xs
xsm
sm
md
lg

หรือว่าย่านนี้มีอาถรรพ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

บรรยากาศบนถนนซันไชน 60
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คึกคักแต่เลือดตกยางออก

นี่คือแหล่งรวมร้านค้าสารพัด เป็นจุดตัดของรถไฟหลายสาย รถไฟเจอาร์สถานีนี้มีผู้สัญจรมากเป็นอันดับ 2 ของโตเกียวและปริมณฑล บริเวณนี้มีคนพลุกพล่านทุกวัน แต่ว่ากันว่าย่านนี้มีอาถรรพ์?!

อาถรรพ์ติดที่ไม่ใช่ความเชื่อของคนไทยเท่านั้น ดูเหมือนมีความเป็นสากล คนญี่ปุ่นก็เชื่อเช่นกันว่าที่แบบนั้นมีอยู่กลางกรุงโตเกียว

หลังจากเกิดเหตุลอบวางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมในย่านราชประสงค์ สิ่งหนึ่งที่สื่อมวลชนไทยทั้งโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์หยิบยกขึ้นมานำเสนออีกครั้งคือ ‘ที่แรง’ เพราะพื้นที่แถบนั้นมีประวัติเลือดตกยางออกและเกิดความเสียหายหลายรูปแบบไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมเทพหลายองค์ซึ่งมีรูปจำลองให้คนไปสักการบูชาด้วย เมื่อเกิดกระแสพูดคุยในไทยหลังเหตุน่าสลดใจครั้งนี้ว่าด้วยพลังลี้ลับ ทำให้นึกถึงพื้นที่หนึ่งใจกลางกรุงโตเกียว ชื่อของย่านนี้ปรากฏในหนังสือท่องเที่ยวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องอาถรรพ์ คนต่างชาติไม่ค่อยรู้ ทว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเชื่อมาเนิ่นนานแล้วว่า ‘คงจะมีจริง’ ปัจจุบันก็ยังเชื่ออยู่ ข่าวคราวที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อนั้น

ล่าสุดคืนวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม เวลา 3 ทุ่ม 35 นาที รถยนต์คันหนึ่งพุ่งขึ้นทางเท้า ชนคนเดินถนนตาย 1 เจ็บ 4 ที่หน้าร้านเสื้อผ้าชื่อดังที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร Z และกลายเป็นข่าวใหญ่เพราะเกิดในย่านนี้ ใช่...อุบัติเหตุ สาเหตุที่ทำให้อุบัติคือ?...ความประมาทของผู้ขับขี่ ใช่...แต่ในเมื่อสิ่งที่สายตามนุษย์มองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าไม่มี หรือสิ่งที่มีก็ไม่ใช่ว่าจะพิสูจน์ได้เสมอไป ฉะนั้น จึงห้ามความคิดของคนไม่ได้ว่า ‘นั่นไงล่ะ...ที่แรง’

เมื่อเทียบกับชินจุกุ ชิบุยะ อะกิฮะบะระ ฮะระจุกุ หรือตึกม่วงในย่านอุเอะโนะแล้ว ที่นี่อาจไม่ติดปากหรือไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่าไรนัก แต่คนโตเกียวทุกคนรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะย่านจับจ่ายซื้อของและแหล่งรวมคนหนุ่มสาว ในด้านความหลากหลายและจำนวนร้านค้าก็ไม่แพ้ที่อื่น มีห้างสรรพสินค้า ร้านเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ร้านอาหาร ร้านอะนิเมะ หรือแม้แต่ร้านขายยาและเครื่องสำอางมะสึโมะโตะคิโยะชิที่คนไทยกลายเป็นลูกค้าชั้นดีก็มีมากกว่า 1 ร้าน และด้วยความคึกคัก ความพลุกพล่านของผู้คน ความขวักไขว่ของรถรา นักท่องเที่ยวจะนึกไม่ถึงเลยว่าแถวนี้เคยเกิดเรื่องถึงตายมาหลายครั้งและหลายรูปแบ

สถานีรถไฟหลักประจำย่านนี้มีผู้โดยสารรถไฟเจอาร์เฉลี่ยแล้วประมาณ 550,000 คนต่อวัน เป็นรองแค่สถานีชินจุกุซึ่งมีประมาณ 750,000 คนต่อวัน มากกว่าสถานีโตเกียวซึ่งมีวันละประมาณ 400,000 คนเศษ และที่สถานีนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2539 ประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง นักศึกษาชายชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยริกเกียว อายุ 21 ปี ถูกชายคนหนึ่งซ้อมจนฟุบที่ชานชาลา 7/8 ของรถไฟสายยะมะโนะเตะ ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง นักศึกษาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ 5 วันต่อมาก็เสียชีวิต สถานีมีคนมากมาย แต่คนร้าย...ลอยนวล

ออกจากสถานีทางประตูตะวันออก เดินไปไม่ไกล ที่หน้าห้างโทคิวแฮนด์ส เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2542 ประมาณ 11 โมง 40 นาที ชายหนุ่มอายุ 23 ปีเกิดคลั่งอะไรขึ้นมาไม่รู้ เอามีดแทงเอาค้อนทุบคนเดินถนน ตาย 2 เจ็บ 6 ตำรวจรวบตัวฉับไว สอบปากคำได้ความว่า พ่อแม่ติดการพนัน ต่อมาชีวิตตนล้มเหลวทั้งๆ ที่สู้เต็มกำลัง สังคมไม่ยุติธรรม พอเห็นคนเดินเที่ยวกันสบายใจ จึงหมั่นไส้ เกิดฉุนขึ้นมา ไล่ฆ่าคนไม่เลือกหน้า ศาลตัดสิน...ประหารชีวิต
อาคารซันไชน 60 มุมซ้ายคือสวนสาธารณะ
ออกจากสถานีทางประตูตะวันออก เดิยเข้าถนนซันไชน 60 ไปจนสุดถนนและชนถนนใหญ่อีกเส้น จะเห็นอาคารตั้งตระหง่านที่อีกฟาก นั่นคือ “อาคารซันไชน 60” ได้ชื่อตามนั้นเพราะมี 60 ชั้น สูงประมาณ 240 เมตร เปิดใช้เมื่อต้นปี 2521 เป็นอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้ารวมเป็นชุด ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของย่านนี้ เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นจนถึงปี 2528 ก่อนจะถูกทำลายสถิติด้วยอาคารที่ทำการกรุงโตเกียว สีเขียวครึ้มข้าง ๆ ตึกที่มองเห็นได้แต่ไกลคือสีใบไม้บนต้นสูงชะลูดในสวนสาธารณะขนาดย่อม แลดูร่มรื่นและบรรเทาความแข็งของบรรยากาศคอนกรีตรายรอบให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาก และที่ตึกแห่งเดียวกันนี้...

กันยายน 2521 ปีแรกที่ตึกเปิด ชายคนหนึ่งกระโดดลงมาจากชั้น 28...ตาย
สิงหาคม 2541 หญิงคนหนึ่งวัย 20 กว่าปี กระโดดตึกตายที่นี่
เมษายน 2545 หญิงคนหนึ่งผูกคอตายในห้องน้ำชั้น 19
สิงหาคม 2555 นักเรียนชายชั้นมัธยมปลายกระโดดตึกตายที่นี่

เมื่อเกิดอะไรซ้ำ ๆ แบบนี้ ผู้คนเริ่มคิดหาคำอธิบายว่าแถวนี้มีอะไรนักหนาถึงได้มีคนตายบ่อย ๆ คนที่ไม่เชื่อเรื่องลี้ลับจะบอกว่าเหล่านั้นคือความบังเอิญ แต่คนที่เชื่อก็อธิบายด้วยความเชื่อพร้อมกับชี้ไปที่ประวัติศาสตร์

ตรงนี้มีประวัติ

“ก็ตรงนั้นเคยเป็นคุก” เพื่อนบอก
“ตรงไหน”
“ก็แถว ๆ ตึกนั้นนั่นแหละ สวนข้าง ๆ ก็ด้วย แล้วมีข่าวลือว่าที่ชั้นใต้ดินของตึกน่ะ เด็กที่ทำงานพิเศษกะดึก ได้ยินเสียงแปลกๆ อยู่บ่อยๆ” เพื่อนหมายถึงตึกซันไชน 60 แล้วก็เล่าต่อ “พวกวิญญาณยังไม่ไปผุดไปเกิด คอยหาตัวตายตัวแทนอยู่”
“วิญญาณใคร”

คนอยากรู้ก็ช่างถามไปเรื่อย เพื่อนเล่าให้ฟังคร่าวๆ แล้วผมก็สืบค้นเพิ่มเติม ข่าวลือนั้นมีจริงและแพร่หลายในหมู่คนญี่ปุ่น และสถานที่นั้นก็มีจริง ผมจึงตัดสินใจไปดูจริงๆ แต่ไม่ได้หวังว่าจะเจอ ‘ของจริง’

ไปดูให้รู้ว่าอยู่ตรงไหน และสิ่งที่ได้เห็นก็คืออาคารสวยสง่าน่าเดิน สูง 60 ชั้น ในนั้นมีสวนสัตว์น้ำด้วย เห็นพ่อแม่จูงลูกมาเข้าแถวต่อรอคิวเข้าไปเที่ยว ผมเดินผ่านตรงนั้นไป ซื้อไอศกรีมได้หนึ่งถ้วยก็เดินให้ได้ชื่อว่ามาแล้วโดยไม่ได้ขึ้นไปชมวิวบนชั้นดาดฟ้า เพราะผู้ประกอบการประกาศว่า “ลานชมวิวปิดปรับปรุงหลังจากดำเนินกิจการมา 37 ปี” เมื่อรู้ว่าขึ้นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จึงเดินเลี่ยงออกไปข้างตึก สู่สวนสาธารณะ วนอยู่ครู่หนึ่งจึงได้เห็นหินก้อนโตวางเด่นอยู่ในจัตุรัสเล็ก ๆ ตรงกลางหินเขียนว่า “ขอให้บังเกิดสันติภาพชั่วนิรันดร์” ในใจก็นึกว่า...อ้อตรงนี้นี่เอง
หินสื่อสันติภาพในสวนสาธารณะข้างอาคารซันไชน 60
พื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของ “เรือนจำซุงะโมะ” ซึ่งสร้างเมื่อปี 2438 และรื้อถอนเมื่อปี 2514 จากนั้นจึงได้รับการพัฒนาเป็นอาคารซันไชน 60 ศูนย์การค้าซันไชนซิตี และสวนสาธารณะ เรือนจำนี้เคยเป็นที่กักขังนักโทษการเมืองจำนวนมากและสายลับ ถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรอดพ้นระเบิดไปจนสิ้นสุดสงคราม เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองกำลังยึดครองได้เข้าควบคุมและใช้ขังอาชญากรสงคราม หลังการพิจารณาคดี อาชญากรสงครามจำนวนหนึ่งถูกประหารชีวิตที่นี่ รวมทั้ง ฮิเดะกิ โทโจ นายพลประจำกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยุคสงครามด้วย วิธีประหารคือ...แขวนคอ
อดีตเรือนจำซุงะโมะ
นอกจากตรงนี้แล้ว ผมเดินไปถามตำรวจแถวประตูตะวันออกหน้าสถานีว่าจุดที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์เสยทางเท้าที่เกิดเมื่อวันก่อนอยู่ที่ไหน ตอนที่ถาม รู้สึกหวาดหวั่นมาก เพราะคุณตำรวจหญิงน่ากลัวเหลือเกิน ต่อให้แถวนี้มีอาถรรพ์จริง ผมคิดว่าตำรวจญี่ปุ่นนี่คงน่ากลัวกว่าเยอะ ทั้งตำรวจชายตำรวจหญิง สำหรับเธอคนนี้ แทบจะบอกได้เลยว่า “ยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่” เธอตอบให้ ผมก็ได้แต่ครับ ๆ ๆ เสียงอ่อย ได้หนึ่งที่แล้วผมก็ถามถึงอีกหนึ่งที่ คราวนี้เธอไม่รู้จักและแทบจะ “อื้ออึงขึ้นมึงกู” ผมจึงค่อยๆ ตะล่อมถามอย่างนุ่มนวลที่สุดและรู้ตำแหน่งคร่าวๆ มา

เมื่อเดินไปตรงแยกที่เกิดเรื่องก็ได้เห็นดอกไม้กองโตวางอยู่ คนที่เดินผ่านไปมาแถวนั้น บ้างหยุดยืนแล้วยกมือไหว้ไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต บ้างหยุดยืนเมียงมองหาร่องรอยความเสียหาย ผมไปยืนพินิจอยู่นานและรู้สึกเศร้าใจไปกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วย เพราะเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยอาถรรพ์หรือด้วยความประมาทของคนขับรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...คนขับเป็นแพทย์!

พบที่หมายหนึ่งแห่งแล้ว พอข้ามถนนจากตรงนี้และอ้อมตึกของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไปนิดเดียวก็พบอีกแห่ง แลดูไม่สะดุดตาเลยและคาดว่าคงไม่ดังเสียด้วย มิน่าเล่าคุณตำรวจหญิงถึงไม่รู้จัก ผมเดินเข้าไปอ่านใกล้ ๆ นี่คือ “ศาลเจ้าชิเม็นโต” ซึ่งเป็นศาลขนาดเล็ก แม้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าอาคารซันไชน 60 แต่นี่คืออีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร่องรอยยืนยันความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่มีต่อพื้นที่ ประวัติเขียนไว้ว่า เมื่อประมาณ 300 ปีที่แล้ว ถนนตรงนี้เกิดการปล้นฆ่าเป็นนิจ เมื่อค่ำลงผู้คนจึงไม่เฉียดกรายมาใกล้ กระทั่งในฤดูร้อนปี 2264 เกิดเหตุฆ่าฟันกันตายในคืนเดียวถึง 17 ศพ และเพื่อส่งวิญญาณของผู้ตายเหล่านั้นไปสู่สุคติ จึงมีการสร้างศาลขึ้นและอัญเชิญเทพมาสถิต นับแต่นั้นมาเหตุร้ายก็หมดไป
ศาลเจ้าชิเม็นโต
ที่มาระบุไว้แค่นั้น แต่ข้อสังเกตของประชาชนมีต่ออีกว่า เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเมืองเกิดการพัฒนา นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านสถานที่ และเกิดการย้ายศาล ย้ายทีแรกเมื่อมีการสร้างรถไฟสายโทบุและเซบุ ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุทำให้คนงานเสียชีวิตไปหลายราย จึงต้องบวงสรวงศาลทุกปี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงระงับไประยะหนึ่ง พอสงครามสิ้นสุดและในปี 2498 มีการสร้างห้างสรรพสินค้า “มะรุบุสึ” ต้องย้ายศาลอีกจนกระทั่งมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ระหว่างการสร้างห้างแห่งนั้น ก็ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกหลายครั้ง จึงได้บูรณะศาลขึ้นและทำพิธี เรื่องร้ายแรงจึงหมดไป แต่ทว่าต่อมากิจการห้างมะรุบุสึก็ล้มเหลวและต้องปิดไป เมื่อมีเรื่องราวแบบนี้ จึงเกิดคำร่ำลือว่าไม่รุ่งเพราะที่แรง ในปัจจุบันห้างใหญ่ตรงนั้นก็ยังทำพิธีบูชาศาลอยู่

เพราะประวัติแบบนี้นี่เองที่ทำให้ใคร ๆ เชื่อว่าอาถรรพ์คนตายในยุคอดีตยังวนเวียนอยู่ และจะมองข้ามไม่ได้เหมือนที่คนไทยพูดอยู่เสมอว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ก่อนที่ผมจะรู้ประวัติของพื้นที่ก็ไม่ได้คิดอะไร พอรู้เข้าแล้ว บางทีก็อดระแวงหลังไม่ได้ ถนนแถบที่มีแสงไฟสว่างไสว ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย แต่พอเดินอ้อมไปด้านหลังหน่อยเดียว มีมุมมืดอยู่มากพอดู ขณะเดินผ่านก็พยายามนึกว่าความเชื่อกับประวัติจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถอะ ใครไม่ถึงที่ตาย อาถรรพ์ก็คงทำอะไรไม่ได้ และผมก็เลี่ยงแถวนี้ไม่ได้อยู่แล้วด้วยเพราะมีเหตุผลด้านความจำเป็นและความชอบจำนวนหนึ่ง คือ ไปต่อรถไฟ ไปเดินเล่น ชอบไปร้านหนังสือจุงกุโด (ジュンク堂;Junkudō) สำนักงานใหญ่ (มาก) ที่ครองตึกถึง 9 ชั้น และชอบไปร้านอาหารไทยร้านหนึ่งเพราะขายเป็ดย่างกับหมูแดง (ซึ่งหายากมากในญี่ปุ่น)
ศาลเจ้าชิเม็นโต
พื้นที่จะมีอาถรรพ์หรือไม่คงไม่ใช่เรื่องใหญ่นักสำหรับคนที่ดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท และสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ใครที่ชอบซื้อของ รับรองได้ว่าไปแถวนี้ไม่ผิดหวังแน่ ลองแวะสักครั้งแล้วจะรู้ว่าเดินสะดวกกว่าตึกม่วง ไปง่าย มีหลายร้าน อะไร ๆ ก็มีให้ซื้อ ย่านนี้ชื่อ “อิเกะบุกุโระ” (池袋;Ikebukuro)

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น