ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ต่างลึกๆ
พออยู่นานๆ ไป เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าสองฝั่งนี้มีอะไรไม่เหมือนกันมากกว่าเรื่องภาษาถิ่นกับการขึ้นบันไดเลื่อน บางอย่างจางหายเพราะถูกยุคสมัยกลืนไป แต่ก็มีบางอย่างที่เป็นความต่างมาแต่โบราณและยังเหลือให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
เรื่องรูปร่างหน้าตาของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างหนึ่งที่ถูกอิทธิพลของกาลเวลาเข้ามาดัดแปลงจนเป็นหน้าญี่ปุ่นแบบที่เราเห็น ทุกวันนี้ความต่างของหน้าตาประจำถิ่นอาจจะสังเกตได้ยากหน่อยเพราะการย้ายที่อยู่ทำได้ง่ายขึ้น เศรษฐกิจกับการคมนาคมพัฒนาไปไกล คนญี่ปุ่นจึงผสมปนเปกันจนบอกไม่ได้แล้วว่าต้นตระกูลตัวเองเป็นคนดั้งเดิมจากแถบไหน ผมเชื่อว่าพวกเราคนไทยเมื่อมองหน้าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็คงรู้แค่ว่าเป็นญี่ปุ่น แต่แยกไม่ออกว่ามาจากญี่ปุ่นภาคไหน ตอนนี้คนญี่ปุ่นด้วยกันเองมองหน้าแล้วก็แยกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าใครมาจากไหน แต่ในสมัยโบราณลักษณะประจำภาคน่าจะมีปรากฏให้เห็นบนใบหน้าเหมือนกับที่เราคนไทยเดาหน้าไทยได้ว่าใครมาจากภาคใต้ ภาคอีสาน หรือมีเชื้อจีน
คนญี่ปุ่นมีลักษณะทางกายที่พอจะช่วยบ่งบอกภูมิลำเนาอยู่บ้างเหมือนกัน ถ้าเป็นคนทางตะวันออกมี ‘แนวโน้ม’ ตัวเล็ก แต่ดูแข็งแรง มีกล้ามเนื้อ เครื่องหน้าเด่นคม เข้ม ตาสองชั้น คิ้วหนา มีคนเลือดกรุ๊ป B กับ O เยอะโดยเฉพาะถ้าขึ้นไปทางเหนือ ลักษณะเหล่านี้ผมเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากโอะโต-ซัง (คุณพ่อที่ครอบครัวอุปถัมภ์) ซึ่งเป็นคนเอะโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) โดยแท้ โอะโต-ซังเป็นอย่างนี้ทุกประการและมีเลือกกรุ๊ป B ด้วย
ส่วนคนทางฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มตัวใหญ่ ร่างกายท่อนล่างหนา จมูกไม่โด่งนัก หน้ากลมแบน ตาชั้นเดียว มีคนเลือดกรุ๊ป A เยอะ ถ้าใช้มาตรฐานนี้ เคโงะเพื่อนผมเข้าข่ายอยู่ไม่กี่อย่าง เคโงะตัวใหญ่ สูงร้อยแปดสิบกว่าก็จริง แต่ตาสองชั้น หน้าเรียว จมูกโด่ง จัดว่าเป็นคนญี่ปุ่นที่หน้าตาดีคนหนึ่ง ผมเคยแหย่เคโงะว่า “ใครกันนะบอกว่าคนญี่ปุ่นชอบทำอะไรเหมือนหมู่คณะ? ลักษณะอย่างนายนี่ ดูหน้าแล้วคงต้องเรียกว่าผ่าเหล่าผ่ากอมาเกิดแหง ๆ”
กล้าแหย่เพราะทราบว่าแหย่ได้ และทราบว่าคนคันไซชอบยิงมุก คุยสนุก เป็นมิตรกับคนอื่นได้ง่าย ไม่ถือสาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบุคลิกที่ทำให้ดาราตลกที่มาจากคันไซโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่น ขณะเดียวกันอุปนิสัยแบบนี้ก็เป็นบุคลิกที่ทำให้คนคันไซมองคนคันโต โดยเฉพาะโตเกียว ว่าไม่เป็นมิตร คนคันไซจำนวนมากบ่นว่าคนโตเกียวเป็นพวกเย็นชา เวลาไปเที่ยวโตเกียวแล้วเข้าไปซื้อของตามห้างร้าน พนักงานอัธยาศัยไม่ค่อยดี สู้คันไซก็ไม่ได้
ถ้าคนคันไซไม่ชอบใจการต้อนรับแขกของพนักงานในโตเกียวอย่างนี้ แสดงว่าที่คันไซต้องน่าประทับใจอย่างยิ่ง แต่ผมเคยได้ยินว่า พนักงานร้านที่โอซากาทำตัว ‘หนิดหนม’ กับลูกค้าถึงขนาดว่า พอลูกค้าเดินเข้าร้าน พนักงานก็ทักว่า “คุณ!คุณ! ...สูบบุหรี่ไหม” หรือ “คุณครับ...วันนี้เมาอยู่ล่ะสิ” ถ้า ‘อุตส่าห์’ เป็นมิตรเสียขนาดนี้ ไปร้านที่พนักงานเย็นชาน่าจะเดินได้สะดวกใจกว่าไหม (?)
เรื่องพนักงานแบบนี้ ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่เรื่องที่คนคันไซมีความเป็นมิตรสูง และชอบเฮฮานั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในญี่ปุ่น สำหรับโตเกียว ไม่ใช่แค่พนักงานในร้านค้า คนโตเกียวโดยทั่วไปมีความเย็นชาเป็นนิสัยอยู่แล้ว แต่จะพูดว่า “คนโตเกียว” ก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะส่วนมากมาจากที่อื่นทั้งนั้น และการจะกลายเป็นคนโตเกียวได้ต้องอยู่ถึงสามชั่วคน (คนโตเกียวแท้เขาถือกันอย่างนั้น) ปัจจุบันในกรุงโตเกียวจึงมีคนโตเกียวจริง ๆ มีแค่ประมาณ 15 – 20% ของประชากรประมาณ 12 ล้านคน และทุกปีจะเปลี่ยนหน้าประมาณ 2 แสนกว่า เพราะมีคนย้ายไปทำงานในต่างจังหวัดบ้าง มีนักศึกษาเรียนจบหรือมาเข้ามหาวิทยาลัยบ้าง เมื่อเปลี่ยนแปลงบ่อย ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนจึงไม่แน่นแฟ้น คนที่เช่าห้องอยู่ติดกันเป็นปี ๆ แต่ไม่รู้จักกันก็มีถมไป ไม่ต้องอื่นไกล ตัวเองนี่แหละ อยู่ในห้องซึ่งใช้กำแพงร่วมกันกับห้องข้าง ๆ มานาน แต่ไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของห้องแม้แต่ครั้งเดียว ผมทราบมาว่าสมัยก่อนพอใครย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ก็จะไปเคาะประตูทักทายบ้านใกล้เรือนเคียงเพื่อทำความรู้จักซึ่งเป็นมารยาทอย่างหนึ่ง แต่สมัยนี้ ย้ายเข้าย้ายออกเมื่อไรไม่มีใครรู้
พอโตเกียวอยู่ในสภาพอย่างนี้ จึงกลายเป็นว่าถ้ามองหาลักษณะเด่นก็จะเห็นความเย็นชา ความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ข้องแวะกับใคร ใช้ชีวิตในแบบของใครของมัน บางคนบอกว่าเหล่านี้คือลักษณะประจำตัวของคนโตเกียว ความรู้สึกแรกอาจบอกว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ผมมองว่านั่นเป็นแค่อุปนิสัยที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเป็นลักษณะประจำเมืองใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่นิสัยเดิมของคนโตเกียวหรือของคนภาคตะวันออกทั้งหมด เพราะอย่างที่บอกคือคนที่อยู่โตเกียวส่วนใหญ่ไม่ใช่คนโตเกียว และว่ากันว่าอุปนิสัยของคนโตเกียวแท้หรือเอะโดะเดิมคือ ปากไม่ดี ใจร้อน มุทะลุ ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน แต่ยึดมั่นในหน้าที่และรักความเที่ยงธรรม พอมาถึงยุคปัจจุบัน อะไรที่เป็นคุณสมบัติ แบบบ้านๆ ไม่เหลือแล้ว กลายเป็น แบบเมือง ไปหมด ทั้งคนโตเกียวเดิมและโตเกียวใหม่พูดเสียงค่อย ๆ สุขุม พูดน้อย ไม่ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน เพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว จนถูกคนต่างถิ่นมองว่าเย็นชา ซึ่งไม่ใช่แค่คนคันไซที่คิดอย่างนั้น คนจากต่างจังหวัดในด้านตะวันออกของญี่ปุ่นเองก็คิดเหมือนกัน จึงพูดได้ว่านี่คงไม่ใช่ความต่างของภาคตะวันออกกับตะวันตก แต่เป็นความต่างของเมืองใหญ่กับเมืองเล็ก
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกคือเรื่องความถี่ของไฟฟ้า ด้านตะวันออกกับตะวันตกของญี่ปุ่นใช้ความถี่ของไฟฟ้าไม่เหมือนกัน เท่าที่ทราบมา มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ในประเทศเดียวกันใช้ความถี่ของกระแสไฟฟ้าต่างกันไปตามภูมิภาค ทางตะวันออกของญี่ปุ่นใช้กระแสไฟฟ้าความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ แต่ทางตะวันตกใช้ 60 เฮิร์ตซ์ [1] เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยเมจิ (明治;Meiji; พ.ศ. 2411-2455) แหล่งผลิตไฟฟ้าในโตเกียวรับระบบมาจากเยอรมนีซึ่งใช้ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ ส่วนแหล่งผลิตที่โอซาการับระบบของสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ 60 เฮิร์ตซ์ โชคดีที่ตอนนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นผลิตออกมาให้ใช้ได้กับทั้งสองระบบความถี่ เมื่อสัก 30-40 ปีก่อน เวลาคนญี่ปุ่นจะย้ายบ้านต้องดูให้ดีเสียก่อนว่าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้วจะใช้ได้ไหม หรืออาจต้องซื้อใหม่เกือบทั้งหมด ยุ่งไม่เบาเหมือนกัน
อีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่คนญี่ปุ่นเองก็รู้สึกว่าเป็นความต่างที่น่าสนใจคือเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบกินข้าวหน้าปลาไหลของญี่ปุ่น แต่คาดว่าคนไทยที่ชอบกินข้าวหน้าปลาไหล หรือซูชิหน้าปลาไหล คงไม่ค่อยทราบว่าวิธีแล่ปลาไหลของคนญี่ปุ่นมีอยู่ 2 อย่าง คนตะวันออกจะกรีดที่หลังปลา แต่คนตะวันตกจะกรีดที่ท้อง ไม่แน่ใจว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยทำปลาอย่างไร แต่คิดว่าน่าจะทำแบบคนญี่ปุ่นตะวันตกเพราะลงมีดได้ง่ายกว่า และอาจมองว่าคนตะวันออกทำอะไรย้อนศรยุ่งยากจัง เรื่องนี้มีที่มา
สมัยก่อน ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นมีซะมุไรอยู่เยอะ และมีความเชื่อว่าการกรีดท้องปลาเป็นเหมือนการคว้านท้องฆ่าตัวตายที่เรียกว่า “เซ็ปปุกุ” (切腹;seppuku) ทำอย่างนั้นแล้วจะไม่เป็นมงคล จึงกรีดที่หลังปลา เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน วิธีการย่างก็ไม่เหมือนกันอีก ถ้าเป็นคนตะวันออกเมื่อแล่เป็นชิ้นแล้วจะ “ย่างขาว” เรียกว่า “ชิระ-ยะกิ” (白焼き;shira-yaki) คือ ย่างทั้งอย่างนั้นเลยโดยไม่ปรุงรส พอย่างเสร็จก็จะนึ่งก่อนเพื่อเอาไขมันออก แล้วย่างอีกที แต่คนตะวันตกจะไม่นึ่ง แล่แล้วก็ย่างไปอย่างนั้นจนเสร็จ ไปร้านอาหารญี่ปุ่นลองสังเกตดู ถ้าเห็นมันเยิ้มละก็ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นวิธีแบบคนตะวันตก
ในจุดอื่นก็ยังมีข้อแตกต่างปลีกย่อยอยู่อีก และที่ผมชอบใจมากคือเรื่องแมคโดนัลด์ ชื่อร้านออกเสียงแบบภาษาญี่ปุ่นเต็ม ๆ ว่า “มะ-กุ-โดะ-นะ-รุ-โดะ” คนคันโตเรียกสั้น ๆ ว่า “มักกุ” (マック;Makku) แต่คนคันไซเรียกว่า “มะกุโดะ” (マクド;Makudo) รู้สึกว่าเข้าท่าดีที่สร้างเอกลักษณ์ประจำถิ่นโดยไม่ต้องทำตามเมืองหลวงเสมอไป
นอกจากนี้ คนตะวันออกยังนิยมอาหารรสเข้มข้นด้วย ส่วนคนตะวันตกชอบอาหารรสอ่อน การทำน้ำซุปยืนพื้นทั้งหลาย คนคันโตนิยมใช้ซอสถั่วเหลืองโชยุที่ให้สีเข้ม แต่คนคันไซนิยมใช้เกลือให้รสและทำให้น้ำซุปสีอ่อน ชอบกันคนละอย่างแบบนี้ บริษัทนิชชินผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่จึงต้องทำรสชาติผลิตภัณฑ์ให้ต่างกันสำหรับขายคนละที่ด้วย
ท้ายสุด ว่ากันว่ากลิ่นของสิ่งต่าง ๆ ในคันโตรุนแรงกว่าของคันไซ (รวมไปถึงกลิ่นที่ไม่น่าพิสมัยด้วย) ข้อนี้ผมถามคนญี่ปุ่นแล้ว หลายคนบอกว่าอาจจะเป็นจริงเช่นนั้นเพราะสันนิษฐานจากกลิ่นของ “นัตโต” (納豆;nattō) หรือ “ถั่วหมักแบบญี่ปุ่น” ซึ่งคนคันโตกินกันอย่างแพร่หลาย แต่คนคันไซที่กินไม่ได้มีเป็นจำนวนมาก
มีเรื่องเกี่ยวกับกลิ่นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ยินมา แต่ไม่รู้ว่าเชื่อได้แค่ไหน เรื่องมีอยู่ว่า ถ้ามีใครผายลมในรถไฟที่คนแน่นสุดๆ ความรู้สึกไวและรุนแรงต่อกลิ่นตามความเคยชินในชีวิตประจำวันจะทำให้คนคันโตคิดว่า “ตาบ้านั่นเป็นศัตรูของมนุษยชาติ!” แต่คนคันไซจะพูดแค่ว่า “ตาบ้านั่น...ทำตดหล่น”
คนคันโตจะมองว่าลมที่ออกมาเป็นผลจากการหมักหมมของหนักอย่างเข้มข้นในลำไส้ แต่คนคันไซมองว่า ก็รถไฟสั่นไปสั่นมา กล้ามเนื้อมันก็ยุบๆ หย่อนๆ ผ่อนลมจางๆ ออกมาบ้าง ก็แค่นั้นเอง คนคันโตจะรู้สึกว่าลมนั้นมีกลิ่นฉุนกึกลอยคลุ้งเข้ามาใกล้ แต่คนคันไซจะรู้สึกแค่ว่าแว้บส์เดียวแล้วก็หายไป ไม่เหลืออะไรให้เก็บมาวิเคราะห์ (จงใจเอามาเล่าไว้ท้ายสุดเพราะไม่อยากให้สะดุดก่อนถึงเรื่องอาหาร)
มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าคงเห็นความเป็นญี่ปุ่นในมุมที่หลากหลายขึ้น บางมุมอาจต่างจากญี่ปุ่นที่เคยทราบมา แต่บางทีการรู้ผ่านตัวหนังสืออาจเห็นได้ไม่ชัด เอาเป็นว่า ถ้าใครมีโอกาสได้ไปทั้งโตเกียวและโอซากา ซึ่งเป็นสองเมืองตัวแทนในแต่ละฝั่ง ลองสังเกตความแตกต่างด้วยตนเองดู แล้วจะรู้จักญี่ปุ่นในแนวลึกยิ่งกว่าเดิม
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th
หมายเหตุ :
[1] ความถี่ไฟฟ้าไม่เหมือนกับแรงดันไฟฟ้า ความถี่ไฟฟ้ามีหน่วยเป็นเฮิร์ตซ์ แรงดันไฟฟ้ามีหน่วยเป็นโวลต์ ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ใช้ตามบ้านเรือน มีความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ แรงดัน 220 โวลต์ (ในโรงานอุตสาหกรรม แรงดันอาจต่างจากนี้) ส่วนแรงดันไฟฟ้าในญี่ปุ่น คือ 100 โวลต์.