xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาข้างหน้าภาพ (1)

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

หน้าปก นวนิยาย ข้างหลังภาพ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ผมไปโดยปราศจากคนที่รักผม แต่ผมก็อิ่มใจที่ได้ฝากรักไว้ที่นั่น”

เอ…ประโยคคุ้น ๆ อย่างนี้เหมือนเคยได้ยินที่ไหน? ...ฟังคล้าย ๆ กับ “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”

นวนิยายรักอมตะที่ถูกบังคับให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลาสมัยมัธยมต้นเล่มนั้น หายไปจากตู้หนังสือเมื่อไรไม่ทราบ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่รู้สึกอยากหาเล่มใหม่มาอ่านซ้ำ เพราะจำ ประสบการณ์ครั้งแรกที่ฝืนอ่านจนจบได้ว่า อ่านแล้วจะหลับ ไม่เห็นจะประทับใจอย่างที่อาจารย์บรรยายสรรพคุณไว้ ไม่ทันใจวัยรุ่น ยิ่งถ้าเป็นสมัยนี้คุณหญิงกีรติกับนพพรคงกลายเป็นกิ๊กไปเรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่นแล้ว

ถ้าจำไม่ผิด คิดว่าน่าจะเป็นตอนอยู่ ม.2 ที่ต้องอ่าน “ข้างหลังภาพ” ขณะนั้นเพิ่งจะอายุ 12 (ผมเรียนเร็วกว่าปกติหนึ่งปี) ก็ให้เด็กที่ยังไม่เคยมีความรัก รู้จักโลกแค่น้อยนิด และไม่ซึ้งความวิจิตรของภาษา มาอ่านเรื่องของผู้ใหญ่ ความประทับใจจะเกิดอย่างไรได้ อ่านไปก็บ่นไปว่าให้อ่านอะไรก็ไม่รู้ ไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น

หลายปีหลังจากนั้น ได้ดูฉบับภาพยนตร์แล้วเกิดความฉงนมากมาย ถึงได้ขวนขวายหานิยายมาอ่านใหม่ กลับเมืองไทยได้ “ข้างหลังภาพ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 36 (พ.ศ. 2545) มาอยู่ในมือ พอหาหนังสือได้ จึงอ่านไปด้วยความเพลิดเพลิน แต่ยังอ่านไม่จบก็ครบวันกำหนดกลับพอดี ไปอ่านจบอีกทีเมื่อถึงญี่ปุ่น เห็นคุณหญิงกีรติกับนพพรออกมาโลดแล่นในจินตนาการอยู่ตรงหน้า และซึมซับบรรยากาศของเรื่องได้มากขึ้นเพราะตัวเองอยู่ในญี่ปุ่น คราวนี้จึงรู้คุณค่าแห่งความเป็นอมตะของงานประพันธ์ชิ้นนี้ นี่ชี้ให้เห็นว่าการเลือกอ่านเรื่องที่เข้ากับวัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน

ข้างหลังภาพนั้นมีอะไร?

ถ้าว่ากันอย่างซื่อ ๆ หลังภาพที่แขวนติดกับผนัง จะมีอะไรไปได้นอกเสียจากกระดาษกับผนังห้องอย่างที่นพพรซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมดพูดไว้ว่า “สำหรับคนอื่น ข้างหลังภาพนั้น ก็คือกระดาษแข็งแผ่นหนึ่งและต่อไปก็คือผนัง” (หน้า 3) แต่สำหรับนพพร “ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต และเป็นชีวิตที่ตรึงตราอยู่บนดวงใจของข้าพเจ้า” (หน้า 3) ชีวิตที่อยู่ข้างหลังภาพนั้นเป็นอย่างไรคนไทยคงทราบเรื่องกันอยู่แล้ว แต่ข้างหน้าภาพล่ะ?

ข้างหน้าในที่นี้ ผมหมายถึงทัศนียภาพที่นพพรกับคุณหญิงกีรติได้เห็นแล้วคุณหญิงกีรติถ่ายทอดออกมาเป็นภาพสีน้ำ จนกลายเป็นที่มาของชื่อเรื่องข้างหลังภาพ ภาพนั้นวาดที่มิตาเกะ (ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “มิตะเกะ”; 御岳, Mitake) ซึ่งเป็นสถานที่ที่นพพรบอกว่า “เป็นที่ซึ่งมีภูมิประเทศงดงามแห่งหนึ่งนอกนครโตเกียว ชาวนครโตเกียวมักเดินทางไปใช้เวลาในวันอาทิตย์ที่นั่น” (หน้า 1)
—ผมได้ข้อสังเกต คือ มิตาเกะอยู่นอกโตเกียว — (1)


เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมรู้ว่านพพรกับคุณหญิงกีรติคงไม่มีตัวตนจริงให้ค้นหา แต่ฉากของศรีบูรพาที่ “มิตาเกะ” คงมีจริงแม้ว่าหนังสือท่องเที่ยวญี่ปุ่นทั้งหลายแทบไม่เอ่ยถึงเลยก็ตาม และสำหรับผม มิตะเกะซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ “ข้างหน้าภาพ” เป็นชื่อที่น่าค้นหาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงได้กลายเป็นฉากสำคัญที่นักเขียนชั้นครูเจาะจงเลือก

นพพรบรรยายถึงมิตะเกะเมื่อมองภาพว่า “มองดูภาพนั้นเมื่ออยู่ลำพัง ข้าพเจ้าแลเห็นน้ำในลำธารไหลเอื่อย ๆ และไหลแรงบางตอน เมื่อผ่านจากที่สูงไปสู่ที่ลาดต่ำ เห็นจนกระทั่งแสงแดดอ่อน ๆ ของฤดูออทัมน์” (หน้า 3)

“ภาพนั้น” คือภาพที่ชื่อ “ริมลำธาร” เป็นทัศนียภาพของมิตะเกะที่หม่อมราชวงศ์กีรติวาดไว้ ซึ่งตอนหนึ่งของเรื่องมีบทพรรณนาว่า

“ภาพนั้นวาดด้วยสีน้ำ แสดงถึงภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา อีกด้านหนึ่งของลำธารเป็นทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน บางตอนก็สูง บางตอนก็ต่ำตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย มีพรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ บนต้นเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น...” (หน้า 2)
—ผมได้ข้อสังเกตมาอีกว่า แถวมิตะเกะน่าจะมีลำธาร — (2)


อ่านแล้วเห็นภาพ ว่าแต่ว่ามิตะเกะอยู่ที่ไหนล่ะ? ผมเอาชื่อไปถามคนญี่ปุ่น
“หมายถึงมิตะกะเหรอ?” เพื่อนญี่ปุ่นของผมถามทวน
“มิตะเกะ...ไม่ใช่มิตะกะ” ผมแย้ง
“ถ้ามิตะกะละก็ นั่งรถไฟสายโทไซไปก็ได้ แต่ถ้ามิตะเกะ...เราไม่รู้จัก” เพื่อนคนนี้ไม่รู้จักมิตะเกะ

หรือสิ่งที่ศรีบูรพาเขียนขึ้นมานั้นเป็นเพียงชื่อสมมุติ?

...แต่ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น

ผมถามคนแล้วคนเล่าเฝ้าหาคนตอบ แต่ก็ยังไม่เจอคนญี่ปุ่นที่รู้จักชื่อมิตะเกะ ชะรอยชื่อนี้คงไม่ดังเท่ากับชื่อสถานีมิตะกะกระมังถึงไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน

อย่าว่าแต่คนญี่ปุ่นรู้จักแต่มิตะกะเลย คนไทยจำนวนไม่น้อยก็สับสนระหว่าง “มิตะเกะ” กับ “มิตะกะ” ระยะหลัง ๆ นี้คนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากขึ้น และหนึ่งในที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อสำหรับแฟนการ์ตูนคือพิพิธภัณฑ์จิบลีซึ่งอยู่แถวย่ายมิตะกะ เพราะแบบนี้เองคนที่แยกไม่ออกว่าว่า “เกะ” หรือ “กะ” และพูดผิดพูดถูกจึงมีอยู่ทั่วไป

จนในที่สุดมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า
“อ๋อ มิตะเกะ-ซัง ใช่ไหม?” เพื่อนผมหมายถึงภูเขามิตาเกะ
“เอ่อ...คงใช่” ผมยังไม่แน่ใจว่าใช่มิตาเกะเดียวกับที่ศรีบูรพาไปหรือเปล่า
“ไปไม่ยากหรอก นั่งรถไฟสายชูโอไปทางตะวันออก”

ยังดีที่มีคนญี่ปุ่นที่รู้จักมิตะเกะ หลังจากหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว คิดว่าสถานที่ที่เพื่อนคนนั้นบอกน่าจะใช่มิตาเกะที่ผมตามหาอยู่

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่ได้จากการซักถามเพื่อน ๆ ญี่ปุ่น คือ ข้อแรก มิตะเกะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังในหมู่คนญี่ปุ่น คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จัก น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอยู่ที่ไหน ข้อสอง คนญี่ปุ่นไม่ค่อยรู้จัก แต่ศรีบูรพาไปแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้นำมาเป็นฉากสำคัญของเรื่อง มิตะเกะคงจะมีทัศนียภาพที่น่าประทับใจ แต่ว่าความประทับใจที่ว่านั้นมาจากไหน คงต้องไปดูให้รู้ด้วยตาตัวเอง แล้วโครงการ “ทัศนามิตะเกะ” เป็นการส่วนตัวจึงเกิดขึ้น

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น