xs
xsm
sm
md
lg

“ปลูกมะนาวทุกบ้าน โละทิ้งอาหารการบินไทย” มาตรการสุดประทับใจจากบิ๊กตู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตรียมกระถางปลูกมะนาวกันใหญ่! หลังนายกฯ แนะทางแก้ปัญหาราคาแพงว่าให้ทุกบ้านหัดช่วยเหลือตัวเองด้วยการปลูกกินเอง เสริมอีกมาตรการด้วยการโละทิ้งอาหารไร้มาตรฐานของการบินไทย แทนที่ด้วยรสชาติระดับห้าดาว ทั้งยังจัดตั้งคณะกรรมการเมนูอาหารขึ้นมาใหม่ ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือว่าได้ใจประชาชนชาวไทยไปเต็มๆ แต่ทว่านักวิชาการชี้ ยังเป็นทางออกที่ตื้นเขินและไม่ยั่งยืนเพียงพอ




เลิกบ่น! แล้วปลูกมะนาวกินเอง

(ตอบคำถามอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน)
“มันก็แพงมาทั้งชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงปัญหาราคามะนาวแพงในช่วงนี้เอาไว้อย่างนั้นหลังถูกยิงคำถามจากสื่อมวลชนว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหา จากนั้นจึงระบายวิธีสุดสร้างสรรค์จากใจออกมาโดยตอบว่า ให้ประชาชนลุกขึ้นมาปลูกมะนาวในกระถางกินเองได้แล้ว ต้องหัดช่วยเหลือตัวเองบ้าง เพราะมะนาวจะแพงทุกฤดูแล้งอย่างนี้เป็นปกติ จะได้ไม่ต้องบ่นเรื่องนี้กันอีก

"จะให้ไปควบคุมราคาเขาได้ยังไง ในเมื่อผู้ปลูกก็ต้องลงทุน หน้าแล้งเขาก็ต้องหาโอกาสที่จะขึ้นราคา เนื่องจากมันปลูกยาก วิธีแก้ปัญหาก็ควรปลูกกินเอง มันก็จบแล้ว"


(ปลูกมะนาวใส่กระถางกินเอง อย่างที่นายกฯ แนะนำ)

มันปลูกกันได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ? หลายคนสงสัยเช่นนั้นทันทีที่ได้ยินวิธีแก้ปัญหาจากผู้นำของประเทศ ทั้งยังชวนให้เกิดความสงสัยว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาปัญหาพ่อค้าแม่ขายและเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระนี้ได้มากแค่ไหน ทางทีมช่าว ASTV ผู้จัดการ Live จึงสอบถามไปยัง นิวัติ ปากวิเศษ ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยยืนยันว่าทุกบ้านสามารถปลูกได้ง่ายๆ และเห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ของท่านนายกฯ

ผมเห็นด้วยนะ เป็นวิธีลดค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพในครัวเรือนได้เลย ปลูกต้นเดียวก็กินได้ทั้งปี แต่ต้องเลือกพันธุ์ที่ปลูกง่ายๆ หน่อย แนะนำว่าเป็นพันธุ์ “แป้นพิจิตร1” ก็ได้ครับ ปลูกง่าย โตง่าย โรคและแมลงไม่ค่อยรบกวน พันธุ์นี้ตามร้านขายต้นไม้น่าจะมี ถ้าปลูกในกระถางก็ไม่ได้ต้องการเนื้อที่เยอะอะไรมากครับ ปลูกหน้าบ้านก็ได้ แค่มีพื้นที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม.ก็ถือว่าใหญ่แล้ว จะได้ 1 ต้น แค่นั้นก็เก็บกินไปได้ทั้งปีแล้ว เพราะมะนาวจะแตกใบอ่อนทุก 45 วันพร้อมกับดอก ถ้าดูแลดีๆ ก็มีใช้ได้ตลอด

แต่อาจจะต้องดูดีๆ นิดนึง เพราะบางคนคิดจะปลูกแต่ไม่ค่อยรู้อะไรก็น่าสงสาร ไปถูกเขาหลอกขายอุปกรณ์ ขายดินผสมซึ่งมันแพงมาก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ท่านนายกฯ ติดต่อทางภาคการเกษตรให้ออกสูตรออกมาเลยก็ได้ ว่าต้องใช้ดินผสมที่กำหนดไว้เลยว่าต้องมีดินกี่ส่วนมีปุ๋ยคอกกี่ส่วน ถ้าจะสนับสนุนให้ภาคประชาชนปลูกใช้กันในครัวเรือนกันจริงๆ แล้วมันจะไม่ยากเลย



หลายคนอาจเหมารวมไปแล้วว่า ช่วงมะนาวแพงน่าจะเป็นช่วงที่เกษตรกรดีใจมากที่สุด แต่ในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง นิวัติบอกได้เต็มปากเลยว่าไม่จริงสักนิดเดียว เพราะโดยรวมแล้วช่วงที่มะนาวราคาถูกมีมากกว่าช่วงมะนาวแพงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นไปได้ทางเกษตรกรก็อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาระยะยาวโดยการเข้ามาประกันราคาให้คงที่ เข้ามากำจัดปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง และสนับสนุนการแปรรูปน้ำมะนาวสดเอาไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนให้มากขึ้น

“น้ำมะนาว 1 กก.ที่เป็นน้ำแปรรูปออกมา มาจากมะนาวเบอร์ใหญ่ 80 ผล ถ้าแปรรูปตรงนี้เอาไว้ จากช่วงมะนาวราคาถูก จะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ถ้าช่วยเกษตรกรช่วงนั้นด้วยการซื้อมากิโลกรัมละ 80 บาท จากนั้นเอามาแปรรูปเป็นน้ำมะนาว น็อกน้ำแข็ง แช่ไว้ที่ช่องเย็น -30 องศาเซลเซียส ตามที่กรมวิชาการเกษตรมาสอน ก็จะทำให้น้ำมะนาวนี้อยู่แบบสดๆ ได้อีกเป็นปีโดยไม่ต้องใส่สารกันบูด และสามารถเอาน้ำมะนาวนี้ออกมาใช้แทนลูกมะนาวที่ขาดแคลนช่วงขาดตลาดได้ คนก็เข้ามาซื้อกัน ร้านอาหารก็บอกว่ารสชาติไม่แตกต่าง แค่กลิ่นดร็อปลงนิดเดียว


(ราคาในท้องตลาด แพงกว่าราคาต้นทุนไม่น้อย)
ทั้งนี้ ปกติแล้วมะนาวจะแบ่งช่วงออกผลเป็น 3 ช่วงหลักๆ คือ “ช่วงราคาถูก” ประมาณปลาย พ.ค.-ธ.ค. จะเป็นช่วงที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตเยอะ ออกจากสวนได้ในราคาลูกละ 40-50 สตางค์ แต่ราคาตอนคนไปซื้อจะขายอยู่ที่ลูกละ 1 บาทกว่าๆ อีกช่วงคือ “ช่วงราคากลางๆ” ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ. เพราะยังเหลือมะนาวจากช่วงก่อนหน้าให้เก็บไว้ขาย และ “ช่วงราคาแพง” คือเดือน มี.ค.-เม.ย. เพราะมะนาวเพิ่งแตกผลในช่วงปลาย ม.ค. และต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือนเพื่อรอให้ผลโต จึงเก็บมาขายในช่วงเดือนนี้ไม่ได้และขาดตลาดอย่างที่เห็น

“อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่อยากให้มองข้ามก็คือเรื่องพ่อค้าคนกลาง ทุกวันนี้กระบวนการขายยังต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีก 2-3 คนที่มารับมะนาวจากสวนและคอยบวกราคาเพิ่มไป จนทำให้ราคาจากสวนที่รับมาลูกละ 3 บาทซึ่งเป็นไซส์รอง พ่อค้าเขาเอาไปขาย เขาก็บวกเพิ่มกลายเป็นลูกละ 7 บาทบ้าง 8 บาทบ้าง แล้วก็บวกเพิ่มเยอะไปถึง 10 บาทเลยก็มี จริงๆ แล้ว ถ้ารัฐบาลจะช่วยประกันราคามะนาวทั้งปีให้ขายอยู่ที่ลูกละ 1 บาท (ราคาออกจากสวน) ผมว่าเกษตรกรยอมนะ เพราะตอนนี้ราคาช่วงถูกกับช่วงแพงมันต่างกันมาก และช่วงถูกก็กินเวลานานกว่า เกษตรกรก็ขาดทุนเยอะ



(ภาคใต้หนัก ราคาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 100 บาท)
เชื่อมั้ยครับว่า 1 ลัง (500 ลูก) ช่วงราคาถูกเราจะขายได้ตกลังละ 100 กว่าบาท แต่ช่วงแพงขายได้ถึงลังละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทิ้งห่างกันมากๆ แต่เกษตรกรไม่ได้อยากได้กำไรมากๆ เป็นช่วงสั้นๆ แบบนี้เลย จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ประกันราคาขายทั้งปีให้อยู่ที่ลังละ 400 บาท แล้วเกษตรกรจะมีเงินไปเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียง มีเงินซื้อค่าปุ๋ยค่ายาและปลูกมะนาวได้ต่อไป ส่วนผู้ซื้อก็จะพอใจ ไม่ต้องมาบ่นเรื่องราคาแพงกันอีก”


นอกจากเรื่องปัญหาปากท้องที่ต้องพบเจอแล้ว ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทยยังพูดถึงผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาจากราคามะนาวแพงเอาไว้อีกมุมหนึ่งด้วยว่า ทำให้ไม่มีเวลาได้หลับได้นอน ต้องคอยผลัดกันเฝ้าเวรยามเพราะมีโจรพกกระสอบเข้ามากวาดเอาผลผลิตไปยกไร่

“เราเรียกกันว่า “เพลี้ยกระสอบ” ครับ คือยิ่งกว่าเพลี้ยลง มาทีนึงหอบกระสอบมาด้วยแล้วเอามะนาวเราไปเกลี้ยงสวนเลย อันตรายยิ่งกว่าเพลี้ยที่เป็นแมลงซะอีก นี่ต้องจัดเวรยามเฝ้ากันตลอดเลย”




เอือมอาหารการบินไทย สั่งแทนที่ด้วยระดับห้าดาว!

(อาหารการบินไทยระดับ 3 ดาวเดิม ที่นายกฯ รับไม่ได้)
การตั้งคณะกรรมการเมนูอาหารขึ้นมาในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการเพิ่มรสชาติอาหารให้ถูกปากผู้โดยสารมากขึ้น โดยจะประเมินทุกเมนูอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง หากเมนูไหนมีความต้องการ จะยังคงไว้เหมือนเดิม แต่หากเมนูไหนเหลือ ก็จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ถูกใจผู้โดยสาร โดยมั่นใจว่าจะไม่มีสับปะรดสีซีดให้เห็นบนเครื่องบินของการบินไทยอีกแล้ว ต่อไปนี้จะเห็นแต่สีเหลืองกรอบแน่”

ร.ต.อนุสสรณ์ นาคศรีชุ่ม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจบริการการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศเอาไว้ชัดเจนหลังถูกนายกฯ โวยขนานใหญ่เรื่องรสชาติอาหารที่ไม่ถูกปากมาเป็นเวลานาน โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเปลี่ยนเมนูจากระดับ “3 ดาว” เป็น “5 ดาว” ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน! เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มกำไรของบริการครัวการบินไทยได้มากขึ้นอีกหลายเท่า จากการเพิ่มเมนูอาหารและเครื่องดื่มดอยคำเข้าไปในการบริการ และจะเสิร์ฟอาหารระดับห้าดาวจาก ร้านครัวโบราณ และ โรงแรมโอเรียนเต็ล เพิ่มเข้าไปในเมนูด้วย


(ขอบคุณภาพ: www.prthaiairways.com)

เมื่อมีความเคลื่อนไหวออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าผู้เคยใช้บริการและเคยได้ลิ้มรสชาติอาหารบนเครื่องต้องดีใจไปตามๆ กันโดยไม่ต้องนัดหมาย แต่สำหรับ ผศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมองว่า เป็นมาตรการจากรัฐบาลที่เน้นโอบอุ้มจนเกินไปและอาจส่งผลให้เสียสมดุลในระบบกลไลการตลาด

“ถ้าพูดเรื่องรสชาติอาหารของการบินไทย ก็ต้องยอมรับว่ามันห่วยจริงๆ มันไม่ไหวเลย ปัญหามันอยู่ที่ว่าเครดิตของการบินไทย มีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับโลกมาตั้งแต่ในอดีตนั้นเป็นเพราะอะไร ก็เพราะเรื่องอาหารและการบริการใช่หรือเปล่า และสิ่งเหล่านี้มันหายไปเพราะอะไร หรือผู้บริหารยุคต่างๆ ยุคหลังไม่มีฝีมือพอ หรือเพราะมีนักการเมืองเข้าไปแทรกแซง หรือปัญหาเรื่องคอร์รัปชันหรือเปล่า



แต่ทีนี้ การบินไทยมันไม่ใช่หน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมด ดังนั้น ก็ต้องดูว่าฝั่งผู้บริหารของการบินไทยเองจะเข้ามาดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ยังไง จะให้รัฐบาลเข้ามารับภาระดูแลตรงนี้ทั้งหมดมันก็ไม่ได้ องค์กรต้องแก้ไขตัวเอง ถ้าการบินไทยกำลังขาดทุน เขาก็ต้องรับสภาพของตัวเอง เพราะคุณก็ต้องแข่งขันกับสายการบินอื่น การที่จะเอาระบบดั้งเดิมเข้ามาใช้ ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลคุมเข้มสนับสนุนการบินไทย มันจะทำให้ไม่ยุติธรรมในเรื่องการแข่งขันทางการตลาด เพราะฉะนั้น สมาชิกบอร์ดผู้บริหารต้องพิจารณาตัวเองว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้เกิดปัญหานี้


(ขอบคุณภาพ: www.thaiflight.com)

ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแลโอบอุ้มปัญหาเรื่องอาหารการกินของการบินไทยขนาดนั้น เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจแล้ว ควรจะเอาเวลามาใส่ใจความเดือดร้อนเรื่องอาหารการกินของประชาชนและค่าครองชีพมากกว่า มันไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องลงไปโอบอุ้มในรายละเอียดของทุกเรื่องขนาดนั้น ถ้าการบินไทยดูแลตัวเองไม่ได้ก็อย่าทำเลยดีกว่า เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ มันเป็นเรื่องเชิงธุรกิจด้วยซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องเลยที่รัฐบาลที่จะเข้าไปโอบอุ้มขนาดนั้น


ส่วนปัญหาเรื่องค่าครองชีพนั้น ผมว่าเป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลต้องเจอ เป็นปัญหาพื้นฐานเลย มันขึ้นอยู่ขีดความสามารถของแต่ละรัฐบาลซึ่งรวมถึงหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่างกระทรวงพาณิชย์ คุณจะทำงานด้วยการเปิดแฟ้มเก่าๆ แก้ไขปัญหาไม่ได้หรอก พูดง่ายๆ มันไม่ได้ใจประชาชนหรอก แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะต้องให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีต้องลงไปตรวจสอบจ่ายตลาดเอง
กระบวนการและมาตรการมันคือการบริหารเพื่อลดภาระเหล่านี้ของประชาชนลง จะปล่อยให้เนิ่นนานไป ยิ่งจะทำให้ความชอบธรรมหรือเสถียรภาพของรัฐบาลมันลดลงได้ ปัญหามีเยอะแยะ แก้ไม่หมดหรอก แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วแค่ไหน ทำงานอย่างเป็นระบบหรือไม่

มันควรจะเป็นนโยบายที่ชัดเจนออกมา เพราะมันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความเป็นอยู่โดยตรง ถึงจะเป็นเรื่องจริง ความรู้สึก การอุปทาน หรือเป็นไปตามกลไกของตลาดก็ตาม แต่ถ้าในกระเป๋าของประชาชนไม่พอกับรายจ่าย ต้องกระเบียดกระเสียน ทุกอย่างแพงไปหมด หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา



ที่พูดไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าถูกลงทั้งหมด เพราะเข้าใจว่าบางอย่างต้นทุนสูง ของก็ถูกลงไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ต้องมาดูว่าในกระบวนการมีอะไรไม่ชอบมาพากลมั้ยที่ทำให้เกิดการผูกขาด การกักตุนสินค้า และลงมาดำเนินการให้ชัดเจน อย่าไปโยนให้ตัวหัวหน้ารัฐบาลต้องมาดูแลในทุกเรื่อง นายกฯ ไม่ใช่คนที่ต้องแบกรับประเทศอยู่คนเดียว รัฐมนตรีด้านต่างๆ ทำไมไม่เห็นออกมารับผิดชอบอะไรกันบ้างเลย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชื่อดังทางด้านการวิเคราะห์สังคมและการปกครอง ยังคงสนับสนุนความคิดของนายกฯ ที่ให้ประชาชนเริ่มปลูกมะนาวกินเอง ผมว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะหันมาทำอะไรที่สามารถทำได้เอง เราอย่าเป็นสังคมบริโภคโดยใช้เงินตราอย่างเดียว บางครั้งเราต้องพึ่งตัวเอง เขาทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ปลูกผักสวนครัว ไม่ต้องซื้อใบมะกรูด ข่า เล็กน้อยๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะมะนาวที่หน้าแล้งจะแพงมาก ผมเองก็ปลูกมะนาว ซื้อมา 20-30 ต้น มาปลูกลงกระถางง่ายๆ เองที่บ้าน เราก็ได้มีมะนาวกินตลอดทั้งปี

ส่วนถ้าใครเขาจะบ่นเรื่องค่าครองชีพและสินค้าแพง ผมว่าอย่าไปปฏิเสธเลยดีกว่าครับว่ามันไม่แพง เพราะมันแพงจริง แต่เราจะทำยังไงล่ะให้ประชาชนสามารถช่วยตัวเองได้ในบางเรื่องโดยที่รัฐบาลไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย ผมไม่อยากให้สังคมไทยโยนภาระทุกอย่างไปให้รัฐบาลแก้ทั้งหมด เพราะไม่มีรัฐบาลไหนในโลกนี้จะแก้ได้ทั้งหมดหรอก เราต้องพึ่งตัวเองก่อน ดูแลตัวเองให้ได้ก่อน


ส่วนอื่น อะไรที่มันเกินกว่าที่ประชาชนจะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ตรงนี้ก็เป็นบทบาทและหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องเข้ามาจัดการ เราก็ต้องจี้เข้าไปดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการจัดการตรงนี้ยังไง เช่น ราคาสินค้าแพงเพราะอ้างว่าน้ำมันแพง ก็ต้องไปจัดการที่เรื่องน้ำมัน แต่ตอนนี้น้ำมันก็ถูกลงแล้ว แต่ทำไมสินค้ายังแพงอยู่ ผมคิดว่ากระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนนี้ คงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรๆ มากกว่าการเปิดแฟ้มเก่าๆ แล้วเอามาตรการเดิมมาแก้ไข คิดอะไรไม่ออกก็จัดร้านสินค้าธงฟ้า มันไม่ใช่กระบวนการที่จะเข้าไปดูแลสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนอย่างแท้จริง”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “ประยุทธ์” แนะสอนมัธยม “ออกซ์เหล็ก” ต่อยอดรถไฟ-น้ำ ปลูกมะนาวในกระถางเองแก้ราคาพุ่ง
- “หน้าแล้งมะนาวแพ๊งแพง” ชาวบ้านวอนรัฐควบคุมราคาอย่าให้สูงเกินจริง

- ปัตตานีแล้งจัด มะนาวแพงทะลุ 120 บาทต่อกิโลกรัม
- "บิ๊กตู่"ไม่ชวนชิม"การบินไทย"เร่งรื้อเมนูอาหารบนเครื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น