xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมวันสละโสด (2)

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ในพิธีแต่งงานของคนญี่ปุ่น แม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิยมแต่งชุดกิโมโนร่วมงาน
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ธรรมเนียมพิธีแต่งงานของคนญี่ปุ่น

ก่อนหน้าการแต่งงานราวครึ่งปี เคโงะย้ายที่ทำงานจากโตเกียวกลับไปประจำที่เมืองโกเบ ในจังหวัดเฮียวโงะซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของตัวเอง งานแต่งงานจะจัดที่นั่นซึ่งหมายความว่าผมต้องเดินทางจากโตเกียวไปร่วมงานถึงโกเบ เมื่อกำหนดการคร่าวๆ ของพิธีลงตัวแล้ว ผมก็ได้รับบัตรเชิญจากเคโงะ

ตามธรรมเนียมญี่ปุ่น ผู้ที่ได้รับบัตรเชิญจะต้องส่งใบตอบรับกลับไปยังเจ้าของงานเสียก่อนเพื่อแจ้งว่าจะ “เข้าร่วมงาน” หรือ “ไม่สามารถเข้าร่วมงาน” อันเป็นการยืนยันขั้นสุดท้ายให้ผู้จัดทราบว่าจะมาได้หรือไม่

ตามที่ได้รับปากไว้...ยังไงก็ต้องไป ผมจึงวงลงไปในตัวเลือกว่า “ชุสเซะกิ” (出席; shusseki = เข้าร่วมงาน) แล้วส่งใบตอบรับกลับไป วันงานใกล้เข้ามาทุกที คาดว่าเคโงะคงตื่นเต้นไม่น้อย ผมเองก็ตื่นเต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นคนญี่ปุ่นแต่งงาน

แล้วช่วงเวลาของการเตรียมตัวก็เริ่มขึ้น ทำยังไงดีล่ะ...คงไม่มีการรดน้ำสังข์ แต่ช้าก่อน...พิธีจะเป็นแบบไหน? ต้องใส่ซองหรือไม่? ถ้าใช่ต้องใส่เท่าไร? จะชวนใครไปด้วยได้ไหม? จะแต่งตัวยังไง? มีพระมาสวดด้วยหรือไม่? ไม่รู้จักใครสักคน ถ้าไปร่วมงานแล้วจะต้องนั่งข้างใคร? ...มีสารพันปุจฉารุมเร้าเข้ามา แต่จะให้ถามเจ้าของงานก็ดูผิดที่ผิดทางชอบกล ผมจึงขนคำถามชุดยักษ์ไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ญี่ปุ่นว่า “จะวางตัวยังไงให้เหมาะสมดีครับ”

ทราบวิธีปฏิบัติเบื้องต้นมาว่า เจ้าภาพเชิญใคร คนนั้นก็ไป และไม่ใช่ว่าคิดจะพาใครไปด้วยก็ได้ เจ้าภาพต้องการทราบจำนวนผู้ที่จะมาร่วมพิธีเพื่อจะกำหนดโต๊ะได้ถูกต้องและจัดได้ว่าใครนั่งข้างใครในงานเลี้ยงรับรองใหญ่ เมื่อเจ้าภาพทราบแล้วจะเขียนชื่อติดไว้กับที่นั่งอย่างแน่ชัด แขกจะเลือกนั่งตามใจชอบไม่ได้ ช่วงพิธีการและงานเลี้ยงรับรองจะเป็นทางการมาก มีเฉพาะแขกสำคัญและญาติผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับเชิญ เมื่อเสร็จช่วงสำคัญแล้วจึงจะมีงานเลี้ยงช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เพื่อนๆ ฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาร่วมสังสรรค์แบบกึ่งทางการหรือไม่เป็นทางการ งานเลี้ยงช่วงนี้อาจจัดต่อจากพิธีใหญ่ในวันเดียวกันหรือเลื่อนไปจัดในสัปดาห์อื่น

ดูเหมือนว่ามีเรื่องที่ผมต้องเรียนรู้มีเยอะเหมือนกัน และที่สำคัญคือ...

“ผมได้รับเชิญไปร่วมพิธีการและงานเลี้ยงรับรองใหญ่ จะแต่งตัวยังไงดีครับ”
“ใส่สูทไป สีเข้ม ๆ หรือสีดำก็ได้ ไม่เป็นไร เสื้อเชิ้ตข้างในและเนกไท ใช้สีสดใส” ผู้ใหญ่บอกอย่างนั้น

ผมไม่ชอบการใส่ชุดสูทเอาเสียเลย แต่ดีใจที่ได้ทราบว่าของผู้ชายแต่งง่ายกว่าผู้หญิงซึ่งต้องเลี่ยงชุดขาวล้วนเพราะสงวนไว้ให้เจ้าสาว และผู้หญิงยังต้องมีเครื่องประดับยิบย่อยอีก

ผู้ใหญ่กำชับมาอีกว่า “เรื่องซองถือว่าเป็นธรรมเนียม ถ้าไม่เตรียมให้ดีถือว่าผิดมารยาท”

ในฐานะที่เป็นคนไทย ผมไม่ตกใจเท่าไรเกี่ยวกับเรื่องซองช่วยงาน เพราะไปงานแต่งของคนไทยก็ต้องใส่ซองเหมือนกัน
ซองช่วยงานแต่งงานคนญี่ปุ่น
จะไปซื้อซองสีขาวหรือชมพูทั่ว ๆ ไปมาใส่เงินช่วยงาน ไม่ได้ แต่ต้องเป็นซองพิเศษซึ่งมีขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ และที่หีบห่อจะเขียนติดไว้ชัดเจนว่าสำหรับใช้ในงานแต่งงาน เมื่อซื้อมาแล้วต้องเรียนรู้วิธีการเขียนซองซึ่งมีรูปแบบเฉพาะอีก คนญี่ปุ่นที่ไม่รู้ก็มีเยอะแยะ ผู้ผลิตจึงต้องพิมพ์วิธีการเขียนซองติดลงไปที่ด้านนอกของหีบห่อด้วย

นั้นแล...ผมจึงไปหาซื้อซองมาก่อน แต่สิ่งที่จะใส่ลงไป...ทำเอาผมตกใจมาก เพราะไม่เคยไปงานคนไทยแล้วต้องใส่ซองเป็นมูลค่าสูงเท่านี้ ตัวเงินไม่ใช่น้อย ไม่ใช่หลักร้อยหลักพันเหมือนของไทย เงินใส่ซองช่วยงานแต่งงานซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โกะ-ชูงิ” (ご祝儀; Go-shūgi) จะทำแบบไทยประเภทอิ่มอร่อยใส่ห้าร้อยกินทั้งครอบครัวไม่ได้ ของญี่ปุ่น ถ้าระบุตัวเลขแล้วคนไทยอาจลมใส่ เพราะอัตราทั่วไปสำหรับคนที่เป็นเพื่อนกัน คือ 30,000 เยน คิดเป็นเงินไทยตอนนี้ก็เกือบๆ หมื่น ไม่ผิดแน่ “หนึ่งหมื่นบาท” ถ้าเป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงาน คือ 30,000- 50,000 เยน และถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่คือ 50,000 – 100,000 เยนหรือมากกว่านั้น อัตราขนาดนี้ คนญี่ปุ่นเองก็คิดว่าแพงไม่เบาเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นธรรมเนียมและมารยาทสังคม คนญี่ปุ่นจึงปฏิบัติตามโดยไม่บิดพลิ้ว

นอกจากบรรทัดฐานด้านมูลค่าแล้ว จำนวนใบของธนบัตรที่ใส่ลงไปนั้นจะต้องหารไม่ลงตัวด้วย เช่น ใส่ซอง 60,000 เยน ควรแลกเป็นธนบัตรหนึ่งหมื่นเยน 5 ใบ และธนบัตรห้าพันเยน 2 ใบ รวมกันกลายเป็น 7 ใบ เพราะถ้าหารลงตัวจะถือว่าตัดสายสัมพันธ์กันได้ขาดสะบั้นจึงไม่เป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาว และตามมารยาท เงินที่ใส่ซอง จะต้องเป็นธนบัตรใหม่ เท่านั้น

ใกล้วันเข้ามาทุกที พอคิดถึงเรื่องการเดินทาง อาการมึนงงเหมือนผึ้งถูกรมยาก็ถาโถมเข้ามา จากตะวันออกสู่ตะวันตก...จากโตเกียว....ไปถึงโกเบ...ไกลไม่น้อย ลำพังระยะทางนั้นไม่เท่าไร นั่งรถไฟชิงกันเซ็งไปใช้เวลาแค่สามชั่วโมงกว่าๆ แต่ค่าใช้จ่ายไม่ใช่เล่น ค่ารถไฟแค่หนึ่งเที่ยวประมาณ 6,000 บาท ถ้าไปแล้วไม่กลับก็เสียแค่นี้ เมื่อมีขากลับด้วยก็คูณสอง ลองคิดดูก็แค่หมื่นสอง (เท่านั้นเอง?) เอาน่า...คิดซะว่า เดี๋ยวสักวันเราแต่งบ้าง เคโงะอาจนั่งเครื่องบินจากญี่ปุ่นมาร่วมงานถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ (กัดฟันฮา)

สามชั่วโมงกว่าเป็นเวลาที่ไม่นานนัก พอลงที่สถานีโกเบแล้ว ผมต่อแท็กซี่ไปโรงแรมใหญ่ใจกลางเมือง จากนั้นก็ตรงดิ่งขึ้นไปที่ลานจัดงาน เป็นไปอย่างที่คิด แขกเหรื่อมากันเต็มงาน ดูเหมือนผมไปถึงเกือบจะเป็นคนสุดท้าย ผู้ชายทุกคนใส่สูท ผู้หญิงทุกคนแต่งตัวกันเต็มที่ ส่วนใหญ่อยู่ในชุดราตรี มีผู้ใหญ่สองสามคนแต่งกิโมโน ภาษาถิ่นคันไซลอยเข้าหูไม่ขาดระยะ ตอนอยู่โตเกียว คุยกับเคโงะคนเดียวยังเหนื่อยแทบแย่ วันนี้เจอแม่เจอพ่อและเพื่อนเคโงะอีกเป็นสิบในคราวเดียวกัน ไม่ซ่อมหูวันนี้ก็ไม่รู้จะซ่อมวันไหนแล้ว

มนุษย์ต่างชาติเพียงคนเดียวในงานของคนญี่ปุ่น...อ้างว้างจัง ผมยังไม่เจอเคโงะ จึงเดินไปที่โต๊ะก่อน ยื่นซองล้ำค่าให้ฝ่ายต้อนรับ แล้วเดินเลี่ยงออกประตูไปสู่ดาดฟ้าที่อยู่ติดกับห้องจัดเลี้ยง ทั่วลานดาดฟ้าปลูกหญ้าและไม้พุ่ม แขกยืนจับกลุ่มคุยกันเป็นหย่อม ๆ ไม่มีใครรู้หรอกว่าผมเป็นคนไทย สายตาผมกวาดไปรอบ ๆ และสะดุดอยู่ที่สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เบื้องหน้า

‘นั่นมันโบสถ์นี่นา...’

ไม่ใช่โบสถ์ที่หมายถึงพระอุโบสถ แต่เป็นโบสถ์คริสตศาสนา และไม่ใช่ว่าโรงแรมใจดีอุตส่าห์สร้างโบสถ์ไว้ให้แขกที่มาพักได้สวดสรรเสริญพระเจ้า แต่เอาไว้ให้เช่าทำพิธีแต่งงานต่างหาก คบกับเคโงะมาหลายปี ทราบดีว่าเขาไม่นับถือศาสนาอะไร แต่งานวันนี้คงจะมีพิธีทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทุกวันนี้ ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่มีต่อศาสนาไม่เข้มข้นนัก การแต่งงานก็มีความหมายเชิงศาสนาน้อยมากหรือไม่มีเลย รูปแบบการแต่งงานของคนญี่ปุ่นมี 4 แบบหลัก คือ แต่งในโบสถ์ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า (ศาสนาคริสต์) แต่งต่อหน้าเทพเจ้า (ศาลเจ้าชินโต) แต่งต่อหน้าพระพุทธ (ศาสนาพุทธ) แต่งต่อหน้าสักขีพยาน (ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา) รูปแบบการแต่งขึ้นอยู่กับว่าใครจะ ‘เลือก’ แต่งแบบไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนับถือศาสนา เพราะถ้าไปถามคนญี่ปุ่นว่านับถือศาสนาอะไร คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตอบว่านับถือศาสนาพุทธ แต่พิธีแต่งงานแบบพุทธแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว คำว่าพิธีเชิงศาสนาในงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นจึงจัดขึ้น ‘เป็นพิธี’ เท่านั้น และพิธีที่คนญี่ปุ่นนิยมเลือกจัดมากที่สุดในปัจจุบันคือการแต่งงานในโบสถ์ งานของเคโงะในวันนี้ก็เช่นกัน
พ่อพาลูกสาวไปส่งให้แก่เจ้าบ่าวในโบสถ์
หลังจากที่แขกนั่งเรียบร้อย เคโงะเดินเข้าโบสถ์ บาทหลวงประกาศการเป็นสามีภรรยาของทั้งคู่และให้จูบ บาทหลวงอวยพร เพลงดังขึ้น แขกทุกคนยืน คู่บ่าวสาวลงชื่อในหนังสือสาบาน แล้วเจ้าสาวก็คล้องแขนเจ้าบ่าวเดินออกจากโบสถ์ เป็นอันว่าเสร็จพิธี หลังจากนั้นแล้ว มีงานเลี้ยงรับรองซึ่งเป็นงานแบบนั่งโต๊ะ เนื่องจากเจาะจงเลือกเชิญ แขกในงานของคนญี่ปุ่นจึงไม่ล้นหลามเหมือนงานคนไทย ผมประเมินด้วยสายตาแล้ว คิดว่าไม่น่าจะเกิน 20 โต๊ะ ผมนั่งอยู่ที่โต๊ะของกลุ่มเพื่อนเจ้าบ่าวใกล้กับเวที

เจ้าเคโงะตัวดีคงแอบบอกพิธีกรเอาไว้ เธอถึงได้ประกาศชื่อผมพร้อมกับยื่นไมโครโฟนให้

“เจ้าบ่าวอยากให้คุณ ‘โฆ-สุ-อิต-โตะ’ กล่าวอวยพรให้ค่ะ” เมื่อชื่อแปร่งหูคนญี่ปุ่นดังออกไป สายตาทุกคู่ก็จ้องมาที่ผมน่ะสิครับ ทุกคนคงคิดว่า ‘ใครกันหว่า ชื่อประหลาดจัง’

นี่ถ้าไม่ติดว่าเป็นงานแต่งงาน เจ้าเคโงะคงได้โดนผมเชิญเทพเจ้า “อะโฮ” ลงทรงแน่ ๆ อะไรกัน! จะให้พูดงานใหญ่ทั้งที ไม่มีการบอกล่วงหน้า ดาราฮอลลีวูดขึ้นรับออสการ์ เขายังงัดสคริปต์ออกมาอ่าน แล้วผมเป็นใคร ไม่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่เกิดเสียหน่อย เรื่องพูดน่ะ...ไม่เป็นไร ไม่ตื่นไมค์หรอก แต่ขอเขียนสคริปต์หน่อยได้ไหม?

ผมยืนขึ้น เห็นเจ้าเคโงะยิ้มเผล่อยู่บนเวที บ๊ะ...มันน่านัก แต่เมื่อไมค์จ่ออยู่ที่ปาก...พูดก็พูด

“อะโน...” ผมเลียนแบบคนญี่ปุ่นแล้วพูดต่อ
“...วันนั้น เรารู้จักกันเพราะเคโงะไปเที่ยวกรุงเทพฯ ผมกลับจากเกาหลีใต้ เคโงะก็เพิ่งไปเที่ยวเกาหลีใต้แล้วนั่งเครื่องบินต่อไปเมืองไทย เราอยู่ในเครื่องบินลำเดียวกัน แต่มารู้จักกันเมื่อลงจากเครื่องเพราะนั่งแอร์พอร์ตบัสด้วยกัน” มีเสียงดังหึ่งเป็นระยะ แขกคงซุบซิบเรื่องคนไทยที่กำลังสาธยายความหลัง หรือไม่ก็อาจจะกำลังซุบซิบเจ้าบ่าวว่า “แหม!...อินเตอร์จัง”

ผมว่าไปเรื่อยประมาณนาทีกว่า ด้วยความประหม่า ตอนนี้จำค่อยไม่ได้แล้วว่าพูดอะไร อวยพรไปหน่อยด้วยคำพูดที่ไม่ใช่คำสวยหรูอะไร และปิดท้ายไปว่า “เคโงะคุยสนุก...” ชมเสียหน่อยแล้วค่อยยิงมุก “...และพูดมาก แต่งงานไปแล้ว อย่าแย่งคุณแม่บ้านพูดซะหมดล่ะ”
เจ้าภาพกำหนดที่นั่งให้แขกและเขียนชื่อกำกับไว้ทุกที่ในงานเลี้ยงรับรองใหญ่
เจ้าเคโงะยิ้มเจื่อนอยู่บนเวที พอลงมาผมจึงคิดบัญชีกับเพื่อนสนิทเสียเดี๋ยวนั้นว่า “ทำไมไม่บอกก่อน (ฟะ) คราวหน้าคราวหลัง บอกหน่อย จะได้เตรียมตัว ไอ้....”
“คงไม่มีคราวหน้าแล้วแหละ”
ผมอึ้งไปนิด นั่นสิ...คงจะจริงอย่างที่มันว่า

งานเลี้ยงรับรองใหญ่ผ่านไปด้วยดี พอส่งแขกเสร็จ เคโงะพาผมไปหาแม่ซึ่งวันนี้แต่งชุดกิโมโนมาออกงานของลูกชาย ผมทักทายแม่ของเคโงะแล้วก็ได้รับซองหนึ่งซองกลับมา แม่บอกว่าในซองนี้คือค่ารถไฟ ผมจึงทราบวันนั้นว่า นอกจากของชำรวยชิ้นใหญ่ราคาแพง (ไม่ใช่ของชิ้นเล็ก ๆ แบบพิธีไทย) เจ้าภาพญี่ปุ่นจะช่วยค่าเดินทางของแขกที่มาไกลด้วย

ตอนเย็นเป็นการเลี้ยงสังสรรค์ช่วงที่ 2 ระหว่างเพื่อนฝูง ผมอยู่ร่วมอีกตามคำเชิญ ท้ายสุดเพื่อนรักบอกว่า อยากให้ร้องเพลงให้ฟัง ผมกำลังคิดว่าจะร้องเพลง ‘Unchanined Melody’ เพราะรู้สึกว่าน่าจะเข้ากับงานได้ดี แต่เจ้าของงานไม่เอา บอกว่าอยากฟังเพลงญี่ปุ่น วันนี้รู้สึกว่าเจ้าบ่าวเอาแต่ใจน่าดู ยังไง ๆ ก็อยากฟังคนไทยร้องเพลงญี่ปุ่น

“อยากให้ร้องเพลงซุบะรุ” เจ้าบ่าวว่างั้น พร้อมกับจัดแจงเตรียมใส่ชื่อเพลงให้

แหม...คราวนี้ผมอยากจะเชิญเทพเจ้า “บะกะ” ลงทรงเสียจริง ก็เพลงซุบะรุเป็นเพลงจากลาและเศร้าเหลือเกิน เหมาะกับงานแต่งงานเสียที่ไหน แต่เคโงะเป็นคนสนุกสนานและชอบทำอะไรแปลก ๆ อย่างนี้อยู่บ่อย ๆ เมื่อขัดไม่ได้ ผมจึงจำใจต้องทำตามคำขอ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าแขกคนอื่นคิดยังไง
ของชำร่วยเป็นของชิ้นใหญ่ เช่น ถ้วยเซรามิก เครื่องปั้นดินเผาเคลือบอย่างดี
วันนั้นงานเลี้ยงมีทั้งหมด 3 ช่วง ผมอยู่ครบทุกช่วง เลิกประมาณเที่ยงคืน วันรุ่งขึ้น ผมจึงเดินทางกลับโตเกียว และกว่าจะได้เจอเคโงะอีกทีก็เกือบหนึ่งปีหลังจากนั้น

ชีวิตแต่งงานของเคโงะดูราบรื่นดี เขาเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้งานในบริษัทใหญ่ซึ่งผลิตทางเดินงวงช้างขึ้นเครื่องบินของสนามบินในเอเชียหลายแห่ง รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิของไทยด้วย เขาได้ครอบครัวที่อบอุ่น และต่อมาก็ได้ลูกสาวที่น่ารัก

เคโงะเลือกความสนุกถึงได้ยอมสละความสบายเหมือนอย่างที่ดารารัตน์ เกียรติก่อสุขว่าไว้ในเพลงมีคู่เสียเถิดคุณขานั่นแหละ และลูกสาวที่เขาเพิ่งได้มาคงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เคโงะมีทั้งวันชื่นและคืน ‘สนุก’ ... “โอะเมะเดะโต” (おめでとう; Omedetō)” ยินดีด้วยนะ...เพื่อนเรา

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น