ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เมื่อลอดประตูอสุนีบาต
ลอดประตูคะมินะริ (หรือแปลเป็นไทยได้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ประตูอสุนีบาต) และโคมไปแล้วจะเข้าสู่ถนนคนเดิน ถนนนี้ชื่อ “นะกะมิเซะ” (仲見世;Nakamise) เป็นถนนที่มีร้านค้าราว 90 ร้านตั้งเรียงรายขายของที่ระลึกแบบญี่ปุ่นอยู่สองข้างทาง ทอดตัวยาวประมาณ 250 เมตรจากประตูคะมินะริเข้าไปถึงประตูโฮโซ (宝蔵門;Hōzō-mon) ที่อยู่ชั้นใน ของในร้านมีทั้งเสื้อผ้า ตุ๊กตา ร่ม ขนม ดาบ พวงกุญแจ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดูเป็นญี่ปุ่นจ๋า แต่ราคาไม่จ๊ะจ๋าเหมือนหน้าตาสิ่งของเท่าไร ถ้าอยากได้ของที่ระลึกชิ้นใหญ่ๆ แถวนี้ ควรจะมีเงินติดตัวไปอย่างน้อยประมาณ 5,000 เยน
เมื่อสุดถนนและลอดประตูโฮโซไปแล้วจะเข้าสู่ตัววัด โดยทั่วไปวัดญี่ปุ่นมีสีสันไม่ฉูดฉาด ไม่เหมือนวัดไทยที่มีประกายระยิบระยับและประดับกระจกสีวิบวับโดดเด่น วัดญี่ปุ่นจะเป็นสีทึม ๆ ปล่อยให้เป็นสีไม้หรือสีธรรมชาติเสียมากกว่า แต่เซ็นโซจิมีสีแดงออกส้ม ต่างจากวัดญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จากที่ประตูโฮโซ มองไปด้านซ้ายจะเห็นเจดีย์ห้าชั้น มองตรงไปจะเห็นวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นวิหารหลังใหญ่สุด เซ็นโซจิผ่านร้อนหนาวมานานหลายร้อยปี เจอทั้งแผ่นดินไหวและไฟไหม้หลายครั้ง วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมก็เช่นกัน หลังเก่าซึ่งสร้างขึ้นอย่างดีโดยโชกุนอิเอะมิสึ โทะกุงะวะ(徳川家光; Tokugawa Iemitsu) เมื่อ พ.ศ. 2192 ได้รับความเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่กรุงโตเกียวถูกกระหน่ำโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ภายหลังจึงได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวิหารหลังปัจจุบันซึ่งสร้างอย่างแข็งแรงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อ พ.ศ. 2501
เมื่อเดินมุ่งตรงไปสู่วิหาร ที่กลางลานจะเห็นกระถางธูปใหญ่ซึ่งคนมักเข้าไปมุงวักเอาควันธูปโปะหัวโปะหน้าตัวเองกัน ถ้าเป็นของไทยคงใช้น้ำมนต์ แต่คนญี่ปุ่นใช้ควัน ผมเดินเฉียด ๆ เข้าไปตรงนั้นได้ยินเสียงภาษาไทยแว่วมาเป็นประจำ คาดว่านักท่องเที่ยวจากไทยคงกำลังรดควันแทนการรดน้ำมนต์ตามคำบอกเล่าของไกด์ สุดลานนี้มีบ่อน้ำพร้อมกระบวยวางไว้ให้ล้างมือล้างปาก คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นการชำระความไม่บริสุทธิ์ออกไปก่อนไหว้พระ
การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบญี่ปุ่นไม่เหมือนของไทย และถ้าไปศาลเจ้าชินโตก็จะมีวิธีที่ต่างจากวัดในพุทธศาสนา (หรืออาจมีวิธีเฉพาะแห่งไปเลย) การไหว้พระของไทยจะมีดอกไม้ธูปเทียน ของญี่ปุ่นมีแค่ธูปก็พอและไม่ซับซ้อน ขั้นตอนคือ ยกมือไหว้หนึ่งครั้งที่ทางเข้าวัด ล้างมือ ล้างปากที่อ่างน้ำหน้าวัด จุดธูปปัก ใส่เงินลงตู้ และไหว้อีกหนึ่งครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น
แต่ถ้าไปศาลเจ้าของชินโตจะมีมากกว่านี้หลายขั้น วิธีการทั่วไปเริ่มจาก 1) เอามือขวาจับกระบวย ตักน้ำล้างมือซ้าย, 2) เอามือซ้ายจับกระบวย ตักน้ำล้างมือขวา, 3) เอามือขวาถือกระบวย แล้วเอาน้ำเทใส่มือซ้าย เอาน้ำที่อยู่ในมือซ้ายล้างปาก ห้ามดื่มโดยตรงจากระบวย, 4) ล้างมือซ้ายอีกหนึ่งที, 5) เอากระบวยตั้งขึ้น เอาน้ำที่เหลืออยู่ในนั้นล้างด้ามกระบวย, 6) เอากระบวยเก็บที่เดิม และต่อไปเป็นขั้นตอนการไหว้ มีหลักคร่าว ๆ คือ “คำนับสองที ตีมือสองคำรบ โค้งจบหนึ่งหน” โดยเริ่มจาก 1) โยน (หรือหย่อน) เงิน แล้วสั่นกระดิ่งที่แขวนอยู่ (เพื่อให้เกิดเสียงและทำให้เทพเจ้าสนใจ), 2) คำนับต่ำ ๆ สองครั้ง, 3) ประสานมือไหว้ ขอพร จากนั้น แยกมือออก ตบมือสองที โดยให้มือขวาเหลื่อมต่ำกว่ามือซ้ายนิดหน่อย, 4) โค้งต่ำ ๆ อีกหนึ่งเป็นการปิดท้าย
ขั้นตอนแบบพุทธกับชินโตนี้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็มีผู้ที่ไม่รู้อยู่เป็นจำนวนมาก มีคนทำสลับกันให้เห็นอยู่ถมเถไป ที่เซ็นโซจินี่ก็เหมือนกัน ผมเดินด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ เห็นคนญี่ปุ่นเข้าใจผิดตบมือกันเปาะแปะ ๆ อยู่บ่อย ๆ และที่เล่าถึงวิธีของชินโตไว้ด้วยเพราะอยากจะบอกว่า ภายในอาณาเขตของเซ็นโซจิ มีศาลเจ้าอยู่ด้วยชื่อว่า “ศาลเจ้าอะซะกุซะ” (浅草神社;Asakusa-jinja) แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าถูกรัศมีเซ็นโซจิกลบเสียหมด ชื่อจึงไม่ติดปากนักท่องเที่ยวเหมือนวัดหรือประตูคะมินะริ
เท่าที่ได้คุยกับคนไทยที่ไปมาแล้ว ไม่ค่อยมีคนพูดถึงอีกมุมหนึ่งของวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอะซะกุซะเท่าไรนักทั้งๆ ที่เป็นศาลเจ้าชินโตที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณของสองพี่น้องชาวประมงที่เจอรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมอันเป็นต้นกำเนิดแห่งเซ็นโซจิ และหัวหน้าหมู่บ้านผู้สร้างเซ็นโซจิ เดิมศาลเจ้าสร้างเมื่อไรไม่ทราบแน่ชัด แต่โชกุนอิเอะมิสึ โทะกุงะวะสร้างวิหารหลักของศาลเจ้าเมื่อ พ.ศ. 2192 ปีเดียวกับที่สร้างวิหารของเซ็นโซจิ ใครที่มาถึงเซ็นโซจิแล้ว ถ้าเดินไปด้านขวาอีกนิดก็จะถึงศาลเจ้า
งานเทศกาลแบบชินโตที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักคือการแห่ศาลเจ้าจำลองซึ่งเรียกว่า “โอะมิโกะชิ” (お神輿;O-mikoshi) เทศกาลแห่ศาลเจ้าจำลองที่ดังที่สุดชื่อว่า “ซันจะมะสึริ” (三社祭;Sanja Matsuri) จัดที่ศาลเจ้าอะซะกุซะนี่เอง เทศกาลนี้จัดประมาณวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี โอะโตซัง (お父さん;O-tōsan หมายถึง พ่อ ในที่นี้คือคุณพ่ออุปถัมภ์ของผม) เป็นมือโปรแห่ศาลเจ้าคนหนึ่งในละแวกบ้านที่เราอยู่ พอวันงานซันจะมะสึริซึ่งเป็นงานใหญ่มาถึง แม้ท่านจะไม่แห่ในงานใหญ่แบบนี้ แต่ก็พาผมไปดู งานใหญ่โตมาก ประเมินได้จากจำนวนคนที่มาดู ไม่รู้ว่ามาจากไหนต่อไหน ไปทางไหนก็มีแต่คน ในวันจัดงานต้องปิดถนนย่านอะซะกุซะเกือบทั้งหมด คนที่แห่จะใส่ผ้าเตี่ยวสั้นเต่อ รั้งขึ้นไปถึงโคนขาเผยสะโพกขาวออกมาให้เห็น แต่คนญี่ปุ่นแต่งเป็นประเพณีไปแล้ว จึงไม่มีใครอายใคร ส่วนท่อนบนใส่เสื้อคลุมหลวมๆ ขณะที่แห่จะร้องให้เสียงเป็นจังหวะไปด้วย
ย้อนกลับมาที่การไหว้พระหรือศาลเจ้าญี่ปุ่น เวลาเอาเงินใส่กล่องรับบริจาค คนญี่ปุ่นนิยมเอาเหรียญห้าเยนใส่ลงไปมากกว่าเหรียญอื่น เพราะว่าเหรียญห้าเยนมีรูอยู่ตรงกลาง ทำให้มองทะลุผ่านได้ ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าพ้องกับวลีที่ว่า “มิโตชิ งะ โยะอิ” (見通しがよい; mitōshi ga yoi) หมายถึง “มองผ่านไปสู่ภายภาคหน้าได้ดี” หรือ “แนวโน้มในอนาคตดี” อีกความเชื่อหนึ่งคือ “ห้าเยน” ออกเสียงว่า “โกะเอ็ง” (五円;Go-en) พ้องเสียงกับคำว่า “โกะเอ็ง” (ご縁; Go-en) ซึ่งหมายถึง วาสนา, ความสัมพันธ์, โอกาส และคำว่า “เอ็ง” นี้อยู่ในวลีที่ว่า “เอ็งงิ งะ อี้” (縁起がいい; engi ga ii) ซึ่งหมายถึง “โชคชะตาราศีดีและเป็นมงคล” แต่มีหลายหนที่ผมทำตามความนิยมแบบคนญี่ปุ่นไม่ได้เพราะในกระเป๋าไม่มีเหรียญห้าเยนติดอยู่เลย ด้วยหลักคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่า ใส่ห้าเยนเป็นมงคล ถ้าโยนลงไปสักห้าสิบเยนมิเป็นมงคลถึงสิบเท่าหรอกหรือ แล้วเหรียญห้าสิบเยนกับร้อยเยนของผมก็ลงไปอยู่ในกล่องรับบริจาคที่เซ็นโซจิหลายเหรียญ แต่ผมยังไม่ปรารถนามงคลร้อยเท่า จึงไม่ได้เอาเหรียญห้าร้อยเยนหย่อนลงไป
จะด้วยข้อจำกัดด้านเวลาหรือด้วยความไม่รู้ก็แล้วแต่ การเดินทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สิ้นสุดลงตรงที่วิหาร โดยใส่เงินลงในตู้ พนมมือไหว้ แหงนมองภาพเขียนรูปมังกรที่อยู่บนเพดาน จากนั้นก็เดินวน ๆ อีกสักหน่อยแล้วกลับ หากมีเวลา นอกเหนือจากเซ็นโซจิกับประตูคะมินะริแล้ว ลองเดินไปอีกนิดก็จะถึงศาลเจ้าอะซะกุซะ และจะได้เที่ยวทั้งแบบพุทธและชินโต
เมืองล่าง
ชื่อย่านอะซะกุซะมีจุดเหมือนกับประตูคะมินะริอย่างหนึ่งตรงที่ว่า ชื่อย่านและชื่อประตูดังกว่าชื่อวัด เวลาใครไปเที่ยวเซ็นโซจิ ทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติจะพูดว่า “ไปเที่ยวอะซะกุซะ” น้อยครั้งมากที่จะได้ยินใครพูดว่า “จะไปเซ็นโซจิ” แม้ว่าผลที่สุดแล้วก็เดินเข้าวัดและใช้เวลาที่นั่นนานที่สุดกันทุกคน
ที่เป็นเช่นนี้เพราะย่านอะซะกุซะดังมาตั้งแต่โบราณในฐานะแหล่งท่องเที่ยว (สมัยก่อนมีสถานขายบริการแถวนี้ด้วย) และมีประวัติคู่กับพัฒนาการทางสังคมของกรุงโตเกียว ชื่อจึงติดปากได้ง่าย ย่านอะซะกุซะอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ชิตะมะชิ” (下町;shitamachi) ภาษาอังกฤษแปลคำนี้ตรง ๆ ตามภาษาญี่ปุ่นว่า “downtown” (shita = ข้างล่าง, machi = เมือง) “ดาวน์ทาวน์” คำนี้ของญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึงตัวเมืองตามคำสามัญในภาษาอังกฤษ แต่หมายถึง “เมืองล่าง” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคำที่ใช้แบ่งชนชั้น
แถบเมืองล่างนี้เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่โตเกียวยังเป็นเอะโดะอยู่ พื้นที่ของเมืองล่างในปัจจุบันได้แก่เขตชูโอ เขตไทโตซึ่งเป็นที่ตั้งของอะซะกุซะ และเขตซุมิดะซึ่งเป็นเขตที่ผมเคยอยู่ ในสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 - 2411) ที่นี่เป็นเมืองของชนชั้นพ่อค้าและช่าง พูดง่าย ๆ คือ “ล่าง” ก็คือ “โล” แถบนี้จึงเป็นโลโซ ส่วนชนชั้นซะมุไรและชนชั้นสูงไม่อยู่แถวนี้ แต่อยู่ถัดขึ้นไปข้างบนหน่อยซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ของเขตบุงเกียวและชินจุกุ นั่นเป็นเขตไฮโซ แต่เมื่อสังคมศักดินาล่มสลายไป ไฮโซทั้งหลายก็หวนหาวัฒนธรรมของวันคืนในอดีตซึ่งมีเหลือให้ดูอยู่ในพื้นที่โลโซนั่นแหละ เพราะแถบไฮโซได้กลายเป็นตึกไปหมดแล้ว อะซะกุซะซึ่งมีทั้งวัด บ้านทรงตึกแถวแบบเก่า และอาหารเก่าแก่ถึงได้มีคนไปเที่ยวกันมากมาย
กลิ่นอายแบบเอะโดะนอกจากมีอยู่ในสถานที่แล้ว แม้แต่ปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในตัวบุคคลด้วย ถือเป็นความโชคดีที่ผมได้อยู่กับครอบครัวโคะยะมะซึ่งอยู่แถวเมืองล่าง จึงได้สัมผัสความเป็นเอะโดะร่วมสมัยจากผู้ที่เกิดในแถบนี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียกคนเหล่านี้ว่า “เอะดกโกะ” (江戸っ子;Edokko) ซึ่งมีอยู่คนหนึ่งที่ผมได้ใกล้ชิดด้วย ไม่ใช่ใครอื่นไกล โอะโตซังนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะเฉพาะของคนเอะโดะหายไปเกือบหมดแล้วเพราะผ่านมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่คือภาษา เป็นที่ทราบกันดีในสังคมญี่ปุ่นว่า เอะดกโกะทั้งหลายพูดภาษาญี่ปุ่นติดสำเนียงเอะโดะอยู่ (ไม่รู้ทำไม) ลักษณะการพูดจาอาจจะตรง ๆ ห้วนกว่าภาษามาตรฐาน เพี้ยนเสียงไปบ้าง และจะมีบางเสียงที่พูดไม่ได้ เช่น เสียง “ฮิ” (hi) จะพูดไม่ได้ พูดเมื่อไรกลายเป็น “ชิ” (shi) ฉะนั้น เมื่อโอะโตซังจะพูดว่า “ฮิโตะ” (人;hito = คน) จึงกลายเป็น “ชิโตะ” และถ้าโอะโตซังจะบอกว่าห้องนั้น “กว้าง” ห้องนั้นจะกลายเป็นห้อง “สีขาว” คือ จาก “ฮิโระอิ” (広い;hiroi = กว้าง) กลายเป็น “ชิโระอิ” (白い;shiroi = ขาว) ยังดีที่ผมทราบภูมิหลังอยู่บ้างจึงเข้าใจได้ว่าโอะโตซังหมายถึงอะไร แต่ถ้าเจอ “ชิบิยะ” เข้าไป ก็คงไม่เข้าใจเหมือนว่าคือที่ไหน ไม่รู้ว่าเป็น “ชิบุยะ” (渋谷;Shibuya) หรือ “ฮิบิยะ”(日比谷;Hibiya) กันแน่ เพราะสองที่นี้เอะดกโกะทั้งหลายมีแนวโน้มว่าจะออกเสียงเพี้ยนกลายเป็นที่เดียวกันแม้ว่าเป็นคนละที่
ความคุ้นชินกับแถบเมืองล่างมานานปีโดยเฉพาะอะซะกุซะ ทำให้ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวชอบไปที่นี่กันไม่ใช่เพราะว่าวัดสวย แต่ไปเพราะว่าแถวนี้มีอะไรให้ดูมากกว่าความเป็นวัด อะไรที่ว่านี้ ถ้าพูดโดยรวมก็คือ “ความเป็นญี่ปุ่น” คนญี่ปุ่นซึ่งทราบหรือได้ยินประวัติของพื้นที่ละแวกนี้ เมื่อไปเที่ยวก็จะสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นได้ด้วยความรู้สึกแบบหนึ่ง ส่วนคนต่างชาติที่ไปเที่ยว ส่วนใหญ่แล้วจะสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นได้จากสิ่งของที่เห็นมากกว่าที่จะสัมผัสผ่านความรู้สึกลึก ๆ ได้
ฉะนั้น ผมขอแนะนำว่าเพื่อให้ได้ชื่อว่ามาถึงโตเกียวจริง ๆ เมื่อเสร็จจากเซ็นโซจิและศาลเจ้าอะซะกุซะแล้ว ลองเดินเข้าซอยแคบ ๆ แถวนั้น เดินดูบ้านคนและแวะกินอาหารดังของเมืองล่าง ชื่อ “มนจะยะกิ” เสียหน่อยเป็นไง มนจะยะกิ (もんじゃ焼き;monja-yaki) เป็นอาหารเก่าแก่ของโตเกียว มีมาตั้งแต่ปลายสมัยเอะโดะ เป็นอาหารผัดกึ่งทอดของญี่ปุ่น มีผักหั่นฝอย เนื้อสัตว์ เช่น หมู กุ้ง แล้วแต่จะเลือกใส่ และมีน้ำแป้งขลุกขลิก เวลาจะทาน คลุกเครื่องให้เข้ากันแล้วเทลงไปในกระทะที่มีน้ำมันพอลื่น รอสักพักก็ทานได้ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อาหารญี่ปุ่นคงรู้จักทะโกะยะกิ (たこ焼き;takoyaki = ปลาหมึกปิ้ง) และโอะโคะโนะมิยะกิ (お好み焼き;O-konomiyaki = พิซซาญี่ปุ่น) ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็พัฒนามาจากมนจะ-ยะกิ แต่ชื่อเสียงแซงหน้ามนจะ-ยะกิไปไกลแล้ว
ถ้าหากย้อนยุคกันจนอิ่มอดีต เดินจากหน้าเซ็นโซจิไป 5 นาที จะถึงท่าเรือที่ริมแม่น้ำซุมิดะตรงจุดนี้นอกจากมีตึกเบียร์อะซะฮิที่ออกแบบเป็นถ้วยใส่เบียร์มีฟองลอยอยู่ให้ชมกันแล้ว จากที่นี่ยังมีเรือให้ล่องไปตามลำน้ำด้วย ในสี่สิบนาทีที่วนไปกับเรือด้วยค่าโดยสารเกือบๆ 1,000 เยน จะได้เห็นปัจจุบันของเอะโดะที่กลายเป็นโตเกียวแล้วอย่างเต็มตา ถ้าสำรวจได้ครบอย่างนี้ ไม่มีใครกล้าพูดหรอกว่าไปไม่ถึงโตเกียว
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th