ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ไม่เร็วไปเหรอ
ค่ำวันหนึ่ง เคโงะกับผมไปกินอาหารไทยที่ย่านชินจุกุ เคโงะแจ้งข่าวพร้อมกับเอ่ยชวนผมให้ไปงานสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา คำเชิญนั้นทำให้นึกถึงเพลงสมัยคุณแม่ยังสาวขึ้นมา
‘อยู่คนเดียวแสนจะเปลี่ยวใจ โบราณว่าไว้แสนสบายแต่ไม่สนุก’
เด็กยุคปัจจุบันอาจไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้ แต่สิ่งที่โบราณว่าไว้ แม้เวลาเปลี่ยนไป ดูเหมือนยังคงเป็นจริงอยู่ แล้วก็เป็นเหมือนกันทุกชาติ เราถึงได้เห็นหญิงชายพยายามแสวงหาใครสักคนมาอยู่เคียงข้างเป็นคู่ผัวตัวเมียคลอเคลียกัน
วันนั้น ระหว่างที่รอให้พนักงานนำผัดไทยกับก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำมาเสิร์ฟ การเชื้อเชิญอย่างไม่เป็นทางการของเคโงะเริ่มต้นขึ้น
“อะโน...”
ถ้าได้ยินคนญี่ปุ่นพูด “อะโน” ขึ้นมา ขอให้ทราบไว้ว่านั่นคือการเริ่มเปิดประเด็น คนฟังก็เตรียมใจรับฟังคำพูดต่อ ๆ มา จะเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องร้าย หรือเรื่องดีก็แล้วแต่กรณีไป เหมือนคนไทยเปิดหัวข้อว่า “เอ่อ คือว่า...” นั่นเอง
ผมเตรียมสติไว้รับฟังแล้ว
“...ถ้าบอกแล้วอย่าตกใจนะ” เคโงะเริ่มเปิดฉาก ฟังน้ำเสียงแล้วต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ พอได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็ยิ่งอยากรู้ว่าอะไรกันที่จะทำให้ผมตกใจได้มากกว่าแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
“คือ...เราจะแต่งงาน” ข่าวมงคลออกจากปากเพื่อนผม
ไม่แน่ใจว่าผมแสดงท่าทีตกใจมากเกินไปหรืออย่างไรเพราะเห็นเขานิ่งไปครู่หนึ่ง ผมถามว่า “พูดเล่นหรือเปล่า”
คำตอบที่ได้รับกลับมายังคงเหมือนเดิม คือ “เราจะแต่งงาน”
ข่าวมงคลแบบนี้ควรสร้างความปีติให้แก่ผู้ฟัง แต่ก่อนที่ความปีติจะซาบซ่าน ความประหลาดใจได้ชิงตัดหน้าเข้ามาเสียก่อนเพราะผมไม่คิดว่าหนุ่มญี่ปุ่นอายุน้อยๆ อย่างเคโงะเพื่อนผมคนนี้จะแต่งงานเร็ว ซึ่งสวนกระแสปัจจุบันในญี่ปุ่น อึ้งไปสักครู่ตอนที่ได้ยิน ไม่ใช่เพราะอิจฉา แต่สงสัยว่าเหตุใดเพื่อนรักจึงยอมสละโสดทั้งๆ ที่อายุอานามเพิ่งอยู่ในวัยยี่สิบต้นทาง ยังเฮฮาปาร์ตี้กันอยู่บ่อยๆ เผลอแผล็บจะกลายเป็นคนมีเจ้าของซะแล้ว
ในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ถ้าตัดสินใจแต่งงานขณะที่อายุยี่สิบห้าอย่างเคโงะ ถือว่าแต่งงานเร็ว อายุแต่งงานตามกฎหมายของญี่ปุ่นคือ ผู้ชาย 18 ปี ผู้หญิง 16 ปีขึ้นไป แต่เกือบทุกคนก็แต่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วทั้งนั้น และคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าจะแต่งงานช้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จากสถิติปี 2508 อายุแต่งงานครั้งแรกโดยเฉลี่ยของผู้ชาย คือ 27.2 ปี ส่วนผู้หญิงคือ 24.5 ปี ถัดมาอีก 40 ปีคือ ปี 2548 อายุแต่งงานเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นเพิ่มไปเป็น 29.6 ปี และของผู้หญิง คือ 27.8 ปี นอกจากนี้ ผู้ชายอายุ 30-34 ปี และผู้หญิงอายุ 25-29 ปี ที่เป็นโสดก็เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ชายหญิงในกลุ่มอายุนี้มี 42.9% และ 54% ตามลำดับ คนที่อยู่เป็นโสดทั้งชีวิตก็เพิ่มขึ้น
อันที่จริง การแต่งงานช้าไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางสังคมของญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในเครือนิกเคได้นำผลการสำรวจของสหประชาชาติมาเผยแพร่ว่า จากการสำรวจ 192 ประเทศ เทียบทศวรรษ 1970 กับ 1990 พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของประเทศเหล่านี้ประสบภาวะแต่งงานช้า ในจำนวนนี้มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เดิมในทศวรรษ 1970 อายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกในกรณีของผู้ชาย คือ 25.4 ปี และของผู้หญิงคือ 21.5 ปี แต่ในทศวรรษ 1990 เพิ่มขึ้นอีกประมาณสองปี ของผู้ชายเป็น 27.2 ปี และของผู้หญิงเป็น 23.2 ปี
โดยทั่วไป คนญี่ปุ่นถือว่าการแต่งงานเป็นขั้นตอนหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนจะต้องผ่าน และถือว่า พิธีแต่งงานเป็น 1 ใน 4 พิธีที่สำคัญยิ่งของญี่ปุ่น คือ “คัง-คง-โซ-ไซ” (冠婚葬祭; Kan-Kon-Sō-Sai; พิธีเข้าสู่วัยผู้ใหญ่, พิธีแต่งงาน, งานศพ, การกราบไหว้บรรพบุรุษ) แต่แนวคิดเรื่องการแต่งงานเพิ่งลงรากลึกในสังคมญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนัก สาเหตุที่ทำให้คนทั้งหลายคิดว่าจะ ‘ต้อง’ แต่งงานนั้น เกิดจากการที่รัฐบาลสมัยเมจิ (明治;Meiji; พ.ศ. 2411 - 2455) เผยแพร่แนวคิดแบบดั้งเดิมของชนชั้นซะมุไรเรื่องการสืบทอดครอบครัวให้เป็นแนวคิดร่วมของสังคม และอีกข้อหนึ่งคือ พอเข้าสู่สมัยใหม่ เมืองใหญ่พัฒนาขึ้นมา ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง อยู่สบาย และมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะแต่งงานได้
ถ้าให้เดาจากน้ำเสียงในช่วงแรก ตอนนั้นเคโงะเองอาจไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนของการรีบแต่งงาน แต่เมื่อคิดอีกที ผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรในเมื่องานของเขาก็เริ่มรุ่ง คนรักก็มี อะไรที่เป็นความไม่พร้อมก็ไม่มีสักอย่าง และการแต่งงานยังเป็นประตูสู่ความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตดังคำพูดที่ว่าชีวิตนี้จะสุขสุดยอดถ้าได้เงินเดือนอเมริกัน ได้อยู่บ้านแบบอังกฤษ ได้คนจีนทำอาหาร และได้เมียเป็นญี่ปุ่น
ท้ายที่สุดผมบอกเพื่อนว่า
“จงมั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจเถอะนะ”
“อยากให้นายมาร่วมงานด้วย มาให้ได้นะ” คราวนี้เคโงะยิ้มกว้าง และเชิญอย่างแข็งขัน
“อืม...เราจะไปร่วมงานอย่างแน่นอน” ผมรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ รู้สึกดีใจที่จะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักอย่างเป็นทางการ และเอาใจช่วยขอให้เพื่อนมีความสุขพร้อมกับถนอมรักไว้อย่างยั่งยืน
“ไอ วะ โคะดะชิ นิ เซะ โยะ” (愛は小出しにせよ; Ai wa ko-dashi ni se yo)
“รักกันวันละนิด แต่รักจนกว่าชีวิตจะหาไม่”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th