xs
xsm
sm
md
lg

สิงหาคม 1945: จักรพรรดิฮิโรฮิโตของญี่ปุ่นทรง ‘ยินยอมอ่อนข้อ’ แต่ไม่ได้ ‘ยอมแพ้’

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

August 1945: Japan’s Hirohito conceded, he did not surrender
By George Koo
04/07/2015

สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นเพิ่งเผยแพร่พระสุรเสียงในพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ซึ่งทรงบันทึกไว้สำหรับการเผยแพร่กระจายก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้ อันเป็นการยุติปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปด้วย ตามความเข้าใจของผู้เขียนนั้น ภาษาญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีลักษณะโดดเด่นในเรื่องการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบอ้อมค้อม อีกทั้งอุดมด้วยถ้อยคำที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ ครั้นเมื่อนำเอาพระราชดำรัสพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตดังกล่าวมาวิเคราะห์แยกแยะ ก็สามารถมองเห็นได้ว่า “การบอกกล่าวสิ่งต่างๆ ไปตามที่มันเป็นไป” นั้น ไม่ใช่วิธีการแสดงออกแบบญี่ปุ่นเลยจริงๆ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ดีวีดีชุดหนึ่งที่บรรจุพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ซึ่งทรงบันทึกไว้สำหรับการเผยแพร่กระจายเสียงไปทั่วประเทศ ในช่วงสุกดิบก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้ อันเป็นการยุติปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปด้วย พระสุรเสียงในดีวีดีชุดนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ได้ผ่านการทำแผ่นมาสเตอร์กันใหม่และอยู่ในระบบดิจิตอลแล้ว โดยที่พระราชดำรัสดังกล่าวถูกนำออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกันจริงๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 และถูกถือเป็นหลักหมายแห่งการสิ้นสุดของสงครามคราวนั้นอย่างเป็นทางการ

ในขณะที่ข่าวการนำเอาพระราชดำรัสของพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตซึ่งผ่านการปรับปรุงคุณภาพของเสียงให้ดีขึ้นแล้วนี้ออกมาเผยแพร่ ได้รับการรายงานประโคมกันไปอย่างกว้างขวาง แต่ผมยังค้นไม่เจอเลยว่ามีการให้เหตุผลคำอธิบายอย่างเป็นทางการกันอย่างไรสำหรับการนำเอาเวอร์ชั่นพระสุรเสียงนี้ออกมาเผยแพร่กันในตอนนี้ หากจะทึกทักสันนิษฐานเอาเอง ก็อาจจะมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการเข้ามีส่วนร่วมของญี่ปุ่น ใน “การเฉลิมฉลอง” หรือใน “การรำลึก” หรือใน “การสดุดี” วาระครบรอบ 70 ปีแห่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้จะเรียกขานกันอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับทัศนะมุมมองส่วนตัวของแต่ละบุคคล

ในเวลานี้ หลังจากที่ผมได้อ่านข้อความเนื้อหาของพระราชดำรัสพระจักรพรรดินี้แล้ว ผมรู้สึกว่าตัวผมเองมีความเข้าใจดียิ่งขึ้นถึงเหตุผลที่ทำไมภาพลักษณ์ซึ่งญี่ปุ่นมองตัวเองในยุคหลังสงคราม จึงสามารถผิดแผกแตกต่างห่างไกลได้มากเหลือเกินกับภาพที่คนอื่นๆ มองญี่ปุ่น ถ้าหากผมเติบโตขึ้นมาในญี่ปุ่นและได้ยินได้ฟังพระราชดำรัสพระจักรพรรดิดังกล่าว ผมย่อมสามารถที่จะสรุปได้อย่างง่ายดายว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นเหยื่อรายหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีเนื้อความใดๆ ในพระราชดำรัสของพระองค์ที่บ่งบอกให้เห็นว่า ญี่ปุ่นในเวลานั้นคือผู้รุกราน และกระทำความผิดด้วยการปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดสงครามความขัดแย้งอันสร้างความวิบัติหายนะคราวนั้นขึ้นมา

ภาษาญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีลักษณะโดดเด่นในเรื่องการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบอ้อมค้อม และอุดมด้วยถ้อยคำที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ ผมจำได้ว่าผมได้อ่านหนังสือด้านธุรกิจที่เคยได้รับความนิยมมากเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนออกมาเพื่อให้การศึกษาแก่บรรดา “ไกจิน” (ชาวต่างชาติ) เกี่ยวกับความกำกวมคลุมเครือในเวลาทำการติดต่อสื่อสารกับชาวญี่ปุ่น หนังสือเล่มนั้นดูเหมือนจะใช้ชื่อเรื่องทำนองว่า “ชาวญี่ปุ่นมีวิธีถึง 16 วิธีในการพูดว่า ‘ไม่’” –โดยที่ไม่มีวิธีไหนเลยซึ่งเป็นการบอกว่า “ไม่” อย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา ในการคบหามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ชาวญี่ปุ่นของผม ผมก็พบว่าพวกเขามีวิธีมากมายในการแสดงออกซึ่งการขอโทษและการแสดงความเสียใจ ทว่าไม่เคยเลยที่จะเป็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไร้รอยตะเข็บ

จริงๆ แล้ว ด้วยการวิเคราะห์แยกแยะพระราชดำรัสพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต เราก็จะสามารถมองเห็นได้ว่า “การบอกกล่าวสิ่งต่างๆ ไปตามที่มันเป็นไป” นั้น ไม่ใช่วิธีการแสดงออกแบบญี่ปุ่นเลย

แรกที่สุด พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตตรัสว่า: “เราได้ตัดสินใจแล้วที่จะส่งผลให้เกิดการตกลงกันสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการหันไปใช้มาตรการพิเศษผิดธรรมดา” (ภาษาอังกฤษที่ผู้เขียน จอร์จ คู ยกมาอ้างอิง คือ “We have decided to effect a settlement of the present situation by resorting to an extraordinary measure.”) “ สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการที่จะสื่อก็คือ “เราต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข”

ถัดมา พระองค์ตรัสว่า “เราได้ออกคำสั่งให้รัฐบาลของเราติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลของสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, จีน, และสหภาพโซเวียต ว่า จักรวรรดิของเรายอมรับข้อกำหนดต่างๆ ในปฏิญญาร่วมของพวกเขา” ( “We have ordered Our Government to communicate to the Governments of the United States, Great Britain, China and the Soviet Union that Our Empire accepts the provisions of their Joint Declaration.” )

เหล่ามหาอำนาจตะวันตกตีความถ้อยคำตรงนี้ว่า หมายถึงพระจักรพรรดิทรงยอมรับข้อกำหนดต่างๆ ว่าด้วยการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ดังที่ได้ระบุสรุปเอาไว้ใน “ปฏิญญาปอตสดัม” (Potsdam Declaration) แต่จะมีใครสักคนกล้าคาดหวังไหมว่า ประชาชนสามัญธรรมดาในญี่ปุ่นจะสามารถผูกโยงจนเกิดความเข้าใจอย่างเดียวกันนี้จากพระราชดำรัสของพระองค์ โดยที่ในพระราชดำรัสนี้ คำว่า “ยอมจำนน” และคำว่า “ปอสดัม” ต่างขาดหายไปอย่างน่าสังเกต แล้วก็ต้องขอขอบคุณวิธีการที่ตำราเรียนต่างๆในยุคหลังสงครามถูกเขียนขึ้นมา ประชาชนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นในปัจจุบันยังคงไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยว่า "ปฏิญญา“ปอตสดัม" คืออะไร

จากนั้น พระจักรพรรดิตรัสว่า “มันกำลังห่างไกลออกไปจากความคิดของเรา ไม่ว่าเรื่องการล่วงละเมิดอธิปไตยของชาติอื่นๆ หรือการดำเนินการแผ่อำนาจขยายอาณาเขตออกไป” (“It being far from our thought either to infringe upon sovereignty of other nations or to embark upon territorial aggrandizement.” ) เห็นได้ชัดเจนว่าพระราชดำรัสตอนนี้ พระองค์คงมิได้ทรงกำลังปรารภถึงการที่ญี่ปุ่นรุกรานและเข้ายึดครองแมนจูเรียตั้งแต่เมื่อราวๆ ปี 1931 และแน่นอนทีเดียวว่า มิได้ทรงหมายถึงการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีตั้งแต่ช่วงหลังของศตวรรษที่ 19

พระองค์ตรัสอีกว่า “สถานการณ์สงครามได้พัฒนาไปในทางที่ไม่จำเป็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่น” ( “The war situation has developed not necessarily to Japan’s advantage.” ) เมื่อพิจารณาถึงสภาวการณ์อันยากลำบากที่พระองค์กำลังทรงเผชิญอยู่แล้ว แน่นอนทีเดียวว่าพระราชดำรัสตอนนี้เป็นการมุ่งลดน้ำหนักความหนักหนาของสถานการณ์ให้น้อยกว่าความเป็นจริง

ขณะใกล้มาถึงช่วงท้ายของพระราชดำรัส พระจักรพรรดิตรัสว่า “เราไม่สามารถกระทำอะไรอื่น นอกจากขอแสดงความรู้สึกเสียใจอย่างลึกซึ้งที่สุดต่อบรรดาชาติพันธมิตรแห่งเอเชียตะวันออกของเรา ผู้ซึ่งได้ร่วมมือกับจักรวรรดิของเราเสมอมาในการมุ่งสู่การปลดปล่อยเอเชียตะวันออกให้เป็นอิสระ” (“We cannot but express the deepest sense of regret to Our Allied nations of East Asia, who have consistently cooperated with the Empire towards the emancipation of East Asia.” ) ญี่ปุ่นนั้นได้ประกาศภาพมายาเรื่องการสร้าง “วงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเหตุผลความชอบธรรมของตัวเอง สำหรับการเข้ารุกรานและยึดครองประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก และพระราชดำรัสตอนนี้ย่อมไม่ต่างอะไรกับการเคลือบแคปซูลภาพมายาดังกล่าวเอาไว้อย่างเรียบร้อยแนบเนียน

การข่มขืนและการปล้นสะดมในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าไปในแต่ละประเทศนั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศเหล่านั้นเอง เพื่อปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนแห่งการปกครองควบคุมของคนขาว พวกนักการเมืองในญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็ยังคงสืบต่อถ่ายทอดแนวความคิดนี้กันมาอย่างไม่ให้มันหายสูญ --แนวความคิดที่ว่าญี่ปุ่นเข้าทำการรุกรานประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็เพื่อประโยชน์ของประเทศเหล่านั้นเอง และการที่ทหารญี่ปุ่นปล้นชิงฉกฉวยทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชนท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น ก็เพื่อเป็นการแบ่งปันความมั่งคั่งร่ำรวยกับพวกเขา

สื่อมวลชนทั้งหลายต่างรู้สึกยกย่องชื่นชม (แบบไม่ทันได้ขบคิดอะไรมาก) ต่อถ้อยคำในช่วงท้ายของพระราชดำรัสของพระจักรพรรดิ ที่ว่า “... เพื่อแผ้วถางทางสำหรับสันติภาพอันยิ่งใหญ่สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปทั้งหลาย ด้วยการอดทนเข้าแบกรับสิ่งที่ไม่อาจทนแบกรับได้ และด้วยการยอมเจ็บปวดทรมานในสิ่งที่ไม่อาจทนเจ็บปวดทรมานได้” ( “… to pave the way for a grand peace for all the generations to come by enduring the unendurable and suffering what is insufferable.” ) ท่วงทำนองบทกวีว่าด้วยการอดทนแบกรับและการยอมเจ็บปวดทรมานเช่นนี้ ทำให้สื่อทั้งหลายรู้สึกสะเทือนเข้าไปถึงส่วนลึกของจิตใจ และมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงถูกนำมาพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งในหนังสารคดีและในภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวว่าด้วยสงครามคราวนั้น

น่าเสียดาย บริบทของการอ้างอิงเช่นนี้กลายเป็นการมุ่งวาดภาพให้เห็นถึงประชาชนชาวญี่ปุ่นผู้อาภัพอับโชค ซึ่งกำลังต้องอดทนแบกรับและเจ็บปวดทรมานกับบาดแผลทางจิตใจของชาติผู้พ่ายแพ้ในยุคหลังสงคราม –พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเครื่องเตือนใจอีกประการหนึ่งว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นเหยื่อรายหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนทีเดียว พระจักรพรรดิมิได้กำลังทรงอ้างอิงถึงประชาชนชาวจีนผู้ซึ่งกำลังอดทนแบกรับและเจ็บปวดทรมานกับช่วงระยะเวลา 8 ปีแห่งการยึดครองอย่างทารุณเหี้ยมโหดของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิ ก่อนที่สงครามคราวนั้นจะยุติลง

มันเป็นธรรมเนียมที่ผู้ชนะ จะต้องได้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่ญี่ปุ่นกำลังพิสูจน์ว่าตนเองเป็นข้อยกเว้นของกฎเกณฑ์นี้ ไม่ว่าจะด้วยทรงตั้งพระทัย หรือเป็นเพียงการที่ทรงรับสืบทอดวัฒนธรรมซึ่งพระองค์ทรงเจริญเติบใหญ่ ทำให้ความกำกวมคลุมเครือในพระราชดำรัสยินยอมอ่อนข้อของพระจักรพรรดิ (แน่นอนทีเดียวว่า ไม่ใช่การประกาศยอมจำนนอย่างที่มีผลถูกต้องทางกฎหมาย) เปิดทางให้ญี่ปุ่นเริ่มต้นแก้ไขประวัติศาสตร์ได้

การปฏิเสธไม่ยอมรับความทารุณเหี้ยมโหดทั้งหลายทั้งปวงที่ได้เคยกระทำเอาไว้ในอดีต ก็ด้วยความต้องการที่จะปลดเปลื้องปัจจุบันให้หลุดพ้นจากการกระทำผิดร่วมใดๆ ก็ตามทีที่ได้เคยก่อไว้ ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้ ความเป็นจริงกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ประชาชนชาวเอเชียจะยังคงสืบต่อย้ำเตือนญี่ปุ่นเรื่อยไป จนกว่าจะมีเพียงเวอร์ชั่นเดียวเท่านั้นสำหรับประวัติศาสตร์อันเป็นโศกนาฏกรรมของสงครามโลกครั้งที่ 2

ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
กำลังโหลดความคิดเห็น