xs
xsm
sm
md
lg

บ.ดังญี่ปุ่นจ่อขอโทษอีกรอบ เตรียมขออภัย-จ่ายเงินชดเชยชาวจีนเหยื่อสงครามโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยูกิโอะ โอกาโมโตะ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (ซ้าย), ฮิคารุ คิมุระ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของ มิตซูบิชิ แมทีเรียลส์ (กลาง) จับมือทักทาย เจมส์ เมอร์ฟี อดีตทหารอเมริกันวัย 94 ปีที่เคยถูกเกณฑ์ไปทำงานในเหมืองทองแดงของมิตซูบิชิในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างการแถลงข่าวขอโทษกรณีที่บริษัทเคยนำทหารอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยมาใช้แรงงานเยี่ยงทาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม
รอยเตอร์/เอเอฟพี - ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้าง มิตซูบิชิ แมทีเรียลส์ คอร์ป มีแผนกล่าวคำขอโทษและจ่ายเงินชดเชยแก่ประชาชนชาวจีน ต่อกรณีที่บริษัทเคยบังคับใช้แรงงานทาสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากรายงานของสำนักข่าวเกียวโดนิวส์ สื่อของญี่ปุ่น

เกียวโดนิวส์รายงานว่า บริษัทแห่งนี้มีแผนเสนอมอบเงินชดเชยรวมราว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวน 16,000 ดอลลาร์ต่อคน แก่เหยื่อถูกบังคับแรงงานทาส 3,765 คน นับเป็นจำนวนคนมากที่สุดเท่าที่บริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งญี่ปุ่น เคยมีการจ่ายเงินชดเชยแก่การกระทำของพวกเขาในสมัยสงครามโลก

รายงานข่าวของเกียวโดนิวส์ อ้างแหล่งที่มีส่วนรับรู้โดยตรงกับเรื่องนี้ระบุนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจขอโทษและจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อสงครามชาวจีน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มิตซูบิชิ แมทีเรียลส์ แห่งนี้ ก็เพิ่งกล่าวคำขอโทษที่บริษัทเคยนำทหารอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยมาใช้แรงงานเยี่ยงทาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมแสดงความสำนึกผิดต่อ “เหตุการณ์อันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในอดีต”

ญี่ปุ่นรุกรานจีนในปี 1937 และปกครองดินแดนบางส่วนด้วยน้ำมือที่โหดร้ายทารุณเป็นเวลานาน 8 ปี โดยนักประวัติศาสตร์แดนมังกรบอกว่ามีผู้ชายเกือบ 40,000 คน ถูกพาไปยังญี่ปุ่น บังคับทำงานตามเหมืองและสถานก่อสร้างต่างๆ ด้วยผู้รอดชีวิตเล่าว่าสภาพความเป็นอยู่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งและมีจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้กลับสู่แผ่นดินเกิด

นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 เหล่าผู้รอดชีวิตชาวจีนได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทต่างๆเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการกระทำผิดระหว่างสงคราม อย่างไรก็ตามศาลฎีกาของญี่ปุ่นพิพากษาในปี 2007 ไม่อนุมัติจ่ายเงินชดเชยแก่บุคคลเหล่านั้น โดยบอกว่าสิทธิในการกล่าวอ้างของพวกเขานั้นสิ้นสุดไป นับตั้งแต่มีแถลงการณ์ร่วมจีน-ญี่ปุ่น ปี 1972 ที่คืนความสัมพันธ์อันปกติระหว่างประเทศทั้งสอง

อนึ่ง โตเกียวยืนกรานมาตลอดว่าประเด็นเกี่ยวกับค่าปฏิกรรมสงคราม มีการชดใช้ไปแล้วภายใต้สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก 1951 ซึ่งยุติสงครามอย่างเป็นทางการ และสนธิสัญญาทวิภาคีต่างๆ หลังจากนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น