xs
xsm
sm
md
lg

คบคนญี่ปุ่น (2) : ฝึกฝนภาษา พยายามตีความ ทำตัวน่าคบ

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


การคบคนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นศิลปะของทั้งผู้สร้างสรรค์และผู้เสพ ผู้สร้างคือตัวเรา ผู้เสพคือคนที่เลือกคบเรา ต่างคนต่างต้องปรับ ยิ่งถ้าอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากพื้นเพของตัวเอง ยิ่งต้องรู้จักใช้ศิลปะทางมนุษยสัมพันธ์ จากคำถามของเพื่อนหลายคนและจากประสบการณ์ตรง ผมสรุปหลักได้จำนวนหนึ่งว่าถ้าปรารถนาจะได้มาซึ่งสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับคนญี่ปุ่นอย่างจริงจัง สามอย่างต่อไปนี้น่าจะพอช่วยได้ คือ ฝึกฝนภาษา พยายามตีความ และทำตัวน่าคบ

ฝึกฝนภาษา

ข้อแรกคือ การฝึกฝนภาษา ในโลกนี้ไม่น่าจะมีประดิษฐกรรมอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า ‘ภาษา’ อีกแล้ว มนุษย์คิดด้วยภาษา สื่อความซับซ้อนของใจออกมาเป็นภาษา เข้าใจความรู้สึกส่วนใหญ่ของกันและกันผ่านวัจนะภาษาเป็นหลัก ถ้าอยากผูกใจคนญี่ปุ่นให้ได้จริงๆ จึงจำเป็นต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น และพูดเยอะๆ เข้าไว้ในช่วงแรก เพราะ “ปากเป็นเอกเลขเป็นโท” ใช้ได้ทั้งในสังคมไทยและญี่ปุ่น

สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันได้มากที่สุดคือการพูดภาษาเดียวกัน เรื่องนี้เป็นสากล ดูได้จากตัวอย่างใกล้ตัว คือ ถ้าคนไทยได้ยินฝรั่งพูดภาษาไทย แค่ประโยคสั้นๆ คนไทยก็จะยิ้มรับและนึกชื่นชมอยู่ในใจหรือไม่ก็ชมด้วยคำพูดเลยว่า “พูดภาษาไทยได้ด้วย!” ยิ่งถ้าพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ คนไทยจะยิ่งเอ็นดู “โอ้โห...พูดภาษาไทยเก่ง” แล้วการต้อนรับจะอบอุ่นขึ้นอีก คนญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากคนไทยในจุดนี้ ถ้าได้ยินคนต่างชาติพูดภาษาญี่ปุ่นเมื่อไร จะรู้สึกวางใจมากขึ้นทันที แล้วความเป็นมิตรจะส่อออกมาทางน้ำเสียงและแววตา ตามมาด้วยคำถามอีกเป็นชุดว่า “เรียนภาษาญี่ปุ่นที่ไหน”, “เรียนภาษาญี่ปุ่นมากี่ปี?”, “กินอาหารญี่ปุ่นได้ไหม?”, “อยู่ญี่ปุ่นมากี่ปี?” นี่คือด่านแรกซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ ที่คนต่างชาติควรฝึกไว้เพื่อเปิดใจคนญี่ปุ่น

มีข้อควรระลึกไว้อย่างหนึ่งคือ ถ้าใช้ภาษาญี่ปุ่นพื้นๆ พูดคุยกับคนญี่ปุ่นไปตลอด ความรู้จักมักคุ้นก็จะอยู่แค่ระดับพื้นๆ เช่นกัน คุยกันด้วยภาษาเดียวกันสองสามคำอาจทลายกำแพงความเกร็งลงได้ในเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถทะลุเข้าไปถึงแก่นได้ เพราะเมื่อคนญี่ปุ่นได้ยินคนต่างชาติพูดภาษาญี่ปุ่นแบบง่ายๆ เป็นคำๆ กระท่อนกระแท่น คนญี่ปุ่นจะเริ่มระวังคำพูดของตัวเอง เลือกใช้คำพูดที่ฟังเข้าใจง่าย และเลี่ยงประโยคยาวๆ ปรับให้เป็นคำพูดที่ตัวเองก็อาจไม่ชินปากเพื่อคุยกับคนต่างชาติ และจะเกิดความไม่เป็นธรรมชาติขึ้นในบทสนทนา พอเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่จะสื่อความได้ถึงใจ ฉะนั้น เมื่อผ่านขั้นต้นแล้ว ต่อไปจึงต้องฝึกฝนทักษะภาษาให้เก่ง ยิ่งพูดคุยถึงเรื่องที่ซับซ้อนได้เท่าไร ยิ่งจะทำให้สนิทกันมากขึ้นเท่านั้น เรื่องลึกซึ้งที่เพื่อนญี่ปุ่นชอบถามผมอยู่บ่อยๆ คือเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทย เช่น “ทำไมคนไทยจึงเทิดทูนพระมหากษัตริย์ ไปที่ไหนก็เห็นรูปพระมหากษัตริย์?” (คนญี่ปุ่นที่เคยมาเมืองไทย เห็นพระบรมฉายาลักษณ์แล้วไม่เข้าใจนัยของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย), “ทำไมที่หน้าบ้านของคนไทยมีศาลเจ้าเล็กๆ ด้วยล่ะ?” (คนญี่ปุ่นหมายถึงศาลพระภูมิของไทย), “ทำไมที่เมืองไทยมีสุนัขจรจัดเยอะแยะเลย?” (ที่ญี่ปุ่นไม่มี), “คนไทยทุกคนต้องบวชเป็นพระเหรอ แล้วนายบวชรึยัง?” (คนญี่ปุ่นไม่เข้าใจศาสนาพุทธในบริบทสังคมไทย) เป็นต้น เรื่องประมาณนี้ บางทีการอธิบายเป็นภาษาไทยก็ยังทำได้ยาก แต่ถ้าอยากทำให้บทสนทนาเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพ ก็จำเป็นต้องเตรียมคำตอบเป็นภาษาญี่ปุ่นกันหน่อย

อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันเรื่องภาษาญี่ปุ่น คนไทยมีข้อเสียเปรียบด้านภาษาในบางแง่มุม ซึ่งกลายเป็นข้อเสียไปในที่สุด คือ คนไทยเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นได้ช้าเพราะธรรมชาติของภาษาต่างกันมาก เช่น ภาษาไทยไม่ผันคำ แต่ภาษาญี่ปุ่นผันเยอะมาก และแม้ภาษาญี่ปุ่นมีเสียงน้อย แต่ในจำนวนน้อยเหล่านั้น ก็มีหลายเสียงที่คนไทยพูดไม่ถนัด เช่น เสียง shi, tsu, za, zu (ราชบัณฑิตยสถานถ่ายเสียงเป็นตัวอักษรไทยในข่ายที่คนไทยออกเสียงได้ว่า “ชิ”, “สึ”, “ซะ”, “ซุ” ซึ่งถือว่าใกล้เคียง แต่ก็ไม่ใช่เสียงจริงตามที่คนญี่ปุ่นพูด) ระบบการเขียนภาษาญี่ปุ่นซับซ้อนกว่าภาษาไทยมากโดยเฉพาะตัวอักษรคันจิที่รับมาจากจีน ไวยกรณ์ก็มีรายละเอียดมาก เรียนๆ ไปจะรู้สึกว่าไม่ค่อยคืบหน้า ส่งผลให้กลายเป็นข้อเสีย คือ ท้อและล้มเลิกไปจนกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องยากๆ พอยอมแพ้ก็เป็นอันว่าต่อยอดความสัมพันธ์ได้ลำบาก เพราะคุยเรื่องยากและลึกไม่ได้

สรุปว่า ต้องค่อยๆ เรียนภาษาญี่ปุ่นให้เก่งและไม่ล้มเลิกกลางคัน เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสร้างมิตร เมื่อพูดได้ดี เทคนิคที่จะใช้สร้างความสนิทต่อไปคือ ขอคำปรึกษา ธรรมชาติของคนคือต้องการให้คนอื่นเห็นคุณค่า ถ้าเราขอคำปรึกษาใคร คนผู้นั้นมักจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เราอาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนก็ได้ เช่น ถามว่าจะไปปีนภูเขาฟูจิไปเดือนไหนดี, อยากไปดิสนีย์แลนด์ ไปช่วงไหนดี คนถึงจะไม่แน่น, หรือจะซื้อตั๋วเข้าดิสนีย์แลนด์ยังไงให้ได้ราคาถูก, มีร้านซูชิที่ไหนที่ถูกๆ บ้างไหม ต่อไปก็อาจจะถามความสนใจของฝ่ายนั้น ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องส่วนตัวที่พอจะเปิดเผยได้ให้เขาฟังเพื่อเป็นการเปิดใจ ท้ายสุดคือการชวนไปกินข้าว ไปเที่ยว และคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

พยายามตีความ

ข้อที่สองคือ พยายามตีความ หมายถึงการพิจารณาความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่คนญี่ปุ่นพูดหรือปฏิบัติ ใครไม่เข้าใจเรื่องนี้ บางทีพลอยทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นขี้โกหก แล้วพานไม่อยากสานต่อความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย แรกๆ ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกทำนองนั้นเหมือนกัน แต่ทำความเข้าใจได้ในภายหลัง

มีคนญี่ปุ่นชวนผมอยู่บ่อยๆ ว่า “ว่างๆ มาเที่ยวที่บ้านบ้างนะ”

ความเป็นไทยสอนให้รู้จักเกรงใจไว้ก่อน อย่าผลีผลามตะครุบโอกาสเร็วเกินไป ให้สงวนท่าทีอย่างมีสง่าแล้วค่อยคว้าไว้ทีหลัง จะได้ไม่เป็นการแสดงความอยากจนออกนอกหน้า ตอนนั้นผมทราบมานิดหน่อยว่าคนญี่ปุ่นก็มีแนวคิดเช่นนี้เหมือนกัน ครั้งแรกจึงได้แต่ตอบขอบคุณและปฏิเสธไปก่อน พลางคิดว่าคราวหน้าถ้าเขาชวนอีกก็จะไปเพื่อไม่ให้คนชวนเสียน้ำใจ คำชวนแบบนั้นมีมาอีกหลายที จากคนคนเดียวกันและจากคนอื่นๆ แต่ไม่เคยมีสักทีที่ผู้ชวนจะถามเจาะลึกลงไปว่าผมจะไปเที่ยวบ้านเขาได้เมื่อไร หรือกินอะไรไม่ได้ จะได้เตรียมของที่กินได้เอาไว้ให้ หรืออะไรที่จะส่อถึงความจริงใจในการชวน จนในที่สุดผมคิดว่า ‘คงพูดไปงั้นแหละ’...น่าจะเป็นข้อสรุปของคำชวนเหล่านั้น และทำให้คนญี่ปุ่นเสียคะแนนในทรรศนะของผมไป

เมื่ออยู่นานขึ้น ผมเข้าใจว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีเรื่อง “ฮนเนะ” (本音;honne) กับ “ทะเตะมะเอะ” (建前;tatemae) ซึ่งหมายถึง “ใจจริง” กับ “สิ่งที่แสดงออกเบื้องหน้า” อันที่จริงสังคมไทยก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่เหมือนกัน จำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นนักเรียน หลายครั้งหลังจากสอบเสร็จ พอถามเพื่อนว่าทำข้อสอบได้ไหม เพื่อนตอบว่าทำไม่ค่อยได้ แต่ผลสอบออกมาว่าเพื่อนคนนั้นท็อป ‘ทำไม่ค่อยได้’ คือสิ่งที่พูดเพื่อบังหน้าไปอย่างนั้นเอง ตอนนั้นซึ่งยังเด็กว่าตอนนี้มาก ผมรู้สึกเคืองเพื่อนและยังคิดอยู่เลยว่าทำได้ก็บอกว่าทำได้สิ (ฟะ) ไม่เห็นจะต้องบิดเบือนความรู้สึก ถ้ามองแบบตรงไปตรงมา “ทะเตะมะเอะ” คือคำโกหกชนิดหนึ่ง แต่คนญี่ปุ่นมองว่าเป็นความสวยงามที่ใช้ปูเส้นทางให้การสื่อสารและการคบกันไม่สะดุด บางโอกาสใช้เพื่อถนอมน้ำใจ การบอกความรู้สึกที่แท้จริงอาจทำร้ายความรู้สึกคนฟัง หรือคนพูดอาจถูกมองว่าเห็นแก่ตัว หวังสูง และท้ายสุดถ้าหากทำไม่ได้ก็จะเกิดความอับอาย เป็นต้น

ในสังคมใดก็ตาม คนที่เป็นผู้ใหญ่เข้าใจดีว่า สิ่งที่พูดออกมาอาจไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงเสมอไป และในขณะเดียวกัน ก็อาจรู้สึกไม่ดีกับคนที่ปากกับใจไม่ตรงกัน แต่ในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมองต่างออกไปว่า เรื่องปากกับใจไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน และเมื่อมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครคิดว่าถูกโกหกหรือถือสาจริงจัง พอผมอยู่ในญี่ปุ่นและเจอเรื่องแบบนี้ จึงนึกถึงเพื่อนเมื่อสมัยเด็กขึ้นมา ได้มุมมองใหม่ว่าเพื่อนอาจไม่อยากทำให้เรารู้สึกด้อยกว่า ถึงได้ใช้คำพูดแบบนั้น และตอนนี้ หลังจากที่ตัวเองได้รับอิทธิพลจากสังคมญี่ปุ่นเรื่อง “ฮนเนะ” กับ “ทะเตะมะเอะ” มานาน จึงรู้จักปล่อยวางและใจกว้างขึ้นกว่าก่อนมาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจมักมองว่าคนญี่ปุ่นชอบโกหก ดังนั้น ถ้าอยากจะคบคนญี่ปุ่นอย่างราบรื่น จำเป็นต้องตีความให้ออกว่าคำพูดของคนญี่ปุ่นสื่อความหมายว่าอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไปร้านเหล้า นั่งแช่เป็นชั่วโมง เหล้าหมดแล้ว มัวแต่นั่งคุยกับเพื่อนจนพนักงานมาถาม “จะรับเครื่องดื่มอะไรเพิ่มไหมคะ?” ใจจริงเขาอยากจะบอกว่า “ถ้าไม่สั่งเพิ่มก็เชิญออกได้แล้วค่ะ แขกอื่นจะได้เข้าร้าน” หรือจากตัวอย่างที่ผมเองก็เจอมาบ่อยๆ คือ ถ้าคนญี่ปุ่นพูดว่า “ว่างๆ มาเที่ยวที่บ้านบ้างนะ” ใจจริงเขาหมายความประมาณว่า “ทางเราเห็นว่าคุณเป็นคนน่าคบนะ” หรือในกรณีที่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่า “ทางเราจะคิดดูก่อน แล้วจะแจ้งผลให้ทราบภายหลัง” ใจจริงเขาอยากจะบอกว่า “แหม...คุณน่าจะมีอะไรดีกว่าที่ทางเราคาดไว้นะ” หรือถ้ามีใครชวนว่า “คราวหน้า เราไปดื่มด้วยกันนะ” คนพูดอาจไม่ได้คิดอะไร แค่อยากจะบอกว่า “คราวหน้าจะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าบังเอิญมีโอกาสก็ไปดื่มด้วยกัน แต่วันไหนโอกาสจะมาถึงนะเหรอ ทางเรายังไม่ได้ตัดสินใจอะไรตายตัว”

ถ้าเข้าใจแล้วก็ควรมองข้ามเรื่องความจริงใจหรือไม่จริงใจไปเสียจะดีกว่า ถือเสียว่าคำพูดเหล่านี้คือคำทักทายแบบหนึ่งในภาษาญี่ปุ่น จะได้ไม่ต้องหัวเสีย ครั้นคบกันไปนานพอสมควรและกลายเป็นคนในแล้ว ทะเตะมะเอะจะค่อยๆ ลดลงไปเองจนเหลือน้อย (แต่อาจไม่ทั้งหมด) เมื่อถึงจุดนั้นจะเรียกความสัมพันธ์ขั้นนี้ว่าสนิทกัน

ถ้าถามว่า ในช่วงแรกมีหลักอะไรที่จะช่วยให้รู้ได้ว่าคำไหนเป็นความรู้สึกแท้จริงหรือเป็นสิ่งที่พูดบังหน้า คงต้องตอบว่าระยะเวลาการคบหาและบรรยากาศ ณ ตอนนั้นจะช่วยให้ตีความได้เอง สำหรับคนไทยซึ่งมีอุปนิสัยเอาใจใส่คนรอบข้างคล้ายกับคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไม่นานนักก็จะเข้าใจได้ แต่ในช่วงที่ยังไม่คุ้นกับคนญี่ปุ่น อย่าได้คาดหวังอะไรมากเกินไปจากคำชวนที่ฟังดูดี จนกว่าคนพูดจะย้ำอ้อมๆ ว่า “ที่พูดมาน่ะ ฉันหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ”

ทำตัวน่าคบ

ข้อสามคือ ทำตัวน่าคบ ข้อนี้ดูเหมือนกว้างมาก แต่ถ้าเป็นคนไทยที่น่าคบสำหรับคนไทยด้วยกันอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นคนไทยที่น่าคบสำหรับคนญี่ปุ่นได้โดยไม่ยาก เพียงแต่ต้องปรับหรือเติมอะไรอีกนิดหน่อย เช่น การรักษามารยาท ความถ่อมตัว และการตรงต่อเวลา การรักษามารยาททางสังคมเป็นเรื่องทั่วไปที่ใครๆ ก็ปฏิบัติตามได้ไม่ยากเย็น เช่น การทักทายแบบญี่ปุ่นด้วยการโค้ง การวางตัวสงบเสงี่ยม การไม่เดินไปกินไป มารยาทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้เราดูดีและน่าคบในสายตาคนญี่ปุ่น

มารยาทอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าคนไทยควรจะฝึกไว้ให้ชินคือการพูด “ขอโทษ” คนญี่ปุ่นพูดขอโทษบ่อยมากเมื่อเทียบกับคนไทย ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ทั้งกับคนที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย ถ้ารู้สึกว่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน คนญี่ปุ่นจะพูดขอโทษไว้ก่อน เนื่องจากคนไทยไม่ได้ฝึกให้เป็นนิสัยมาตั้งแต่เด็ก จึงเขินที่จะพูด ถ้าจับไม่ได้คาหนังคาเขาก็จะไม่ขอโทษ หรือบางทีจับได้ก็ยังแก้ตัว เมื่อมาสายก็ไม่ขอโทษ เมื่อทำของตกเกิดเสียงดังแล้วทำให้คนอื่นตกใจก็ไม่ขอโทษ แต่พูดว่า “แมว!” และถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกันมากๆ คนไทยมักละเลยที่จะขอโทษ แต่คนญี่ปุ่นพูดขอโทษในทุกกรณีที่ว่ามานี้ ไม่มีการโทษหมาโทษแมว หรือแม้แต่เมื่อมีใครทำอะไรให้ ก็ยังขอบคุณพร้อมกับสื่อความรู้สึกขอโทษที่ทำให้ผู้เอื้อเฟื้อคนนั้นลำบากด้วย โดยพูดสำนวน “ซุมิมะเซ็ง” (すみません;Sumimasen; เป็นสำนวนที่หมายถึง ขอโทษและใช้เป็นคำขอบคุณด้วย)

คนญี่ปุ่นถ่อมตัวอยู่เสมอ เวลาผมไปบ้านคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะบ้านไหนก็แล้วแต่ จะได้ยินคนญี่ปุ่นทุกครอบครัวพูดเหมือนกันอย่างกับเรียนมาจากโรงเรียนเดียวกันว่า “ขอโทษค่ะที่บ้านคับแคบ” ทั้งๆ ที่บ้านก็ไม่ได้แคบมากขนาดต้องขอโทษขอโพยอะไร หรือบางทีคนญี่ปุ่นจะบอกว่า “เล่น (เช่น แซกโซโฟน) ไม่เก่งหรอกครับ” ทั้งที่ๆ เล่นมา 20 ปีและชำนาญมาก คนญี่ปุ่นถือว่าการถ่อมตัวเท่ากับเป็นการลดตัวเองให้ต่ำลงและขณะเดียวกันก็ยกให้ฝ่ายตรงข้ามสูงขึ้นโดยปริยาย ฉะนั้นในทางตรงข้าม ถ้าคนญี่ปุ่นชมเมื่อไร จงปฏิเสธไว้ก่อนว่า “ยัง...ยังไม่ถึงขนาดนั้น” ถึงแม้ว่าเราจะรู้ตัวว่าเลอเลิศ เกิดมาพร้อมรูปสมบัติคุณสมบัติก็ตาม หรือถ้าเป็นเพื่อนที่เริ่มสนิทกันแล้วชมเรา ก็ตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “จะพยายามให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”

อีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยควรปรับตัวหากคิดจะคบกับคนญี่ปุ่นคือ เรื่องการรักษาเวลา คนญี่ปุ่นรักษาเวลาและถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก มีเรื่องเล่าว่า ในการประชุมระหว่างประเทศครั้งหนึ่งซึ่งจะต้องนำเสนอบทความ ถ้าบังเอิญตัวแทนจากชาติต่อไปนี้ไปสาย ถามว่าเขาจะทำอย่างไร

คนอังกฤษ - พูดตามปกติ หมดเวลาเมื่อไรก็หยุด พูดเท่าที่พูดได้ (สุภาพบุรุษ)
คนฝรั่งเศส - พูดตามปกติ กินเวลาคนอื่นไปก็ไม่หยุดพูด (เรื่องของฉัน...ใครจะทำไม)
คนเยอรมัน - พูดให้ครบเนื้อหา โดยพูดให้เร็วเป็นสองเท่า (จะเอาทุกอย่างในโลก?)
คนอิตาลี - ไม่พูดนอกเรื่อง เพื่อนำเสนอให้เสร็จภายในเวลา (ปกติน้ำเยอะ)
คนญี่ปุ่น - หัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ยอมไปสาย!

สำหรับคนญี่ปุ่น เรื่องนี้ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงแต่อย่างใด คนญี่ปุ่นจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อไม่ให้ไปสาย ใครอยากจะคบกับคนญี่ปุ่นอย่างราบรื่นควรตระหนักให้ดี คนไทยมีปัญหาเรื่องนี้มากแต่ไม่คิดว่าเป็นปัญหา “ห้านาทีเอง...ไม่เป็นไร” คนไทยอาจคิดแบบไทย แต่สายหนึ่งนาทีก็คือสายสำหรับคนญี่ปุ่น

ผมเคยอ่านหนังสือที่คนญี่ปุ่นเขียนเกี่ยวกับคนไทย เจอข้อความว่า “คนไทยไม่รักษาเวลา” เพื่อนญี่ปุ่นที่มาเที่ยวเมืองไทยก็เคยหยิบยกอุปนิสัยแบบนี้ของคนไทยมาพูดกับผมด้วย พร้อมทั้งยืนยันหนักแน่นว่าเป็นจริงตามนั้น และนิสัยแบบนี้ดูเหมือนลุกลามไปถึงรถไฟไทยด้วย ซึ่งการมาสายเป็นชั่วโมงๆ คือเรื่องธรรมดา ผมจนด้วยเกล้าที่จะแก้ตัวแทนใครได้เพราะตัวเองก็เคยนั่งรถไฟจากอยุธยาไปหนองคาย ปรากฏว่าไปถึงสายกว่ากำหนดประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง

จากอุปนิสัยและแง่มุมทางวัฒนธรรมเชิงมนุษยสัมพันธ์ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นทุกคนเป็นเช่นนั้น อะไรในโลกนี้ล้วนมีข้อยกเว้นทั้งสิ้น คนญี่ปุ่นบางคนอาจมีลักษณะตามนั้น หรืออาจมีไม่ทั้งหมด หรือฉีกแนวออกไปบ้าง แต่เหล่านี้คือลักษณะทั่วไปของคนญี่ปุ่นที่เดินกันขวักไขว่อยู่ในสังคม หลายคนพบว่า การคบกับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก แต่หลักสามสี่ข้อนี้น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการผูกมิตรและสร้างความไว้วางใจ ถ้าทะลุกำแพงของความไม่เข้าใจได้แล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัว บอกได้เลยว่าคนญี่ปุ่นจะเป็นเพื่อนที่ดีและใส่ใจความรู้สึกของเราอย่างมาก ในโลกกว้างที่มีมนุษย์หลายพันล้านชีวิตดิ้นรนต่อสู้ การได้รู้จักใครสักคน ผมถือเป็นวาสนา และถ้าได้สานต่อมิตรภาพด้วยความเข้าใจจนสนิทสนม ย่อมถือเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชีวิต

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น