xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “ศาลเจ้ายะซุกุนิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

คำถาม: ในบรรดาศาลเจ้าญี่ปุ่นทั้งหมด ศาลไหนดังที่สุดในโลก?

คนที่เคยมาเที่ยวญี่ปุ่นไม่ว่าจะมาทัวร์หรือมาเอง อาจนึกถึงศาลเจ้าเมจิในย่านฮะระจุกุใจกลางกรุงโตเกียวขึ้นมาก่อน หรือเมื่อมองจากจำนวนผู้คนที่ไปสักการะในช่วง 3 วันแรกของช่วงปีใหม่ตามประเพณีญี่ปุ่นซึ่งเรียกว่า “ฮะสึโมเดะ” (初詣; hatsumōde) ศาลเจ้าเมจิก็มาเป็นอันดับ 1 ทุกปี คือประมาณ 3 ล้านกว่าคน

แต่คำตอบ (โดยความรู้สึกของโฆษิต) คือ ศาลเจ้ายะซุกุนิดังที่สุดในโลก แม้จะมีจำนวนผู้มาสักการะในช่วงปีใหม่น้อยกว่าก็ตาม คือประมาณ 2 ล้านคนเศษ
ทางเดินเข้าสู่ศาลเจ้ายะซุกุนิ ใบแปะก๊วยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ผมคิดว่า “ศาลเจ้ายะซุกุนิ” สวย น่าสนใจ และดังกว่าศาลเจ้าเมจิ สำหรับเรื่องความสวย อย่างในฤดูใบไม้ร่วงดังเช่นตอนนี้ ใบแปะก๊วยกำลังค่อยๆ เปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลืองอร่าม และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ต้นซากุระที่มีอยู่มากมายภายในอาณาบริเวณ รวมทั้งต้นมาตรฐานที่ใช้วัดการบานของซากุระในกรุงโตเกียวด้วย ก็จะออกดอกบานสะพรั่งละลานตา ส่วนประตู “โทะริอิ” (鳥居, torī) ที่มีถึง 3 ประตูก็ยืนตระหง่านงดงามให้ถ่ายรูปได้เป็นจุดๆ โดยมีวิหารเป็นฉากหลังในบางมุม หรือถ้าเดินในที่โล่งจนเบื่อและต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ ก็มีพิพิธภัณฑ์ให้เข้าไปเที่ยวชมย้อนประวัติศาสตร์
ประตูโทะริอิหน้าวิหารหลัก
อันที่จริง เรื่องความสวยและน่าสนใจคงต้องให้มาพิสูจน์ในสถานที่จริงจึงจะเข้าใจเต็มที่ แต่เรื่องความดัง ต่อให้นั่งอยู่ในเมืองไทยหรือที่ไหนๆ ในโลกก็คงรู้สึกได้ คนที่ไม่เคยมาญี่ปุ่นแต่สนใจญี่ปุ่น หรืออ่านข่าวเกี่ยวกับญี่ปุ่น หรือสนใจการต่างประเทศของญี่ปุ่นคงเคยได้ยินชื่อ “ยะซุกุนิ” แน่นอน

คำถาม: ถามนิดเดียว ตอบเสียยาว ศาลนี้ชื่ออะไรนะ? เรียกยากจัง

รู้สึกเหมือนกันครับว่ายิ่งอายุมากขึ้น พูดอะไรสั้นๆ ไม่ค่อยเป็น จะพยายามปรับให้ดีขึ้นครับ สำหรับชื่อของศาลเจ้า ตอนไปทีแรกผมเองก็เรียกชื่อศาลนี้ไม่ค่อยจะถูก ตอนนั้นมาญี่ปุ่นใหม่ๆ และด้วยความที่ภาษาญี่ปุ่นยังอ่อนหัด จึงเรียกชื่อศาลนี้เป็น “ยะกินิกุ” (เนื้อย่าง) อยู่นาน จนกระทั่งได้ไปสถานที่จริงนั่นแหละถึงเรียกได้ถูกต้องว่า “ยะซุกุนิจินจะ” (靖國神社; Yasukuni-jinja) คำว่า “ยะซุกุนิ” แปลว่า ประเทศอันสงบ ซึ่งเป็นชื่อตามวัตถุประสงค์ของการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ตามพระราชประสงค์ของพระจักรพรรดิเมจิ (ครองราชย์ ค.ศ. 1867-1912) คือเพื่อ “国を靖んずる” (Kuni o yasun zuru—ทำให้ประเทศเกิดสันติ) ส่วนคำว่า “จินจะ” แปลว่า ศาลเจ้า (ชินโต) คนญี่ปุ่นจำนวนมากบอกว่าตัวเองนับถือพุทธ บ้างก็บอกว่าไม่มีศาสนา แต่ขนบประเพณีญี่ปุ่นหลายอย่างมีส่วนชักนำให้คนญี่ปุ่นไปศาลเจ้าชินโตด้วย ขณะเดียวกันก็ไปวัดซึ่งเป็นของพุทธ และบางครั้งก็ไปโบสถ์คริสต์เพื่อการแต่งงาน

คำถาม: ทำไมในชื่อภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “จินจะ”—ยะซุกุนิจินจะ, ทำไมไม่ใช้ “จิงงู” เหมือนศาลเจ้าเมจิ—เมจิจิงงู?

เรียกไม่เหมือนกันเพราะเทพเจ้าที่ (ผู้คนเชื่อว่า) สถิตอยู่ มีที่มาต่างกัน คำญี่ปุ่นที่แปลว่า “ศาลเจ้า” มีหลายคำ ในจำนวนนั้น สองคำที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือคำว่า “จินจะ” (神社; jinja) ซึ่งใช้สื่อถึงศาลเจ้าโดยรวม และใช้ประกอบชื่อเฉพาะอย่าง “ยะซุกุนิจินจะ” ส่วนอีกคำที่นักท่องเที่ยวคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดีคือคำว่า “จิงงู” (神宮;jingū) เช่น เมจิจิงงู ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทัวร์ไทยมักพานักท่องเที่ยวไป คำว่า “จินจะ” กับ “จิงงู” แปลว่าศาลเจ้าด้วยกันทั้งคู่ แต่ต่างกันตรงที่ว่า “จินจะ” คือศาลเจ้าที่มนุษย์ทั่วๆ ไปกลายเป็นเทพเจ้าสถิตอยู่หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ส่วน “จิงงู” คือ ศาลอันเป็นที่สถิตของดวงพระวิญญาณบรรพบุรุษของจักรพรรดิวงศ์ ความเชื่อแบบชินโตคือคนธรรมดาที่ตายไปแล้วก็สามารถกลายเป็นเทพเจ้าได้

คำถาม : แล้วเทพเจ้าประจำศาลเจ้ายะซุกุนิมีอิทธิฤทธิ์ด้านไหน?

ผมตอบไม่ได้ว่าด้านไหน แต่คิดว่าก่อนจะเป็นเจ้าคงมีฤทธิ์แน่นอน หลังจากเป็นเจ้าแล้วมีฤทธิ์หรือไม่...ไม่แน่ใจ และสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าใช่ฤทธิ์หรือไม่ คือ พอถึงวันที่ 15 สิงหาคมซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสงครามแปซิฟิก จีนและสองเกาหลีจะจับตามองทุกปีว่า มีนักการเมืองญี่ปุ่นไป (สักการะ? ขอพร?) ที่ศาลเจ้านี้หรือไม่ เอ...จะเรียกว่าศาลแผ่อิทธิฤทธิ์หรือบารมีดี? บางคนบอกว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่เป็นการเมือง สำหรับศาลแห่งนี้ คนที่รู้ก็เข้าใจว่าที่นี่ควรจะเป็นที่ “ระลึกถึง” ดวงวิญญาณ มากกว่าจะเป็นที่ขอพร ส่วนคนที่ไม่รู้ก็อาจจะก้มหน้าก้มตาขอ และถ้าบังเอิญทำอะไรสำเร็จอะไรขึ้นมาสักอย่าง ก็คงไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นเพราะฤทธิ์ของเทพเจ้าองค์ไหน เพราะมี 2 ล้านกว่าองค์ (คน?)
ไม้เขียนคำอธิษฐาน
คำถาม: งง อะไร 2 ล้านองค์? เมื่อกี้คำตอบไม่กระจ่าง ขอถามถึงที่มาของศาลนี้อีกทีละกัน เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ยังไง?

ศาลเจ้ายะซุกุนิสร้างเมื่อ พ.ศ.2412 เพื่ออุทิศให้แก่ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในการทำสงครามตั้งแต่ปี พ.ศ.2396 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นผ่านการสู้รบมาหลายครั้ง เช่น สงครามจีน-ญี่ปุ่น สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นต้น ฉะนั้น ดวงวิญญาณอันเป็นที่กราบไหว้อยู่ตรงนี้จึงมี 2 ล้านกว่าดวง ก่อนตายไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดหรือสถานะทางสังคมอย่างไร หลังตายเมื่อได้รับเชิญมาสถิตที่นี่ก็ถือว่าเป็นเทพเจ้าอันควรเคารพอย่างเท่าเทียมกัน เพราะสละชีพเพื่อปิตุภูมิ ผมถึงได้บอกว่าตอนเป็นคนแผลงฤทธิ์ได้เมื่อออกรบ แต่พอจบชีวิตแล้วมาเป็นเจ้า จะยังมีฤทธิ์หรือไม่ อันนี้ก็แล้วแค่ความเชื่อ
โรงแสดงละครโนของญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์ในบริเวณศาลเจ้า
คำถาม : อ้อ พอจะเข้าใจแล้ว เพราะแบบนี้ใช่ไหมศาลถึงดัง?

ไม่เชิง ดังเพราะนอกจากคนทั่วไปที่เสียชีวิตในการทำสงครามแล้ว ยังเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรระดับ A หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เอคีวเซ็มปัง” (A 級戦犯; ēkyūsenpan) ซึ่งมี 14 คน และดังยิ่งขึ้นเมื่อนักการเมืองญี่ปุ่นรวมทั้งนายกรัฐมนตรีหลายคนไปไหว้ศาลนี้ ทำให้จีนกับเกาหลีไม่พอใจและกลายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ช่วงนี้ก็ดังอีกเมื่อเกิดเหตุระเบิดในห้องน้ำเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน บางคนคาดว่าการก่อการร้ายลามถึงญี่ปุ่นหลังจากเหตุรุนแรงในปารีส แต่ลักษณะระเบิดเป็นแบบมือสมัครเล่น ตอนนี้ตำรวจจึงยังไม่ได้สรุป

คำถาม: บรรยายมาตั้งนาน เคยไปแล้วใช่ไหม?

เคยไปครับ ไปหลายครั้งแล้ว และเพิ่งไปมาอีกหลังจากเกิดระเบิด เพราะจะไปดูว่ามีสภาพวุ่นวายอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า ปรากฏว่าเป็นปกติมาก นักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติก็เดินเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ “ยาม” พอยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปที่หน้าวิหารเท่านั้นแหละ ลุงยามรีบตะโกนสั่งห้าม หลักๆ คือไปเที่ยว ไปเดินเล่น บรรยากาศดี แต่ไม่กล้าไหว้เจ้าที่ศาลนี้ เกรงอิทธิฤทธิ์ของท่านครับ
ปืนใหญ่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
คำถาม: ไปหลายครั้ง ได้เห็นที่ตั้งอัฐิพวกอาชญากรสงครามระดับ A หรือเปล่า?

อ้อ 14 คนนั้นน่ะหรือครับ ศาลเจ้านี้ไม่มีอัฐิหรอกครับ ไม่มีของใครอะไรทั้งนั้น เป็นแค่สัญลักษณ์ ทำนองว่าตายไปแล้วก็อัญเชิญดวงวิญญาณมาสถิต สำหรับเรื่องเถ้ากระดูก อเมริกาจัดการหลังจากประหาร ไปอยู่ไหนหมดแล้วก็ไม่มีใครรู้แน่ชัด สิ่งที่อยู่ในศาลเจ้าคือความเชื่อกับสัญลักษณ์ที่สมมุติกันขึ้นมาทั้งนั้น

คำถาม: ไหว้สัญลักษณ์แล้วทำไมจีนกับเกาหลีใต้ถึงได้โกรธ

การเมืองก็แบบนี้แหละครับ เรื่องสงคราม เรื่องการย่ำยีศักดิ์ศรี ถ้าใครไม่เคยประสบก็คงไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ จีนกับคาบสมุทรเกาหลีเคยถูกญี่ปุ่นรุกราน การที่คนระดับผู้นำของญี่ปุ่นไปไหว้คนที่เคย ‘สั่งฆ่า’ คงกระพือความรู้สึกเก่าๆ ขึ้นมา

คำถาม: มีข่าวความร้าวฉานระหว่างประเทศแบบนี้บ่อยๆ ถ้าอยากจะไปเที่ยวที่นี่ ไปได้ไหม

ไปได้ครับ เข้าฟรีด้วย ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกัน เสียค่าเข้า 800 เยน มีหัวรถไฟที่ญี่ปุ่นวางแผนจะใช้ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควของไทยไปพม่าตั้งแสดงอยู่ด้วย

คำถาม: ศาลเจ้านี้อยู่ที่ไหน

อยู่ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินคุดันชิตะ (九段下;Kudanshita) จากสถานีเดินเพียง 5 นาที

คำถาม: อ้อลืมถาม ไปๆ มาๆ กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ คือนักการเมืองญี่ปุ่นไปไหว้ศาลนี้บ่อย ทางด้านจีนกับเกาหลีไม่พอใจ ออกมาวิจารณ์ตลอด แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง
คำตอบ : ไม่กล้าตอบครับ

เครื่องบินจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
หัวรถไฟญี่ปุ่นข้ามแม่น้ำแควสู่พม่า
**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

สะดุดคำ “เสียงนั้น...วันญี่ปุ่นแพ้”
สะดุดคำ “เสียงนั้น...วันญี่ปุ่นแพ้”
สิงหาคม 2488 ท่ามกลางอากาศร้อนระอุในเดือนที่ร้อนที่สุดของญี่ปุ่น ...6 สิงหาคม ฮิโระชิมะถูกถล่มด้วย “ระเบิดชนิดใหม่” ...9 สิงหาคม นะงะซะกิถูกถล่มด้วยระเบิดชนิดเดียวกัน ตอนนั้นคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า “ระเบิดชนิดใหม่” คืออะไร รู้แต่ว่าอานุภาพร้ายแรง ฆ่าคนได้เกินแสนที่ฮิโระชิมะ และอีกเกือบแสนที่นะงะซะกิ ต่อมาจึงรู้ว่านั่นคือ “ระเบิดปรมาณู” ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ เที่ยงวันนั้น ท่ามกลางความระส่ำระสายที่สุดที่แผ่ทั่วญี่ปุ่น ...15 สิงหาคม เสียงที่คนแทบทั้งประเทศไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตออกอากาศผ่านวิทยุ
กำลังโหลดความคิดเห็น