ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ในฐานะคนด้านการศึกษาคนหนึ่ง ผมคิดว่า ‘การสอนคน’ กับ ‘การสอนหนังสือ’ นั้นต่างกัน
การสอนคน คือ การสอนให้ผู้รับ ‘เป็นคนเต็มคน’ ทางความคิดและการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โดยมีคุณธรรมกำกับขณะที่เติบโตขึ้นและหาเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นปกติสุขที่สุดตามอัตภาพ ในลักษณะที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นในสภาพรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออย่างจงใจ รวมทั้งจะต้องมีส่วนช่วยธำรงสังคมให้ยืนหยัดต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนการสอนหนังสือ คือ การถ่ายทอดรหัสความรู้อันเป็นภาษากลางของคนในสังคมเพื่อสื่อและรับสารจากคนรอบตัวและสิ่งแวดล้อมให้เข้าใจตรงกัน หรือพูดง่ายๆ ในระดับพื้นฐานที่สุดคือการสอนให้อ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารเป็น และต่อไปคือการประยุกต์ความรู้เพื่ออาชีพการงานอย่างเหมาะสม หรือถ้าในระดับสูงขึ้นไปก็คือการสอนในระดับปริญญาตรี โท เอก
‘การสอนคน’ ผ่านระบบโรงเรียนมักจะหยุดอยู่ในช่วงประถมวัยหรือเกินจากนั้นไม่เท่าไร ยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว อาจารย์แทบจะไม่สอนคน สอนแต่หนังสือ เมื่อผลผลิตที่ไม่ดีออกไปสู่สังคม สังคมจึงว่าว่าการศึกษาล้มเหลวเพราะไม่สามารถสอนคนให้มีจิตสำนึกที่ดีได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสอนคนให้เป็นคนจริงๆ ไม่ได้
ด้วยสภาพทั่วไปของการศึกษาและธรรมชาติของคน ผมคิดว่าการสอนคนจะได้ประสิทธิผลที่สุดเมื่อผู้รับอยู่ในวัยเด็ก จริงๆ แล้วจะเรียกว่าสอนก็ยังอาจจะเบาไป ต้องเรียกว่าปลูกฝัง ซึ่งครอบครัวและโรงเรียนต้องช่วยกันทุกทางตั้งแต่ผู้รับยังอยู่ในช่วงประถมวัย เพราะเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มเกิดการแข่งขันทางการศึกษามากขึ้น และหน้าที่สอนคนของครูอาจารย์ก็จะผันไปเป็น ‘การสอนหนังสือ’ ตามสภาพสังคมที่บีบคั้น หรือบางทีครูอาจารย์อาจจะคิดว่า ‘โตแล้วไม่ต้องสอน’ หรือไม่ก็ ‘โตแล้วสอนยาก’ หรือไม่ก็ปัดไปเลยว่า ‘พ่อแม่สอนมาไม่ดี นี่ไม่ใช่หน้าที่ของครู’ หรืออะไรก็แล้วแต่
คุณสมบัติข้อหนึ่งของทรัพยากรมนุษย์ที่ดีตามที่ผมสังเกตได้จากการศึกษาของญี่ปุ่นคือ การไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ แนวคิดและแนวปฏิบัตินี้เริ่มถ่ายทอดกันตั้งแต่วัยเด็ก การศึกษาประถมวัยเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสำหรับการ ‘ปลูก’ และ ‘ฝัง’ ความเป็นมนุษย์ที่ดีให้หยั่งรากลึก และสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้คือแง่มุมหนึ่งของวัฒนธรรมกลุ่มกับความคิดเรื่องการไม่ก่อความเดือดร้อนต่อกลุ่มดังที่ผมสังเกตมา ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่าปลอดจากปัญหาไปเสียทั้งหมด แต่โดยรวมแล้วผมคิดว่ารากฐานการศึกษาของญี่ปุ่นแข็งแกร่งกว่าของไทย โดยเฉพาะเรื่องการพยายามสอนคนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น คนในสังคมญี่ปุ่นจึงมีคุณภาพสูง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาของญี่ปุ่นในช่วงประถมวัย คือ ญี่ปุ่นสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตกับผู้คนเป็นหมู่คณะ การสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบชั้นประถมของญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นการสอนคน กล่าวคือสอนให้เด็กรู้จักวางตัวเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่าการเน้นความดีเลิศทางวิชาการ ดังที่ได้กล่าวนำไปเมื่อครั้งก่อนว่าการศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่นรวมเวลา 9 ปี ตั้งแต่ ป.1 จนจบ ม.3 จะเห็นได้ว่าระดับอนุบาลไม่ได้รวมอยู่ในการศึกษาภาคบังคับและสถานที่ด้านนี้ไม่มีคำว่า “โรงเรียน” ประกอบตามที่ภาษาไทยเรียกว่า “โรงเรียนอนุบาล” แต่เรียกว่า “โยชิเอ็ง” (幼稚園; yōchien) ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “สวนเด็ก” ถึงแม้ว่าโดยเนื้อหาแล้วสิ่งที่โยชิเอ็งถ่ายทอดก็เป็นการศึกษารูปแบบหนึ่งนั่นเอง สิ่งที่โยชิเอ็งของญี่ปุ่นให้เด็ก ‘เรียนรู้’ ไม่ใช่ ‘การเรียนหนังสือ’ แต่ให้ ‘เล่น’ ทั้งวัน หมายความว่าให้เด็กได้รู้ผ่านการเล่นและการใช้ชีวิตร่วมกับเด็กอื่น
สิ่งที่โยชิเอ็งให้ทำเป็นประจำซ้ำๆ ทุกวัน เช่น สอนให้เอ่ยคำทักทายเสียงดังฟังชัดกับทุกคน ให้เด็กร่วมกันร้องเพลง แบ่งกลุ่มให้เด็กช่วยกันเลี้ยงกระต่าย เลี้ยงเต่า ให้เด็กเล่นเกม สอนให้เด็กเข้าแถว สอนให้เด็กพูดขอบคุณทุกครั้งเมื่อมีใครทำอะไรให้ สอนให้เด็กพูดขอโทษทุกครั้งเมื่อทำสิ่งใดพลาดแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่งเสริมให้เด็กวิ่งเล่นออกกำลังกาย อ่านหนังสือภาพให้เด็กฟัง อบรมให้เด็กเข้านอนเร็วและตื่นแต่เช้า เมื่อจะเล่นสิ่งใดก็ให้เด็กช่วยกันขนอุปกรณ์ออกมา และเมื่อเล่นเสร็จก็จะให้ช่วยกันเก็บ ชีวิตที่โยชิเอ็งจะเป็นอย่างนี้ซ้ำๆ กันทุกวัน หรือสิ่งที่ให้ทำเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมคือ ให้เด็กซ้อมหลบภัยแผ่นดินไหวด้วยการมุดเข้าไปใต้โต๊ะ จากนั้นก็ให้เข้าแถวเดินอย่างสงบออกไปนอกอาคารแม้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน
เมื่อเด็กเล่นกันทั้งวัน ย่อมเกิดการกระทบกระทั่งและทะเลาะกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการแย่งของเล่นหรือการเล่นกันแรงๆ นั่นคือจุดที่ครูจะทำหน้าที่ ‘สอนคน’ อย่างใกล้ชิด โดยเรียกมาอบรมเป็นรายคนหรือรายกรณี เมื่อเด็กทำดีก็จะชม และหลักอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ เมื่อจะชมก็มักจะชมต่อหน้าผู้อื่น แต่เมื่อจะดุก็จะดุโดยไม่ให้ผู้อื่นเห็นเพื่อไม่ให้ผู้ถูกดุเสียหน้า ช่วงเวลาแต่ละวันที่โยชิเอ็งก็จะสั้นๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณ 8 โมงกว่าถึงแค่ประมาณบ่าย 2 ก็กลับบ้าน ในระดับนี้จะมีการสอนให้นับเลขด้วยปากเปล่า การสอนอ่านเขียนก็อาจมีบ้างแต่น้อย สรุปคือ เน้นการสื่อสารและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น มากกว่าการอ่านออกเขียนได้
การสอนหนังสือจะเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเด็กขึ้น ป.1 ซึ่งก็ดำเนินควบคู่กันไปกับการสอนเด็กให้รู้จักปรับตัวเข้ากับคนหมู่มากอีกเช่นเคย เด็กจะเริ่มหัดเขียนหัดอ่าน บางคนอาจเขียนอ่านได้บ้างแล้วเพราะครอบครัวสอนล่วงหน้าให้ แต่ส่วนใหญ่ก็มาเริ่มกันอีกทีที่ ป.1 โดยเริ่มจากการเขียนตัวอักษรฮิระงะนะ คะตะกะนะ และคันจิ (รายละเอียดเกี่ยวกับตัวอักษรและภาษาญี่ปุ่น ผมจะกล่าวโดยละเอียดในโอกาสต่อๆ ไป) ลักษณะการเรียนการสอนในระดับประถม จะเปลี่ยนจากการวิ่งเล่นมาเป็นการนั่งเรียนที่โต๊ะมากขึ้นเพราะต้องอ่านเขียน แต่ครูจะไม่กำหนดที่นั่งของเด็กให้ตายตัวทั้งเทอม ครูประจำชั้นจะเปลี่ยนผังที่นั่งให้เด็กได้ย้ายไปนั่งข้างๆ เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยกันเป็นระยะๆ จะได้ทำความรู้จักและปรับตัวให้เข้ากับคนใหม่ๆ
ในระดับนี้เริ่มมีการพาเด็กออกไปศึกษานอกสถานที่มากขึ้น ถ้าเป็นการเดินทางไปสำรวจละแวกชุมชน สิ่งที่ต้องทำแน่นอนอยู่แล้วคือการเข้าแถว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือโรงเรียนญี่ปุ่นบางแห่งจะให้เด็กเข้าแถวเป็นแถวคู่และให้เด็กเดินไปเป็นคู่ โดยให้เด็ก 2 คนจับมือกันไว้ ครูจะกำชับว่าจะเดินไปทางไหนก็ต้องไปด้วยกัน อย่าปล่อยมือโดยเฉพาะตอนข้ามถนน และคอยสังเกตดูด้วยว่าคู่ของตัวเองเป็นปกติดีหรือไม่ แม้เริ่มมีการสอนหนังสือมากขึ้น แต่ช่วงเวลาเล่นของเด็กญี่ปุ่นก็ยังมากอยู่ สังเกตได้จากจำนวนช่วงพักในแต่ละวัน โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นมีช่วงพักถี่ คือทุกครั้งที่เปลี่ยนวิชาจะมีช่วงพักสั้น มีพักกลางวันตามปกติ และมีพักใหญ่หน่อยช่วงบ่ายซึ่งบางโรงเรียนให้เวลา 10-15 นาที เด็กๆ ก็จะได้ออกไปวิ่งเล่นกันกลางสนาม
อาชีพครูในโรงเรียนประถมของญี่ปุ่นเป็นอาชีพที่งานยุ่ง เพราะจะต้องติดตามความประพฤติของเด็กอย่างใกล้ชิดและเขียนรายงานให้ผู้ปกครองทราบอย่างละเอียด เมื่อถึงเวลาก็จะนัดผู้ปกครองมาที่โรงเรียนเป็นรายคนเพื่อรายงานให้ทราบความประพฤติของเด็กว่าตอนอยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร การเชิญผู้ปกครองมาพบไม่ใช่เรื่องผิดปกติในวงการศึกษาของญี่ปุ่นแต่อย่างใด ไม่เหมือนของไทย ถ้าผู้ปกครองถูกเชิญเมื่อไรส่วนใหญ่หมายความว่าเด็กมีปัญหา แต่ของญี่ปุ่นการเชิญมาพบคือการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันระหว่างทางบ้านกับทางโรงเรียน เพราะเด็กหลายคนมีความประพฤติต่างกันระหว่างตอนอยู่บ้านซึ่งเป็นสังคมเล็ก กับตอนอยู่ที่โรงเรียนซึ่งเป็นหมู่คณะที่ใหญ่กว่า ส่วนใหญ่แล้ว ครูจะรายงานพฤติกรรมของเด็กเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นและสอบถามผู้ปกครองว่าตอนอยู่บ้านเด็กเป็นอย่างไร กรณีที่ผมเคยมีส่วนรับรู้ด้วย เช่น เด็กคนหนึ่ง ‘รักสะอาดผิดปกติ’ คือเห็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็จ้องจะทำความสะอาดอยู่ตลอด เพื่อนๆ นั่งอยู่ตรงไหนก็จ้องแต่จะเข้าไปเช็ดตรงนั้น หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เด็กคนหนึ่งไม่มีความอดทนต่ออะไรทั้งสิ้น ครูบอกให้รอเล่นเกมตามลำดับ ก็จะชิงแทรกเข้ามาก่อน บอกให้เข้าแถว ก็จะรีบชิงตัดหน้า สิ่งเหล่านี้ครูจะบันทึกไว้หมดและจะเชิญผู้ปกครองมารับฟังรายงานเพื่อให้ช่วยกันปรับความประพฤติของเด็ก เช่นกรณีที่ยกมานี้ก็จะช่วยกันสอนให้เด็กรู้จักตัดสินว่าสิ่งไหนควรทำเมื่อไร และควรฝึกความอดทนไว้เพราะคนอื่นๆ ยังรอได้ เราก็ต้องรอได้เช่นกัน ถ้าทำอะไรตามใจตัว ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และให้ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นต้น
วัฒนธรรมกลุ่มของญี่ปุ่นได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่เด็ก และในการอยู่ร่วมกันย่อมต้องมีความกลมกลืนกันเพื่อไม่ให้กลุ่มแตก แนวคิดหนึ่งที่ผมเห็นว่าโรงเรียนญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่นต่างก็สอนให้ตระหนักไว้คือ การไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเมื่ออยู่ร่วมกัน คำว่า “ความเดือดร้อน” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “เมวะกุ” (迷惑;mēwaku) พอคนมาอยู่รวมกันมากๆ เข้าและแต่ละคนก็มีเงื่อนไขประจำตัวแตกต่างกันไป สิ่งที่ทำได้ที่บ้าน เมื่อทำขณะอยู่กับผู้อื่นก็อาจจะกลายเป็นเมวะกุได้
“ความเดือดร้อน” ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายกว้าง กินความทั้งเรื่องทางกายและทางใจ และหมายรวมถึงเรื่องที่ตัวเองก่อและเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ก่อแต่คนในครอบครัวก่อด้วย ในสังคมญี่ปุ่นมีสำนวนที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “โกะ-เมวะกุ โอะ โอะ-คะเกะชิเตะ โมชิวะเกะ โกะซะอิมะเซ็ง” (ご迷惑をおかけして申し訳ございません; Go-mēwaku o o-kakeshite mōshiwake gozaimasen) ซึ่งเป็นสำนวนขอโทษที่สุภาพมากสำหรับเรื่องหนักหนาที่ทำพลาดไปและก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แปลว่า “ขออภัย (ไม่มีคำแก้ตัวใดๆ) ที่ได้ก่อความเดือดร้อน (แก่คุณ)”
เรื่อง “เมวะกุ” คือจุดที่คนญี่ปุ่นใส่ใจระวังทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ การแซงคิวก็ถือว่าเป็นเมวะกุ, การนัดเพื่อนแล้วไปผิดเวลาก็ถือว่าเป็นเมวะกุ, การยกเลิกนัดกะทันหันก็ถือว่าเป็นเมวะกุ หรือยกตัวอย่างกรณีจริง เช่น ครั้งหนึ่งคนญี่ปุ่น 3 คนไปเล่นสกีแล้วหายตัวไป กลายเป็นข่าวทั่วประเทศ สร้างความกังวลแก่ผู้คนเป็นวงกว้าง ต่อมาปรากฏว่าหายตัวไปเพราะหลุดออกนอกเส้นทางการเล่น แต่โชคดีที่กลับมาได้โดยปลอดภัย เหตุการณ์แบบนี้ก็เป็นการก่อเมวะกุแก่คนทั้งประเทศ คนญี่ปุ่นกลุ่มนี้ก็ออกมาขอโทษ หรือกรณีนักการเมืองญี่ปุ่นที่มีข่าวอื้อฉาว ก็มักจะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบและขออภัยที่ก่อเมวะกุแก่คนทั้งประเทศ ส่วนของไทย ถ้าเราสอนดีๆ ให้ได้ดุลระหว่าง ‘การสอนคน’ กับ ‘การสอนหนังสือ’ โดยทำจริงจังขณะที่ผู้รับยังเป็นเด็กแบบที่ญี่ปุ่นทำ กรณีปัดความรับผิดชอบก็คงจะน้อยลงหรืออาจจะไม่มี และกรณีหนีทุนก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นเมวะกุแก่คนทั้งประเทศอย่างเห็นได้ชัด
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th