xs
xsm
sm
md
lg

เรียนญี่ปุ่น มีทุนให้เยอะแยะ “สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์” กับประสบการณ์เพื่อน้องๆ นักศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับตั้งแต่มีการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้แก่คนไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นในสายตาคนไทยจะเจิดจ้ามากยิ่งขึ้น จากสถิติช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา มีคนไทยเดินทางเข้าญี่ปุ่นในฐานะนักท่องเที่ยวนับจำนวนแสนๆ คน ส่วนเหตุและผลทุกคนก็คงจะรู้เหมือนๆ กันว่า ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยและรากเหง้าแห่งซามูไรนั้น มีบรรยากาศความสวยงามเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม นั่นอาจไม่ใช่ทั้งหมด...
เพราะจากปากคำของคนหนุ่มคนนี้ ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมมากที่พ้นไปจากเรื่องเชิงท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากมุมของคนหนุ่มคนนี้ ที่มีดีกรีด้านการศึกษาจบมาจากประเทศญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นนั้น เป็นความปรารถนาอย่างหนึ่งของนักเรียนนักศึกษาบ้านเราจำนวนไม่น้อยที่อยากจะมีโอกาสได้ไปเรียนต่อหรือศึกษาที่นั่น
“ชาร์ต-สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์” ก่อนหน้าที่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ในสาขาความร่วมมือระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ เขาเคยไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วสองครั้ง และนั่นก็ทำให้เขาได้เห็นโอกาสบางประการที่อย่าว่าแต่นักเรียนนักศึกษาไทยไม่ค่อยรู้ แม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านั้น และนั่นก็คือสิ่งที่ ชาร์ต-สืบศิษฏ์ จะนำมาบอกต่อในงานเขียนเล่มแรกในชีวิตของเขาที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์จากคนที่เคยผ่าน “สนามจริง” เพื่อน้องๆ เยาวชนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณา หากต้องการบินลัดฟ้าไปศึกษาที่นั่น

“ชาร์ต-สืบศิษฏ์” กับการใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นถึงสามครั้งสามครา ไม่เพียงทำให้เขาได้บทสรุปกับตัวเองว่าชื่นชอบประเทศนั้น หากยังนำมาซึ่งประสบการณ์อันเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ ไม่เพียงเฉพาะต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวนักเรียนนักศึกษา หากแต่เราๆ ท่านๆ ผู้อยากเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศแห่งนี้ก็เช่นกัน

อืมมม...เราลืมบอกข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ว่า ครั้งหนึ่ง เขาเคยเป็นนักแสดงและถ่ายแบบที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เล่นละครเรื่อง My Darling is a Foreigner ซึ่งเป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงมากเรื่องหนึ่งในญี่ปุ่น

_____________________________________________________

   • ครั้งแรกที่คุณได้ทำความรู้จักกับประเทศญี่ปุ่นนั้น คือตอนไหน

ผมไปญี่ปุ่นครั้งแรก ตอนที่คุณพ่อของผมท่านไปเป็นนักวิจัยรับเชิญที่มหาวิทยาลัยเกียวโต จังหวัดเกียวโต ผมก็เลยได้มีโอกาสตามคุณพ่อไปอยู่ที่นั่นด้วยครึ่งปี ตอนนั้นผมไม่ได้มีโอกาสเรียนภาษาญี่ปุ่นหรืออะไรมากมายเลยครับเพราะถูกจัดให้ไปเรียนในคลาสอินเตอร์รวมกับนักเรียนต่างชาติคนอื่นๆ ทำให้หลายวิชาที่ลงเรียน เรียนเป็นภาษาอังกฤษเสียหมด แต่ก็มีโอกาสได้เรียนบางวิชากับคนญี่ปุ่นเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นบอกตรงๆ ไม่รู้เรื่องเลยครับ

   • พอได้รู้จัก เราเกิดความประทับใจอะไรเลยเป็นอย่างแรก

ในฐานะนักเรียน ผมประทับใจการศึกษาของญี่ปุ่นมากเลยครับ ตรงที่ว่าเขาเน้นการศึกษานอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน มีการทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น เด็กจะไม่ยึดติดอยู่กับหนังสือ ในทุกสัปดาห์เขาจะมีการให้เด็กไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน อย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เขาก็จะให้เด็กๆ แบ่งกลุ่มไปเดินเขา ไปเก็บนู่นนี่มาทำเรียงความส่ง หรืออย่างวิชาสังคมศึกษา ที่บ้านเราก็จะเรียนในตำราค่อนข้างเยอะ แต่ของเขาจะให้เด็กลงพื้นที่ ตอนนั้นผมเรียนที่เกียวโต เขาก็จะให้เด็กไปชุมชนที่เกียวโตเลยครับ ไปคุย ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านแถวๆ นั้นถึงความเป็นอยู่ของเขา ผมประทับใจการเรียนของเขาตรงนี้มากๆ ครับ (ยิ้ม)

   • คิดว่าการออกไป “ศึกษา” นอกห้องเรียน มันดีอย่างไรบ้าง

ผมรู้สึกว่าโดยทั่วไป เด็กส่วนมากจะเบื่อกับการเรียนในห้องเรียนอยู่แล้ว ยิ่งเด็กประถม เขาจะยิ่งเบื่อมาก ยิ่งวิชาสังคม วิชาภาษาไทย แทบจะหลับเลยด้วยซ้ำ เป็นวิชาที่ผมเองก็ไม่อยากเรียนจริงๆ แต่พอไปเรียนที่โน่นแล้วผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราได้รับจากในหนังสือ พอไปลงพื้นที่ดู ลองทำกิจกรรมดู มันทำให้เรารู้เลยว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ มันทำให้การเรียนสนุกว่าการเรียนแบบทั่วๆ ไป

   • ทั้งหมด คุณไปอยู่ที่ญี่ปุ่นนานแค่ไหนอย่างไร

สามปีครึ่งครับ ครั้งแรกตอน ป.4 ไปอยู่ครึ่งปี ครั้งที่สองไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน หนึ่งปี และครั้งที่สามไปเรียนปริญญาโทสองปีครับ ปริญญาโท ผมไปเรียนเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ผสมกับรัฐศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรนี้ในเมืองไทยยังไม่มี

ที่ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยให้เลือกเยอะมากเลยครับ แต่เมื่อครั้นตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ผมก็ตัดสินใจเลือกไปมหาวิทยาลัยที่กันดารที่สุด นั่นก็คือจังหวัดซากะ ซึ่งสมัยนี้คนจะเริ่มรู้จักกันมากขึ้นแล้วเพราะมีหลายช่องนำไปทำเกี่ยวกับละคร

   • ทำไมถึงเลือกไปถิ่นทุรกันดารแบบนั้นล่ะคะ

ผมว่ามันเป็นเมืองที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตแบบท้องถิ่นจริงๆ เหมือนกับคนต่างชาติที่เขามาประเทศไทย เข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งแน่นอนว่าก็จะได้รู้แต่บรรยากาศในเมือง แต่ถ้าคุณอยากได้อารมณ์ออกแนวประเพณีไทย นิสัยคนไทยแบบชาวบ้านจริงๆ อยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้แน่นอน ต้องไปต่างจังหวัด ไปอยู่กับคนพื้นบ้าน ผมเลยเล็งเห็นตรงนี้ว่า ผมอยากไปเห็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบพื้นบ้านจริงๆ

   • การไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ปรับเยอะนะครับ เพราะคนญี่ปุ่นเขามีกฎระเบียบค่อนข้างชัดเจน ซึ่งถ้าคนรู้กฎระเบียบของเขาแล้วทำตามจะไม่มีปัญหาเลย อยู่ได้สบายเลย แต่ถ้าไม่รู้จะอยู่ลำบาก สิ่งที่ผมไปเจอแล้วช็อกมากที่สุดเลยก็คือเรื่องความเข้มงวด เดิมทีผมเป็นคนสบายๆ ทำอะไรไม่ค่อยซีเรียส มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง แต่ไปอยู่ที่นั่นมันไม่ได้ แล้วกลายเป็นว่าอยู่กับเขาไม่ได้ โดนเขามองในแง่ลบ ผมเลยมาคิดว่าไม่ได้แล้ว เราทำอะไรต้องทำให้เต็มที่ ต้องเคร่งครัด

อย่างเรื่องการนัดหมาย เรื่องเวลาจะสำคัญมากสำหรับคนญี่ปุ่น อย่างคนไทยมาสายสิบห้านาทีเป็นเรื่องธรรมดา บางคนนัดเพื่อนสายไปครึ่งชั่วโมง ทั้งคนรอและคนมาช้ากลับเฉยๆ ไม่ว่าอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่คนญี่ปุ่น ห้านาทียังไม่ได้เลยครับ ผมเคยโดนว่ากล่าวเหมือนกันกับเรื่องเวลา วันนั้นไปสายสิบนาที ในความคิดของผมตอนนั้นมันเฉยๆ มากครับ แต่พอไปถึงโดนเทศน์เลย (หัวเราะ) ซึ่งเขาก็สอนมาว่าห้านาที สิบนาทีของเราอาจธรรมดาแต่ว่าห้านาที สิบนาทีของบางคนเขามีค่า แต่เขาต้องสละเพื่อมารอเรา เพราะฉะนั้น การทำงานหรือการอยู่กับคนญี่ปุ่น เรื่องเวลาจึงสำคัญมาก เขาถือว่าเขาให้เกียรติเรา เราก็ต้องให้เกียรติเขา

อีกเรื่องคือเมาแล้วขับ เขาเคร่งครัดมาก ที่ญี่ปุ่นแอลกอฮอล์ 0% จะขายดี เพราะว่าเขาเคร่งครัดกันมากจริงๆ ถ้าเมาแล้วขับแล้วโดนตรวจเจอ มีโอกาสถึงกับโดนไล่ออกจากงานเลย บางทีคนภายนอกมองมาก็จะมีคำถามว่าเครียดเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ ก็ดื่มได้ครับ แต่ต้องนั่งรถสาธารณะ ต้องไม่ขับรถ ต้องให้เกียรติคนบนท้องถนน

   • เห็นคุณบอกว่าหลงรักประเทศญี่ปุ่น อะไรในความเป็นญี่ปุ่นที่ทำให้คุณตกหลุมรัก

อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายๆ กัน เป็นคนเอเชียเหมือนกัน เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ อ่อนน้อมถ่อมตน ตรงนี้เป็นจุดหลักที่ผมชอบคนญี่ปุ่น นอกจากนั้นแล้ว ผมยังชอบอาหารญี่ปุ่น ซึ่งในเมืองไทยเรา ก็จะสังเกตได้เลยว่าร้านอาหารญี่ปุ่นเต็มไปหมด คนไทยบางคนทานแล้วทานอีก อีกอย่างคือสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นก็สวย บ้านเมืองเขาก็สะอาด ปลอดภัย

   • ไปเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งหลายรอบ อยากทราบว่าในความคิดของคุณแล้ว การศึกษาของญี่ปุ่นกับไทยแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

หลักๆ แล้ว การศึกษาที่ญี่ปุ่นจะมีอาจารย์เป็นศูนย์กลางครับ อาจารย์จะเปรียบเสมือนพ่อคนที่สองของเราเลย เพราะฉะนั้น อย่ามีปัญหากับอาจารย์เชียวครับอาจจะเรียนไม่จบได้ หลายคนที่ผมรู้จัก เรียนหลายปีก็ยังไม่จบ เพราะเข้ากับอาจารย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องระวังจุดนี้ ถ้าเป็นในโซนของยุโรป อเมริกาเขาค่อนข้างที่จะเปิดกว้างให้เด็ก มีอะไรเถียงตรงๆ ได้ ถ้าไม่เห็นด้วย หักอาจารย์ได้เลย แต่ญี่ปุ่นคือจบ จบเลยครับ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมไปแรกๆ ผมก็ไม่รู้ ยังไฟแรง มีอะไรก็จะเถียงเต็มที่ กลายเป็นว่าอาจารย์ไม่ชอบขึ้นมา มีปัญหากับอาจารย์ พอไปถามเพื่อน เพื่อนก็อธิบายให้ฟัง จากนั้นผมเลยหมั่นไปกินข้าวกับอาจารย์บ่อยๆ มีกิจกรรมอะไรก็ไปทำ พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเป็นการเอาใจ นอกจากในชั้นเรียนก็มีไปเที่ยว ออกนอกพื้นที่กับเขาบ่อยๆ นี่จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเรียนประสบความสำเร็จ (ยิ้ม) ในเมืองไทยก็มีเหมือนกันนะครับอาจารย์ที่ปรึกษา แต่บางคนเรียนจบแล้วยังไม่เคยไปหาอาจารย์สักครั้งเลย ห้องพักอาจารย์อยู่ตรงไหนบางทียังไม่รู้เลย (หัวเราะ) นี่คืออย่างที่หนึ่งที่ผมเห็นว่าต่างกัน

อย่างที่สองก็คือการตัดเกรด ที่ญี่ปุ่นเขาจะเรียนหนักมากตอนมัธยม ไม่ต่างจากคนไทยที่มัธยมก็ต้องเรียนหนักเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนๆ สอบๆ จนจบสี่ปี แต่กับคนญี่ปุ่น พอเข้ามหาวิทยาลัยได้จะสบายแล้ว จะเรียนๆ เล่นๆ มีเวลาทำงานพิเศษค่อนข้างเยอะ บางคนทำงานยันเที่ยงคืนตื่นมาเรียนต่อก็ไม่เป็นไร อันนี้จะเป็นส่วนที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เพราะหลายมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นถ้ามีเกรด F จะไม่โชว์ในใบทรานสคริปต์นะครับ อย่างของเราถ้าเรียนไม่ผ่านแล้วดร็อปก็จะติด W โชว์ในใบจบซึ่งแน่นอนว่ามันจะเป็นผลเสียต่อการสมัครงานในอนาคต แต่คนญี่ปุ่นคะแนนไม่ดีเขาก็ปล่อยไปอย่างนั้น หรือปลายเทอมถ้าทำไม่ได้ก็ปล่อย F เลยเขาจะไม่สนใจอะไรเพราะเกรดมันไม่โชว์ในใบทรานสคริปต์ ผมมองว่าตรงนี้ความตั้งใจเรียนของเด็กจะน้อยลงไปด้วย

   • ถามเป็นแนวทางให้กับน้องๆ เยาวชนหรือคนที่อยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นหน่อยค่ะว่าจะไปเรียนที่นั่นต้องอย่างไรบ้าง

ถ้าให้พูดตรงๆ ตัวผมก็มีส่วนที่คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนด้วยบ้าง แต่ถ้าถามในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีเพื่อนคนอื่นที่เขาไม่ได้มีคนสนับสนุนเลยไปเรียนอยู่รอดก็มีเยอะนะครับ จริงๆ ไม่ต้องมีภูมิหลังทางการเงินอะไรที่ดี ขอแค่มีความพยายามและตั้งใจจริงก็สามารถไปเรียนได้ครับ เพราะว่าพื้นฐานที่ญี่ปุ่น เขาสนับสนุนการศึกษาค่อนข้างเยอะ มีทุนเยอะมาก มีหลายทุนที่เด็กไทยไม่รู้จนบางทีทุนเหลือด้วยซ้ำ อย่างทุนที่ผมรับเป็นทุนของทางมูลนิธิบริษัทประกันบริษัทหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งผมเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับทุนนี้ (ยิ้ม)

ตรงนี้ผมมองแล้วว่าปัญหาจริงๆ อยู่ที่ข้อมูล เด็กไทยยังมีข้อมูลไม่ครบ ถ้าจะมองเรื่องทุนคนจะมองไปที่ทุนรัฐบาล ทุกคนจะรู้จักหมด แต่ในความเป็นจริงที่ญี่ปุ่นมีทุนอีกเยอะมาก ซึ่งในหนังสือที่ผมกำลังเขียน ผมก็จะแชร์ตรงนี้ด้วย ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถไปญี่ปุ่นได้

จริงๆแล้วผมเองก็เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลางก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย คุณพ่อเป็นข้าราชการ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน ผมอาศัยศึกษาเรื่องทุนมาค่อนข้างเยอะเพราะว่าผมไม่อยากเพิ่มภาระให้กับทางบ้าน จะศึกษาเยอะมากว่าทุนมีประเภทไหนบ้าง แบบไหนสมัครก่อนไป แบบไหนสมัครหลังไป แบบไหนที่มีช่องว่างพอให้เด็กไทยซึ่งผมก็อยากจะแชร์ให้เด็กมีโอกาสมากยิ่งขึ้น หลายคนพอสมัครทุนรัฐบาลไม่ได้ก็รู้สึกเสียใจ ผิดหวังว่าทำไมเราทำไม่ได้ ล้มเลิกแผนเลยจากที่ตั้งใจไปเรียน

   • เห็นบอกว่าระหว่างที่ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น เราไปทำงานด้วยเรียนไปด้วย ไม่ทราบว่ามันมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วไม่ยากเลยนะครับ ถ้าคุณอยากทำงาน คุณต้องแจ้งมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็จะเอาพาสปอร์ตไปทำใบอนุญาตทำงานให้ จริงๆ ก็ดีเหมือนกันนะครับ ในมุมมองของคนที่พ่อแม่ส่งมาเรียน เราก็สามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ส่วนหนึ่ง หรือในมุมมองของคนที่รับทุน คนที่รับทุนการศึกษา ชื่อก็บอกว่าให้ไปศึกษา ไม่ได้ไปเที่ยว เพราะฉะนั้น คนที่อยากไปเที่ยว อยากมีชีวิตที่รีแลกซ์ นอกจากไปเรียน ไปเที่ยวแล้วก็ไปทำงานเก็บเงินให้กับตัวเองก็ค่อนข้างดีเหมือนกัน

   • แล้วเรื่องการใช้ชีวิตล่ะคะ

ความยากเลยก็คือเรื่องภาษาเพราะถ้าคุณพูดภาษาญี่ปุ่นไม่เป็นก็จะยากพอสมควร เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเราต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของเขาก่อนที่เราจะไปว่าเขาชอบไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้อยู่กับเขาได้ ถ้าเรารู้เรื่องวัฒนธรรม ปัญหาทางภาษาจะเล็กลงไปเลยเพราะถึงแม้ว่าเราจะพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ เรายังใช้ภาษามือจนสื่อสารได้อยู่ดี แต่ถ้าเราไม่รู้วัฒนธรรมของเขา เราไปทำอะไรที่ไม่ถูกหรือที่เขาไม่ชอบ เราก็จะถูกมองในภาพลบได้

หลายคนบอกกับผมว่าก่อนที่จะไปญี่ปุ่นต้องเรียนภาษาให้เยอะๆ แต่ตรงนี้ผมอยากจะให้เสริมเรื่องวัฒนธรรมการเป็นอยู่ของเขาด้วยครับ อย่างเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรมเป็นเหมือนกันทุกประเทศ ประเทศไทยก็เป็น

ในหนังสือท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเขาจะเขียนไว้เลยครับ อย่างมาเมืองไทยอย่าใส่สั้นเข้าวัดนะ อย่าไปโอบหรือจับพระพุทธรูปนะ อะไรประมาณนี้ครับซึ่งหนังสือท่องเที่ยวเขาจะมีเขียนตรงนี้นะครับเพื่อที่เขามาเมืองไทยคนไทยจะได้ไม่มองเขาในแง่ลบ ส่วนตัวผมก็อยากจะเสนอให้หนังสือท่องเที่ยวต่างๆ ของไทยทำแบบนี้เหมือนกันว่านอกจากจะเขียนแล้วว่าไปเที่ยวญี่ปุ่นควรไปที่ไหน ร้านอาหารอะไรน่าสนใจก็ควรจะเสริมเรื่องวัฒนธรรมเข้าไป เพื่อให้คนไทยมีภาพพจน์ที่ดีกับคนญี่ปุ่น

   • เห็นว่าได้จะเขียนรวบรวมประสบการณ์ในญี่ปุ่นออกมาเป็นหนังสือด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องพ็อกเกตบุ๊กเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมันมีเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็จะเขียนในแนวคล้ายๆ กันตั้งแต่มีมหาวิทยาลัยอะไรบ้าง ทุนมีตรงไหนบ้าง สมัครยังไง ไปเรียนให้จบใช้ชีวิตยังไง ส่วนใหญ่จะออกแนววิชาการ ทางการ อ่านแล้วเข้าใจยาก ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมจะเขียนก็คือเขียนวิธีการหาทุน วิธีการใช้ชีวิต การหางาน การหาเงินในญี่ปุ่นที่เป็นสิ่งบ้านๆ แต่สามารถใช้ได้จริง อย่างสมมติเด็กๆ ถ้าที่บ้านไม่มีเงินสนับสนุนเลย ฐานะทางบ้านอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าเขาอ่านหนังสือของผม ไม่ว่าคุณจะมีฐานะยังไงก็สามารถไปได้ทุกคน ผมจะเน้นที่ว่าหาทุนได้จริงๆ สามารถหางานทำเลี้ยงตัวเองได้จริงๆ

   • แล้วขอบเขตของหนังสือเล่มนี้จะรวมอะไรบ้างคะ

ผมจะเริ่มจากที่สนใจเรียนคณะไหน ควรจะไปคณะไหน ควรจะไปแนวไหนพอรู้ตัวเองแล้วก็ดูว่าต้องหามหาวิทยาลัยยังไง หาอาจารย์ยังไง เทคนิคของผมจะเริ่มจากหามหาวิทยาลัยก่อนไม่ใช่หาทุนก่อน พอไปถึงแล้วก็จะดูว่าต้องหาที่พักยังไง ใช้ชีวิตยังไง การกินอยู่ต่างๆ หารายได้เสริมยังไงแล้วก็เรียนยังไงให้จบแล้วได้เกรดดี หลักๆ โดยรวมแล้วจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปศึกษาครับ

   • เราได้ประสบการณ์อะไรจากการอยู่ที่นั่นหรือการไปเรียนบ้างคะ

หลักๆ แล้วคือเปลี่ยนนิสัยเรา ถ้าเราไม่ได้ไปญี่ปุ่นเราก็ไม่ได้เป็นตัวเราจนถึงทุกวันนี้ เราไปสองสามรอบมันก็เหมือนหลอมตัวเรา ให้เรารู้วัฒนธรรมของเขา ถึงแม้มันจะมีข้อดีข้อเสียไปบ้างแต่เราก็จะเก็บข้อดีเพื่อนำมาใช้กับตัวเอง อย่างเปลี่ยนนิสัยเรื่องที่แต่เดิมทำอะไรชิลๆ ทำอะไรก็ได้ สบายๆ เปลี่ยนเป็นว่าถ้าทำอะไรก็จะทำให้เต็มที่ให้ดีที่สุด ถ้าไม่ทำเต็มที่ไม่ทำเลยดีกว่า แล้วก็เป็นคนที่ค่อนข้างตรงต่อเวลามากเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากๆ ครับ หลังจากที่เราไปอยู่ที่ญี่ปุ่นมา

   • เห็นว่านอกจากจะไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้วคุณยังมีโอกาสคลุกคลีกับวงการบันเทิงของที่นั่นด้วย ช่วยเล่าความเป็นมาให้ฟังหน่อยค่ะ

จะบอกว่าฟลุกมากๆ (หัวเราะ) ส่วนตัวผมก็เรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีค่อนข้างที่จะวิชาการมาก ไม่ใช่คนที่จะบันเทิงเลยแม้แต่นิดเดียว แต่วันนั้นบังเอิญ (เสียงสูง) มีงานหนึ่งหลุดมา เป็นงานที่ต้องถ่ายกะทันหันเขาเลยมาหานักเรียนไทยซึ่งทางเอเยนซีเขาก็ฝากทางสมาคมนักเรียนไทยมาโพสต์ขอแบบด่วนๆ ไปถ่ายโฆษณาของโดโคโมะ เป็นเครือข่ายมือถือของประเทศญี่ปุ่น ตอนแรกผมก็ไม่สนใจอะไรนะครับแต่มีพี่คนหนึ่งที่สนิทกันบอกให้เราลองไปสมัครดูเพราะคนญี่ปุ่นเขาชอบคนเข้มๆ เราน่าจะมีโอกาสได้ ผมก็เลยลองดูเพราะไม่ได้เสียหายอะไร คิดว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต ผมเลยส่งรูปไปซึ่งเป็นรูปที่ถูกคัดสรรจากเพื่อนๆ ญี่ปุ่นมองแล้วว่าดี ปรากฏว่าเราได้งานนี้ (ยิ้ม)

   • หลังจากนั้นมีงานอะไรอีกบ้างคะ

หลังจากนั้นเอเยนซีก็ส่งมาถามว่าเราอยากทำอีกไหม เขาก็เอารูปพี่คนไทยคนหนึ่งมาให้ดูซึ่งที่ญี่ปุ่นจะมีพี่คนหนึ่งที่เป็นคนไทยค่อนข้างดังเลยทีเดียวที่เขาได้ออกทีวีที่ญี่ปุ่นบ่อยๆ งานที่เกี่ยวกับเมืองไทยพี่เขาจะรับเกือบทั้งหมด ดังประเภทที่ว่าเดินในญี่ปุ่นคนก็จำได้ ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้จักหรอกครับ ซึ่งผมก็สนใจนะครับเพราะถ้าเรามีงาน เราก็จะได้มีเงินช่วยทางบ้านแถมยังมีประสบการณ์ชีวิตด้วย เขาเลยเรียกเราไปเซ็นสัญญา (ยิ้ม) ผมก็เลยโอเคเซ็นสัญญาและทำมาเรื่อยๆ

งานที่ผมภูมิใจมากที่สุดจะเป็นงานละคร ชื่อละครว่า My Darling is a Foreigner ชื่อภาษาไทยว่าฉันมีแฟนเป็นชาวต่างชาติ ของรายการวาไรตี้ World Ranking ช่องนิปปอนทีวี เนื้อเรื่องจะเป็นนางเอกเปลี่ยนแฟนเรื่อยๆ คบกับคนชาตินี้เปลี่ยนเป็นคนชาตินั้นเพื่อที่เขาจะสอนวัฒนธรรมต่างชาติให้กับญี่ปุ่นซึ่งผมก็เล่นเป็นคนไทย ละครเรื่องนี้มีคนตามคนดูเยอะมาก เพราะฉายในวันศุกร์ช่วงไพรไทม์ สัปดาห์สองสัปดาห์แรกก็มีคนจำผมได้ ส่วนตัวผมก็ดีใจนะครับที่เราได้เล่นละคร ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองไทยไปในตัวด้วย (ยิ้ม)

   • แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ธนาคารของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในไทยครับ ตำแหน่งผู้จัดการ ให้คำแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในไทย หรือบริษัทไทยที่ต้องการทำธุรกิจในญี่ปุ่นครับ นอกจากนี้ผมยังเป็นที่ปรึกษาอิสระให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการขยายตลาดหรือสำรวจตลาดในเมืองไทยโดยร่วมงานกับบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจของญี่ปุ่นหรือบริษัทของเพื่อนชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งคราวครับ (ยิ้ม)

   • ได้เห็นความหลากหลายในประสบการณ์ต่างๆ นานา อยากให้ช่วยประมวลประสบการณ์ต่างๆ ที่เรามีเพื่อสรุปว่าถ้าทำออกมาเป็นหนังสือแล้วผู้อ่านจะได้อะไรบ้างจากหนังสือเล่มนี้ มีมุมไหนอย่างไร

ผมมีจุดเด่นหลักสามจุดครับ จุดแรกคือที่ผมไปเรียนเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นซึ่งจุดนี้จะได้จุดขายให้กับผู้อ่านที่สนใจเรื่องการศึกษาเพราะเป็นนักเรียนที่จบจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งเป็นคนแชร์ความคิดเห็นเอง เป็นคนแชร์ประสบการณ์ตรง

จุดที่สองที่เป็นจุดขายก็คือตอนไปที่ญี่ปุ่นผมทำงานค่อนข้างเยอะและก็เป็นงานที่แปลก คนอาจจะไม่เคยทำแต่รายได้ดีอย่างเช่น สอนภาษาไทย เป็นคนพากย์เสียง ถ่ายละครและก็มีบรรยายให้กับนักเรียนชั้นมัธยมของญี่ปุ่น เรื่องของการเข้ากับคนต่างชาติ (Globalization) ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างแปลกเพราะว่าเวลาคนพูดถึงไปเรียนต่างประเทศ จะนึกถึงการไปทำงานร้านอาหารทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นคนที่อ่านหนังสือผมจะได้ไอเดียตรงนั้นไปด้วย ซึ่งทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นได้โดยไม่ต้องขอเงินจากพ่อแม่มากมาย หรือถ้าได้ทุนไม่เต็มก็สามารถอยู่ได้

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากเสริมเนื่องจากว่าผมไปกลับมาหลายรอบแล้ว ผมเห็นจุดที่ทำให้เราสบายมากขึ้น บางคนจะบอกว่าญี่ปุ่นค่อนข้างแพงแต่จริงๆ แล้วไม่แพงอย่างที่คิดเลย วิธีการใช้ชีวิตยังไง ทำกับข้าวเองจ่ายตลาดยังไงให้ต้นทุนเหมือนอยู่เมืองไทยเลยซึ่งเผลอๆ อาจถูกกว่าไทยด้วยซ้ำ ทำยังไง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมจะแชร์ลงในหนังสือ อย่างเช่นตอนที่ผมจะทำอาหารซื้อแซลมอนทานหนึ่งชิ้น ชิ้นหนึ่ง 20-30 บาท ไข่ซื้อที 10 ฟอง 30 บาทถูกกว่าเมืองไทยอีก สิ่งเหล่านี้คุณสามารถไปหาได้ที่ไหนหรือคุณสามารถบริหารค่าใช้จ่ายยังไงให้ถูกและอยู่ได้

พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นทางการมาก แต่ว่าเน้นในแบบบ้านๆ แต่สามารถใช้ได้จริง สามารถเอาไปทำได้จริงๆ

   • ในอนาคตอยากจะทำอะไรต่อไป มีโครงการในฝันอะไรที่อยากทำบ้าง

เริ่มต้นผมจะเริ่มจากการศึกษาก่อน เนื่องจากเรามีประสบการณ์ตรงและรู้จักคนเยอะ ผมมองว่าถ้าเราทำงานเฉยๆ เลยสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ได้ถูกแชร์ให้กับเด็กรุ่นหลัง ผมรู้สึกเสียดายที่มันจะจบลงแค่นั้น อย่างคนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ผมไปจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว มีหลายคนมากที่จบแล้วทำงานที่นู่น ไม่กลับมา ตรงนี้ผมมองว่าน่าเสียดายนะ แทนที่เราจะเอาประสบการณ์ตรงนี้มาเพื่อพัฒนาประเทศเรา ซึ่งสิ่งที่ผมอยากทำในอนาคต คือเริ่มจากหนังสือแชร์ให้น้องๆ ได้อ่าน ซึ่งถ้ามีอะไรสามารถทำหรือร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ผมก็อยากจะทำและมีส่วนร่วมด้วย แต่จะเน้นในเรื่องของการศึกษาของเยาวชนเป็นหลักครับ (ยิ้ม)

ท้ายสุด ผมยินดีที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเรียนการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น โดยน้องๆ สามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามได้ที่เฟซบุ๊ก Shad Sarntisart ผมมีความตั้งใจที่จะแชร์ความรู้และประสบการณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเยาวชนรุ่นหลังให้มากที่สุดครับ

ผลงานในวงการบันเทิงของประเทศญี่ปุ่น





เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์ และเฟซบุ้ค Shad Sarntisart

กำลังโหลดความคิดเห็น