ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
โครงการมีอันต้องพับไปนานกว่าจะมีโอกาสเหมาะมาถึง วันที่ผมไปมิตาเกะครั้งแรก เหตุการณ์คล้ายกับนพพร
“เมื่อเราเดินทางไปถึงสถานีชินยูกุ ปรากฏว่ามีผู้คนทั้งชายหญิงคับคั่งอยู่ที่สถานี และเกรียวกราวไปด้วยเด็กเล็กซึ่งกำลังรอคอยรถไฟ...” (หน้า 63)
ต่างกันที่ว่าผมไม่ได้ไปในฤดูออทัมน์ (ใบไม้ร่วง) แต่ไปในช่วงปลายฤดูสปริง (ใบไม้ผลิ) และ ‘เรา’ ของผมในที่นี้ไม่ใช่เราสอง แต่เราทั้งผองมีเกือบสามสิบคน
พวกเราพากันขนสัมภาระตุงกระเป๋าไปเข้าค่ายเชื่อมสัมพันธ์ของชมรม ซึ่งมีผมเป็นสมาชิกอยู่ เราขึ้นรถไฟกันที่สถานีชินจุกุ (新宿 ; Shinjuku) ซึ่งไม่เคยมีวันไหนที่คนจะเบาบาง มีแต่แน่นน้อยกับแน่นมากเท่านั้น แล้วรถไฟสายชูโอก็พาเราออกเดินทางจากสถานีชินจุกุ มุ่งสู่มิตะเกะซึ่งเป็นสถานที่ที่ช่วยสร้างสีสันและความเป็นอมตะให้แก่วงวรรณกรรมไทย คนญี่ปุ่นคงดีใจถ้าได้รู้ว่ามิตะเกะกลายเป็นฉากสำคัญอยู่ในบที่ 8 – 10 ของวรรณกรรมไทยเรื่องดัง ซึ่งปัจจุบันเวอร์ชันละครเพลงและยังเปิดแสดงในโลกตะวันตกเสียด้วย
หลังจากรถไฟแล่นไปทางตะวันออกของกรุงโตเกียวประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็เริ่มเข้าสู่โอบล้อมของทัศนียภาพที่เป็นภูเขา มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเขียว ชวนให้นึกว่าไม่น่าจะใช่โตเกียวซะแล้วมั้ง ทำไมแลดูเป็นชนบทจัง แต่เพื่อนญี่ปุ่นยืนยันว่า แถวนี้ยังเป็นพื้นที่ของเมืองหลวง และจุดหมายปลายทางของเราวันนี้ก็ยังอยู่ในโตเกียว
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นภูเขาของโตเกียว รู้สึกแปลกใจเพราะนึกไม่ถึงว่าโตเกียวมีทิวทัศน์อย่างนี้อยู่ด้วย นึกว่ามีแต่ป่าคอนกรีต แต่การที่คนต่างชาติไม่รู้ว่ากรุงโตเกียวมีภูเขาจะแปลกอะไร ในเมื่อมีเด็กไทยอีกไม่น้อยที่ไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ ก็อยู่ติดทะเล
มิตะเกะอยู่ในเขต (อำเภอ) โอเมะ (Ōme) ของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเขตชานเมืองติดกับจังหวัดไซตะมะ ตึกสูงใหญ่อย่างที่มีอยู่ในชินจุกุหรือกินซ่าจึงไม่มีให้เห็นแถวนี้ มีแต่บ้านคนที่อยู่ท่ามกลางแมกไม้ครึ้ม เราต่อรถไฟสายโอเมะที่สถานีทะชิกะวะ (立川 ; Tachikawa) แล้วนั่งไปจนถึงสถานีมิตะเกะ รวมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 90 นาที
– คำยืนยันจากเพื่อนและข้อมูลภายหลังการตรวจสอบ ทำให้ได้คำตอบต่อข้อสังเกตว่า หากศรีบูรพาต้องการสื่อว่า “นอกนครโตเกียว” หมายความว่า มิตะเกะอยู่นอกเขตกรุงโตเกียว อันนี้เห็นจะไม่ใช่ แต่ถ้าท่านหมายความว่า นอกใจกลางเมือง ย่อมถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง –
ในกลุ่มเพื่อนญี่ปุ่นของผมที่ไปด้วยกันไม่มีใครรู้จักวรรณกรรมเรื่องข้างหลังภาพของไทย ไม่มีใครรู้จักวรรณกรรมแปลที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “เอะ โนะ อุระ” (絵の裏; E No Ura) [1] ซึ่งแปลตรง ๆ จากชื่อ “ข้างหลังภาพ” (絵 (E) = ภาพ, の( No) = ของ, 裏(Ura) = ข้างหลัง) เกือบทุกคนไม่เคยได้ยินชื่อมิตะเกะ และไม่มีใครเคยไปมิตาเกะมาก่อน เมื่อเป็นครั้งแรกของทุกคน พอไปถึงแล้ว เสียงร่าเริงสดใสของทุกคนจึงบ่งบอกถึงความตื่นเต้น ผมไม่ได้เจี๊ยวจ๊าวไปกับเขาด้วย แต่ในใจก็ตื่นเต้นไม่แพ้คนอื่น หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำเพราะมีเป้าประสงค์มากกว่าเพื่อนญี่ปุ่นตรงที่จะมาดูมิตะเกะเพื่อแกะรอยนิยายไปด้วย
เราไปถึงสถานีมิตะเกะและก้าวออกจากรถไฟ รู้สึกได้ว่ามีไอเย็นชื้น ๆ มาสัมผัสผิว หันไปทางไหนมีแต่ต้นไม้เขียวครึ้ม สถานีมิตะเกะเริ่มเปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2472 เป็นสถานีเล็ก ๆ ที่คงความเล็กตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นความเล็กที่ดูขลัง ซึ่งอาจเป็นเพราะรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับสถานีใจกลางกรุง ตัวสถานีสร้างแบบไม้แซมปูน ทาด้วยสีน้ำตาลแดง ที่เอ่ยเรื่องสถานีไว้ตรงนี้เพราะอยากจะบอกว่า ใครได้มาสถานีนี้ จงภูมิใจไว้เถิดว่าได้มาถึง 1 ใน “สถานีรถไฟยอดเยี่ยม 100 แห่งประจำภาคกลาง” ของญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นชอบสถิติและการจัดอันดับ มีแทบจะทุกเรื่องไม่เว้นแม้กระทั่งสถานีรถไฟ ถึงแม้ไม่ใช่การจัดอันดับดีมากดีน้อยโดยตรง แต่ก็เป็นการเจาะจงระบุว่าที่นี่มีจุดเด่นที่ควรได้รับการชื่นชมให้สมค่ามากกว่าที่อื่น การคัดเลือกสถานีรถไฟทำกัน 4 ปี คือปี พ.ศ. 2540 – 2543 ได้มาปีละ 24 – 26 สถานีจนครบ 100 แห่ง ความดีเด่นที่จะส่งให้เป็นสถานียอดเยี่ยมมีหลายแง่มุม เช่น มีค่าควรจดจำ สะท้อนประวัติศาสตร์ เป็นมิตรต่อประชาชน มีแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สถานีมิตะเกะ ได้รับคัดเลือกเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่า “เป็นสถานีที่ชานชาลาตั้งอยู่บนแนวลาดเอียงของภูเขา และสร้างตามลักษณะศาลเจ้าชินโตโบราณ” และดูเหมือนเจ้าหน้าที่ของสถานีนี้ภูมิใจยิ่งนัก เพราะตอนที่ผมเข้าไปขอคำแนะนำเรื่องเส้นทางขึ้นเขามิตะเกะ นอกจากอธิบายอย่างเป็นมิตรและแถมแผนที่ให้อีกหลายแผ่นแล้ว ยังพูดโฆษณาความดีเด่นของสถานีให้ฟังอีกต่างหาก
ท้ายสุดเจ้าหน้าที่บอกพวกเราว่ามีรถเมล์ให้นั่งไปจนถึงเชิงเขาได้ แต่พวกเราทั้งกลุ่ม...ไม่นั่ง!
“เดินไปดีกว่า” เสียงหัวหน้ากลุ่มดังขึ้น และไม่มีใครขัดผู้นำทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่ามีระยะทางและความชันแค่ไหน ผมนึกในใจว่า ‘ขอเถอะ...ของหนัก นั่งรถได้ไหม’ แต่ไม่ได้พูดออกไป เพราะอยู่กับคนญี่ปุ่น ผู้รู้ท่านว่า อย่าได้ทะลุกลางปล้อง ไม่งั้นพวกพ้องจะเขม่นเอา เขาว่าไง ถ้าไม่สาหัส กัดฟันว่าตามเขาไป
พอออกจากสถานีซึ่งยกพื้นสูงกว่าถนนราว 2 เมตรก็เห็นได้ทันทีว่ามีสายน้ำไหลอยู่เบื้องหน้า พลอยทำให้นึกถึงคำของนพพรที่ว่า “ออกจากสถานีมาสู่ถนนใหญ่ เราก็อาจที่จะมองเห็นความงามของธรรมชาติ มีลำธารที่กว้างใหญ่ เนินหิน และสีเขียวของพฤกษชาติดารดาษอยู่ในคลองจักษุของเรา” (หน้า 66)
ใช่...เป็นอย่างที่นพพรว่าไว้ และยังมีร้านรวงขนาดไม่ใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่แถวหน้าสถานีด้วย นพพรพาคุณหญิงกีรติเดินทางโดย “ข้าพเจ้ายังจะพาเธอเดินทางโดยรถบัส ซึ่งแล่นขนานไปกับลำธารต่อไปอีกจนกระทั่งบรรลุถึงเนินเขามิตาเกะ ณ ที่นั้นแล” (หน้า 66)
มีท่ารถบัสที่คอยรับส่งจากสถานีถึงเชิงเขาแต่พวกเราเลือกเดินเพื่อชมเพลินธรรมชาติ ออกจากสถานีไม่กี่ก้าวก็ถึงสะพานมิตะเกะที่ไม่ยาวนัก ทอดข้ามไปยังถนนอีกเส้นหนึ่งที่เลาะเลียบเชิงเขาและขนานกับลำธาร พวกเราพากันชักขบวนโดยมีผมเดินรั้งท้ายตามสไตล์คนไทยที่เดินอืดกว่าคนญี่ปุ่น พอถึงกลางสะพาน ผมหยุดยืนมองลงไป กระแสน้ำไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ ได้ยินเสียงดังขึ้นมาจากเบื้องล่าง
‘คงต้องเป็นลำธารนี้แน่ ๆ ที่นพพรกับคุณหญิงกีรติมาย่ำน้ำเล่นกัน?’ ผมนึกอยู่ในใจ แต่ไม่ได้พูดกับใคร เพราะพูดไปก็คงไม่มีใครเข้าใจ เก็บภาพสองสามใบ แล้วเดินตามเพื่อน ๆ ไป พอถึงอีกฟากหนึ่งของสะพาน เห็นป้ายสีน้ำเงินเขียนว่า “ทะมะ งะวะ” (多摩川; Tama-gawa) แปลว่า “แม่น้ำทะมะ”
– อ้อ...ผมได้ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ลำธารในเรื่องข้างหลังภาพคงไม่ใช่ลำธารเสียแล้วล่ะ แต่เป็นแม่น้ำ ชื่อว่าทะมะ –
แต่ถ้าให้คนไทยที่ไหนมาดูแม่น้ำทะมะ คงคิดว่าเป็นลำธารกันทั้งนั้น เพราะคนไทยจะนึกเทียบกับแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน หรือเจ้าพระยา ที่กว้างและลึก แต่สำหรับคนญี่ปุ่น แม้จะไม่ใหญ่นักแต่นี่คือแม่น้ำทะมะซึ่งยาว 126 กิโลเมตร ไหลมาจากจังหวัดยะมะนะชิ (山梨 ; Yamanash) ผ่านมาทางตะวันตกของกรุงโตเกียวซึ่งเป็นที่ตั้งของเขามิตะเกะ
ผ่านไปยี่สิบนาที พวกเราเริ่มเดินเข้าเขตศักดิ์สิทธิ์โดยสังเกตได้จากประตูศาลเจ้าซึ่งเรียกว่า “โทะรี” (鳥居;Torī) ทีแรกคิดว่าเห็นประตูแล้วคงอีกไม่กี่นาทีก็จะถึงจุดหมาย ที่ไหนได้ พวกเรามารู้ทีหลังว่าจากประตูนี้กว่าจะถึงที่ ต้องเดินไปอีกนาน ลำพังแค่ระยะทางถึงเชิงเขา พวกเราก็เริ่มเหนื่อยกันแล้ว นพพรคิดถูกที่พาคุณหญิงนั่งรถไป พอถึงเชิงเขาซึ่งคาดว่าเป็นที่เดียวกันกับที่นพพรและคุณหญิงกีรติมา พวกเราก็เห็นรถเคเบิลไต่เขาขึ้นไปเกือบถึงยอด ซึ่งศรีบูรพาไม่ได้เอ่ยถึง คราวนี้เหนื่อยกันแล้ว หัวหน้ากลุ่มของเราจึงถามความเห็นว่าจะปีนเขาต่อไปหรือจะขึ้นรถเคเบิล
อึดมาถึงจนขนาดนี้แล้ว คนส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าจะอึดต่อไป ตกลงว่าพวกเราจะปีนเขาขึ้นไป แล้วขากลับในวันพรุ่งนี้ค่อยนั่งรถเคเบิลลงมา พวกเราเดินกันไปเรื่อย ทางที่ทำไว้ให้เดิน ถือว่าสะดวกดี สองข้างทางคือเนินและต้นสนซีดาร์ลำต้นตรงดิ่งสูงใหญ่ มาถึงตรงนี้เรามองไม่เห็นแม่น้ำทะมะอีกต่อไปแล้ว ทางบางช่วงชัน บางช่วงเป็นดิน ตลอดทางมีคนญี่ปุ่นรุ่นผู้ใหญ่เดินลงมาไม่ขาดระยะ ผมจึงได้ทราบว่าภูเขามิตะเกะเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทปีนเขา คิดตามไปว่า ด้วยเส้นทางไกลและต้องใช้กำลังขาขนาดนี้ ถ้านพพรกับคุณหญิงกีรติปีนขึ้นมาจริง ๆ คงเหนื่อยโทรมไปตาม ๆ กัน ไม่เหลือสวยเหลือหล่อให้เราได้เห็นอย่างในภาพยนตร์แน่ ขนาดยังหนุ่มยังแน่นอย่างพวกเรายังหอบฮัก ๆ เพราะระยะทางกับความชัน
ผ่านไป 2 ชั่วโมง เหงื่อชุ่มโชกทีเดียว พวกเราขึ้นมาถึงจุดชมวิวซึ่งเป็นลานยื่นออกไปหน่อยตรงชะง่อนผา มองลงไปเห็นทิวทัศน์ข้างล่างซึ่งเป็นเมืองอยู่ในโอบล้อมของภูเขา นี่แหละ...อีกด้านหนึ่งของโตเกียว บนลานนี้มีร้านค้า มีที่จอดรถ มีห้องน้ำให้บริการอยู่ แต่ที่ไม่มีอยู่อย่างหนึ่งคือ “ถังขยะ” ที่นี่มีกฎเหล็กคือจะไม่ตั้งถังขยะเอาไว้ ผมเข้าไปถามได้ความว่าเป็นการรณรงค์ให้คนที่ขึ้นมา ถือขยะลงไปทิ้งข้างล่างด้วย ถ้าไม่ทำอย่างนี้ จะมีแต่ขยะกลายเป็นภาระให้คนอื่นขนลงไปแทน ทีแรกผมหาถังขยะไม่เจอก็เกิดอาการหงุดหงิด แต่พอได้ฟังแนวคิดนี้แล้วรู้สึกเลื่อมใสผู้ริเริ่ม เมืองไทยน่าจะทำอย่างนี้บ้าง
เมื่อพักผ่อนพอหายเหนื่อย พวกเราจึงออกเดินกันต่อ ระหว่างทางที่เดินขึ้นบ้างลงบ้าง มีบ้านคนซึ่งดูสะดุดตาที่หลังคาทรงโบราณ และมีโรงแรมแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เรียวกัง” (旅館 ; ryokan) เดินไปสัก 10 นาที พวกเราก็ถึงเรียวกังที่จองไว้ ในช่วงบ่ายแก่ ๆ นี้กิจกรรมแรกของพวกเราคือการสนทนาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น จากนั้นก็เล่นเกม ผมคงหมดวัยเล่นเกมไปแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ ไม่รู้สึกสนุกไปกับเขา จึงออกมานั่งอยู่ที่ระเบียงคนเดียว นึก ๆ ไปก็เหมือนคนบ้า เพราะมองฟ้ามองต้นไม้ นึกถึงข้างหลังภาพแล้วก็อมยิ้มอยู่คนเดียว แต่ใครเลยจะคิดว่าสักวันหนึ่งตัวหนังสือที่เราเคยอ่านจะกลายมาเป็นภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า ติดแต่เพียงว่าภาพที่เห็นจนถึงตอนนี้ยังไม่ครบทั้งหมดเหมือนที่อ่านมา
เมื่อถึงกลางคืนก็มีงานเลี้ยง งานเลี้ยงแบบญี่ปุ่นหนักไปในทางสนทนากันเสียเยอะ พอเหล้าเข้าปากหลายคนเริ่มพูดลิ้นรัว ขณะที่กำลังได้ที่ก็ถึงรายการออกไปชมดาว นำขบวนโดยหัวหน้าอีกเช่นเคย พวกเราพากันออกไปที่ผาชมดาวซึ่งเป็นเนินยื่นออกไปจากภูเขา ปรากฏว่าฟ้าไม่เปิด จึงได้ดูแต่ความมืด กลับจากผาชมดาว คืนนั้นทุกคนหลับสนิทเพราะความเหนื่อยจากการปีนเขา หนึ่งวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ความสนุกสนานแสดงออกมาทางสีหน้าและน้ำเสียงของทุกคน
รุ่งขึ้นหลังจากทานอาหารเช้ากันแล้ว พวกเราออกจากที่พัก ขึ้นไปที่ยอดเขามิตะเกะซึ่งสูง 929 เมตร ก่อนถึงศาลเจ้า เราเดินผ่านร้านค้า และผ่านต้นเซลโควาหรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เคะยะกิ” (ケヤキ ; Keyaki) ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของที่นี่ เพราะเก่าแก่จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติของญี่ปุ่น ต้นเคะยะกินี้มีอายุประเมินราว 1,000 ปี เป็นต้นสูงตระหง่านเอนย้อยค้อมกิ่งสล้างให้ร่มเป็นหย่อมแก่ทางเดิน ไม่นานนักก็ถึงยอด ข้างบนนี้มีศาลเจ้ามุซะชิมิตะเกะ (武蔵御嶽神社 ; Musashi Mitake Jinja) เป็นศาลเจ้าชินโตซึ่งเก่าแก่มากเช่นกัน เชื่อว่าน่าจะมีอายุกว่า 2,000 ปีแล้ว สมัยโบราณมีซะมุไรมาสักการะเป็นจำนวนมาก ตัวศาลเจ้าเป็นสีแดงตั้งเด่นอยู่บนเนินที่สูงที่สุด ใครจะไหว้ก็ต้องออกแรงปีนบันไดกันหลายขั้นหน่อย ภายในเขตพื้นที่ของศาลเจ้ายังพอมีดอกซากุระบานติดช่อให้เราได้ยลกันอยู่บ้างแม้เป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ศาลเจ้าแห่งนี้ ศรีบูรพาไม่ได้กล่าวไว้ แต่ผมอนุมานว่าท่านน่าจะขึ้นมาจนถึงบนนี้เพราะใครก็ตามที่มาเขามิตะเกะ มักไม่พลาดที่จะขึ้นมาสักการะศาลเจ้าซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของการมาเขาลูกนี้
จากศาลเจ้า พวกเรานั่งรถเคเบิลลงไปข้างล่าง นึกแล้วผมเคืองอยู่ลึก ๆ ว่า แหม...ท่านหัวหน้า ขาขึ้นทำไมไม่นั่งรถเคเบิล แล้วขาลงค่อยเดินลง กลับมาทำตรงกันข้ามเสียนี่ ทบทวนอีกทีว่า ท่านหัวหน้าเด็กกว่าตั้งหลายปี คราวนี้คงต้องปล่อยไปก่อน
เมื่อมาถึงข้างล่าง พวกเรามุ่งไปที่ริมแม่น้ำทะมะ เดินไปตามทางเลียบแม่น้ำ เห็นน้ำแล้วหลายคนอดใจไม่ไหว ถึงกับวักน้ำใส่มือบ้าง แตะน้ำปริ่ม ๆ บ้าง เล่นกับน้ำใสที่ไหลอยู่ตรงหน้าไม่ต่างอะไรกับ “ในบางขณะเราลงไปยืนอยู่บนก้อนหินซึ่งกระแสน้ำแทบจะไหลผ่านรองเท้าของเราไป” (หน้า 67)
เมื่อถึงลานกว้างแห่งหนึ่ง บาร์บีคิวปาร์ตี้ของพวกเราก็เปิดฉาก คราวนี้สองฝ่าเท้าของพวกเราหลายคนได้สัมผัสน้ำเย็นเฉียบในลำน้ำ บางคนทนเสียงเว้าวอนของแม่น้ำทะมะที่เซาะหินจั๊ก ๆ ไม่ไหวถึงกับถอดเสื้อลงว่ายเลยก็มี บางคนตั้งวงเหล้าอีก และบางคนหลับอยู่ข้างแม่น้ำทะมะ ผมมองดูเพื่อน ๆ และแม่น้ำอย่างสุขใจ แม้ตัวเองไม่ได้มากับ “คนที่รักฉัน” แต่ก็กลับไปหลังจากที่ได้ฝากความรักไว้ให้แก่มิตะเกะ
หมายเหตุ :
[1] บทประพันธ์เรื่องข้างหลังภาพได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมะซะกิ โอะโนะซะวะ และนิตยา โอะโนะซะวะ โดยมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เอะ โนะ อุระ” (E No Ura) พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2525 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University Press)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th