xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “นอกใจ” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ความประพฤติ “นอกใจ” เป็นเรื่องที่เจ็บปวดหัวใจ และดูเหมือนเป็นอารมณ์ร่วมของมนุษยชาติเลยทีเดียว ดูอย่าง “เมียหลวง” ของไทย สร้างละครเมื่อไรก็ดังทุกที หรือถ้ามองของญี่ปุ่น ในวรรณกรรมเรื่อง “เก็นจิ-โมะโนะงะตะริ” (源氏物語;Genji-monogatari) ซึ่งแต่งมานานกว่าพันปีและนักวิชาการบางคนถือว่าเป็นนิยายเรื่องแรกของโลกก็มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการนอกใจ นั่นหมายความว่าต่อให้ผ่านมาพันปี การนอกใจก็ยังมีอยู่ เพราะมนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่นั่นเอง และอันที่จริง การนอกใจเกิดขึ้นในทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับผู้ชายนอกใจมีออกมามากกว่า ในญี่ปุ่นระยะนี้ ประเด็นการนอกใจกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา เพราะบังเอิญบุคคลผู้มีหน้ามีตาในสังคมประพฤตินอกใจ

“การนอกใจ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อุวะกิ” (浮気; uwaki)ใช้ในความหมายทั่วไปหมายถึง การทำตัวไม่ซื่อสัตย์ต่อแฟนหรือคู่สมรสของตนและแอบมีใจให้ผู้อื่น แต่ถ้าว่ากันแบบเคร่งครัด คำนี้ใช้ในกรณีความสัมพันธ์ของคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน กล่าวคือ ขณะที่เป็นแฟนกับคนคนหนึ่ง ก็แอบไปเดตกับอีกคนหนึ่ง หรือแอบมีความสัมพันธ์ทางกายกับอีกคน แบบนี้คือ “อุวะกิ” ถ้าจะเข้าประโยคว่า “เขา (ผู้ชาย) นอกใจ” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “คะเระ วะ อุวะกิ ชิตะ” (彼は浮気した; Kare wa uwaki shita)

ในกรณีที่ แต่งงานกันแล้ว และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแอบมีคนอี่น ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “ฟุริง” (不倫;furin) ตัวอักษร “ฟุ” (不) แปลว่า “ไม่” และ “ริง” (倫)แปลว่า “จริยธรรม, คุณธรรม” เมื่อรวมกันจึงแปลตามตัวอักษรได้ว่า “การผิดไปจากจริยธรรม” แต่ความหมายที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันคือ “ความประพฤตินอกสมรส” ซึ่งสังคมถือว่าเป็นการกระทำผิดบรรทัดฐานคุณธรรมนั่นเอง หรือถ้าว่ากันด้วยภาษาลูกทุ่งแบบไทยคือ “การมีชู้” เช่น “สามีมีชู้” พูดว่า “อตโตะ วะ ฟุริง ชิตะ” (夫は不倫した;Otto wa furin shita.) [ถ้าจะจำคำนี้ไปพูด ควรระวังว่าต้องออกเสียง “ฟุ” เป็นเสียงสั้นถึงจะสื่อความได้ถูกต้อง ถ้าออกเสียงยาวเป็น “ฟู-ริง” (風鈴;fūrin) จะหมายถึง กระดิ่งลม]

ทว่ากฎหมายญี่ปุ่นไม่ได้นิยามคำว่า “อุวะกิ” กับ “ฟุริง” ไว้ สองคำนี้จึงไม่ใช่คำทางกฎหมาย และเมื่อมีกรณีขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อฟ้องหย่า จุดที่ศาลจะพิจารณาคือมี “ฟุเต-โคอิ” (不貞行為;futē-kōi) หรือไม่ คำนี้แปลว่า “ความประพฤติไม่ซื่อสัตย์” นิยามทางกฎหมายของคำคือ การมีเพศสัมพันธ์ กับบุคคลต่างเพศนอกจากคู่สมรสของตน สิ่งที่ต้องสังเกตจากความหมายนี้คือ การจับมือถือแขนและการจูบไม่รวมอยู่ใน “ฟุเต-โคอิ” แปลอีกทีคือ ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์ไม่ถือว่าเป็นความประพฤติไม่ซื่อสัตย์ แน่นอนว่าการติดต่อแลกเปลี่ยนทางอีเมล โทรศัพท์ หรือข้อความโต้ตอบกันก็ไม่ถือว่าเป็นความประพฤติไม่ซื่อสัตย์ แต่ถ้ามองถึงเรื่องการหย่าร้าง “ฟุเต-โคอิ” เป็นแค่เหตุผลหนึ่ง การหย่าจะทำได้หรือไม่ได้ ศาลอาจพิจารณาเหตุผลอื่นประกอบด้วย ดังนั้น ถ้าใครไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าคู่ของตนมีชู้ ก็อาจใช้เหตุผลอื่นเพื่อฟ้องหย่าได้ มาถึงตรงนี้ บางคนอาจฉงนว่า อ้าว...กับบุคคลต่างเพศหรือ? แล้วถ้ามีอะไรกับคนเพศเดียวกันจะเป็น “ฟุเต-โคอิ” หรือไม่ เอ่อ...จุดนั้นกฎหมายญี่ปุ่นไม่ได้เขียนไว้ ฉะนั้นก็ไม่ใช่ แต่ถ้าจะใช้กฎหมายบทอื่นก็ตีความได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์กับใครที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนอาจเป็นเหตุให้ดำเนินชีวิตครอบครัวต่อไปได้ยาก นั่นก็อาจเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอสำหรับการหย่าร้างได้


คำว่า “ฟุริง”—ความประพฤตินอกสมรส กลายเป็นคำที่ได้ยินถี่ที่ญี่ปุ่นในเดือนแห่งความรัก เพราะสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับ “ฟุริง” ของเค็นซุเกะ มิยะซะกิ (宮崎健介;Miyazaki, Kensuke)ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นรุ่นใหม่ และเป็นหนุ่มหน้าตาดี ดูเท่ด้วยส่วนสูง 188 เซนติเมตร เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ นิตยสารฉบับหนึ่งเริ่มขุดคุ้ยตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่ามิยะซะกิมีชู้ระหว่างที่ภรรยากำลังท้อง หลังจากสื่อมวลชนเริ่มระแคะระคายมากขึ้น ส.ส. วัย 35 ปีคนนี้ก็ออกมายอมรับและลาออกจากการเป็น ส.ส. พร้อมกับถูกวิจารณ์อย่างหนัก
อดีต ส.ส. เค็นซุเกะ มิยะซะกิ  (ที่มา The Asahi Shimbun)
ทำไมผู้ชายถึงได้ทำตัวแบบนั้น? อาจารย์คิโยะฮิโกะ อิเกะดะ นักชีววิทยาชื่อดังให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผู้ชายมีสัญชาตญาณความอยากคงไว้ซึ่งสิ่งสืบต่อพันธุกรรมของตัวเองให้มากๆ เข้าไว้ และผู้ชายมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะสำแดงความเป็นตัวตน” (นิตยสารโจะเซเซะบุง; 女性セブン; Josē-sebun ฉบับวันที่ 3 มีนาคม)

หมายความว่าผู้ชายมักจะทำตัวตามสัญชาตญาณ? ก็คงจะจริง...แต่หากปล่อยตัวให้ไหลไปเช่นนั้นโดยถือว่าถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องขยายพันธุ์ไม่หยุด สังคมคงวุ่นวาย ดังนั้น เพื่อรักษาความสงบในชุมชนมนุษย์ จึงได้มีการสร้างชุดเครื่องมือขึ้นมาบริหารความประพฤติ ซึ่งก็คือจริยธรรมและกฎหมาย แต่ผู้ชายที่พ่ายแพ้สัญชาตญาณก็มีอยู่ไม่น้อย รวมทั้ง อดีต ส.ส. เค็นซุเกะ มิยะซะกิด้วย เหตุผลที่ใครสักคนจะนอกใจใครอีกคนคงมีร้อยแปด แต่ไม่ว่าด้วยเหตุอันใด มักนำไปสู่การประณามผู้ก่อความประพฤตินั้น

สำหรับอดีต ส.ส. มิยะซะกิคนนี้ ประเด็นที่ถูกวิจารณ์ แน่นอนว่าอันดับแรกคือการกระทำผิดจริยธรรมอันเป็นที่ยอมรับของสังคม ในที่นี้คือความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสามี สิ่งที่สื่อมวลชนขุดคุ้ยมารายงานด้วยคือ ข้อความที่มิยะซะกิส่งถึงหญิงอื่นทางไลน์ ข้อความหนึ่ง “กึ่งกลางใจผมคือคุณ” (私のど真ん中はソナタ; Watashi no domannaka wa sonata.) ใครจะจำไปใช้ก็ไม่ว่ากันเพราะฟังโรแมนติกมาก แต่พึงระลึกว่าควรใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา และถูกคน
อดีต ส.ส. เค็นซุเกะ มิยะซะกิ  (ที่มา www.japantimes.co.jp)
ประเด็นที่ทำให้ถูกถล่มหนักเข้าไปอีกคือ มิยะซะกิในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ขอลาราชการด้วยเหตุผลว่าลาเพื่อไปดูแลบุตรที่กำลังจะเกิด นัยว่าเป็นชายผู้รักครอบครัว จะช่วยภรรยาซึ่งก็เป็น ส.ส.เช่นกัน แต่ปรากฏว่าแอบไปพบหญิงอื่น นั่นคือการโกงเวลาราชการ ต่อมาถูกถล่มซ้ำอีกหลังจากหญิงคู่กรณีถูกเชิญไปออกโทรทัศน์ เธอให้สัมภาษณ์ แสดงท่าทีสำนึก ขณะเดียวกันก็เผยว่ามิยะซะกิส่งไลน์หาเธอบ่อยมาก วันหนึ่งนับได้ 400 ข้อความ มิยะซะกิถูกวิจารณ์อีกว่าเป็น ส.ส. แต่ส่งไลน์ได้ถึงวันละ 400 ข้อความ? ว่างมากใช่ไหม? ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่! ส่วนผู้หญิงก็ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้างเช่นกันว่ารู้ทั้งรู้แต่ก็ทำ? แล้วยังกล้ามาออกโทรทัศน์อีกหรือ? ไม่นึกถึงใจภรรยาหลวงบ้างเลย? แล้วนั่งนับด้วยหรือว่าได้รับ 400 ข้อความ? สรุปว่าทั้งชายและหญิงไม่มีที่ยืนด้วยกันทั้งคู่ และใครๆ ต่างก็เห็นใจภรรยาของมิยะซะกิที่เพิ่งคลอดลูก

เมื่อเกิดประเด็นร้อนๆ แบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงข้อสังเกตของคนญี่ปุ่นหลายคนที่รู้จักเมืองไทยขึ้นมา พวกเขาบอก (กล่าวหา) ว่า ผู้ชายไทยชอบมีเมียน้อย เอ...ผมก็ไม่รู้ว่าจะแก้ต่างหรือจะยอมรับดีเพราะไม่มีสถิติมาหักล้างได้ แต่ถ้าสังเกตจากคนรอบตัว ฮื่ม...ก็คงต้องบอกว่าข้อกล่าวหาฟังขึ้น แต่แหม...ก็ไม่อยากจะยอมรับ จึงตอบกลับว่าไม่รู้สิ มาวันนี้ได้เห็นสถิติของชายญี่ปุ่น ก็อยากจะสรุปว่า อะแฮ่ม...อย่าว่าแต่ชายไทย ชายญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้านะ คงพอๆ กันแหละ (ฟะ) นิตยสารรายสัปดาห์โจะเซเซะบุง ซึ่งมียอดพิมพ์หลายแสนฉบับ ได้จัดการสำรวจจากผู้ชายที่แต่งงานแล้ววัยตั้งแต่ 30 ปีไม่เกิน 70 ปี จำนวน 200 คน และเผยแพร่ผลในฉบับวันที่ 3 มีนาคม โดยถามว่าเคยมีความประพฤตินอกใจหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ “เคย” 47%, “ไม่เคย” 53% ตัวเลขนี้บ่งบอกว่าปาเข้าไปเกือบครึ่งเชียวนะ เหตุผล 3 อันดับแรกของการนอกใจคือ

1) ไม่สามารถกำราบความต้องการทางเพศได้ (48.9%)
2) ถูกเชื้อเชิญ (29.8%)
3) เป็นความรักบริสุทธิ์ (20.2%)
นิตยสารโจะเซเซะบุง ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2559
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งจากคนญี่ปุ่น คือ เมื่อคนญี่ปุ่นก่อความประพฤตินอกใจหรือเลยเถิดไปถึงนอกสมรส มักไม่ค่อยมีกรณีฆ่ากันตายเพราะหึงหวงหรือแค้น อาจมีกรณีเช่นนั้นบ้าง แต่แทบไม่เป็นข่าว ซึ่งตีความได้ว่าการลงเอยแบบนั้นมีไม่มาก และคนญี่ปุ่นมักจะแก้ปัญหาที่ศาล แต่ในทางกลับกัน ที่เมืองไทยการตบตีหรือถึงขั้นฆ่ากันตายเพราะเรื่องนอกใจเป็นข่าวอยู่เสมอ และปัจจุบันเทคโนโลยีก็ช่วยให้มีคลิปออกมาประจานกันได้ง่ายๆ ด้วย

คนเราคงรักใครได้พร้อมกันทีละหลายคน ผมเชื่อเช่นนั้น ส่วนเรื่องความใคร่...คงไม่ต้องพูดถึง เครื่องมือบริหารความรัก-ใคร่ไม่ให้เกิดปัญหาในระดับบุคคลคือจริยธรรม ในระดับสังคมก็คือกฎหมาย ถ้าปล่อยให้สัญชาตญาณทำงานมากไปก็จะเกิดปัญหาตามมาทั้งสองทาง คนญี่ปุ่นชื่นชมคนที่สามารถอดทนต่อสัญชาตญาณ ยิ่งทนต่อสิ่งยั่วเย้าในทางไม่ดีได้มากเท่าไร ย่อมได้รับการประเมินสูงเท่านั้น วันนี้นำเรื่องนอกใจของญี่ปุ่นมาบอกเล่าเพื่อจะย้ำว่า ถ้าเราเป็นคนของสังคม จะต้องประพฤติตัวให้ดีทั้งในส่วนที่ตื้นที่สุด เช่น การทำงานในหน้าที่ และส่วนที่ลึกที่สุด เช่น ความใคร่

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น