ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
พวกเดียวกันทางสายเลือด
คนต่างชาติจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เข้าใจยาก ไม่รู้จะคบยังไงให้สนิท
ผมเห็นด้วยว่าคนญี่ปุ่นมีลักษณะหลายอย่างที่เข้าใจยากสำหรับคนต่างวัฒนธรรม แต่ตัวเองคงเลยจุดนั้นไปแล้ว ไม่ใช่เพราะเก่ง แต่คงเพราะอยู่ญี่ปุ่นนาน หรือเพราะจับจุดอะไรบางอย่างได้ หรือไม่ก็คงเพราะ ‘เลิกพยายามทำความเข้าใจ แต่ทำใจยอมรับ’ เสียมากกว่า จุดที่ผมบอกว่าจับได้และหาวิธีการคลี่คลายต่อมานั้นจะเรียกว่าง่ายก็ง่าย หรือจะมองว่ายากก็ใช่ และในที่นี้จะนำบางแง่มุมมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยที่มีโอกาสใกล้ชิดหรือร่วมงานกับคนญี่ปุ่น
ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นคือ ตั้งแต่โบราณกาล มีการผสมผสานทางเชื้อชาติน้อย หรือถ้ามองแบบสุดโต่งคือเป็นสังคมที่ปิดสำหรับคนต่างชาติ คนญี่ปุ่นอยู่บนเกาะที่ไม่มีพรมแดนติดกับต่างประเทศ มีคนต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มาก และเคยปิดประเทศสองร้อยกว่าปีในสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 – 2411) ในทางมานุษยวิทยา ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันสูง ผู้คนยึดมั่นการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมกลุ่ม
สายเลือดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในวัฒนธรรมกลุ่ม คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนที่เลือดเหมือนกันจะมีอะไรๆ คล้ายกันและเป็นพวกเดียวกัน ถ้ามองเชิงประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นยึดถือสายเลือดเชิงชนชั้นด้วย เช่น สายเลือดจักรพรรดิ พ่อค้า ชาวนา ช่าง ซามุไร หรือแม้แต่สายเลือดผู้ดี สิ่งเหล่านี้เชื่อกันมาช้านาน พอวิทยาการก้าวหน้าและโลกเปลี่ยนแปลง แม้แนวคิดแบบนั้นจางหายไป แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น กลายเป็นความเชื่อเรื่องกลุ่มเลือดเชิงการแพทย์
คนญี่ปุ่นปัจจุบันเชื่อเรื่องคุณลักษณะตามกรุ๊ปเลือด ผมเคยถูกคนญี่ปุ่นถามหลายครั้งตั้งแต่มาญี่ปุ่นในช่วงแรกๆ ว่า “เลือดกรุ๊ปอะไร?”
อยู่เมืองไทย ถ้าไม่นับตอนทำบัตรประชาชน แทบไม่เคยมีคนถาม แม้แต่ครอบครัวตัวเองก็อาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าผมเลือดกรุ๊ปอะไร ในเมืองไทยเมื่อสมัยก่อน การตรวจกรุ๊ปเลือดก็ไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน พอไปอยู่ญี่ปุ่น เจอคำถามเรื่องนี้บ่อยมาก บ่อยมากๆ จนตกใจ จึงต้องเชื่ออีกครั้งหลังจากเลิกเชื่อไปแล้วว่าแนวคิดเรื่องสายเลือดยังคงมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่น
“ผมเลือดกรุ๊ป B” ยังดีที่ตอบได้ ไม่งั้นคนญี่ปุ่นคงรู้สึกผิดหวังระคนแปลกใจว่าทำไมคนไทยไม่รู้กรุ๊ปเลือดตัวเอง
“เหมือนกันเลย เหมือนกันเลย” ปฏิกิริยาตอบรับที่มีคำว่า ‘เหมือน’ นั้นส่อความเป็นมิตรอย่างที่สุด
คนญี่ปุ่นที่ถามผมเรื่องกรุ๊ปเลือดคนแรกคือครอบครัวอุปถัมภ์ ด้วยความบังเอิญที่สมาชิกทั้งสี่มีเลือดกรุ๊ป B พอมีผมซึ่งเป็นคนที่ห้าแปลกหน้าเข้าไปแล้วบอกว่าตัวเองก็ B เหมือนกัน คนทั้งบ้านจึงรู้สึกว่ามีคน ‘แบบเดียวกัน’ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชีวิต แต่ผมไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งกับเรื่องนี้ นอกจากรู้สึกว่าหน้าตาไม่น่าจะเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือด มิฉะนั้นโลกนี้คงมีหน้าแค่สี่ห้าแบบ
ญี่ปุ่นมีคนเลือดกรุ๊ป A มากที่สุดคือร้อยละ 39, รองลงมาคือ กรุ๊ป O ร้อยละ 30, กรุ๊ป B ร้อยละ 21, และกรุ๊ป AB ร้อยละ 10 คนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกันจะมีนิสัยใจคอคล้ายกัน เมื่อนิสัยคล้ายกันย่อมเข้ากันได้ง่าย สำหรับผม ถือว่าโชคดีที่กรุ๊ปเลือดตรงกับของทุกคนในครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นข้อได้เปรียบโดยบังเอิญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนญี่ปุ่น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สมัยนี้คนญี่ปุ่นเลือกคบคนด้วยการตั้งหน้าตั้งตาสืบหากรุ๊ปเลือดไปเสียหมด เพียงแต่เชื่อว่าถ้าเหมือนกันย่อมทำให้เข้าใจและเรียนรู้ฝ่ายตรงข้ามได้เร็ว และถ้าจะให้ดี ใครที่อยากมีเรื่องคุยกับคนญี่ปุ่น การทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองไว้ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปและคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็มักจะมีบทสนทนาเรื่องกรุ๊ปเลือดออกมา
พวกเดียวกันทำเหมือนกัน
คนญี่ปุ่นแบ่งแยกความเป็นพวกเดียวกันกับความเป็นคนละพวกค่อนข้างชัดเจน และปรากฏออกมาทางภาษาตลอดจนการปฏิบัติต่อผู้อื่นที่ถูกถือว่าเป็นคนละพวกด้วย แนวคิดเช่นนี้สืบทอดกันมาช้านาน มีคำทางวัฒนธรรมที่ใช้อธิบายเป็นเอกเทศ คือ “อุชิ” (内;uchi) หรือ “(คน) ใน” กับ “โซะโตะ” (外;soto) หรือ “ (คน) นอก” ใครที่เป็นคนต่างชาติ คนญี่ปุ่นมักจัดว่าอยู่ในข่ายนี้ และจะได้รับการปฏิบัติในฐานะคนนอกกลุ่ม แต่การเปลี่ยนสถานะจากคนนอกกลุ่มเป็นคนในกลุ่มก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่กว่าจะทำได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
เมื่อแบ่งกลุ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น “คนใน” ของระดับใหญ่สุดซึ่งก็คือญี่ปุ่นทั้งประเทศ หรือ “คนใน” ของระดับย่อยลงไปอย่างสมาชิกในครอบครัว ชมรมเดียวกัน บริษัทเดียวกัน คนญี่ปุ่นจะยึดมั่นความกลมกลืนภายในกลุ่มเป็นส่วนใหญ่ การทำอะไรไม่เข้าพวกมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายอมรับ คิดว่าเมื่อเป็นพวกเดียวกัน ว่าไงควรว่าตามกันเพื่อไม่ให้เกิดความแปลกแยก เช่น การใช้ของแบบเดียวกัน การไม่แสดงความเห็นคัดง้าง การไม่ทำตัวฉีกออกไปจากสิ่งที่ทุกคนคาด
ความไม่อยากเป็นแกะดำที่ต่างจากฝูงแบบนี้ถึงกับมีเรื่องล้อเลียนว่า [1] หากเมื่อเรือใหญ่หรูหรากำลังจะจมสู่ก้นทะเล แล้วกัปตันจะบอกให้ทุกคนกระโดดลงทะเล คำพูดที่กัปตันต้องสรรหามากระตุ้นคนชาติต่างๆ ที่อยู่บนเรือคือ
สำหรับคนอเมริกัน - โดดลงไป คุณจะกลายเป็นฮีโร่
คนอังกฤษ - โดดลงไป คุณคือสุภาพบุรุษนะ
คนเยอรมัน - โดดลงไปซะ เพราะนี่เป็นกฎของเรือ
คนญี่ปุ่น- โดดลงไปเดี๋ยวนี้! ทุกคนกำลังโดดนะ!
การคบกับคนญี่ปุ่นให้สนิท หมายถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือเป็น “คนใน” และปฏิบัติตามมาตรฐานอันที่เป็นยอมรับของกลุ่ม ซึ่งแม้แต่คนญี่ปุ่นเอง บางครั้งก็ยังรู้สึกว่ายาก สำหรับคนต่างชาติซึ่งมีความเป็นคนนอกโดยกำเนิดแล้วนั้น จึงอาจต้องใช้พยายามมากหน่อยกว่าจะทะลวงกำแพงเข้าไปได้
คนญี่ปุ่นสนิทยาก
คนไทยกลุ่มหลักๆ ที่มีชีวิตเกี่ยวพันกับคนญี่ปุ่น ได้แก่ นักศึกษาไทยที่มาเรียนในญี่ปุ่น และ คนไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทย มีคนจำนวนไม่น้อยในทั้งสองกลุ่มนี้รู้สึกว่า “เข้าไม่ถึงคนญี่ปุ่น” อันที่จริง ถ้าคบในระดับชีวิตประจำวัน คนไทยกับคนญี่ปุ่นเข้ากันได้ดีและมีความเป็นมิตรต่อกันสูง แต่ถ้าจะลงลึกถึงขั้นสนิท หลายคนมักชนกำแพงและเด้งกลับมาพร้อมกับความคิดทำนองว่า “ทำไมเพื่อนญี่ปุ่นคนนี้ถึงได้มีความลับเยอะ?” หรือ “สนิทกันขนาดนนี้ ทำไมไม่บอก?”
คนสนิทกันน่าจะรู้เรื่องส่วนตัวกันมากกว่าระดับปกติ ถ้าใช้เกณฑ์นี้วัด จะพบว่าคนญี่ปุ่นอาจไม่สนิทกับคนไทยเลย เมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีกิจกรรมร่วมกัน คนต่างชาติอาจเป็นคนในสำหรับคนญี่ปุ่นคนนั้น แต่เมื่อลงลึกยิ่งขึ้น คนต่างชาติก็ยังคงมีแนวโน้มเป็นคนนอกอยู่นั่นเอง เพราะแบบนี้ผมถึงได้เห็นนักศึกษาไทยจำนวนไม่น้อยมาเรียนที่ญี่ปุ่นแล้วต้องผิดหวังกลับไปเพราะหาเพื่อนญี่ปุ่นไม่ได้ หรือหาได้แต่ก็เป็นเพื่อนกันแบบผิวเผิน หรือถึงขั้นไม่ชอบคนญี่ปุ่นไปเลยเมื่อนำมาตรฐานการคบคนแบบไทยๆ ไปประเมินคนญี่ปุ่น คนไทยสนิทกันง่าย แต่คนญี่ปุ่นไม่ใช่อย่างนั้น
เมื่อประมวลคร่าวๆ สันนิษฐานได้ว่า การที่คนญี่ปุ่นสนิทสนมกับคนต่างชาติได้ยากอาจเป็นเพราะในทางประวัติศาสตร์และบรรยากาศ คนญี่ปุ่นไม่ชินกับการคบหาชาวต่างชาติ จึงไม่รู้ว่าว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี ประการต่อมา คือ เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างชาติ จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ คนญี่ปุ่นจำนวนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ การที่คนญี่ปุ่นไม่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ไม่อยากพูด แต่พูดไม่ได้หรือไม่ก็ขาดความเชื่อมั่นมากกว่า และอีกข้อคือ คนญี่ปุ่นยึดมั่นความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ใช่เฉพาะกับคนต่างชาติ แต่กับคนญี่ปุ่นด้วยกันเองก็เช่นกัน มีโลกส่วนตัวทั้งในระดับกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ มีเส้นแบ่งเพื่อกันคนภายนอกไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ‘ถ้าฉันไม่อนุญาต จงอย่าได้ล่วงล้ำเข้ามานะ’ ดังนั้น บางครั้งเมื่อถูกถามว่า “ทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างโน้น” คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจะตอบว่า “อิโระ อิโระ อัตตะ” (いろいろあった;Iro iro atta) แปลว่า “มีอะไรๆ หลายอย่าง” แต่ไม่ได้ตอบเลยว่าหลายอย่างที่ว่านั่นคืออะไร ซึ่งก็คือการเลี่ยงที่จะเปิดเผยความเป็นส่วนตัว และกว่าใครคนหนึ่งจะไว้ใจและ ‘เปิดโลก’ ของตัวเองให้คนอื่นเห็น ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลานานพอดู เมื่อเป็นแบบนี้ ความสนิทสนมจึงก่อเกิดได้ช้า
แต่การสร้างความสนิทสนมกับคนญี่ปุ่นก็เป็นไปได้ เพราะคนญี่ปุ่นก็มี ‘เครื่องรับ’ ที่คล้ายกับคนไทยเพียงแต่ระดับการเปิดรับอาจจะน้อยกว่า คนญี่ปุ่นปัจจุบันสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับต่างประเทศ และมีความเชื่ออยู่แล้วว่าการได้พบกันคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ครั้งสำคัญ นั่นหมายความว่าคนญี่ปุ่นมีความเป็นมิตรโดยพื้นฐาน แต่อาจไม่ใช่ผู้สานต่อที่ดี ใครที่อยากจะสนิทกับคนญี่ปุ่นจึงควรจะชวนเขาคุยก่อน และแน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดจะทำให้คนไว้ใจกันได้เร็วเท่ากับการพูดภาษาเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าพูดญี่ปุ่นได้ ก็ถือว่าเริ่มกลายเป็นพวกเดียวกับคนญี่ปุ่นแล้ว
หมายเหตุ :
[1] เรื่องชวนหัวล้อเลียนลักษณะนี้เรียกว่า เรื่องขำขันเชิงชาติพันธุ์ (ethnic joke) ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่นำลักษณะเด่นหรือลักษณะประจำตัวของคนชาติใดชาติหนึ่งมาสะท้อนผ่านพฤติกรรม
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th