xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์กูรูอาหารไทย-เทศ เป้า-นุชนันท์ โอสถานนท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป้า-นุชนันท์ โอสถานนท์
 
การแสดงความรักส่งผ่านอาหารของคนไทย มีมาเนิ่นนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่งดงาม ปัจจุบันศิลปะการทำอาหาร ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสำหรับคนรุ่นใหม่ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่กับ เป้า-นุชนันท์ โอสถานนท์ มองว่า อาหารเป็นเสมือนสายใยที่ยึดโยงความสุขที่ดีที่สุดของเธอ เธอจึงสนใจเรียนรู้เรื่องการทำอาหารทุกชนิด ตลอดจนวัฒนธรรมการกินของผู้คนทั่วโลก

 
เป้า-นุชนันท์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเชื้อเพลิงและประกันภัย บริษัทการบินไทย ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์เขียนคอลัมน์โฮม กูร์เมต์ ใน นิตยสารกูร์เมต์ แอนด์ คลูซีน และที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัทต่างๆ เริ่มต้นสนทนาด้วยรอยยิ้มสดใสตามสไตล์ของคนอารมณ์ดี โดยเล่าย้อนถึงความทรงจำดีๆ ในวัยเยาว์ว่า มีแต่เรื่องอาหารทั้งสิ้น โดยก่อนจะเริ่มรักการทำอาหารอย่างจริงจัง เธอจำได้ว่าไปทานบิสกิตที่บ้านคุณปู่ เมื่อทาน 1-2 ชิ้น ก็รู้สึกติดใจอยากทานอีก แต่แม่ครัวบ้านคุณปู่ไม่อนุญาต บอกว่ามีน้อย ต้องแบ่งไว้ให้คนอื่นที่ยังไม่ได้ทาน ครั้งนั้นก็เลยจำและคิดฝังใจว่า “ถ้าหากทำเป็นเมื่อไหร่จะทำกินหลายๆ ชิ้นเลย”

เป้าในวัย 70 ปี เล่าจบก็นิ่งเงียบพร้อมทอดสายมองขนมชิ้นเล็กตรงหน้า ก่อนจะปะติดปะต่อเรื่องราวความทรงจำ เมื่อครั้งเริ่มทำอาหารในอดีตให้ฟังต่อว่า พออายุได้ 3-4 ขวบ เธอมีโอกาสช่วยงานครัวเป็นประจำเกือบทุกวัน ที่นั่นเธอจะได้เห็นแม่ครัวทำอาหารทุกจานด้วยความตั้งใจ ทำให้เธอคุ้นเคยและหลงเสน่ห์โดยไม่รู้ตัว

“ตัวเองเป็นคนชอบรับประทาน ตอนนั้นไปช่วยเขาหยิบจับ หั่นผัก เตรียมของ และได้ทดลองทำตั้งแต่บิสกิต ขนมชั้น ทองพลุ กินได้บ้างไม่ได้บ้าง (หัวเราะ) แต่ก็ถือว่าได้หัดทำ คนที่สอนคือต้นครัวชื่อ “แม่ชม” ทำเก่งทุกอย่างทั้งไทยเทศ แม่ชมสอนทุกอย่างบอกว่าหากชมตายแล้วจะได้ทำได้ ตัวเราเองความจำไม่ดี ก็เลยจดด้วย ทุกวันนี้สูตรต่างๆ ยังเก็บไว้ เอามาทำใหม่รสชาติยังเหมือนเดิม จนไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ก็มีโอกาสได้ทำกินเองและให้เพื่อนๆ กิน”

 
หลังจากที่ “แม่ชม” ได้จากไป เส้นทางการเรียนรู้เรื่องการทำอาหารของเป้า คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด แม้จะชอบปรุงอาหาร แต่ก็ไม่เคยเข้าเรียนโรงเรียนสอนการทำอาหารเลย เป้าบอกกับเราว่า เธอใช้วิธีศึกษาจากCookbookทั้งไทยและต่างประเทศ โดยใครบอกว่าตำราเล่มไหนดีก็จะซื้อมาลองทำหมด นำมาผสมกับประสบการณ์ด้านอาหารที่เคยได้ทานมา “จำรสชาติและกลิ่นของอาหารแต่ละชนิดที่ทานในวัยเด็กได้เกือบหมด พอมาลองทำให้เพื่อนทาน ก็ได้รับคำชมมาตลอด” เป้าบอกแนวทางการเรียนรู้ของเธอ และน่าจะเป็นอีกครั้งที่เธอเอ่ยถึง “ครู” ที่สอนทำอาหารได้อย่างลึกซึ้ง

เป้ายังเปรียบเทียบถึงการทำอาหารฝรั่งกับอาหารไทยว่า อาหารฝรั่งไม่ค่อยมีปัญหา แม้จะละเอียดอ่อนใช้วัตถุดิบมาก แต่ก็ไม่ยากเพราะมีสูตรเฉพาะ แต่อาหารไทยเป็นอาหารที่ละเอียดอ่อนแต่ทำยากมาก เป็นการผสมผสานของหลายรสชาติ คนที่ทำอาหารไทยได้ดี คือคนที่ต้องมี “รสปาก” ที่ดีด้วย โดยเธอบอกว่า ตำราอาหารไทยมีไว้เพียงเพื่อเตือนสติ เช่น พะแนงเนื้อต้องใส่อะไรบ้างเท่านั้นเอง และยังไม่มีตำราอาหารไทยเล่มไหน ที่จะอธิบายเรื่องรสชาติได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ยากมาก “ไม่มีใครทำออกมาได้เป๊ะ ต่อให้ตวงหรือชั่งน้ำหนักก็ไม่มีทางได้มาตรฐาน ยกตัวอย่าง มะพร้าว 1 กิโลกรัม มีความมันไม่เหมือนกัน มะขามเปียก 1 กำ คั้นออกมาได้ความเปรี้ยวไม่เท่ากัน เพราะมะขามแต่ละฝักจะมีรสเปรี้ยวไม่เท่ากัน ดังนั้น อยากทำออกมาดี ให้จำรสชาติและกลิ่นที่เคยกิน

 
ปัจจุบัน เป้ายังคงมีความสุขกับการจ่ายตลาดซื้อวัตถุมาปรุงเอง โดยเธอบอกว่าอยู่ในกระแสเลือด ต้องทำทุกวัน วันละหลายๆ รอบ โดยเฉพาะ อาหารไทย นั้นมาจากตัวเองที่รู้สึกว่า เวลาเราไปกินอาหารไทยที่ไหน ก็ไม่อร่อยถูกใจเท่าทำทานเอง เพราะทุกครั้งที่ทานนอกบ้านจะเจอแต่ “ต้มยำกุ้ง” ใส่น้ำพริกเผามันลอยฟ่อง พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานน้ำใสแจ๋ว พริกแกงจากตลาดทำออกมารสชาติเดียวกันหมด ผัดกระเพราใส่ถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่ แครอท ทุกอย่างเพี้ยนไปหมด เพี้ยนจนไม่อร่อย ก็คิดว่าทำไมต้องเจอแบบนี้ เพราะตอนเด็กทานพะแนงเนื้อ ก็คือพะแนงเนื้อจริงๆ มีน้ำขลุกขลิก แกงเขียวหวานก็รสชาติเขียวหวาน มีสีเขียวและหวานจากใบพริก ไม่ใช่เขียวเพราะใส่สี หรือหวานจากน้ำตาล ก็เลยทำเองดีกว่า

 
การเข้าครัวทำอาหาร คือความสุขที่แท้จริงของเธอ เพราะนอกจากช่วยให้มีสมาธิที่ดีแล้ว ยังเป็นการบำบัดอารมณ์ที่ดี ช่วยไม่ให้เกิดความเครียดและไม่เหงา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บ้านของเธอจะมีตู้เย็นแช่วัตถุดิบการทำอาหารมากถึง 6 ตู้ และมีห้องครัวถึง 2 ห้อง แต่ละห้องมีขนาดใหญ่ เลือกทำเลที่อยู่ติดกับห้องรับแขก

“ทำ 2 ห้องเพราะเราใช้ชีวิตอยู่ในห้องครัวมากกว่าห้องอื่นๆ การทำอาหารช่วยเรื่องสมาธิได้จริงๆ นะคะ หลายคนเลือกคลายเครียดด้วยการเข้าวัดไปนั่งวิปัสสนา เดินจงกลม แต่ถ้าให้ดิฉันไปทำแบบนั้นก็คงเครียดตาย ทำไม่ได้ เพราะไม่ถนัด และถ้าจะให้ไปต่างประเทศ หากใครมาชวนไปดูดอกไม้ ไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ชวนอย่างไรก็ไม่ไป เพราะไม่ชอบ แต่ถ้าชวนไปทานถึงไหนถึงกันเลยค่ะ”

 
และเมื่อถึงเวลาที่ต้องร่ำลากัน เจ้าของหนังสือ Cookbook “เป้า คิทเช่น ซาวัวรีส์ แอนด์ สวีท” ยังฝากบอกถึงคนรุ่นใหม่และคนที่สนใจทำอาหารว่า ไม่จำเป็นต้องเก่ง เพราะไม่มีใครทำอาหารเก่งตั้งแต่เกิด ขอแค่ทุกครั้งที่คิดจะเข้าครัวทำอาหาร ให้ใส่ใจโดยเฉพาะ อาหารไทย เพราะเป็นอาหารประจำชาติที่แม้จะยาก แต่หากอาศัยความคุ้นเคย จำกลิ่นและรสชาติในแบบที่ตัวเองชอบ ก็จะได้อาหารที่อร่อยไม่ผิดเพี้ยนอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น