xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาข้างหน้าภาพ (3)

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

คนญี่ปุ่นพักผ่อนที่แม่น้ำทะมะในวันหยุด
เที่ยวมิตะเกะคราวนั้น รู้สึกประทับใจกับธรรมชาติ ในสายตาคนไทยทั่วไป คงคิดว่ามิตะเกะไม่ใช่สถานที่ที่สวยงามเหนือคำบรรยายและไม่โด่งดังเท่ากับนิกโกหรือคะมะกุระ แต่ส่วนที่ผมคิดว่าน่าประทับใจมากกว่าทิวทัศน์ที่มองเห็นได้ด้วยตา คือ ‘บรรยากาศ’ ซึ่งคนที่ไปจะรู้สึกได้ทางผิวหนังและด้วยสัมผัสทางความรู้สึกภายในมากกว่า บรรยากาศของที่นี่ร่มรื่น มีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในหมู่แมกไม้ มีน้ำไหล มีชีวิตชีวา ถ้าใครได้ไปใช้เวลาสักหนึ่งวัน ลองสูดหายใจลึกๆ จะรู้สึกได้ถึงความสดชื่นในมวลอากาศ และรู้สึกว่าจิตใจสงบ เย็นชื่น ซึ่งผมเองก็ได้สัมผัสความรู้สึกแบบนั้นมา ตอนนี้จึงไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมศรีบูรพาเลือกที่นี่เป็นฉากแม้ว่าท่านคงไปเที่ยวสถานที่โด่งดังอื่นๆ อีกหลายแห่งขณะที่อยู่ในญี่ปุ่น

จากครั้งแรกที่ฝากรักไว้ที่มิตะเกะ ปีถัดมาผมยังกลับไปฝากซ้ำ เพราะความรู้สึกคาใจที่ว่า ‘ได้เห็นลำธารแต่ยังไม่ได้เห็นน้ำตกตามที่ปรากฏในท้องเรื่อง’ ช่วยกันออกแรงผลักดันให้กลับไปอีก ผมไปมิตะเกะอีก คราวนี้ไปแบบส่วนตัว ไม่ได้ไปเป็นกลุ่มเหมือนครั้งแรก และครั้งนี้ไม่ยอมเสียแรงตอนอยู่ข้างล่างแล้ว แต่ลงทุนนั่งรถบัสไปถึงเนินเขา ซึ่งก็ไม่ต้องใช้ทุนหนาเท่าไร แค่ 200 กว่าเยนเท่านั้น ถึงเชิงเขาแล้วนั่งรถเคเบิลขึ้นไปเกือบ 600 เยน เจ้าหน้าที่ของรถเคเบิลคงรู้ใจนักท่องเที่ยว ภายในสถานีบริเวณหน้าตัวรถเคเบิลจึงเขียนป้ายไว้เสร็จสรรพว่า “เชิญถ่ายรูปได้ตามอัธยาศัย” พร้อมทั้งเอาเก้าอี้สีแดงสดมาตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวนั่งโพส จากตรงนี้ขึ้นไปจนถึงลานชมวิวปลอดถังขยะที่ผมกับเพื่อน ๆ เคยแวะไป ใช้เวลาแค่ 6 นาที ความชันเฉลี่ยของเส้นทางคือ 22 องศา ชันที่สุดคือ 25 องศา
แม่น้ำทะมะยามเย็น
รถเคเบิลกับเก้าอี้แดง
จากลานชมวิวซึ่งเป็นจุดที่รถเคเบิลขึ้นมาจอดด้วยนั้น เดินไปอีกไม่เท่าไรก็ถึงศาลเจ้า ผมไปไหว้ศาลเจ้าแล้วเดินเลาะไปตามป้ายที่ชี้บอกทางสู่สวนหินมิตะเกะซึ่งครั้งที่แล้วไม่ได้ไป ระหว่างทางเจอน้ำตก “นะนะโยะ” (Nanayo no taki; 七余の滝) ความสูง 50 เมตร แถวนี้มีน้ำตกอยู่หลายแห่ง แต่น้ำตกที่โดดเด่นและใหญ่เท่านะนะโยะ (ซึ่งก็ยังถือว่าเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับวังตะไคร้ของไทย) ไม่มีอีกแล้ว ถ้าจะเป็น “ต้นทางน้ำตกซึ่งเป็นบ่อเกิดของลำธารกว้างใหญ่ที่เราได้ผ่านมา” (หน้า 67) ในเรื่องข้างหลังภาพก็น่าจะเป็นน้ำตกแห่งนี้ นพพรให้ภาพไว้ว่า ในบริเวณใกล้น้ำตก “กระแสน้ำไหลกระโชกกระชากไปบนก้อนหิน แล้วต่อไปก็ไหลแรงบ้าง ระรินบ้าง ไปตามลำธารที่ค่อยกว้างใหญ่ออกไป” (หน้า 67) ภาพเหล่านี้มีให้เห็นจริงอยู่ตรงเบื้องหน้าสายตาของผม แต่หากจะนึกว่าใครสักคู่พร้อมด้วยสัมภาระจำนวนหนึ่งจะดั้นด้นมาถึงที่นี่ได้ด้วยเวลาเพียงสั้น ๆ คงเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าการบรรยายในเรื่องเกิดจากจินตนาการเสียมากกว่า เพราะถ้าให้นพพรเดินจากเชิงเขา ปีนเนินดินและหินขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงยอดเขาแล้วเลาะมาที่น้ำตกนี้พร้อมกับผู้หญิงที่อยู่กับความสบายมาตลอดชีวิตอย่างคุณหญิงกีรติ คงเป็นงานที่สาหัสไม่เบา และในเมื่อแม่น้ำทะมะไหลมาจากจังหวัดยะมะนะชิ น้ำตกนี้ไม่น่าจะเป็นต้นสายของลำน้ำที่อยู่ด้านล่าง

หลังจากฉากแถว ๆ น้ำตก นพพรกับคุณหญิงกีรติออกเดินต่อไปตามไหล่เขา “จนกระทั่งบรรลุถึงปลายทางซึ่งนำเรามาอยู่บนยอดเนินสูงแห่งหนึ่ง เราได้นั่งลงพักผ่อนใต้ร่มไม้ซีดาร์ซึ่งแผ่กิ่งก้านแลสล้าง” (หน้า 69) ผมปีนมาเป็นครั้งที่สอง แต่ยังหาเนินที่ว่านั้นไม่เจอ...หรือว่านี่จะเป็นจินตนาการอีกเช่นกัน (?) และอีกอย่างหนึ่งคือ ต้นสนซีดาร์เท่าที่เห็นมาจนถึงตอนนี้ ขึ้นค่อนข้างถี่ และไม่ใช่ที่ที่น่านั่งคุยกันได้นานถึงขนาดสร้างอารมณ์ให้ฝ่ายชายบอกรักฝ่ายหญิงได้
ทัศนียภาพจากบนเขามิตะเกะ
หลังจากหาเนินไม่เจอ ผมเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงสวนหิน เรียกว่า ‘ไต่’ อาจจะเหมาะกว่า เพราะตามรายทางมีโขดหินเล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่เต็มไปหมด อากาศชื้นและเย็นกว่าข้างล่างมาก ขณะที่บากบั่นฝ่าดงหิน ร่างกายใช้พลังงานไปมาก เสียงกล่อมของน้ำที่เซาะอยู่ตลอดยิ่งทำให้คอที่แห้งอยู่แล้วกระหายน้ำยิ่งขึ้นไปอีก ใจหนึ่งรู้สึกว่าคิดถูกที่ออมแรงเอาไว้ ไม่ปีนจากข้างล่างขึ้นมา แต่ก็ยังต้องเหนื่อยบนนี้เพราะมีที่ต้องปีนหลายแห่ง

ผ่านสวนหินมิตะเกะลงมา ผมพบกับชายญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งกำลังกุลีกุจอรองน้ำที่ต่อท่อออกมาจากใต้ดินใส่กระบอก ผมเมียงมองมาแต่ไกล ไม่รู้หรอกว่าน้ำนั้นไหลมาจากไหน แต่เดาว่าคงมาจากบนภูเขาแถวนี้ พอเข้าไปใกล้ ชายคนนั้นก็ชวนให้รองน้ำดื่มบ้าง

“น้ำนี้ต่อท่อไว้ให้ดื่ม ดื่มได้ อร่อยนะ น้ำที่นี่มีรสนะครับ” ชายแปลกหน้าแนะนำ
“อ้าาาห์...อร่อยครับ” ผมดื่มน้ำจากภูเขาป่าสน และไม่ได้รู้สึกว่าเขาโฆษณาเกินจริง
“ป่าสนก็ให้น้ำอีกรสนึง ถ้าเป็นป่าอื่นก็ให้อีกรสนึง”

คงจะจริงกระมัง แต่ผมก็ไม่เคยลองดื่มน้ำจากป่าอื่นดูสักที

ผมขอบคุณชายผู้นั้นและลาจากเขาไป รู้สึกสดชื่นขึ้นทั้งจากน้ำที่ดื่มและจากความเป็นมิตรของคนแปลกหน้าผู้ร่วมเส้นทาง เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับมิตะเกะ
ร้านค้าปลอดถังขยะที่ลานชมวิว
ได้น้ำแล้วผมก็ลงจากเขา สรุปว่าหาเนินไม่เจอ ทีแรกเดาว่า เนินที่นพพรพูดถึงอาจเป็นจุดชมวิวปลอดถังขยะ แต่ตรงนั้นมีร้านค้าและคนพลุกพล่าน หนุ่มสาวไม่น่าจะจู๋จี๋กันได้สะดวก ลองทบทวนอีกครั้ง จึงได้ข้อสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นผาดูดาวที่เพื่อน ๆ และผมออกไปเก้อเมื่อคืนนั้น เพราะที่นั่นใกล้ศาลเจ้าและอยู่ในเส้นทางเดียวกับที่จะไปน้ำตก แต่ถ้าว่ากันตามลักษณะการเดินทางแล้ว ทั้งสองคนน่าจะแวะที่เนินเสียก่อนแล้วจึงไปที่น้ำตก ไม่อย่างนั้นจะเป็นการย้อนศร

หลังจากครั้งนั้น ผมยังไปมิตะเกะอีกและปีนป่ายจนรอบ ไปมิตะเกะมา 3 ครั้งในฤดูใบไม้ผลิ ได้เห็นทิวทัศน์ “ข้างหน้าภาพ” ตามที่ปรากฏอยู่ในนิยาย “ข้างหลังภาพ” พบว่า ‘ส่วนใหญ่’ คือภาพที่ศรีบูรพาได้เห็นด้วยตาตนเองและเขียนบรรยายตามนั้น แต่ลำดับหรือภาพบางส่วนอาจไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด

ผมสรุปเช่นเดียวกับคุณเชิด ทรงศรี [1] ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องข้างหลังภาพว่าทัศนียภาพที่ปรากฏในนิยายข้างหลังภาพมีบางส่วนที่เป็นจินตนาการของผู้เขียนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับการเขียนนิยาย
ศาลเจ้ามุซะชิมิตะเกะ
ในฐานะที่อยู่ญี่ปุ่นมาไม่น้อยปี ส่วนลึกแล้วผมอยากให้นักท่องเที่ยวไทยลองไปปีนเขามิตะเกะดูบ้างแทนที่จะเน้นชอปปิงเสียอย่างเดียว ใครชอบสีสันของใบไม้ ก็ควรไปในฤดูใบไม้ร่วง แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นดอกซากุระสีชมพูบานสะพรั่งอย่างในภาพยนตร์ เพราะดอกซากุระไม่ได้บานในฤดูร้อนหรือใบไม้ร่วง (แต่บานในฤดูใบไม้ผลิซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่คุณหญิงกับท่านเจ้าคุณไปญี่ปุ่นตามบทประพันธ์ ทั้งสองไปในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงหรืออย่างเร็วก็ปลายฤดูร้อน) และควรใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไป อย่าใส่เสื้อบาง ๆ ไปเหมือนนพพรกับคุณหญิงกีรติเพราะอากาศข้างบนเย็นกว่าข้างล่าง ส่วนใครชอบดอกไม้ควรไปมิตะเกะในฤดูใบไม้ผลิเพราะมีดอกไม้หลายชนิดบานไล่ ๆ กันรวมทั้งซากุระด้วย เมื่อไปแล้วจะได้สัมผัสธรรมชาติของญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวพันกับบทประพันธ์อมตะของไทย และอาจเกิดความประทับใจเช่นเดียวกับที่ศรีบูรพาคงรู้สึก จึงได้เลือกเอามาเป็นฉาก

ปิดฉากการตามหาข้างหน้าภาพแล้ว แต่ผมคิดว่าการไปเยือนมิตะเกะของผมคงจะยังไม่ยุติลงเสียทีเดียวหากยังไม่ได้ไปดูใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง และผมมั่นใจว่าทั้งวรรณกรรมเรื่องข้างหลังภาพและมิตะเกะจะยังคงเป็นขุมความสำราญให้คนรุ่นหลังได้อิ่มเอิบอยู่ต่อไป
ทางไต่เขา
ป่าสนซีดาร์ยืนต้นถี่บนเขามิตะเกะ
หมายเหตุ :
[1] ผู้กำกับเชิด ทรงศรีเขียนในบทความชื่อว่า สงครามชีวิต-ข้างหลังภาพ: ข้อเขียนต่าง "หญ้าแพรกกับดอกมะเขือ" บูชาครู "ศรีบูรพา" แสดงอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของกองทุนศรีบูรพาว่า “ฉากรักบนเขามิตาเกะระหว่างนพพร-กีรติในส่วนที่ไม่ตรงกับสถานที่ที่เป็นอยู่จริง คงจะเป็นจินตนาการของศรีบูรพาเอง”

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น