ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
พูดถึงแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
ผ่านมา 5 ปีเศษตั้งแต่เกิดภัยพิบัติรุนแรงที่จังหวัดฟุกุชิมะเมื่อปี 2554 ซึ่งมีทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ และถูกซ้ำเติมด้วยอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ในเดือนนี้ของปีที่ 5 นับจากเหตุการณ์นั้น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจังหวัดคุมะโมะโตะบนเกาะคิวชู ที่เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน ราว 21.26 น. และอีกครั้งซึ่งใหญ่กว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 16 เมษายน ประมาณ 1.25 น. ก็สร้างความหวาดผวาต่อสวัสดิภาพชีวิตของคนญี่ปุ่นอีกครั้ง
“แผ่นดินไหว” กับประเทศญี่ปุ่นเป็นของคู่กัน ใครที่อยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่นก็ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงแผ่นดินไหวไปได้ แผ่นดินไหวคือภัยพิบัติที่พยากรณ์ได้ยาก ไม่เหมือนสภาพภูมิอากาศ คนญี่ปุ่นทุกคนตระหนักดีว่า ทุกวันนี้จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นตรงไหนของประเทศก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย มันคือความน่ากลัว แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิต จะต้องอยู่กับมันให้ได้
นั่นคือจุดที่ทำให้ญี่ปุ่นมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ผมในฐานะคนที่อยู่ในญี่ปุ่นและประสบแผ่นดินไหวไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จึงตั้งใจจะนำสภาพการณ์ว่าด้วยแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นมานำบอกเล่า แต่สิ่งที่ต้องการสื่อมากที่สุดคือ อยากให้พิจารณากันถึงการเรียนรู้ของคนญี่ปุ่นที่ว่า ถึงแม้ธรรมชาติจะบีบคั้น แต่ด้วยประสบการณ์จากอดีต การเตรียมพร้อม ความอดทน และความมีวินัย ประเทศนี้ได้ต่อสู้ฝ่าฟันจนผ่านพ้นความยากลำบากมาได้หลายครั้ง และในภัยพิบัติครั้งล่าสุดนี้ก็จะผ่านไปได้อีกเช่นกัน นั่นคือสิ่งดีงามที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่หลายๆ ประเทศได้
ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า “แผ่นดินไหว” กัน คำนี้ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “จิชิง” (地震;jishin) ตัวอักษรคันจิ地 แปลว่า แผ่นดิน และตัวอักษร震 แปลว่า สั่นสะเทือน และหน่วยงานของญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวคือ “สำนักงานอุตุนิยมวิทยา” (気象庁;kishōochō) ซึ่งนอกจากพยากรณ์อากาศแล้ว ยังรายงานความเสียหายเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งแผ่นดินไหวด้วย และเป็นผู้ตั้งชื่อภัยพิบัติครั้งต่างๆ เพื่อให้สื่อความได้ตรงกัน
คนญี่ปุ่นอธิบายแผ่นดินไหวกันอย่างไร? ในญี่ปุ่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตัวเลข 2 ชนิดที่สื่อมวลชนจะรายงานออกมาโดยยึดตามข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาคือ “ขนาด” และ “ความรุนแรง” ของแผ่นดินไหว หลายคนอาจสับสนกับ 2 คำนี้ อธิบายแบบง่ายๆ ได้ดังนี้คือ คำว่า “ขนาด” ในที่นี้คือความใหญ่-เล็กของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ส่วน “ความรุนแรง” คือแรงสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้บนพื้น เช่น ถ้าแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่ แต่จุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปจากพื้นดินมากๆ แรงสั่นสะเทือนที่คนบนพื้นดินรู้สึกได้ก็อาจจะไม่มาก นอกจากนี้ ตัวเลขบ่งชี้ขนาดของแผ่นดินไหวก็มีตัวเดียว (เมื่อใช้มาตราเดียวเป็นเกณฑ์) แต่ตัวเลขบ่งชี้ความรุนแรงจะแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละที่เกิดแรงสั่นสะเทือนไม่เท่ากัน โดยทั่วไปคือยิ่งไกลจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวออกไปเท่าไร แรงสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ก็จะยิ่งน้อยลง ดังนั้น เมื่อสื่อญี่ปุ่นรายงานข้อมูลแผ่นดินไหว จะบอกขนาดแผ่นดินไหวเป็นตัวเลข 1 ตัว และรายงานต่อไปด้วยตัวเลขอีก 1 ชุด เพื่อบอกว่าแต่ละพื้นที่สั่นมากสั่นน้อยแค่ไหน
คำว่า “ขนาด” ภาษาญี่ปุ่นทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มะงุนิชูโดะ” (マグニチュード; magunichūdo ; มาจากคำว่า แมกนิจูด [magnitude]) ซึ่งโดยหลักการกว้างๆ แล้ว ถือได้ว่าเป็นภาษากลางอย่างหนึ่งในการสื่อสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหว เช่น ขนาดตามมาตราริกเตอร์ (คำว่า “ริกเตอร์” ไม่ใช่หน่วย) ส่วนคำว่า “ความรุนแรง” ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ชินโดะ” (震度;shindo) หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า intensity แปลตามตัวอักษรคันจิของญี่ปุ่นคือ “ระดับการสั่นสะเทือน” มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 และเป็นมาตรวัดที่ไม่เหมือนกับหลายประเทศ เมื่อแยกชินโดะย่อยๆ แล้วรวมได้ 10 ขั้น โดยสื่อผลกระทบตามแต่ละขั้นได้ดังนี้
ชินโดะ 0 ผู้คนไม่รู้สึกถึงแรงสั่น แต่เครื่องตรวจวัดจะจับแรงสั่นได้
ชินโดะ 1 คนที่นั่งนิ่งๆ บางคนอาจรับรู้แรงสั่นได้เล็กน้อย
ชินโดะ 2 คนที่นั่งนิ่งๆ ในอาคารส่วนใหญ่รู้สึกได้ ไฟที่แขวนอยู่อาจแกว่งนิดหน่อย
ชินโดะ 3 คนที่อยู่ในอาคารรับรู้แรงสั่นได้เกือบทุกคน คนที่นอนอยู่ส่วนใหญ่สะดุ้งตื่น
ชินโดะ 4 ไฟที่แขวนอยู่จะแกว่งอย่างรุนแรง คนที่นั่งไม่มั่นคง อาจล้มคะมำได้
ชินโดะ 5 ลบคนส่วนใหญ่หวาดกลัว ต้องโผหาที่เกาะ เครื่องเรือนที่ไม่ได้ยึดเกาะติดที่จะขยับหรือโค่น
ชินโดะ 5 บวกสั่นรุนแรง ถ้าไม่หาที่เกาะ จะเดินได้ลำบาก สิ่งของในชั้นวางจะโคลงและหล่นออกมา เครื่องเรือนบางชิ้นที่ไม่ได้ยึดเกาะติดที่จะโค่น
ชินโดะ 6 ลบสั่นรุนแรง คนจะยืนได้ลำบาก เครื่องเรือนที่ไม่ได้ยึดเกาะติดที่จะโค่นลงมาเป็นส่วนใหญ่ กระจกหน้าต่างแตก กระเบื้องมุงหลังคาจะหลุดร่วง
ชินโดะ 6 บวก สั่นรุนแรงมาก ต้องคลาน ยืนไม่ได้ สิ่งของที่ตั้งอยู่ล้มคว่ำเกือบทั้งหมด บ้านไม้ที่ต้านแรงสั่นได้ไม่ดีอาจจะพังทลาย
ชินโดะ 7 สั่นรุนแรงมาก ยืนไม่ได้ ต้องนั่งหาที่เกาะ บ้านไม้ที่ต้านแรงสั่นได้ไม่ดีจะพังทลายมากขึ้น แผ่นดินแยก
ต่อให้อธิบายเป็นตัวหนังสือ บางครั้งก็นึกไม่ออกว่ามันจะรุนแรงขนาดไหน ผมเองเคยเจอจริงๆ ประมาณชินโดะ 4 พอเกิดเหตุที่คุมะโมะโตะซึ่งมีชินโดะถึง 7 จึงอดรนทนไม่ได้ ด้วยความอยากรู้ว่ามันจะขนาดไหน จึงออกไปลองมาแล้วที่ “ศูนย์เรียนรู้ความปลอดภัยในชีวิตอิเกะบุกุโระ” ผมบอกเจ้าหน้าที่ว่าช่วยเร่งการจำลองให้ถึงชินโดะ 7 หน่อย อยากรู้เหลือเกินว่ามันจะขนาดไหน เจ้าหน้าที่ก็ดีใจหาย จัดให้เต็มๆ
และแล้ว...
โอ้...บอกได้เลยว่าสุดยอดของความสั่น!
ผมลงไปแอบอยู่ใต้โต๊ะ...จำไว้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหว ต้องมุดลงไปใต้โต๊ะก่อนเพื่อไม่ให้ของหล่นใส่หัว สองมือจิกพื้นแน่น สองเข่ากดหนัก ก็ยังเอาไม่อยู่ ต้องไขว่คว้าหาที่เกาะจ้าละหวั่น เข้าใจทันทีว่าชินโดะ 7 เป็นเช่นนี้ นี่แหละนะ...สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าโดนเต็มๆ
(ท่านใดสนใจไปลองได้ ค่าเข้าฟรี www.tfd.metro.tokyo.jp/hp-ikbskan/)
อดีตกับการเรียนรู้
ในแต่ละปี ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวตามที่ต่างๆ รวมแล้วหลายร้อยครั้งหรืออาจเกินพันครั้ง เมื่อมองย้อนครั้งใหญ่ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์จนถึงแผ่นดินไหวคุมะโมะโตะ ประมวลได้ดังนี้
1 กันยายน 1923- แผ่นดินไหวคันโต (関東地震;Kantō Jishin) ขนาด 7.9 ชินโดะสูงสุด 6 เกิดที่กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง นำไปสู่ “ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต” (関東大震災;Kantō Dai-shinsai) เสียชีวิตมากกว่าแสนคน
17 มกราคม 1995- แผ่นดินไหวทางใต้ในจังหวัดเฮียวโงะ (兵庫県南部地震 ; Hyōgo-ken Nanbu Jishin) ขนาด 7.3 ชินโดะสูงสุด 7 เกิดในแถบจังหวัดเฮียวโงะ (เช่น เมืองโคเบะ [โกเบ]) และพื้นที่ใกล้เคียง นำไปสู่ “ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิงอะวะจิ” (阪神・淡路大震災;Hanshin Awaji Dai-shinsai) เสียชีวิตราว 6,400 คน
23 ตุลาคม 2004- แผ่นดินไหวชูเอะสึจังหวัดนีงะตะ (新潟県中越地震 ; Nīgata-ken Chūetsu Jishin) ขนาด 6.8 ชินโดะสูงสุด 7 เสียชีวิตราว 70 คน
11 มีนาคม 2011- แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกภูมิภาคโทโฮะกุ (東北地方太平洋沖地震 ; Tōhoku-chihō Taihēyō Oki Jishin) ขนาด 9 ชินโดะสูงสุด 7 เกิดแถบจังหวัดฟุกุชิมะ และจังหวัดใกล้เคียง นำไปสู่ “ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น” (東日本大震災 ; Higashi Nihon Dai-shinsai) เกิดสึนามิพัดถล่มฝั่งเป็นแนวยาว เสียชีวิตราว 16,000 คน สูญหายราว 2,500 คน
16 เมษายน 2016- แผ่นดินไหวคุมะโมะโตะ (熊本地震;Kumamoto Jishin) ขนาด 7.3 ชินโดะสูงสุด 7 (วันที่ 14 เมษายน) เกิดที่จังหวัดคุมะโมะโตะ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน
คำถามคือ เป็นไปได้ไหมที่มันจะรุนแรงเกินชินโดะ 7? คำตอบคือเป็นไปได้ การที่ไม่มีชินโดะ 8 ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรุนแรงขนาดนั้น เพียงแต่ว่ายังไม่มีการตั้งข้อสันนิษฐานไปถึงตรงนั้น ตามประวัติจะเห็นได้ว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1923 (พ.ศ 2466) ตอนนั้นมีถึงแค่ชินโดะ 6 ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวทางใต้ในจังหวัดเฮียวโงะเมื่อปี 1995 (พ.ศ. 2538) ซึ่งรุนแรงกว่า และเพื่อแยกให้เห็นว่ารุนแรงกว่า ดังนั้น “ชินโดะ 7” จึงเกิดขึ้น และหากรุนแรงกว่าชินโดะ 7 เลขตัวต่อๆ ไปก็จะถูกนำมาใช้
ผมอยู่ร่วมรับรู้ความโชคร้ายจากภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ ข้างต้นมา 3 ครั้ง ตัวเองโชคดีที่อยู่ห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว แต่สำหรับที่คุมะโมะโตะ รู้สึกใจหายมากเมื่อได้ทราบข่าวเพราะมีความทรงจำที่ดีกับจังหวัดนี้แม้จะเคยไปเมื่อเนิ่นนานมาแล้วก็ตาม ผมยังจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนตอนที่ยังเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ครั้งนั้นเดินทางคนเดียวไปเที่ยวคิวชู และตัดสินใจไปคุมะโมะโตะตามคำชวนของเพื่อนด้วย
ผมไปจังหวัดนะงะซะกิก่อน จากนั้นก็นั่งรถไฟ ถึง-ก็-ช่าง-ไม่-ถึง-ก็-ช่าง อ้อมอ่าวจากนะงะซะกิไป ออกเดินทางแต่เช้า กว่าจะถึงคุมะโมะโตะก็ใกล้ค่ำ วันรุ่งขึ้น เพื่อนพร้อมกับครอบครัวของเธอพาผมไปปราสาทคุมะโมะโตะ ประทับใจมาก ดูอลังการ สีปราสาทเป็นโทนเคร่งขรึมไม่เหมือนที่อื่น และจากนั้นก็ไปเที่ยวภูเขาไฟอะโซะ ระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านอาหาร จู่ๆ ก็เกิดเสียงปัง!
สิ่งของกระทบกันลั่นห้องโถง โคมแกว่งไกวอย่างแรง...ทุกคนที่โต๊ะเราหันหน้ามองกัน แผ่นดินไหวนั่นเอง ช่างบังเอิญเสียจริง เกิดแผ่นดินไหวในวันที่ผมไปเที่ยว ตอนนั้นตื่นเต้นยิ่งกว่าขึ้นรถไฟเหาะ แต่เพราะเห็นคนญี่ปุ่นอยู่ในท่าทีสงบ เตรียมพร้อมจะหลบภัยอย่างที่เคยฝึกมา ผมจึงไม่กล้าวิ่งนำหน้าใครออกไปก่อน...ดูเหมือนคนญี่ปุ่นเรียนรู้กันมานานว่าต้องตั้งสติ...ตั้งสติ...อย่าลนลาน โชคดีที่สงบลงเสียก่อน แค่นี้ก็ทำเอาหายใจไม่ทั่วท้องไปพักใหญ่
มาถึงเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งนอกจากชีวิตของประชาชนก็คือปราสาทคุมะโมะโตะ ปรากฏว่าเกิดความเสียหายขึ้นกับปราสาท กำแพงฐานด้านนอกพังลงมาบางส่วน หลังคาทลายลงมา แต่ก็นับว่าโชคดีที่ตัวปราสาทยังอยู่
สำหรับภัยพิบัตินี้ ทีแรกก็พากันคิดว่าแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 14 เมษายนตอน 3 ทุ่มเกือบครึ่งคือของจริง แต่เปล่า...ครั้งที่เกิดเมื่อราวตี 1 ครึ่งของวันที่ 16 เมษายนกลับจริงยิ่งกว่า ภาษาญี่ปุ่นเรียก “แผ่นดินไหวนำ” และ “แผ่นดินไหวหลัก” ตามลำดับเช่นนั้นว่า “เซ็นชิง” (前震;zenshin) และ “ฮนชิง” (本震;honshin)
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหลักแล้ว ก็จะเกิด “แผ่นดินไหวตาม” หรือแผ่นดินไหวระลอกหลัง หรืออาฟเตอร์ช็อก (aftershock) ต่อมาอีกเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยครั้ง เรียกว่า “โยะชิง” (余震;yoshin) ดังนั้น ประชาชนจำนวนมากจึงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าบ้านจะไม่ถล่มลงมา ทำให้ต้องหลบภัยไปอยู่รวมๆ กันตามอาคารที่แข็งแรงของทางการ กลายเป็นความเดือดร้อนแก่ชีวิตที่ไม่มีใครคิดอยากจะเผชิญ ขาดแคลนทั้งที่นอนที่เหมาะสม อาหาร น้ำ และอีกสารพัด เป็นความทุกข์ยากที่ต้องฟันฝ่า ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความไม่สบาย แล้วไหนจะมีเด็กๆ และคนแก่อีกมากมาย
แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของคนทั่วโลกคือ เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีรายงานออกมานั้นถือว่าต่ำ หันไปมองทางด้านเอกวาดอร์ที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 17 เมษายน ตัวเลขแซงของญี่ปุ่นไปแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนญี่ปุ่นเตรียมพร้อม เมื่อถึงเวลาก็ตั้งสติได้ดี อีกทั้งเพื่อนบ้านก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี อยู่ในระเบียบวินัยเมื่อถึงคราวต้องอพยพหลบภัย ความวุ่นวายจึงไม่เกิด และทำให้การดำเนินงานต่างๆ รวดเร็ว ลดความเสียหายลงไปได้มาก
ภาพเอพี
ในด้านการเตรียมพร้อม จากอดีตจะเห็นได้ว่า ครั้งที่หนักหนาสาหัสของญี่ปุ่นในด้านผู้เสียชีวิตซึ่งถึงหลักแสน คือเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1923 สาเหตุสำคัญคือเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ เผากรุงโตเกียววอดวาย เพราะบ้านเรือนสมัยนั้นสร้างด้วยไม้เป็นหลัก จากนั้นมา จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงมากถึงแม้จะเกิดภัยพิบัติในระดับใกล้เคียงกันหรือรุนแรงกว่า เหตุผลหลักคือ คนญี่ปุ่นเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติกันอยู่เสมอ เช่น มีการกำหนดให้วันที่ 1 กันยายนเป็นวันป้องกันภัยพิบัติเพื่อให้ตระหนักถึงความพร้อม โรงเรียนสอนให้นักเรียนรู้จักหลบภัยโดยเฉพาะแผ่นดินไหว หน่วยราชการให้เจ้าหน้าที่ของตนลองซ้อมเดินกลับบ้านจากที่ทำงาน (เผื่อไว้สำหรับวันที่เกิดภัยพิบัติและการคมนาคมหยุดเคลื่อนไหว) การรณรงค์ให้ประชาชนเตรียมถุงฉุกเฉินบรรจุอาหารพร้อมรับประทานไว้เสมอให้พออย่างน้อย 2-3 วัน
ท้ายนี้ ขอฝากให้มองญี่ปุ่นไว้ว่า ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศนี้น่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผ่านการบ่มเพาะ (หรือจะเรียกว่าบีบคั้นก็ได้) จากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และนำจุดแข็งมาเป็นเครื่องมือสร้างชีวิตที่แม้แต่คนในโลกตะวันตกก็สงสัยว่าทำได้ยังไง
ผมเคยบอกคนญี่ปุ่นหลายครั้งว่า “คนไทยชื่นชมสังคมญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความมีวินัย” และถามต่อไปอีกว่า “อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีวินัยในแทบทุกด้านของการใช้ชีวิต”
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ประหลาดใจกับคำถามและอ้ำอึ้งครู่หนึ่งกว่าจะหาคำตอบได้ เพราะไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติทุกเมื่อเชื่อวันจะเป็นเรื่องพิเศษในสายตาคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดทนในการเข้าคิวรออย่างสงบ ตลอดจนการทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนและตรวจสอบอย่างรอบคอบเพราะเกรงว่าถ้าปล่อยผลงานไม่ดีออกไปจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการแยกขยะตามประเภท เป็นต้น คนญี่ปุ่นคิดว่าความมีระเบียบวินัยคือเรื่องที่ธรรมดามาก และคิดว่าใคร ๆ ก็น่าจะปฏิบัติเช่นนั้นมิใช่หรือ แต่ผมบอกว่า “เปล่า อย่างน้อยในเมืองไทยก็ไม่ใช่อย่างนั้น”
คนไทยได้แต่ชื่นชมญี่ปุ่นมานาน แต่ยังไม่สามารถยกระดับความประพฤติต่อส่วนรวมของคนในสังคมไทยให้เนี้ยบเหมือนญี่ปุ่นได้ และถ้าให้คนต่างชาติวิเคราะห์ว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีวินัย คำตอบที่ได้ก็คงจะประมาณว่า “เพราะคนญี่ปุ่นฝึกให้มีระเบียบกันตั้งแต่เด็ก ๆ”
ใช่...ส่วนหนึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่คำตอบของคนญี่ปุ่นหลายคนลึกกว่านั้น
“เพราะประเทศนี้มีภัยพิบัติมาก ถ้าอยากจะมีชีวิตรอดไปด้วยกันให้ได้ โดยไม่เกิดความวุ่นวาย ทุกคนจะต้องใส่ใจคนรอบข้าง รักษากฎระเบียบ เตรียมพร้อม เรียนรู้ ทำอะไรๆ ก็ต้องมีสติ ถามไถ่ช่วยเหลือกัน และเพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด จะต้องฝึกตัวเองให้มีวินัย”
ผมต่อให้ว่า “หาไม่แล้ว จะตายหมู่”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th