ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก ที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
เสียงในวันนั้น
สิงหาคม 2488 ท่ามกลางอากาศร้อนระอุในเดือนที่ร้อนที่สุดของญี่ปุ่น
...6 สิงหาคม ฮิโระชิมะถูกถล่มด้วย “ระเบิดชนิดใหม่”
...9 สิงหาคม นะงะซะกิถูกถล่มด้วยระเบิดชนิดเดียวกัน
ตอนนั้นคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า “ระเบิดชนิดใหม่” คืออะไร รู้แต่ว่าอานุภาพร้ายแรง ฆ่าคนได้เกินแสนที่ฮิโระชิมะ และอีกเกือบแสนที่นะงะซะกิ ต่อมาจึงรู้ว่านั่นคือ “ระเบิดปรมาณู”
ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ เที่ยงวันนั้น ท่ามกลางความระส่ำระสายที่สุดที่แผ่ทั่วญี่ปุ่น
...15 สิงหาคม เสียงที่คนแทบทั้งประเทศไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตออกอากาศผ่านวิทยุ
ตอนนั้นคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่า “เสียงนั้น” จะกลายเป็นเสียงที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยลืม รู้แต่ว่าถ้อยคำในเสียงช่างฟังเข้าใจยาก ต่อมาจึงรู้ว่านั่นคือ “เสียงยืนยันว่าญี่ปุ่นแพ้สงคราม”
ประชาชนจำนวนมากนั่งลง ฟังอย่างสงบเสงี่ยม ทหารอีกมากยืนนิ่ง ฟังอย่างตั้งใจ
“ข้าพเจ้าได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงสภาพการณ์ของโลกและสภาวะปัจจุบันของจักรวรรดิแล้ว มีความประสงค์จะควบคุมความเป็นไปในขณะนี้ด้วยมาตรการอปกติ และขอแจ้ง ณ ที่นี้แก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นราษฎรที่สัตย์ซื่อและจงรักภักดี
ข้าพเจ้าได้มีบัญชาให้รัฐบาลจักรวรรดิแจ้งแก่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน สหภาพโซเวียต สี่ประเทศ ว่ายอมรับคำประกาศร่วมนั้น
แต่เดิมมา การพิทักษ์ไว้ซึ่งความผาสุกและสวัสดิภาพของราษฎรแห่งจักรวรรดิ และการร่วมรับปีติแห่งความเจริญรุ่งเรืองพร้อมกับนานาประเทศ คือปทัสถานที่สืบทอดมาตั้งแต่บูรพจักรพรรดิ นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้ายึดมั่นเสมอ มูลเหตุการประกาศสงครามต่อสองประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก่อนก็เช่นกัน อันที่จริงนั่นคือสิ่งที่บังเกิดจากความปรารถนาแรงกล้าเพื่อการยืนหยัดด้วยอิสรภาพแห่งจักรวรรดิและเพื่อเสถียรภาพแห่งเอเชียบูรพา หาได้เป็นความมุ่งมาดโดยพื้นฐานของข้าพเจ้าในอันที่จะปฏิเสธอธิปไตยของประเทศอื่นหรือรุกรานอาณาเขตไม่ ทว่าสงครามล่วงมาสี่ปีแล้ว แม้การสู้รบอันห้าวหาญโดยทหารของข้าพเจ้าทั้งทางบกและทางทะเล ความพยายามทุ่มเทโดยเหล่าเจ้าหน้าที่ของข้าพเจ้า การอุทิศตนเพื่อส่วนรวมโดยประชาชนทั้งร้อยล้านของข้าพเจ้า ต่างดำเนินไปอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์การสู้รบก็มิได้ผันสู่ทางดีเสมอไป และสภาพการณ์ของโลกก็มิได้นำมาซึ่งประโยชน์อันใดแก่พวกเรา ซ้ำข้าศึกยังใช้ระเบิดชนิดใหม่อันทารุณ ประทุษร้ายสังหารผู้บริสุทธิ์ซ้ำๆ ด้วย หายนะอันโหดร้ายจะอุบัติถึงเพียงใดก็สุดจะหยั่งได้ แม้กระนั้น หากดำเนินการสู้รบต่อไปยิ่งกว่านี้ ย่อมรังแต่จะนำมาซึ่งการอวสานแห่งชาติพันธุ์ของพวกเรา ทั้งยังจะทำลายอารยธรรมของมนุษยชาติอีกโสดหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องราษฎรมากมาย จะขอขมาต่อดวงวิญญาณบูรพจักรพรรดิอย่างไร ด้วยเหตุดังนี้ ข้าพเจ้าจึงมีบัญชาให้รัฐบาลจักรวรรดิของข้าพเจ้าสนองตอบคำประกาศร่วม
ข้าพเจ้าย่อมทำได้เพียงแสดงความเสียใจต่อนานามิตรประเทศที่ร่วมมือกับจักรวรรดิในการปลดปล่อยเอเชียบูรพาทั้งปวง เมื่อรำลึกถึงประชาชนแห่งจักรวรรดิที่ตายในแนวรบ ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อหน้าที่ ผู้ดับสูญด้วยหายนภัยอันไม่สมควรแก่เวลา ตลอดจนผู้ที่เสียบุคคลเหล่านั้นไป ความปวดร้าวที่เชือดเฉือนทั่วองคาพยพก็อุบัติขึ้น และสวัสดิภาพของผู้บาดเจ็บในสนามรบและผู้ประสบความวิบัติสูญเสียทรัพย์สินการงาน คือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าปวดร้าวจิตใจอย่างลึกซึ้ง
เมื่อพิจารณาแล้ว ความยากลำบากที่จักรวรรดิพึงได้รับจากนี้ต่อไปคงมิใช่ธรรมดาเป็นแน่ จิตใจจริงแท้ของท่านทั้งหลายเหล่าราษฎรก็เช่นกัน ข้าพเจ้ารู้ซึ้งเรื่องนี้ดี ทว่าด้วยกระแสลิขิตแห่งเวลา ข้าพเจ้าปรารถนาจะเปิดทางสู่สันติภาพชั่วกาล โดยทนต่อสิ่งที่ทนได้ยาก แบกรับสิ่งที่แบกรับได้ยาก
เมื่อข้าพเจ้ารักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติ ณ ที่นี้ โดยเชื่อในความจริงใจของท่านทั้งหลายเหล่าราษฎรผู้สัตย์ซื่อและจงรักภักดี ข้าพเจ้าย่อมอยู่กับท่านทั้งหลายเหล่าราษฎรตลอดไป อารมณ์พลุ่งพล่านที่นำไปสู่เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ หรือการกระทบกระทั่งระหว่างกันในหมู่พวกพ้องที่ทำให้สถานการณ์วุ่นวาย จนชักนำให้ผิดไปจากครรลองและสูญเสียความไว้วางใจจากโลก คือสิ่งที่ข้าพเจ้าระมัดระวังที่สุด ขอให้ทั้งประเทศดำเนินสืบไปสู่อนุชนในฐานะบ้านเดียวกัน เชื่อมั่นอย่างหนักแน่นในนิรันดรภาพแห่งเทวประเทศ ตระหนักในความรับผิดชอบอันหนักหน่วงและความยาวไกลของเส้นทาง ผสานกำลังทั้งมวลทุ่มเทเพื่อสร้างอนาคต ยึดมั่นหนทางที่ถูกที่ควร ครองตนหนักแน่นต่อหลักการ มุ่งมั่นเชิดชูความรุ่งโรจน์แห่งความเป็นชาติ จงมุ่งหมายก้าวต่อไปโดยมิให้ล้าหลังกระแสโลก ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่าราษฎร เข้าใจความปรารถนาของข้าพเจ้าและดำเนินการเช่นนั้น” [1]
สี่นาทีเกือบห้าผ่านไป...สิ้นพระสุรเสียงองค์จักรพรรดิ
สี่ปีกว่าผ่านไป...สิ้นสงครามแปซิฟิก
ญี่ปุ่นแพ้... 15 สิงหาคมคือวันสิ้นสุดสงคราม
เสียงดั่งแก้ว
ญี่ปุ่นถือว่าวันที่ 15 สิงหาคม คือ “วันสิ้นสุดสงคราม” และเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ชูเซ็น โนะ ฮิ” ” (終戦の日;shūsen no hi) บางครั้งคนทั่วไปเรียกว่า “วันรำลึกการสิ้นสุดสงคราม” หรือ “ชูเซ็ง คิเน็มบิ” (終戦記念日;shūsen kinenbi) การสิ้นสุดสงคราม หมายถึง การยุติลงของสงครามแปซิฟิกซึ่งสู้รบกันในเอเชียและแปซิฟิก ดังนั้น วันสิ้นสุดสงคราม (โลกครั้งที่ 2) ในประเทศอื่นอาจแตกต่างไปจากของญี่ปุ่น เพราะแต่ละสมรภูมิยุติไม่พร้อมกัน
วันนี้เมื่อ 70 ปีที่แล้ว มี “การออกอากาศพระสุรเสียง” หรือ “เกียวกุองโฮโซ” (玉音放送;gyokuon hŌsŌ) ซึ่งหมายถึงการออกอากาศพระสุรเสียงของพระจักรพรรดิโชวะทางวิทยุเพื่อประกาศว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และถือได้ว่าเป็นพระบรมราชโองการให้ยุติสงคราม ข้อความที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ “ทนต่อสิ่งที่ทนได้ยาก แบกรับสิ่งที่แบกรับได้ยาก”
คำว่า “เกียวกุอง” หรือ “เกียวกุอิง” (ใช้อักษรตัวเดียวกันคือ玉音) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “เสียงดั่งแก้ว” หรือหมายถึง “เสียงของพระจักรพรรดิ” นั่นเอง คำไทยที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ “พระสุรเสียง” ส่วน “โฮโซ” (放送) แปลว่า “การออกอากาศ”.
สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในเนื้อความซึ่งยาวประมาณ 4 นาที 40 วินาที ไม่มีคำว่า “แพ้” หรือ “ยอมแพ้” ออกมาชัดเจน ส่วนที่ชี้ว่าญี่ปุ่นยอมแพ้คือ “ยอมรับคำประกาศร่วม” ซึ่งหมายถึงการยอมรับ “คำประกาศพอทสดัม” ตามการประชุมที่จัดในเมืองพอทสดัมของเยอรมนี โดยมีข้อกำหนดสำคัญระบุว่า “เราเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งญี่ปุ่นประกาศการยอมแพ้ของกองกำลังญี่ปุ่นทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขในบัดนี้” ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าประชาชนญี่ปุ่นที่ไม่รู้ว่า “คำประกาศร่วม” หมายถึงอะไรนั้นมีอยู่ไม่น้อย และอาจจะต้องใช้เวลาประมวลข้อมูลกันสักพักกว่าจะเข้าใจว่าญี่ปุ่นแพ้แล้ว
เสียงของพระจักรพรรดิโชวะบันทึกลงแผ่นเสียงในวันที่ 14 สิงหาคม และกลางดึกคืนนั้นมีทหารพยายามจะขโมยแผ่นเสียงเพื่อขัดขวางไม่ให้ออกอากาศ แต่ไม่สำเร็จ วันรุ่งขึ้นจึงได้ออกอากาศ ในปีนี้ซึ่งครบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งมีการนำแผ่นต้นฉบับจริงที่บันทึกเสียงของพระองค์มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้ชม เสียงที่แพร่หลายทางอินเทอร์เน็ตก่อนหน้านี้คือเสียงที่ได้จากการทำข้อมูลซ้ำ เสียงในแผ่นต้นฉบับฟังชัดกว่าและผ่านการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลได้สำเร็จ
คำแถลงในวันนี้
หากมองประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ย่อมไม่อาจละเว้นการเอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทุกปีเมื่อเดือนสิงหาคมเวียนมาถึง สื่อมวลชนญี่ปุ่นจะรำลึกประวัติศาสตร์โดยเน้นไปที่ความเสียหายจากสงครามมากกว่าที่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าญี่ปุ่นรุกรานประเทศอื่นอย่างไร แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ จากญี่ปุ่นระหว่างสงคราม เช่น จีน และสองเกาหลี จะจับตามองรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดว่ามีทัศนคติอย่างไรต่ออดีตที่เคยทำไว้ และเมื่อถึงวันสิ้นสุดสงคราม ประเทศเหล่านี้จะรอดูว่าผู้นำญี่ปุ่นพูดอะไรหรือทำอะไร จากนั้นจะมีปฏิกิริยากลับมาทันที อาจจะหนักน้อยหรือหนักมาก แต่ไม่เคยไม่มี
หลังจาก “เกียวกุองโฮโซ” ผ่านมาหลายสิบปี บัดนี้สิ่งที่ประเทศผู้เคยถูกรุกรานเงี่ยหูฟังไม่ใช่เสียงของพระจักรพรรดิ แต่เป็นเสียงของนายกรัฐมนตรี
ช่วงเย็นวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะของญี่ปุ่น แถลงในวาระ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมเวลา 20 นาทีเศษ เนื้อความที่ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวนั้นแสดงการยอมรับว่าญี่ปุ่นเคยเดินทางผิดในเรื่องสงคราม และมุ่งมั่นดำรงตนเป็นประเทศใฝ่สันติมาโดยตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ
“จะก่อความเสียหายร้ายแรงด้วยสงครามอีกไม่ได้โดยเด็ดขาด” ผู้นำญี่ปุ่นว่าไว้อย่างนั้น และคำสำคัญในการแถลงคือ สำนึกลึกซึ้ง และ คำขอโทษจากใจ ดังที่กล่าวต่อไปว่า “ประเทศของเราแสดงความรู้สึกสำนึกลึกซึ้งและคำขอโทษจากใจออกมาหลายครั้งอย่างชัดเจนสำหรับการกระทำระหว่างสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น และเพื่อแสดงความรู้สึกเช่นนั้นด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรม จึงได้นำประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ยากที่ผู้คนเอเชียในฐานะเพื่อนบ้านเผชิญมานั้นประทับลงในใจของเรา ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และที่อื่นๆ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน และได้พยายามทุ่มเทเพื่อสันติภาพตลอดจนความรุ่งเรืองของภูมิภาคนั้นๆ เรื่อยมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงคราม” แต่...
“ปัญหาสำคัญอย่างนี้ จะมาแสดงท่าทีคลุมเครือไม่ได้” นั่นคือหนึ่งในเสียงวิจารณ์จากทางการจีนที่เรียกร้องให้ขอโทษออกมาตรง ๆ และ...
“แค่บอกว่าขอโทษเรื่อยมา แต่นี่แหละ อะเบะผู้ฉลาดที่ไม่ยอมขอโทษอย่างตรงไปตรงมา” หนังสือพิมพ์โชซุนอิลโบของเกาหลีใต้ฉบับออนไลน์ว่าไว้อย่างนั้น
วาทกรรมมีบทบาทสำคัญในการเมืองและการทูตระหว่างประเทศ ทุกประเทศตระหนักดี สำหรับประเทศที่มีประวัติศาสตร์บาดลึกระหว่างกันมานาน ไม่ว่าจะพูดอะไร ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ฝ่ายเสียหายพอใจจนถึงที่สุด แต่เมื่อมองอย่างเป็นกลาง คำพูดของนายอะเบะก็เป็นการขอโทษโดยนัย เพียงแต่คนฟังต้องการอะไรที่มันตรงกว่านั้น และไม่เคยหยุดเรียกร้อง
สงครามอาวุธจบนานแล้ว แต่สงครามการเมืองระหว่างประเทศคงจะไม่จบในเร็ววัน ความพอดีกับความพอใจไม่ได้ไปด้วยกันเสมอ ฉะนั้นเอาแค่พอรับได้จะดีกว่าไหม
หมายเหตุ :
[1] แปลเป็นภาษาไทยคำต่อคำดังข้างต้น ขณะที่อ่าน อาจต้องแปลไทยเป็นไทยซ้ำหรือตีความเพื่อให้เข้าใจกระจ่างขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก คนญี่ปุ่นเจ้าของภาษาก็ต้องแปลญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะต้นฉบับใช้ภาษายาก คำที่ใช้และโครงสร้างภาษาต่างจากในปัจจุบัน ผมแปลโดยตรงจากต้นฉบับภาษาเก่า และต้องยอมรับว่า อาจจะด้วยความ ‘ไม่สามารถ’ หรือปัจจัยอื่นใดก็ตาม เฉพาะส่วนนี้ใช้เวลาแปล 7 ชั่วโมงโดยพยายามคงไว้ซึ่งโครงสร้างเดิมมากที่สุดในระดับที่ยังอ่านเข้าใจเป็นภาษาไทยได้ ด้วยเล็งเห็นว่าอาจมีผู้ต้องการนำไปอ้างอิงในการศึกษาวิจัยต่อไป
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th