ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก ที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ผีคลายร้อน
คำประจำฤดูร้อนของญี่ปุ่นคำหนึ่งคือคำว่า “ไคดัง” (kaidan; 怪談) ซึ่งมีความหมายว่า “เรื่องผี” หรือ “เรื่องสยองขวัญ” [1] ตัวอักษรคันจิ 怪 อ่านว่า “ไค” (kai) แปลว่า น่าพิศวงหรือประหลาด ส่วน 談 อ่านว่า “ดัง” (dan [ดัง ไม่ใช่ ดัน]) แปลว่า การเจรจาหรือการสนทนา เมื่อรวมกันกลายเป็น怪談 จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่าการสนทนาเรื่องน่าพิศวง หรือในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ “เรื่องผี”
คำว่า “ไคดัง” เกี่ยวข้องกับฤดูร้อนของญี่ปุ่นเพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่าการเล่าเรื่องผีคือวิธีหนึ่งเพื่อช่วยคลายร้อน นัยว่าเมื่อฟังเรื่องสยองขวัญแล้วจะทำให้รู้สึกเย็นวาบหรือเสียวสันหลังจนลืมความร้อน ฤดูร้อนในญี่ปุ่นเริ่มประมาณเดือนมิถุนายนและจะเริ่มร้อนจริงจังในเดือนกรกฎาคม ร้อนแบบอบอ้าว อาจมีฝนตกสลับเป็นระยะในช่วงต้นฤดู ซึ่งช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง แต่อุณหภูมิโดยทั่วไปไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส และส่วนใหญ่จะร้อนที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม อากาศจะร้อนต่อเนื่องจนถึงกลางหรือปลายเดือนกันยายน ซึ่งอันที่จริงถือว่าเป็นเดือนที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงแล้ว
การเล่าเรื่องผีของชาวญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดเฉพาะในฤดูร้อน เล่ากันทุกฤดู แต่ถือกันว่าฤดูร้อนเหมาะที่สุดเพราะได้ความบันเทิงและประโยชน์ทางกายภาพด้วย จึงกลายเป็นขนบญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง นอกจากเป็นขนบการเล่าแล้ว ยังได้นำไปสู่งานจิตรกรรมภาพผีซึ่งมีอยู่มากมายในญี่ปุ่นด้วย และหากคนต่างชาติคิดว่าเรื่องผีเป็นเรื่องเล่าสนุก ๆ สำหรับเด็กอย่างเดียวและเก่าเก็บละก็ อาจจะต้องคิดใหม่
“มา ๆ ๆ มีเรื่องจะเล่า” ใครบางคนพูดขึ้นในคืนที่เราไปเข้าค่ายกัน
นั่นคือคืนกลางเดือนสิงหาคมในปีหนึ่ง ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวาเซดะและอยู่ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมเราไปเข้าค่ายฤดูร้อนที่จังหวัดนะงะโนะ (Nagano; 長野) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อมากในฐานะสถานที่ตากอากาศ
ช่วงกลางฤดูร้อน ระหว่างที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน สถาบันการศึกษาและชมรมหลายแห่งจะพาสมาชิกไปเข้าค่ายจัดกิจกรรมนอกสถานที่ พอตกกลางคืน เมื่อกินอาหารและพูดคุยสนุกสนานในแบบทั่ว ๆ ไปแล้ว บางกลุ่มก็จะเกิดการตั้งวงแบบนี้ขึ้นด้วย
“มีเรื่องจะเล่า? ฮั่นแน่ ไคดัง—เรื่องผี?” อีกคนถามทวน
เท่านั้นแหละ ผู้ร่วมวงก็แจ้งเกิดทันทีและกลายเป็นวงที่มีเกือบสิบ แล้วคนเรียกแขกก็เริ่มเล่า...
เพื่อนญี่ปุ่นที่ฟังอยู่ด้วยกันเงียบกริบ ตาแทบไม่กะพริบ คืนนั้นดึกแล้ว ผมกำลังง่วงและบังเอิญภาษาญี่ปุ่นของตัวเองก็ยังไม่แข็งแรงพอ จึงฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง รับรู้ได้แค่บรรยากาศ แต่เนื้อหาไม่เข้าหัว จะเก็บกลับมาเล่าต่อก็จนปัญญา จำได้แค่ว่าเรื่องที่เล่า ๆ กันนั้นเป็นเรื่องผีสมัยนี้ ไม่ใช่ผีซามูไรหรือผีชุดกิโมโน
เขาผลัดกันเล่าไปแล้วสองสามคน ผมก็ฝืนฟังไปเรื่อย พอเพื่อนเล่าจบผมก็สะดุ้งโหยง!
“ว่างาย...” เสียงนั้น? เอ่อ...คำถามนั้น
คนถูกถามตื่นเต้นขึ้นมาทันทีเพราะคำถามต่อไป
“แล้วที่เมืองไทยมีเรื่องผีที่พอจะเล่าให้เรา (คนญี่ปุ่น) ฟังบ้างไหม”
ผมตื่นเต้นเพราะทำอะไรไม่ถูก จริง ๆ แล้วคนต่างชาติเพียงคนเดียวในชมรมซึ่งเป็นผู้ไปอาศัยชมรมนี้เพื่อหาเพื่อน ควรจะพยายามให้เต็มที่เมื่อเพื่อนให้เกียรติอยากฟัง แต่...
“เรื่องผีน่ะมี แต่สงสารผีน่ะ อย่าเลย เพราะคนเล่าพูดภาษาญี่ปุ่นยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เดี๋ยวผีจะเสียหาย”
ไม่ใช่ไม่มีเรื่องเล่า แต่ไม่มีความสามารถในการเล่าเสียมากกว่า ผมจึงเกริ่นเรื่องแม่นากพระโขนงไปนิดเดียวแม้ในหัวจะนึกเรื่องขึ้นมาแล้วก็ตาม และบอกว่ารออีกสักปีสองปีค่อยมาฟังฉบับเต็มละกัน จำต้องตอบแบบนั้นไปเพราะภาษาญี่ปุ่นในระดับที่จะพูดคำว่า “วิญญาณ”, “ทำบุญ, “(ผี) หลอก” , “ตายทั้งกลม” ไม่มีอยู่ในหนังสือเรียน และเกินความสามารถของคนที่เพิ่งมาญี่ปุ่นได้ไม่นาน
เข้าค่ายฤดูร้อนคราวนั้นได้รู้ว่าขนบการเล่าเรื่องผีของคนญี่ปุ่นในฤดูร้อนยังมีอยู่ในปัจจุบัน และไม่ใช่เรื่องของเด็กเท่านั้น ต่อมาก็ได้ทราบอีกว่า แม้แต่ผู้ใหญ่วัยลูกสอง หรือวัยเท่าคุณแม่คุณพ่อของผมก็ยังอยากฟัง ที่ทราบเพราะนักศึกษาญี่ปุ่นวัยผู้ใหญ่ภาคพิเศษที่ผมสอนอยู่ด้วย ซึ่งบางคนอายุ 60 กว่าถึง 70 ปี ก็เรียกร้องเรื่องผีในช่วงปีสองปีนี้เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม “อยากเรียนเรื่องผีเป็นภาษาไทย”
ในฐานะคนไทยที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ผมก็ควรจะสนองความอยากเรียนเรื่องเกี่ยวกับไทย หรือจริง ๆ แล้วก็คือความอยากรู้นั่นเอง จึงจัดเต็มให้นักศึกษาได้สมอยาก เพราะตอนนี้พร้อมกว่าเมื่อหลายปีก่อนแล้ว คือมีอุปสรรคน้อยลงเมื่อต้องพูดคำว่า “วิญญาณ” (rei; 霊), “ทำบุญ (zen o okonau; 善を行うหรือ kudoku o tsumu; 功徳を積む ) , “ (ผี) หลอก” (odorokasu; 驚かす) , “ตายทั้งกลม” (คำนี้ไม่มีคำญี่ปุ่นที่ใช้ได้ตรงกับภาษาไทยพอดี แต่อธิบายเป็นประโยคว่า Ninpu ga jidō to tomoni shinu; 妊婦が児童とともに死ぬ。ซึ่งมีความหมายว่า “หญิงตั้งครรภ์ตายด้วยกันกับลูก (ในท้อง)” หรือ คำที่ใกล้เคียงคือ ninsanpushibō (妊産婦死亡) ซึ่งมีความหมายว่า การเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่คลอดลูกแล้วไม่เกิน 42 วัน)
“รู้เรื่องแล้ว ถ้าได้ไปเที่ยวเมืองไทย ลองแวะไปดู ศาลอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 77” อาจารย์ปิดท้ายพร้อมกับโฆษณาการท่องเที่ยวด้วยการส่งเสริมให้ไปเยือนศาลแม่นาก ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะตอนนี้อย่างน้อยก็มีประชากรญี่ปุ่นอีกไม่ต่ำกว่า 20 คนรู้จักแม่นากพระโขนงของไทย
ส่วน “ไคดัง” ของญี่ปุ่นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดในระดับที่คนญี่ปุ่นทุกคนต้องเคยผ่านหูมาบ้างอย่างแน่นอนนั้นมี 3 เรื่อง ซึ่งได้รับการบันทึกและเล่าต่อ ๆ กันมานานเป็นร้อยปี ได้แก่ เรื่องผีโยะสึยะ (โยะสึยะไคดัง; Yotsuya Kaidan; 四谷怪談) ; คฤหาสน์จานบันโช (บันโชซะระยะชิกิ; Banchō Sarayashiki; 番町皿屋敷) คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจรู้จักในชื่อ “ผีนับจาน” ; และ โคมโบตั๋น (โบะตันโดโร; Botandōrō; 牡丹灯籠; ) ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่เพียงโด่งดังในระดับที่เล่ากันปากต่อปากเท่านั้น แต่ยังผ่านการดัดแปลงเป็นละครคะบุกิที่ต้องใช้ศิลปะการแสดงขั้นสูงถ่ายทอดด้วย
ใน ‘สะดุดคำ’ ครั้งนี้ ผมเลือกสรุปความของเรื่อง โคมโบตั๋น มาเขียนใหม่ให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้นโดยคงประเด็นสำคัญไว้เผื่อจะช่วยคลายร้อนในเมืองไทยได้บ้าง สำหรับ เรื่องผีโยะสึยะ ในโอกาสหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนเรื่องคฤหาสน์จานบันโชนั้น ผมเคยแนะนำไว้คร่าว ๆ ครั้งหนึ่งในหนังสือสารคดี ญี่ปุ่นหลากมุม
โคมโบตั๋น
คะรั...ง โคะร...ง คะรั...ง โคะร...ง
ท่ามกลางความเงียบสงัดของราตรีหนึ่งในฤดูร้อนเมื่อนานมาแล้ว เกิดเสียง คะรัง...โคะรง... เป็นจังหวะซ้ำ ๆ เสียงนั้นไม่ดังนัก สร้างความรู้สึกวังเวงไปทั่วบริเวณ
คะรั...ง โคะร...ง คะรั...ง โคะร...ง
เสียงแหวกผ่านอากาศของยามดึก มืดออกอย่างนี้ ดึกออกอย่างนี้ ยากนักที่จะพบใครออกมาเดินตามถนน
คะรั...ง โคะร...ง คะรั...ง โคะร...ง
อ้อ...นั่นเสียงเกี๊ยะกระทบพื้นยามเดิน แต่เอ๊ะ...ไม่ใช่คนเดียว
หญิงสองนางกำลังเดินอยู่ ดูเหมือนไม่หวาดหวั่นต่ออะไรทั้งสิ้น พากันมุ่งหน้าต่อไปเรื่อย ๆ
“ใกล้ถึงแล้วสินะ” เสียงพูดของโอะสึยุดังขึ้น กระแสเสียงซอนผ่านอากาศอบอ้าว แทรกผสมกับเสียงเกี๊ยะ คะรัง...โคะรง...
“เจ้าค่ะ เดี๋ยวบ่าวจะรออยู่ที่ด้านนอกนะเจ้าคะ” หญิงนามว่าโอะโยะเนะผู้รับใช้เอ่ยรับ
“ข้าขอบใจเจ้ามากที่มาเป็นเพื่อนข้า”
“มิได้เจ้าค่ะ” โอะโยะเนะตอบยิ้ม ๆ
แสงจาก โบะตันโดโร ที่อยู่ในมือของทั้งสองเปล่งประกาย โคมนี้ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะที่ตัวโคมมีดอกโบตั๋นประดิษฐ์ติดเป็นเครื่องประดับ โดยทำอย่างประณีตแลดูสะดุดตา แสงจากโคมส่องให้เห็นใบหน้าสลัวของสองนาง
หญิงผู้เป็นนายนั้นคือสาวรุ่นวัยสิบเจ็ด หน้านวล แววตาส่อความหวังต่อบางสิ่งบางอย่างฉายชัด ส่วนนางผู้เป็นบ่าวสูงวัยกว่า หน้าซีดกว่า แต่รอยยิ้มเย็น ๆ ที่เจืออยู่บนใบหน้ายังความสดชื่นให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในคืนอับลมเช่นนี้
ไม่นานนักสองนางก็ไปถึงประตูของเรือนแถวแห่งหนึ่ง โอะโยะเนะร้องเรียกคนในห้องด้วยเสียวแผ่วๆ เท่านั้น ครั้นประตูเปิดออก ชายหนุ่มผู้หนึ่งก็ปรากฏตัว โอะโยะเนะหลบฉากไป เปิดทางให้บุรุษผู้นั้นได้เห็นหน้านายของตนชัด ๆ
ซามูไรไร้สังกัดนามว่าชินซะบุโร ฮะงิวะระวัยยี่สิบเอ็ดปีจ้องเขม็ง ตะลึงงันไปชั่วขณะ
“ท่านไม่ต้องเอ่ยคำใดดอก” โอะสึยุเอ่ยปรามก่อน “ท่านอาจจะตกใจที่ได้พบหน้าอิฉัน แต่เมื่อเห็นอิฉันยืนอยู่ตรงนี้แล้ว ท่านคงเข้าใจแล้วว่า ข่าวลือที่ครอบครัวของอิฉันใช้ให้หมอประจำตระกูลนำมาบอกท่านว่าข้าตายแล้วน่ะ เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ”
“จริงหรือนี่ โอะสึยุ นี่เจ้าจริง ๆ ด้วย” ชายหนุ่มกลั้นความดีใจไว้ไม่อยู่ น้ำตาเอ่อขึ้นมาทันที และลืมความร้อนของอากาศไปแทบหมดสิ้น “ใช่ ข้านึกว่าเจ้าตายไปแล้วจริงๆ” ชายหนุ่มเริ่มรวบรวมสติได้ พลางยื่นมือออกไปจับไหล่ของโอะสึยุ
“ครอบครัวของอิฉันยังใช้ให้หมอคนเดียวกันมาบอกอิฉันอีกว่าท่านก็ตายไปแล้ว ดีที่อิฉันให้โอะโยะเนะสืบจนรู้ว่าท่านยังไม่ตาย”
“ครอบครัวของเจ้าช่างร้ายนัก ข้าอยู่นี่แล้วทั้งคน เจ้าไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น”
“ตอนนี้อิฉันไม่ได้อยู่กับครอบครัวแล้ว อิฉันกับโอะโยะเนะแยกออกมาอยู่กันเองเจ้าค่ะ”
“โอ้ โอะสึยุ ดีจริง ๆ” เขาหยุดไปครู่หนึ่ง ไล่มองตั้งแต่หน้าผากจดริมฝีปากของนาง “ข้ารักเจ้ายิ่งนัก”
“อิฉันก็เช่นกัน นับแต่ครั้งที่อิฉันได้พบท่าน ก็มั่นใจว่าท่านคือคนเดียวที่อิฉันจะรัก” โอะสึยุเหลือบมองโอะโยะเนะแวบหนึ่ง บ่าวผู้จงรักพยักหน้าน้อย ๆ พร้อมรอยยิ้ม ส่งสัญญาณให้นายเข้าไปในห้องของฝ่ายชาย
ในเรือนแถวคร่ำคร่าแห่งนั้น แสงสลัวของเทียนอาบผิวของโอะสึยุ และไล้ต้นแขนกำยำของซามูไรหนุ่ม เป็นความอ่อนโยนกับความเข้มแข็งที่ได้มาบรรจบกันในห้องนี้ สองมือของเขาเอื้อมไปแตะข้อมือของนางที่ตนเฝ้ารอมาตลอด
“คำอธิษฐานของข้าเป็นจริงแล้ว โอะสึยุ ข้ารักเจ้า รักที่สุด”
ความรักของทั้งสองถูกกีดกั้นโดยครอบครัวของฝ่ายหญิง เพราะฝ่ายชายเป็นซามูไรไร้สังกัดอันถูกขนานนามว่าโรนิง “ครอบครัวเจ้า ทำถึงขนาดปล่อยข่าวว่าเจ้าตายแล้ว เพื่อให้ข้าตัดใจจากเจ้า” ชินซะบุโรพ้อโชคชะตา “เจ้าแยกมาอยู่แบบนี้ก็ดี ต่อไปเราก็มาอยู่ด้วยกันได้ ข้าคิดถึงเจ้า มาให้ข้าได้เชยชมเจ้าเถิด”
พูดจบไม่ถึงอึดใจชินซะบุโรก็โน้มตัวเข้าใกล้โอะสึยุแล้วแนบหน้าลงไปที่ซอกคอของนาง พอจมูกสัมผัสข้างต้นคอได้หน่อย โอะสึยุก็ผลักเขาออกด้วยวิสัยหญิงและก้มหน้างุด สีหน้าระเรื่อขึ้น
“อย่านะ อย่าเจ้าค่ะ”
“ทำไมล่ะ ข้ารอพบเจ้ามานานแล้วนะ ข้าใจจะขาดแล้ว นึกดูสิข้าต้องทนทรมานขนาดไหน
ความทรมานจากความรักทำให้คนถึงขั้นตรอมใจตายได้ แม้ชินซะบุโรยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับมาตลอดครึ่งปีหลังจากที่ได้พบโอะสึยุเพียงครั้งเดียวเมื่อช่วงปีใหม่ ภาพอดีตคราวนั้นผุดพรายขึ้นในห้วงความคิด นั่นคือความหลังครั้งที่ได้พบหน้าโอะสึยุครั้งแรกที่บ้านของนาง รักเอย...รักแรกพบ แม้ได้ประสบแต่รักไม่บรรจบดั่งหวัง ทั้งสองได้พูดคุยกันแค่ไม่กี่คำ ทว่าเมื่อสายตาประสาน ความรักที่ซ่านอยู่ภายในก็แสดงออกมาทางหน้าต่างแห่งหัวใจ หลังจากความเสน่หาเบ่งบานฉับพลัน ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ถ้อยคำประโยคนั้นของนางก็ยังคงดังก้องอยู่ในหูของเขาจวบจนกระทั่งวันนี้ ‘หากท่านไม่มาอีก อิฉันคงขาดใจตาย’
มาบัดนี้ ไม่ใช่เขาที่ไปหานาง แต่นางนั่นเองที่เป็นฝ่ายมาหาเขา
“มาเถิด มาให้ข้าได้สมใจในรัก”
โอะสึยุยังอิดออด แต่ไม่ดีดดิ้น ต่อมาก็ค่อย ๆ ย่าง แต่ไม่ยืดยาด ตามเขาไป ฝ่ายชายเลิกมุ้งขึ้นและแตะตัวฝ่ายหญิง เป็นสัญญาณว่าเข้าไปเถิด...นี่คือเวลาของสองเรา นางค่อย ๆ ขยับกายลงนั่งอย่างนิ่มนวล ยิ้มละมุนสื่อความเอมใจเป็นที่ยิ่ง ชินซะบุโรแหวกชุดกิโมโนของนางออกอย่างเบามือ และดันตัวนางลงเอนเหลังนอนก่อนจะถอดเสื้อของตน เผยแผงอกเป็นแผ่นและโน้มตัวลงบ้าง
ราตรีนี้ร้อนนัก
ก่อนรุ่งสาง โอะสึยุขอกลับที่พักด้วยเกรงว่าถ้าครอบครัวของนางรู้เข้าจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต
คืนต่อมา เสียงเดิมยังคงดังแผ่ว ๆ อยู่แถวนั้น คะรั...ง โคะร...ง คะรั...ง โคะร...ง โอะสึยุกับโอะโยะเนะมาเยือนบ้านของชินซะบุโรอีกโดยมีแสงไฟของโคมโบตั๋นเป็นเครื่องนำทาง เป็นเช่นนั้นติดๆ กันหลายคืน
เสียงพูดคุยกันระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวดังลอดจากห้องในเรือนแถวไปกระทบหูของคนที่อยู่ห้องใกล้เคียง เพื่อนบ้านนามว่าโทะโมะโซสงสัยว่าเสียงหญิงที่ไหนกันนะ แว่วมาทุกคืนจากห้องนั้นทั้ง ๆ ที่ชินซะบุโรเป็นชายโสด เมื่ออดรนทนไม่ได้จึงแอบดู
เงาตะคุ่ม ๆ ที่ทาบบนมุ้งในห้องนั้นขยับขึ้น ๆ ลง ๆ ทีแรกโทะโมะโซยังเห็นไม่ชัดนัก ครั้นสายตาปรับได้ที่ก็เห็นชายคนหนึ่ง ร่างเปลือยเปล่า โยกตัวขึ้นลงอยู่ในมุ้ง อ้อ...เจ้าชินซะบุโรนั่นเอง เอ๊ะ...ดูเหมือนใต้ร่างกายของเจ้าหนุ่มร่างกำยำมีใครบางคนนอนอยู่
“ใครกันนะ” ผู้แอบดูพึมพำ “อ้อ ๆ ๆ คงจะลากผู้หญิงมานอนด้วยล่ะสิท่า” โทะโมะโซคะเนโดยที่ยังเห็นไม่หมด
ครั้นเพ่งสายตาลงไปยังผู้ที่ถูกนอนทาบทับอยู่ บัดนั้นลมวูบใหญ่ก็พัดเปลวไฟสว่างวาบขึ้นกว่าเดิม เขาเห็น...นั่น...นั่นมัน? เขาเห็น แต่ไม่ถนัดถนี่ จึงขยี้ตาแล้วเพ่งอีกครั้ง
“หะ...หา? นะ...นั่นมัน” โทะโมะโซชะงัก ดูเหมือนเสียงที่ร้องลั่นออกมานั้นไม่มีใครได้ยิน ภาพที่ปรากฏสร้างความหวาดหวั่นแก่เขาจนแทบเสียสติ
ชินซะบุโรกำลังเสพสังวาสกับโครงกระดูก!
วันรุ่งขึ้นโทะโมะโซไปหาหมอดู หมอดูระบุชัดว่าโอะสึยุกับโอะโยะเนะคือผีร้าย!
“งั้น ที่ข้าเห็นนั่น ข้าก็ไม่ได้ตาฝาดไปน่ะสิ”
“สิ่งที่เจ้าเห็นคือผี โอะสึยุผู้เป็นนายตรอมใจตายที่ถูกกีดกันเรื่องความรัก ส่วนโอะโยะเนะก็เศร้าโศกเสียใจจนตายตามนายของตนไป”
“แล้วข้าจะทำยังไงดี ข้าขนหัวลุกไปหมด นั่นมันผี แล้วยัง...เอ่อ...สมสู่กับคนด้วย”
“นี่ เจ้าจงไปบอกชินซะบุโรเสีย แล้วเอายันต์แปะไว้ให้ทั่ว กันไม่ให้นางผีร้ายเข้าไปสูบวิญญาณของเขา มิฉะนั้นเขาจะตายในที่สุด”
โทะโมะโซทำตามนั้น ตีสองคืนต่อมา เสียง คะรั...ง โคะร...ง คะรั...ง โคะร...ง ก็ดังมาอีก ทว่าไร้เสียงพูดคุยระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวดังมาให้ได้ยิน ผีสองนางเข้าใกล้ห้องของชินซะบุโรไม่ได้ โอะสึยุเศร้าโศกเสียใจ ฟูมฟายที่จิตใจของชินซะบุโรเปลี่ยนไป
แต่แล้วคืนหนึ่ง โอะสึยุกับโอะโยะเนะก็มาหาโทะโมะโซ
“นี่พวกเจ้าอย่าทำอะไรข้านะ”
“พวกข้าไม่ทำอะไรแกหรอก แต่แกจงไปเอายันต์ที่บ้านท่านชินซะบุโรออกให้หมด”
“มะ...มะ...ไม่ ข้าทำไม่ได้หรอก”
“ต้องได้!” โอะโยะเนะสั่งเด็ดขาด
โทะโมะโซสะดุ้งเฮือก มือไม้สั่น ความกลัวบีบเค้นประสาทอย่างหนัก ตาแทบจะถลนออกมานอกเบ้า พลันก็เกิดความคิดอย่างหนึ่งขึ้นมา
“ถะ...ถ้าข้าทำแล้ว เจ้าจะให้อะไรข้า”
“ฮ่า ๆ ๆ” เสียงหัวเราะของนางบ่าวนั้นกรีดแหลมอย่างดูแคลน “ด๊าย...ถ้าเจ้าอยากได้ละก็”
ครั้นตกลงกันแล้วว่าผีสองนางจะมอบทองให้ โทะโมะโซก็แอบไปเอายันต์ออก และคืนนั้นเสียง คะรัง โคะรง ก็กลับมา ตามด้วยเสียงพูดคุยของชายหนุ่มหญิงสาว
โทะโมะโซนอนอกสั่นขวัญแขวนทั้งคืน พอถึงรุ่งเช้าก็ไปตะโกนเรียกชินซะบุโร แต่ไร้เสียงตอบ เมื่อเข้าไปดูข้างใน สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคือ...
ศพของชินซะบุโรมีใบหน้าทุรนทุราย ซีดจัด ตาเหลือก ผมเผ้ายุ่งเหยิง และบนพื้นมีกระดูกเกลื่อนกล่น ทั้งกระดูกมือในท่ากำลังบีบคอ กะโหลก และเท้า มันคือกระดูกใครกันเล่า
..................................
เกร็ดปิดท้าย
ชื่อเรื่อง “โบะตันโดโร” (Botandōrō; 牡丹灯籠) หรือ “โคมโบตั๋น” ประกอบด้วยคำ 2 คำคือ “โบะตัง” (botan; 牡丹) หมายถึง ดอกโบตั๋น กับคำว่า “โทโร” (tōrō; 灯籠) หมายถึง โคม ตะเกียง (ตะเกียงเสาที่อยู่ตามวัดญี่ปุ่น) กระทง (เช่น ลอยกระทงของไทย เรียกว่า โทโรนะงะชิ [tōrōnagashi; 灯籠流し] ) เมื่อ 2 คำประกอบกันเป็นคำประสมแล้ว การออกเสียงเปลี่ยนเป็น “โบะตันโดโร”
เรื่อง “โคมโบตั๋น” ได้เค้าเรื่องมาจากจีน และฉบับภาษาญี่ปุ่นมีมากกว่า 1 สำนวนซึ่งแตกต่างกันออกไปบ้างในรายละเอียด แต่ทุกสำนวนจะคงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของเรื่องดังที่คนญี่ปุ่นจดจำได้ดีอย่างน้อย 2 จุดหลัก ได้แก่ 1) เสียงเกี๊ยะ “คะรัง โคะรง” ของผีสาว ผีตามขนบญี่ปุ่นมักไม่มีขาและเคลื่อนที่โดยการลอยไปลอยมา แต่ผีในเรื่องนี้เคลื่อนที่โดยการเดินและสร้างเสียงที่ชวนขนลุกด้วยเกี๊ยะ และ 2) การเสพสังวาสระหว่างคนกับผี สำหรับเรื่องที่ผมนำมาเล่าในสำนวนใหม่นี้ อิงตามท้องเรื่องจากละครคะบุกิ
หมายเหตุ :
[1] คำญี่ปุ่นที่ออกเสียงว่า “ไคดัง” มีมากกว่า 1 คำ แต่ใช้ตัวอักษรคันจิต่างกัน คำที่ใช้บ่อย ได้แก่ 階段 หมายถึง บันได เช่น รีบขึ้นบันได [อดีต] —急いで階段を上りました。(Isoide kaidan o noborimashita) และ 会談 หมายถึง การเจรจา หรือ การประชุม เช่น การเจรจาไทย-ญี่ปุ่น (ได้รับการ) จัดขึ้นแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน— 日タイ会談は6月に行われました。(Nittai kaidan wa rokugatsu ni okonawaremashita)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th