายกับอยุธยามากขึ้น พระเจ้าแผ่นดินมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งหลักแหล่งจนเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นขึ้นมาเช่นเดียวกับคนจากชาติอื่น ในบรรดาคนญี่ปุ่นเหล่านั้น มียะมะดะ นะงะมะซะด้วย คนผู้นี้ลงเรือจากญี่ปุ่น เดินทางสู่สยามช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นผู้มีฝีมือในการรบ และได้รับใช้กษัตริย์อยุธยาอย่างเก่งกล้าสามารถจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระเจ้าทรงธรรมเป็นออกญาเสนาภิมุข ต่อมาก็เผชิญมรสุมการเมืองเมื่ออยุธยาเกิดการผลัดแผ่นดินและแย่งชิงราชสมบัติ ในที่สุดออกญาเสนาภิมุขก็ถูกลอบสังหารด้วยยาพิษ

หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ หรือหนังสือสารานุกรมของญี่ปุ่นก็ลงเรื่องยะมะดะ นะงะมะซะไว้ ส่วนของไทย ก็เป็นที่กล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์เช่นกัน หรือในหนังสืออนุสรณ์ที่พิมพ์โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวในปี 2007 ที่ฉลองครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น (สมัยใหม่) ก็ลงเรื่องนี้ไว้ อย่างไรก็ตาม แม้จะพบข้อเขียนเกี่ยวกับนะงะมะซะได้ทั่วไปทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลที่ไม่ลึกและมาจากการสันนิษฐานเท่าที่หลักฐานพอจะบอกได้

ในกรณีของญี่ปุ่น ชื่อนะงะมะซะเคยถูกนำมาใช้เชิงการเมืองด้วย สำหรับเรื่องนี้ นักวิจัยชื่อสึชิยะ ซะโตะโกะ (土屋了子;Tsuchiya, Satoko) ระบุว่าภาพลักษณ์ของยะมะดะ นะงะมะซะ ‘ถูกสร้าง’ ให้สะท้อนความเก่งกล้าสามารถของคนญี่ปุ่นผู้ประสบความทสำเร็จในต่างแดน เพื่อส่งเสริมความรู้สึกฮึกเหิมและชาตินิยมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 [1] และเมื่อมองย้อนหาหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับยะมะดะ นะงะมะซะ ข้อสันนิษฐานที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลายถือว่าคนผู้นี้เกิดในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดชิซุโอะกะในปัจจุบัน แต่ก็มีบางบันทึกระบุไว้ไม่ตรงกัน จึงยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ทั้งเรื่องสถานที่และวันเดือนปีเกิดที่แน่ชัด ข้อมูลที่แพร่หลายออกไปจึงอยู่ในประเภทความน่าจะเป็นที่มีน้ำหนัก หรือ ‘เชื่อว่า’ มีน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม จังหวัดชิซุโอะกะก็ยึดมั่นว่ายะมะดะ นะงะมะซะเกิดที่นี่ และจัดงานเทศกาลรำลึกด้วย [2]

ส่วนในฝั่งไทย หลักฐานที่ระบุถึงตัวตนของคนผู้นี้ก็แทบไม่มี ข้อความที่กล่าวถึงบุคคลที่เชื่อได้ว่าเป็นยะมะดะ นะงะมะซะ ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุวันวลิต แต่ก็มีเพียงสั้นๆ และไม่ได้ระบุประวัติส่วนตัวไว้ อีกทั้งต้นฉบับของจดหมายเหตุนี้ก็ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาดัตช์โบราณ บันทึกไว้ในช่วง ค.ศ. 1636 – 1640 โดยเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) ซึ่งเป็นชาวฮอลันดาที่ทำงานด้านการค้าขายระหว่างอยุธยากับฮอลันดา และต่อมาผ่านการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ไทยตามลำดับ และในปี 2005 (พ.ศ.2548) คริส เบเกอร์ (Chris Baker) กับคณะได้ร่วมกันนำต้นฉบับภาษาเดิมมาตรวจชำระและแปลเพิ่มเติมออกมาเป็นภาษาอังกฤษอีกหนึ่งสำนวน ตั้งชื่อหนังสือว่า Van Vliet’s Siam (สยามของฟาน ฟลีต) ซึ่งถือว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด
หนังสือ Van Vliet’s Siam
นอกจากนี้ แม้มีหนังสือภาษาไทยที่ชื่อ “ยามาดะ นางามัสสะ: ขุนนางซามูไรแห่งกรุงศรีอยุธยา” ตีพิมพ์ออกมาโดยวันเฉลิม จันทรสกุลเมื่อปี 2003 (พ.ศ.2546) แต่เนื้อหาที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงการเรียบเรียงข้อมูลตามการสันนิษฐาน ไม่ใช่การค้นพบหลักฐานชั้นต้นที่จะเพิ่มความกระจ่างเกี่ยวกับยะมะดะ นะงะมะซะ ดังนั้น เรื่องราวเชิงลึกเกี่ยวกับคนผู้นี้จึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ผู้ที่สนใจจึงอิงจินตนาการของตน แต่งเรื่องราวตามที่คิดว่านะงะมะซะน่าจะเป็น และอาจเพราะเหตุนี้นี่เอง ในญี่ปุ่นจึงมีนวนิยายเกี่ยวกับยะมะดะ นะงะมะซะออกมาหลายเรื่อง

ภาพลักษณ์ในวรรณกรรม

หากใช้จำนวนผลงานที่เกี่ยวข้องกับยะมะดะ นะงะมะซะเป็นตัววัดแล้ว ผมคิดว่าระดับความสนใจที่ฝั่งญี่ปุ่นมีต่อคนผู้นี้สูงกว่าของฝั่งไทย เฉพาะนวนิยายก็มีเกือบ 10 เรื่อง รวมทั้งเรื่องที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 “ทอฝันทะยานสู่ต่างแดน” (海外雄飛の夢を紡ぐ;Kaigai yūhi no yume o tsumugu) โดยโทชิ โช (東智尚; Tōchi Shō) ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของยะมะดะ นะงะมะซะ ส่วนของไทย เท่าที่ผมสำรวจพบจนถึงปี 2559 นี้มี 3 เรื่อง (อาจมีมากกว่านี้ หากท่านใดทราบข้อมูล ขอเชิญร่วมแบ่งปัน) คือ สุริยาผยอง โดยธิตินัดดา ออกญา โดยกรกุณารี และ เจ้าไล โดยคึกเดช กันตามะระ (เนื้อเรื่องหลักเกี่ยวกับพระเจ้าปราสาททองมากกว่าที่จะเกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุข) หรือถ้าเป็นหนัง ของไทยเพิ่งมี ซามูไรอโยธยา เมื่อปี 2010 (พ.ศ. 2553) ทว่าทางญี่ปุ่นสร้างตั้งแต่ปี 1959 (พ.ศ. 2502) และมีแม้กระทั่งละครเวทีที่จัดแสดงโดยคณะทะกะระซุกะ ซึ่งถือว่าเป็นละครบรอดเวย์ของญี่ปุ่น ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ด้วย
“ทอฝันทะยานสู่ต่างแดน” เกี่ยวกับชีวิตวัยเด็กของยะมะดะ นะงะมะซะ
ซามูไรอโยธยา
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับคนไทยคือ ญี่ปุ่นกับไทยมองคนผู้นี้เหมือนกันหรือไม่และอย่างไร หากจะพิจารณาภาพลักษณ์ของออกญาเสนาภิมุขจากผลงานประเภทนวนิยาย ผมคิดว่าบทประพันธ์ที่น่าจะเป็นตัวแทนได้ดีคือ “สู่แดนสยาม:ยามาดะ นางามาสะ” ของเอ็นโด ชูซะกุ กับเรื่อง “ออกญา” ของกรกุณารี

เหตุผลหลักๆคือ 1) นักอ่านชาวไทยอ่านสองเรื่องนี้เปรียบเทียบกันได้ในฉบับภาษาไทย, และ 2) บทประพันธ์เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เอ็นโด ชูซะกุ (遠藤周作; Endo, Shūsaku; 1923-1996) เป็นนักเขียนชายชาวญี่ปุ่นที่โด่งดัง ผลงานจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เรื่อง “สู่แดนสยามฯ” (『王国への道―山田長政』; Ōkoku e no michi: Yamada Nagamasa; แปลตามตัวอักษรคือ “ถนนสู่ราชอาณาจักร : ยะมะดะ นะงะมะซะ) พิมพ์รวมเล่มเมื่อปี 1981 (พ.ศ.2524) และแปลเป็นไทยโดยบุษบา บรรจงมณีเมี่อปี 2549 ส่วน “ออกญา” ของกรกุณารีคือผลงานที่เข้ารอบ 20 ผลงานสุดท้ายรางวัลทมยันตีอะวอร์ดเมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) และกรกุณารีเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดจากผลงานเรื่องสั้นในนามปากกาสร้อยสัตบรรณด้วย
“สู่แดนสยามฯ” ฉบับภาษาญี่ปุ่น
“สู่แดนสยามฯ” ฉบับแปล
เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียอรรถรสสำหรับผู้ที่สนใจจะอ่านบทประพันธ์ ผมจะไม่ลงลึกถึงเนื้อเรื่อง แต่จะสรุปเฉพาะภาพลักษณ์ที่นักเขียนญี่ปุ่นกับนักเขียนไทยต่างคนต่างมองยะมะดะ นะงะมะซะ กล่าวคือ นักเขียน 2 คนใช้ข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ไม่มากมาสร้างสรรค์แต่งเติมให้ยะมะดะ นะงะมะซะมีตัวตนขึ้นในนวนิยายของตน ชูซะกุเน้น บทบาททางการเมืองที่นะงะมะซะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าแผ่นดิน โดยแสดงความฉลาด หรืออาจเรียกได้ว่าความเจ้าเล่ห์ในการนำพาตัวเองให้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงาน แต่ท้ายที่สุดก็ถูกลอบฆ่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุขดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ชูซะกุเพียงแต่ถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวัน การชิงไหวชิงพริบ และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา (ซึ่งบางจุดก็เข้าใจผิด) ให้ผู้อ่านชาวญี่ปุ่นได้รู้ เนื้อเรื่องโดยรวมจึงให้บรรยากาศเหมือนการอ่านนวนิยายที่เรียกกันว่า Thriller ในสมัยนี้ อีกทั้งยังนำเสนอเนื้อหาเชิงแสวงหาความสำเร็จทางโลกของนะงะมะซะ กับทางศาสนาคริสต์ของตัวละครอีกตัวหนึ่งด้วย
“ออกญา” โดยกรกุณารี
ส่วนกรกุณารีนั้น เน้นภาพทางสังคม ของยะมะดะ นะงะมะซะมากกว่าที่จะสะท้อนการชิงดีชิงเด่นในสมัยอยุธยาของไทย โดยบรรยายวิธีการเรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนไทย ภาษาไทย การปรับตัวให้เข้ากับคนรอบตัว ความรักที่เกิดกับหญิงชาวไทย และความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินของไทย กรกุณารีแต่งนวนิยายเรื่องนี้คล้ายการเขียนชีวประวัติบุคคล โดยอธิบายขนบไทยและขนบญี่ปุ่นให้นักอ่านชาวไทยได้รู้ พร้อมทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างในบางจุด ตลอดจนใส่ความเชื่อตามขนบไทยลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยกำหนดให้ตัวละครนะงะมะซะตายตามที่คนทั่วไปทราบอยู่แล้ว แต่ได้เขียนต่อไปว่านะงะมะซะกลับชาติมาเกิดอีกและสมหวังในรักกับหญิงสาวที่เคยรักเมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ในอยุธยา

เมื่อลองมานึกย้อนดู ไม่ว่าคนญี่ปุ่นหรือไทยจะมองนะงะมะซะอย่างไร แต่เท่าที่ผมอยู่ญี่ปุ่นมาเกินสิบปี ก็ได้มีโอกาสฟังผู้หลักผู้ใหญ่จากไทยออกชื่อ (หรือบางครั้งตัวเองก็พูดเหมือนกันเมื่อต้องสอน) ชื่อยะมะดะ นะงะมะซะไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทำให้สรุปได้ว่าภาพลักษณ์จะเป็นอย่างไร ตราบใดที่มีจุดร่วม ย่อมทำให้คนพูดกับคนฟังรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน และดูเหมือนเป็นการตอกย้ำให้รู้ว่าสองประเทศนี้ซี้กันมานาน

หรือหากจะโยงไปถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็มักจะได้ยินการลำดับเรื่องราวย้อนไปถึงตอนที่นะงะมะซะมาเป็นทหารอยู่ในสยามนั่นแหละ ประมาณว่า ญี่ปุ่นจ๊ะ เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่น...ฉะนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นควรจะมาลงทุนในไทยนะจ๊ะ แน่นอนว่าในช่องว่างระหว่างทางนั้นย่อมมีรายละเอียดด้านอื่นอีกมาก และถึงแม้ชื่อนะงะมะซะอาจจะซื้อใจนักลงทุนไม่ได้โดยตรง แต่ก็คงสร้างความอุ่นใจให้แก่คนฟังได้บ้างสิน่า

หมายเหตุ :
[1] ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานวิจัย「山田長政のイメージと日タイ関係」(The image of Yamada Nagamasa and the Relationship between Japan and Thailand) ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นโดยสึชิยะ ซะโตะโกะ.
[2] ผู้เขียนขอระบุชื่อเอกสารภาษาญี่ปุ่นไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาเชิงลึก ข้อความที่กล่าวถึงยะมะดะ นะงะมะซะ ปรากฏอยู่ในบันทึกโบราณที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่น 『暹羅国風土軍記』, 『暹羅国山田氏興亡記』, 『天竺徳兵衛物語』, 『山田仁左衛門渡唐録』.


**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น