xs
xsm
sm
md
lg

“ขึ้นบันไดเลื่อน” แบบญี่ปุ่น ไทยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตาม!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ญี่ปุ่นรณรงค์ธรรมเนียมใหม่ในการใช้บันไดเลื่อน! ไม่จำเป็นต้องยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากคนที่เดินสวนขึ้นไปบนบันไดเลื่อน หลังจากมีการรณรงค์ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าหลังจากญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงแล้ว ประเทศไทยที่ยึดแบบญี่ปุ่นยืนด้านเดียวเพื่อหลีกเลนให้คนรีบมาตลอด ไทยควรปรับตัวอย่างไร หรือต้องปรับตามแบบของญี่ปุ่นไปเสียด้วย?

ธรรมเนียมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม!

กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ณ ขณะนี้ หลังจากบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นและสมาคมผู้ผลิตลิฟต์และบันไดเลื่อน ร่วมกันรณรงค์ธรรมเนียมใหม่ในการใช้บันไดเลื่อน โดยจากเดิมผู้โดยสารบันไดเลื่อนจะยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่รีบเร่งสามารถเดินขึ้นไปได้ก่อน

ทว่า ธรรมเนียมเช่นนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับคนที่เดินขึ้นบันได้ได้มากกว่า ทั้งการพลัดตกขั้นบันได สะดุดหรือเกี่ยวข้าวของของคนที่ยืนอยู่ โดยสำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่น ระบุว่าตั้งแต่ปี 2011-2013 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเดินบนบันไดเลื่อนมากถึง 3,865 คน

ด้วยเหตุนี้เอง จึงรณรงค์ให้ผู้ใช้บันไดเลื่อนสามารถยืนได้ทั้งสองฝั่งของขั้นบันได โดยไม่จำเป็นต้องยืนชิดด้านใดข้างหนึ่ง แต่ต้องจับราวบันไดตลอดเวลา และห้ามเดินบนบันได นอกจากนี้หากเป็นไปได้ควรเว้นขั้นบันไดห่าง 1 ขั้นจากคนที่อยู่ข้างหน้า เนื่องจากเคยเกิดอุบัติเหตุที่คนบนบันไดเลื่อนล้มลง เนื่องจากยืนชิดกันมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เกิดคำถามมากมายตามมาว่าประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไร หรือควรที่จะปรับเปลี่ยนตามไปด้วย? เพราะประเทศไทยก็ยึดหลักตามแบบประเทศญี่ปุ่นมาช้านาน กรณีนี้เอง สุพัตถ์ จารุศร นายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย กล่าวให้ความเห็นกับทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า การรณรงค์นี้ไม่เกี่ยวกับประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย และด้วยความที่อยู่คนละประเทศ การเดินทาง นิสัยใจคอก็ค่อนข้างจะต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

“มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย บ้านเรามีบันไดเลื่อนมาตั้ง 30 ปีแล้วก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ไม่เกี่ยวกันเลยนะครับ นี่คือประเทศไทยนะครับประเทศอื่นไม่เกี่ยวกับเรา นิสัยใจคอการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนก็ไม่เหมือนกัน ที่เขารณรงค์มันคือเรื่องของ Mass transit ไม่ใช่บันไดเลื่อนที่ใช้ตามศูนย์การค้าหรือทั่วๆ ไป เขามีเกี่ยวกับเรื่อง Mass transit เพราะในญี่ปุ่นเขาเร่งรีบมาก เขาให้ยืนข้างหนึ่งและให้วิ่งข้างหนึ่งมันไม่เกี่ยวกับบ้านเราเลยนะครับ”



ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามใคร!

ประเทศไทยไม่ได้มีกฎข้อบังคับเอาไว้อย่างชัดเจนถึงระเบียบของการใช้บันไดเลื่อน แต่การที่มีการยืนชิดข้างขวา และเว้นที่ด้านซ้ายไว้ให้สำหรับคนที่เร่งรีบนั้นเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาเท่านั้นเอง นายกสมาคมลิฟต์ ไขข้อสงสัยเอาไว้

“ถ้าใครเร่งด่วนก็เดินอีกทางหนึ่ง ถ้าใครไม่เร่งด่วนก็เดินอีกทางหนึ่ง มันไม่มีกฎข้อบังคับอะไรทั้งนั้นครับ แต่อาจจะเป็นธรรมเนียมที่เขาใช้กัน ที่ยุโรปก็ว่ากัน ในญี่ปุ่นก็ว่ากัน บ้านเราก็ไม่รู้เรื่องก็เอามาคิดกัน มันไม่ถูกต้องนะครับ เพราะว่าอันนั้นมันใช้ Mass transit ครับ แต่ที่เราใช้บันไดเลื่อนเป็นในศูนย์การค้าครับ เราต่างคนต่างเดินครับ ไม่มีใครวิ่งหรอกครับ

ยืนขวายืนซ้ายมันขึ้นอยู่กับประเทศนั้นด้วยว่าเขายังไงหรือถนัดด้านไหน โดยส่วนมากมันเกี่ยวข้องกับเรื่อง Mass transit ครับ ไม่เกี่ยวกันครับ BTS เขาก็แนะนำอย่างนั้นอันหนึ่ง MRT เขาก็แนะนำอีกอย่างหนึ่ง ผมก็แนะนำอะไรไม่ได้ เพราะว่าอยู่ในความดูแลของเขา

ถ้าเกิดอุบัติเหตุในการเร่งรีบ นั่นมันก็เรื่องของเขาครับ คอมเมนต์อะไรไม่ได้เลยครับ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของ BTS หรือ MRT เราไม่มีสิทธิที่จะไปบอกเขาว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้เพราะว่า BTS กับ MRT เขาก็มีเจ้าของ เราจะไปบอกว่าคุณต้องทำอย่างนี้ๆ ไม่ได้ มันไม่มีกฎหมายบังคับ”

นอกจากนี้ นายกสมาคมลิฟต์ ยังแนะทิ้งท้ายไปกับการใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัยอีกด้วย โดยขึ้นบันไดเลื่อนต้องจับราวบันไดทุกครั้งเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และห้ามเด็กใช้บันไดเลื่อนเพียงลำพังหรือไปปีนป่ายบันไดเลื่อนโดยเด็ดขาด และต่อไปนี้คือ 5 ข้อปฏิบัติใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัยที่สมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยได้กล่าวเอาไว้
1.ไม่เอานิ้วมือ-นิ้วเท้า หรืออวัยวะในร่างกายแหย่ตามช่องโหว่
2.ระมัดระวัง ยกชายผ้าขึ้นเมื่อก้าวขึ้นบันไดเลื่อนและปล่อยลงเมื่อพ้นจากชานพัก สำหรับคุณผู้หญิงที่อาจจะมีชุดที่กรุยกรายเวลาจะขึ้นบันไดเลื่อนให้พยายามยกขอบชายกระโปร่ง หรือว่าขอบชายเสื้อไม่ให้ลาดกับบันไดจนกระทั่งถูกดูดลงไป
3.ก้าวข้ามหวีบันได ถ้าบันไดเลื่อนหนีบให้รีบสะบัดรองเท้าให้หลุด
4.ผู้ปกครองควรอยู่กับเด็กเล็กทุกครั้ง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรอุ้ม
5.หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้รีบตั้งสติ กดปุ่ม อี-สต็อป สีแดงให้ไวที่สุด

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น