xs
xsm
sm
md
lg

สองฝั่งต่างแบบ : คันโต VS คันไซ (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

แผนที่ประเทศญี่ปุ่น


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ต่างชัด ๆ

“ตัวเองไม่ค่อยอยากไปเพราะฝนตก”

คำว่า “ตัวเอง” ในประโยคภาษาไทยนี้หมายถึงใคร? จะหมายถึงคนพูดหรือคนฟัง? ยังตอบได้ไม่ชัดเพราะกำกวม ถ้าพูดแค่นี้ คงตีความได้ทั้งสองอย่าง

แต่ถ้าเป็น “ตัวเองไม่ค่อยอยากไปเพราะฝนตกใช่ไหม? งั้นเค้าไปแทนก็ได้” อย่างนี้คงตีความได้ง่ายขึ้นว่า “ตัวเอง” น่าจะหมายถึงอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคนฟัง หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2

และถ้าเป็น “ตัวเองไม่ค่อยอยากไปเพราะฝนตก ก็เลยให้คนอื่นไปแทน” ในที่นี่คำว่า “ตัวเอง” หมายถึง คนพูด หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1

แปลกดีที่คำคำเดียวกันมีความหมายตรงกันข้ามเมื่ออยู่ในบริบทที่ต่างกัน

ในภาษาไทย เราจะเข้าใจความหมายได้จากบริบท แต่ของญี่ปุ่นต้องตัดสินความหมายจากภูมิลำเนาของคนพูดด้วย ใครไม่รู้อาจตีความผิดได้ เวลาคนภาคตะวันออกของญี่ปุ่นพูดว่า “จิบุง” (自分;jibun) หรือ “ตัวเอง” จะหมายถึง “ตัวผู้พูด” แต่ถ้าคนในภาคตะวันตกพูด จะหมายถึง “ตัวผู้ฟัง”

เมื่อพูดถึงความตกตะลึงทางวัฒนธรรม ไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ อยู่ในประเทศเดียวกันก็มีโอกาสได้เจอ คนญี่ปุ่นเอง ถึงจะอยู่ในประเทศเดียวกันแท้ ๆ แต่ก็มีกรณีที่เข้าใจสวนทางกันอยู่หลายเรื่องเพราะอยู่กันคนละภาค เรื่อง “ตัวเอง” คือหนึ่งในตัวอย่างที่ว่า



ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น มีแค่ญี่ปุ่นเดียว มีโตเกียวเป็นเมืองหลวง แต่คนญี่ปุ่นไม่ใช่คนที่อยู่โตเกียวทั้งหมดและความเป็นโตเกียวก็อาจไม่เกี่ยวกับความเป็นญี่ปุ่นทั้งประเทศ ญี่ปุ่นจึงมีความแตกต่างอยู่ภายในแม้ว่าคนต่างชาติอาจมองเห็นเป็นแค่ญี่ปุ่นเดียว ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงสั้น ๆ อาจไม่ทันสังเกตเพราะมีเวลาจำกัดจึงต้องตั้งหน้าตั้งตาเที่ยวอยู่ตลอด และไม่มีเวลาศึกษาชีวิตจริงของคนญี่ปุ่น แต่ถ้าได้อยู่นานขึ้นจะเห็นจุดที่น่าสนใจเหล่านี้ได้ อย่างคำว่า “อะริงะโต” (ありがとう;Arigatō) ที่แปลว่าขอบคุณ ซึ่งเป็นสำนวนญี่ปุ่นง่าย ๆ ที่คนไทยรู้จักกันแพร่หลายนั้น ก็ไม่ใช่คำพูดที่คนญี่ปุ่นนิยมพูดกันทุกคน อยู่โตเกียวอาจจะใช่ แต่ถ้าไปต่างจังหวัดอาจจะได้ยินน้อยกว่า และยังมีอีกหลายตัวอย่างซึ่งบางทีคนญี่ปุ่นเองก็ยังประหลาดใจเมื่อได้ทราบ

ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา ในโลกใบกลมๆ ของมนุษย์สองขา จะหาสิ่งที่เหมือนกันทุกประการในธรรมชาติคงเป็นไปไม่ได้ ตาซ้ายกับตาขวายังโตไม่เท่ากัน แขนซ้ายกับแขนขวาก็ยังโตไม่เท่ากัน จะให้ญี่ปุ่นเหมือนกันทั่วประเทศเหมือนพิมพ์ออกจากบล็อกเดียวกันย่อมเป็นไปได้ยาก ในความเป็นญี่ปุ่นที่สื่อออกไปสู่โลกภายนอก จึงมีภาพเล็กๆ ที่บรรจุความหลากหลายเอาไว้ และประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ที่ชื่อว่าญี่ปุ่นอีกที อย่าได้แปลกใจเลยว่าญี่ปุ่นที่เราเห็นว่าเป็นญี่ปุ่นนั้น มีความหลากหลายอยู่ตามภาคและตามบุคคล

ผมคงจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของญี่ปุ่นได้ชัดเจนเท่านี้ ถ้าไม่บังเอิญมีเพื่อนญี่ปุ่นที่มาจากต่างจังหวัดหลายคน ในจำนวนนี้มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งมาจากจังหวัดเฮียวโงะ (兵庫;Hyōgo) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโกเบ (神戸;Kōbe; หรือ โคเบะ) เขาชื่อเคโงะ เป็นคนร่าเริง และพูดเสียงค่อนข้างดัง เมื่อรู้จักกันระยะแรก ผมยก “ไห” ให้เขาเป็นประจำ

เพราะ “ไห? ไห?” (はい?はい?[Hai? Hai?]) แปลว่า “อะไรนะ? อะไรนะ?” แบบเป็นกันเอง)

ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยิน แต่เป็นเพราะไม่เข้าใจว่าเคโงะพูดอะไร จึงต้องให้เขาพูดซ้ำอยู่เรื่อย ถ้าคุยกันทางโทรศัพท์ยิ่งแล้วใหญ่ วันไหนสมองไม่ปลอดโปร่งและลมปราณไม่ตั้งมั่น วันนั้นจะเหนื่อยน่าดูและแทบจะคุยกันไม่รู้เรื่อง หรืออาจจะเปิดร้านไหขึ้นมาได้เลยทีเดียว เพราะเมื่อได้ยินแต่เสียง ไม่เห็นหน้าและไม่เห็นรูปปาก จึงทำให้เข้าใจยากไปกันใหญ่ ทีแรกคิดว่า ตัวเองฟังไม่เข้าใจเพราะยังเรียนไม่ถึง แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น สาเหตุที่แท้จริงคือเคโงะพูดภาษาถิ่น ซึ่งไม่มีสอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะในห้องเรียนทั่วไป และหูผมก็ไม่ชิน

ภาษาที่เคโงะใช้คือภาษาถิ่นของภูมิภาคคันไซ นอกจากเคโงะแล้ว ผมยังได้เจอะเจอเพื่อนที่มาจากภูมิภาคคันไซอีกหลายคน ถ้าคุยเรื่องทั่วไปยังพอทำเนา เดาเกาะเดาแกะไปได้ แต่ถ้าคุยกันอย่างออกรสออกชาติเมื่อไร บอกได้เลยว่าต้องเตรียมหูไว้ให้ดีเพราะเพื่อน ๆ เหล่านี้เว้าภาษาถิ่นกันทุกคน ยิ่งคึกยิ่งพูดเร็ว แล้วก็แปลกดีที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโตเกียวนานแค่ไหน เพื่อนจากคันไซแทบทุกคนก็ยังคงพูดภาษาถิ่นของตัวเองต่อไปโดยมิได้รู้สึกว่าเป็นปมด้อย


แผนที่แสดงภูมิภาคคันโตและคันไซ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะที่ทอดตัวยาวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าจะแบ่งอย่างเคร่งครัดตามภูมิศาสตร์จริงๆ จะได้หลายภาคคล้ายกับที่ไทยแบ่งเป็นเหนือ กลาง อีสาน ใต้ แต่ถ้าพูดในเชิงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แล้ว ญี่ปุ่นแบ่งประเทศเป็นสองซีกใหญ่ คือ ซีกตะวันออกกับซีกตะวันตก และในสองฝั่งนี้ ซีกตะวันออกมีแถบที่เรียกว่าคันโต (関東;Kantō) มีกรุงโตเกียวเป็นศูนย์กลาง และซีกตะวันตกมีแถบที่เรียกว่าคันไซ (関西;Kansai) มีนครโอซากาเป็นศูนย์กลาง โตเกียวกับโอซากาจึงมักถูกยกมาเป็นตัวแทนของภูมิภาคในการเปรียบเทียบความเป็นอยู่และอุปนิสัยใจคอของคนในภูมิภาคนั้นเสมอ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนครโอซากาซึ่งรุ่งเรืองด้านการค้ามาแต่โบราณ และนครเกียวโตซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าก็อยู่ในคันไซเช่นกัน ด้วยเหตุนี้คนคันไซจึงมีความภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเองสูง พร้อมทั้งพยายามคงความเป็น “คันไซ้คันไซ” ไว้อย่างเหนียวแน่นโดยเฉพาะเรื่องภาษา และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปพูดภาษากลาง

ความแตกต่างระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น 2 อย่างที่คนต่างชาติรู้สึกได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นเรื่องภาษาอย่างที่ผมเคยเจอมาด้วยตัวเอง และเรื่องการขึ้นบันไดเลื่อน คนคันไซพูดภาษาถิ่นคันไซ ซึ่งก็คือภาษาญี่ปุ่นนี่แหละ แต่เป็นสำเนียงคันไซที่แตกต่างจากภาษาญี่ปุ่นของโตเกียวค่อนข้างมากสำหรับหูคนต่างชาติ จะเรียกว่าเหน่อหรือทองแดง...ผมก็บรรยายไม่ถูก แต่ที่แน่ ๆ คือทั้งสำเนียงและคำที่ใช้นั้นต่างจากภาษาโตเกียวมาก

สำหรับสำเนียงคงถอดเป็นเสียงให้ได้ยินผ่านตัวหนังสือไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคำพูดละก็พอจะยกตัวอย่างได้ อย่างคำว่า “ขอบคุณ” หรือ “อะริงะโต” ที่เกริ่นไว้ ถ้าไปซื้อของแถวคันไซ เช่น โอซากา เกียวโต จะได้ยินคนขายพูดว่า “ไมโดะ” (まいど; Maido) หรือ “โอกินิ” (おおきに; Ōkini) มากกว่าที่จะได้ยิน “อะริงะโต” ส่วนตัวอย่างคำศัพท์ในชีวิตประจำวันแบบ “ภาษากลางVSคันไซ” ที่ผมได้เรียนรู้จากเพื่อน ๆ โดยเฉพาะจากเคโงะ เช่น

อยู่ = อิรุ (いる;iru) VS โอะรุ (おる;oru)
เค็ม = ชปปะอิ (しょっぱい;shoppai) VS คะระอิ (からい;karai)
ใช้ไม่ได้ =ดะเมะ (だめ;dame) VS อะกัง (あかん;akan)
เท่าไร = อิกุระ (いくら;ikura) VS นัมโบะ (なんぼ;nanbo)
ไม่ใช่, แตกต่าง = ชิงะอุ (違う;chigau) VS ชะอุ (ちゃうchau)
ดีแล้ว, ใช้ได้ = อี้โยะ (いいよ;ii-yo) VS เอ้โยะ (ええよ;ee-yo)
ไม่ทำ= ชินะอิ (しない;shi-nai) VS เซะเฮ็ง (せへん;se-hen)
ไม่ซื้อ = คะวะนะอิ (買わない;kawa-nai) VS คะวะเฮ็ง (買わへん;kawa-hen)
ทำไม (เป็น, ทำอย่างนั้นล่ะ) = โดชิเตะเดะโชกะ (どうしてでしょうか; Dōshite deshōka) VS นันเดะยะเน็ง (なんでやねん;Nandeyanen)

และอีกคำที่ควรจำไว้คือคำว่า “โง่” คนญี่ปุ่นใช้คำนี้ในความหมายที่เบากว่าคนไทย ด่ากันง่าย ๆ คล้ายกับเป็นคำพูดติดปากมากกว่า แต่ถ้าหากคนไทยถูกใครพูดใส่หน้าว่าโง่ คงโกรธกันน่าดู ฉะนั้นถ้าแปลภาษาญี่ปุ่นคำนี้ให้เบาๆ หน่อย น่าจะเทียบได้กับคำว่า “งี่เง่า” หรือ “บ้า” เวลาคนญี่ปุ่นจะว่าใครว่าโง่แบบงี่เง่า เซ่อ ๆ ซ่า ๆ คนคันโตจะพูดว่า “บะกะ” (馬鹿;baka) ส่วนคนคันไซจะพูดว่า “อะโฮ” (阿呆;ahō) หรือ “อะโฮะ” โดยเฉพาะคนโอซากา คำว่า “อะโฮ” อาจหลั่งไหลออกมาเป็นชุด เพราะเป็นเหมือนคำเชื่อมที่ทำให้การสนทนาลื่นไหล ไม่ได้จงใจจะด่าว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจเสียทีเดียว

แต่ถ้าใช้สลับภูมิภาคกันอาจเกิดเรื่องได้ เมื่ออยู่ในภูมิภาคคันโตแล้วพูดว่า “อะโฮ” หรือถ้าอยู่ในคันไซแล้วพูดว่า “บะกะ” คนถูกว่าอาจจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะเมื่อสลับพื้นที่ สองคำนี้จะกลายเป็นคำรุนแรงประมาณว่าดักดานซึ่งเป็นพัฒนาการที่สาหัสกว่างี่เง่า ถ้าคนไทยถูกว่าว่า “บะกะ” ก็ถามคนพูดเสียหน่อยละกันว่ามาจากไหนจะได้เข้าใจความหมายที่แท้จริง แล้วค่อยตัดสินใจโกรธละกัน


คนในโตเกียวขึ้นบันไดเลื่อนแล้วยืนชิดซ้าย เปิดทางด้านขวาให้แก่คนที่รีบเดิน

อีกเรื่องหนึ่งที่คนต่างชาติคงจะสังเกตเห็นได้ง่ายๆ คือ เรื่องการขึ้นบันไดเลื่อน เวลาคนไทยก้าวขึ้นบันไดเลื่อนแล้วทำยังไงต่อไป? ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรให้ทำ ผมเห็นยืนเฉยกันทั้งนั้น ไปคนเดียว—ยืนครองทั้งขั้น ไปกันสองคน—ยืนเคียงกัน ถ้ามากกว่านั้น—หันหน้าหันหลังคุยกันเป็นกลุ่ม ผมก็เป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อไปอยู่ญี่ปุ่น ถึงได้รู้จักจัดระเบียบตัวเอง

เวลาขึ้นบันไดเลื่อน คนญี่ปุ่นไม่ขึ้นเรียงหน้ากระดาน จะมากี่คนก็แล้วแต่ จะยืนเรียงเดียว และเมื่อขึ้นไปแล้วไม่ใช่นึกจะยืนตรงไหนก็ยืนได้ แต่จะยืนชิดซ้ายหรือไม่ก็ชิดขวาแล้วเปิดอีกทางให้โล่งไว้สำหรับคนที่รีบกว่าจะได้เดินขึ้นไป การปฏิบัติแบบนี้ไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นกฎสังคม ผมเห็นนักท่องเที่ยวทั้งจากยุโรปและเอเชียที่ไม่รู้กฎนี้ยืนปิดทางอยู่เป็นประจำ คนทำไม่รู้ตัวว่าผิดและคนญี่ปุ่นก็ไม่สะกิดบอกเพราะเห็นว่าเป็นคนต่างชาติ แต่สีหน้าหงุดหงิดน่าดู ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าชีวิตคนญี่ปุ่นรีบร้อนเสมอ

ผมไปอยู่ในโตเกียว แค่เดี๋ยวเดียวก็เรียนรู้กฎนี้ ขึ้นไปแล้วยืนชิดซ้าย ปล่อยทางขวาให้โล่งไว้ ดูเขาแล้วเราก็ทำตาม ไม่ยากอะไร แต่เมื่อไปเที่ยวโอซากา ปรากฏว่ากฎของโตเกียวใช้ไม่ได้ เพราะด้านซ้ายคือช่องทางให้คนเดินขึ้น ถ้าจะยืนต้องชิดขวา ต่อมาพอไปเกียวโตและโกเบก็เป็นเหมือนโอซากา สรุปว่าในแถบคันไซ เวลาขึ้นบันไดเลื่อน ถ้าจะยืน เข้าเลนขวา ถ้าจะเดิน เข้าเลนซ้าย อย่าเข้าผิด ไปปิดทางคนอื่นเสียล่ะ...เดี๋ยวอะโฮจะลอยมา!

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น