xs
xsm
sm
md
lg

โปสการ์ดที่ไม่มี...ที่มา : หนังรักที่กำลังหา...ที่ไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ห่างหายไปนานพอควรสำหรับหนังไทย กลัวจะถูกกล่าวหาเหมือนกันว่าไม่สนับสนุนหนังไทย หรือไล่เลยไปจนกระทั่งถึงว่าไม่รักความเป็นไทย ตามกรอบคิดที่ว่ารักเมืองไทยต้องอุดหนุนของไทย ถ้ายังจำได้ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งถึงกับเกิดมีวาทกรรมปลุกเร้ารณรงค์กันใหญ่โตเกี่ยวกับการใช้ของไทย ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่รู้ว่ารักกันอย่างไร เพราะแม้แต่ไทยด้วยกันเองที่บอกว่ารักไทย ก็ยังหลอกไทยด้วยกันได้ไม่อายไทย และสุดท้ายทุกวันนี้ก็อย่างที่เห็น ของนอกเดินกันเพ่นพ่านทุกบ้านย่านบาง โรงหนังเองก็เถิด แต่ละสัปดาห์ก็หนังนอกแทบทั้งนั้น คือเกริ่นมาจนป่านนี้ ก็เพียงเพื่อจะบอกครับว่า การงดดูหนังไทยหรือไม่ดูหนังไทยเลยสำหรับหลายท่านหลายคนนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับการเห็นหรือไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทย แต่เพราะอะไรถึงไม่ดูหนังไทย เชื่อว่าแต่ละคนก็คงจะมีคำตอบที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไป

ผมพูดบ่อยๆ ว่าหนังไทยหลายเรื่อง เดินออกมาจากโรงแล้วเสียดายเงิน หรือกระทั่งพูดเล่นๆ ว่า โหลดดูยังเสียดายเน็ท เปลืองฮาร์ดดิสก์ ไปจนถึงเสียเวลา ผมไม่ได้คิดเองหรอกคำพวกนี้ เพราะใครๆ เขาก็ว่ากันทั้งนั้น อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการดูหนังไทย คือเรามักจะได้รับประสบการณ์เซอร์ไพรส์โดยไม่คาดคิดเสมอๆ จะไม่ให้เซอร์ไพรส์ได้อย่างไร เพราะตั้งใจไปดูหนังตลกแท้ๆ แต่คุณกลับไม่ได้หัวเราะแม้สักแอะ หรือบางที เห็นว่าเป็นหนังแอ็กชั่น เข้าไปดูปุ๊บ อ้าว กลับกลายเป็นว่าดูไปด้วยความรู้สึกมึนๆ นั่นยังไม่นับรวมว่า เห็นโปสเตอร์เห็นตัวอย่างอะไรเสร็จสรรพ นี่หนังรักแหงแก๋แน่นอน แต่พอได้ดู กลับรู้สึกตลกขบขันกับสิ่งที่หนังถ่ายทอดซะอย่างงั้น ตัวละครในหนังน้ำหูน้ำตาไหลด้วยความโศกาอาดูร แต่เรากลับรู้สึกอยากจะหลับสักสองสามงีบแล้วค่อยตื่นมาขำกับความพิรี้พิไรของเรื่องราวในหนัง

ข้อดีอีกอย่างที่มักจะได้เห็นในหนังไทย คือบรรดาตัวละครเอกและชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและหล่อน ที่ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลผู้มีไลฟ์สไตล์และหน้าที่การงานเก๋ๆ เท่ๆ แนวๆ หรือไม่ก็ดูสุดแสนจะหรูหราชนิดที่เห็นแล้วต้องแอบอิจฉาเล็กๆ ดูพวกเขาและเธอไม่ต้องแบกรับอะไรในการทำมาหารับประทาน วันๆ จึงมีเวลาว่างค่อนข้างมากในการที่จะมโนนึกในเรื่องที่อับราฮัม มาสโลว์ ให้ความเห็นว่าเป็นความต้องการขั้นที่สาม หลังจากไม่ต้องเหนื่อยยากกับการหาอยู่หากินแล้ว หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะเป็นตัวละครแบบดูป่วยๆ ไข้ๆ ทางใจ แล้วก็มักจะมีเจ้าชายเจ้าหญิงแสนดีมาโอบกอดปลอบประโลมและเยียวยา หายป่วยหายไข้เพราะผู้หญิงผู้ชายหน้าตาดีเข้ามาในชีวิต เวลากว่าสองชั่วโมงกับการดู จึงเป็นช่วงเวลาที่เติมเต็มปรารถนาของคนอยากมีชีวิตสุขสบายอย่างเราได้ดียิ่ง ปลื้มปริ่มพริ้มฝันไปกับภาพชีวิตในจินตนาการกลางความมืดในโรงหนัง ก่อนจะกลับออกมาพบแสงสว่างจ้าแสบตาที่ด้านนอก และขยันขันแข็งตากแดดตากลม ทำมาหากินกันต่อไป

กระนั้นก็ดี พูดแบบนี้ไม่ได้จะหมายรวมหนังไทยทั้งหมดนะครับ เพราะอันที่จริง ก็ยังมีหนังไทยอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ทำให้เราไม่รู้สึกเปล่าเปลืองสูญเสีย ไม่ว่าจะเสียทรัพย์ที่หมายถึงเงิน หรือสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าเงินคือเวลา แต่พูดก็พูดจากใจจริงเถอะ ไม่ว่าหนังไทยจะสนุกหรือไม่สนุกในนิยามของความบันเทิง ผมพบว่า บ่อยครั้งบ่อยหน สิ่งที่ได้จากหนังไทย กลับเป็นเรื่องของรายละเอียดหรือวิธีการบางอย่างที่หนังกระทำกับตัวละคร กับเรื่องราวของพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันได้อิงอ้างถึงวิธีคิด วิธีที่รู้สึก ตลอดจนมายาหลายอย่างในสังคม โดยที่คนทำหนังอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นแล้ว บทวิจารณ์นี้จึงมิได้หมายมุ่งพุ่งเป้าโจมตีคนทำ ซึ่งก็คือผู้กำกับ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังทั้งหมด หากแต่จะมองในบริบทของความเป็นหนังในฐานะที่มันถ่ายทอดอะไรบางอย่างที่ผมเห็นว่ามี “มายา” หลังฉากที่มีส่วนผลักดันในการประกอบสร้างหนังขึ้นมา เหมือนว่าบ่อยครั้งเราเองก็เผลอไผลแสดงอะไรบางอย่างออกไป โดยไม่รู้ว่ามันได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด วิธีมอง หรือกระทั่งกรอบความเชื่อบางประการที่มันฝังอยู่ในความเข้าใจ แฝงอยู่ในความรับรู้ของเราๆ ท่านๆ ตลอดมา

“โปสการ์ดที่ไม่มี...ที่มา” หนังรัก หนังรักเจ้าขา อยู่ๆ ก็มาไม่ทันตั้งตัว เพราะอย่าว่าแต่ใครไหนเลย แม้กระทั่งผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้เข้าฉายเมื่อไม่กี่วันก่อน ใครว่าหนังเรื่องนี้ไม่โปรโมต ผมไม่เห็นด้วย เพราะเขาอาจจะโปรโมตแบบเงียบๆ และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ในบรรยากาศที่เงียบๆ ไม่ต้องคอยระแวงคนข้างๆ ว่าจะมีมารยาทมากน้อยแค่ไหนหรือจะบรรยายหนังไปพร้อมกับการดูหรือไม่ และบางจังหวะที่หนังเงียบ ได้ยินเสียงเครื่องปรับอากาศดังอยู่ไม่ไกล

“โปสการ์ดที่ไม่มี...ที่มา” (Postcard from Nowhere) เดินมาในลุคของหนังรักเต็มรูปแบบ เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักสามตัว คือ “สายลม” ชายหนุ่มเจ้าของร้านกาแฟที่เขาใหญ่ซึ่งหลงใหลการถ่ายภาพที่จะต่อยอดมาเป็นงานอดิเรกต่อไปและทำให้ชีวิตของเขาเข้าไปมีส่วนเชื่อมโยงกับ “เขต” และ “กานดา” หนุ่มสาวคู่รักที่กำลังมีแพลนว่าจะไปพักที่เขาใหญ่ แต่ก่อนนั้นไม่กี่วัน ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น...ดูจากทิศทางตัวละครแล้ว ไม่ผิดแปลกจากที่เกริ่นกล่าวไว้ข้างต้นนัก สองตัวหลังนี้คือสุดยอดผู้ดีมีอันจะกิน กานดาสาวน้อยไม่ปรากฏชัดว่าทำงานทำการทำอะไร แต่ห้องทำงานของเธอนี่ แค่หนังถ่ายให้เห็นองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ด้านหลังโต๊ะทำงานก็เล่นเอาเราตาลุกวาวไปแล้วว่าบริษัทไหนหนอช่างตกแต่งออฟฟิศได้หรูหราราคาแพงอย่างกับบ้านคุณหญิงคุณนาย และในขณะเดียวกัน กานดาก็ดูจะไม่ต้องแบกรับอะไรนักในเรื่องการงาน เราเห็นเธอพิมพ์อะไรก๊อกๆ แก๊กๆ ในโน้ตบุ๊กประมาณครึ่งนาทีแล้วก็รับโทรศัพท์ และถัดจากนี้เป็นต้นไป เรื่องราวของกานดาก็จะไม่มีมิติอื่นใดมาเกี่ยวข้องให้ต้องยุ่งยากลำบากจิต นอกเหนือไปจากเรื่องหัวใจที่ผูกติดกับผู้ชายสองคน

คนแรกคือ “เขต” (สราวุธ มาตรทอง) สุดยอดแห่ง “ปู้จาย” ที่หวานย้อยปานจะหยด สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นผ่านตัวละครตัวนี้ที่หนังเติมลงไป คือลักษณะที่ “คิดและเชื่อว่า” เป็นความโรแมนติก เมื่อเปิดตัวมา เราจะเห็นเขตในห้องพักซึ่งรอเซอร์ไพรส์แฟนสาว ท่ามกลางบรรยากาศในห้องผ่านการตกแต่งด้วยแสงนวลตา (จำไม่ได้ว่ามีจุดเทียนหรือเปล่า) แล้วก็มีคำหอมกล่อมหญิงแบบกานดา ซึ่งคิดว่าเธอน่าจะชอบถ้อยคำแบบ “ขอบคุณนะที่ร่วมเดินทางด้วยกันมา 7 ปีแล้ว...” และคำหวานอื่นอีกหมื่นแสนที่แล่นเข้าไปทะลวงจุดที่แพ้ความอ่อนหวานในใจของหญิงสาว ก็น่าแปลกอยู่ว่า คนซึ่งคบหากันมานานถึงเจ็ดปี มีวาจาและท่าทีต่อกันแบบนั้นตลอดทั้งเรื่อง ผมเคยได้ยินมาว่าบางคู่คบกัน อย่าว่าแต่เจ็ดปี แค่เจ็ดเดือนนี่ก็คุยกันเฮฮาปาร์ตี้แล้ว (และถ้าจะหวานต่อกันก็ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ถ้อยคำให้หรูหราอะไรแล้ว) แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขตกับกานดากลับดูเครียดขรึมและเป็นการเป็นงานอย่างน่าประหลาด ถ้าจะหาเหตุผลเข้าข้าง มันอาจจะเป็นเพราะว่าฝ่ายหนึ่งเริ่มรู้ตัวว่าตนเองกำลังเผชิญโรคร้าย จึงว่ามีความหวานเท่าไหร่ในชีวิต ต้องรีบประเคนให้แก่คนรัก แต่ทั้งหมดทั้งมวล กลับทำให้เรารู้สึกกระอักกระอ่วนสวนทางกับหนังไปซะอย่างนั้น มันเหมือนกับเราเห็นใครสักคนไปยืนสั่งพิซซ่าในร้านส้มตำอย่างไรก็อย่างนั้น การมองความโรแมนติกของหนังผ่านการประดิดประดอยจนดูปลอมไปหมด โดยเฉพาะคำพูดคำจาของเขตที่เอาเข้าจริง เหมือนลอกมาจากพระเอกในนิยายรักโรแมนติกเสื่อมสภาพ เช่น เมื่อกานดาถามเธอว่า “ไปไหนมาคะ” เขตตอบอย่างจริงจังและพยายามทำน้ำเสียงหวานซึ้งที่สุด “ไปเดินเล่นแถวนี้มาครับ” พร้อมบอกเหตุผลที่ไม่ชวนหญิงสาวไปด้วย เพราะว่า “ผมจะได้มีเวลาคิดถึงโน่นนี่ และคิดถึงคุณไงครับ” และตลอดการมีชีวิตอยู่ในหนัง เราจะได้ยินถ้อยคำลักษณะนี้จากเขตแทบทุกครั้งที่หนังยื่นบทให้เขาพูด ไม่แน่ใจว่าผู้หญิงท่านอื่นๆ จะรู้สึกกับคำหวานแบบนี้อย่างไร แต่สำหรับกานดาดูเหมือนว่าเธอจะยิ้มไม่หุบทุกครั้งไปเวลาได้ยินถ้อยคำเหล่านั้น อันที่จริง พูดก็พูดเถอะว่าการสื่อสารความโรแมนซ์ด้วยลักษณาการแห่งคำหวานแบบนี้ ถ้าหากในยุคของท่านศรีบูรพาที่เขียนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ไม่ว่าจะประดิษฐ์ถ้อยคำอย่างไร ปรุงแต่งให้สวยงามอย่างไร แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของยุคสมัยที่จะใช้คำว่า “เชย” ไม่ได้ หากแต่กับหนังเรื่องนี้ ที่เกิดในยุคนี้ กลับยินดีที่จะพาตัวเองถอยหลังไปไกลถึงเจ็ดแปดสิบปีในแง่ของวิธีการพูด ขณะที่โลกรอบข้างของตัวละครได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

และถ้าคนแบบเขตเป็นหมายเหตุแห่งความโรมานซ์ที่หวานซึ้งตรึงใจจนน้ำผึ้งเดือนห้าต้องเอาปี๊บคลุมหน้าเพราะอับอาย ผู้ชายอย่าง “สายลม” (ลีโอ พุฒิ) ก็คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากตัวแทนแห่งความ “คม” ราวกับมีดพร้าที่เพิ่งผ่านการลับมาสดๆ ร้อนๆ แต่ละคำที่เขาพูด ก็เหมือนตัวหนังสือที่เขาเขียนลงบนโปสการ์ด มันคมคายเสียจนอยากจะหากระดาษจดไว้ประเทืองปัญญา แต่เชื่อสิว่า คมบ่อยๆ และมากเกินไป มันก็กลายเป็นตั้งใจจนขาดไร้ธรรมชาติของคำคนคุยกัน แทบทุกฉากที่เขาสนทนากับกานดา เป็นอันต้องวกเข้ามาหาคำคม (เกิดเป็นกานดานี่ก็ดีไปอย่าง ได้อยู่ท่ามกลางผู้ชายสองคนที่ทั้ง “หวาน” และ “คม”) อย่างเช่น ฉากยืนบนยอดเขา สายลมว่า “ที่กว้างใหญ่แห่งนี้ มันคือศูนย์รวมแห่งเรื่องราวอันหลากหลายของผู้คน” “ความกว้างใหญ่ของขุนเขา ช่วยรับความรู้สึกของเราไว้” (หรืออะไรทำนองนี้) ฯลฯ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น สายลมคือช่างภาพ เขาผู้มีความเชื่อว่า “ภาพถ่ายคือการบันทึกประสบการณ์แห่งชีวิต” คือถ้าลองได้คิดเช่นนี้แล้ว งานช่างภาพของสายลม จึงควรเป็นอะไรที่มีคุณค่า ต้นๆ เรื่อง เพื่อนสองคนบอกเขาว่า ถ่ายภาพเก่งๆ แบบนี้ทำไมไม่ไปรับงาน อย่างถ่ายงานแต่ง งานรับปริญญา งานวัด งานบวช เพื่อหาตังค์...ซึ่งนั่นทำให้สายลมรีบแฉลบกายหนีไปเลย มันคล้ายๆ กับว่า สำหรับเขาแล้ว งานช่างภาพดูเหมือนจะเป็นงานที่มีคุณค่ามากกว่าการถ่ายงานพวกนั้น (แต่ส่วนหนึ่งก็พอเข้าใจว่ามีร้านกาแฟส่วนตัวแล้ว ไม่จำต้องหาเงินแบบนั้น) กล้องที่สายลมใช้ก็เป็นกล้องฟิล์ม ผมคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นๆ เรื่องแล้วว่า สายลมจะต้องเทศนาเรื่องกล้องฟิล์มนี้แน่ๆ และมันก็มาจริงๆ ความเจ๋งของการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม (ที่หายากและราคาแพงสุดๆ ในยุคนี้) ถูกบรรยายอย่างภาคภูมิผ่านปากคำของสายลม ชนิดที่พวกถ่ายกล้องดิจิตอลจะต้องกลับไปพิจารณาตัวเอง นี่ไม่ได้พูดกันเล่นๆ เพราะผมเองก็เคยได้เห็นได้ยินอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับมุมมองขัดแย้งนี้ระหว่างการถ่ายกล้องฟิล์มและกล้องดิจิตอล ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวของสายลมนั้นคือภาพแทนของอะไรบางอย่างที่หลั่งไหลอยู่ในกระแสสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบแผนการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ เน้นว่า “ที่เก๋ๆ” ด้วย เป็นเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ อาศัยอยู่ในท้องถิ่นใกล้ชิดธรรมชาติ และมีงานอดิเรกคูลๆ อย่างการถ่ายภาพ ขณะเดียวกัน ก็มีวาทกรรมคมชัดบาดจิตไว้รองรับแบบแผนชีวิตของตัวเองอย่างแน่นหนาราวกับกำแพงที่ล้อมรอบให้ปลอดภัย คือถ้าไม่แกร่งจริง คงไม่เอาช็อกโกแล็ตเย็นไปยื่นให้ลูกค้า แทนลาเต้เย็นที่เขาสั่ง พร้อมบอกว่ากินกาแฟตอนนี้เดี๋ยวนอนไม่หลับนะ เอ้อ ก็จะไปยุ่งอะไรกับชีวิตของเขาล่ะว่าเขาจะกินอะไร แล้วที่สำคัญ คนที่ถูกบอกแบบนั้นก็ดูจะเป็นปลื้มไปซะอย่างนั้น เรียกว่าลืมลาเต้ของตัวเองไปเลย!

ผู้ชายทั้ง “เขต” และ “สายลม” จึงเป็นตัวละครประดิดประดอยไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งสองคนนอกจากไม่มีพิษภัยอะไร ยังมีแต่เพียงด้านดีๆ งามๆ ให้ชื่นชม เป็นที่นิยมของหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กานดา...

กานดา (วรนันท์ จันทรัศมิ์) หญิงสาวที่ “เรื่องย่อ” บอกเล่าไว้ว่า “เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฐานะ หน้าตา หรือแม้กระทั่งความรัก”...พูดถึงเรื่องย่อแล้วก็ขอเวลาปรึกษาหารือสักนิดนะครับว่า เรื่องย่อของหนังนี่ มีความสำคัญเหมือนหน้าบ้าน พอๆ กับตัวอย่างหรือโปสเตอร์เลยนะครับ แต่หลายค่ายหลายเรื่อง กลับเขียนเรื่องย่อได้สับสนมึนงงมาก ลองเสิร์ชหาดูในกูเกิ้ลได้สำหรับเรื่องย่อของหนัง นี่ไม่ได้หมายแค่เรื่องย่อหนังไทยแต่รวมไปถึงเรื่องย่อหนังต่างชาติที่เราเอามาฉายด้วย ผมไม่รู้ว่ามีการตรวจสอบอะไรกันไหม หลายเรื่องเขียนเรื่องย่ออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่ชวนดู หลายเรื่องเล่าเรื่องย่อเหมือนจะแต่งนิยาย ตรงนี้ค่ายหนังควรใส่ใจกันด้วยก็ดีครับ เพราะหากทำออกมาได้ดี มันจะเป็นการ “ยั่วความสนใจ” ให้คนรู้สึกอยากรู้เรื่องราวและตีตั๋วเข้าไปชม เอาล่ะ..ย้อนกลับไปที่กานดาหญิงสาวของเราต่อ เธอคือสาวหน้าตาสะสวยและดูเป็นคุณหนูลูกคนรวย หน้าที่หลักของเธอในเรื่องดูเหมือนจะคอยช่วยยิ้มรับคำหวานและคำคมของผู้ชายตลอดทั้งเรื่อง และเมื่อถึงคราวที่เธอต้องแสดงแสดงความรู้สึกในใจออกมา ต่อเขตคนรักที่ไม่ยอมบอกความจริงกับเธอ เธออาจจะทำเป็นโกรธด้วยทีท่าหน้ายักษ์หน้ามาร พร้อมตะเบ็งเสียงใส่คนรักของเธอว่า “ทำไมไม่ยอมบอกความจริง จะรอถึงเมื่อไหร่ เราจึงจะได้ทำให้เธอมีความสุขสักที” ได้ยินแบบนี้ ก็ตกใจขึ้นมาทันควัน เพราะคำพูดสุดท้ายนั้น แสดงหน้าที่ของหญิงแบบกานดาออกมาอย่างไม่รู้ตัว ทุกครั้งที่เขตพูด เธอจะมีเพียงหน้าที่ยิ้มรับคำหวาน และเมื่อเขตบอกว่าขอแต่งงาน จากหน้ายิ้มๆ นิ่งๆ เธอก็เปลี่ยนเป็นยิ้มร่าน้ำตาไหลราวกับว่านี่แหละคือสุดยอดแห่งชีวิตที่คิดฝัน ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาสนทนากับสายลม เธอก็ค้อมรับคำคมของเขาอย่างไม่อิดออดหรือแม้แต่จะรู้สึกว่ามันน่ารำคาญ (ก็คนที่ไหนกัน จะคมได้ตลอดขนาดนั้น) สุดท้าย สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกต่อกานดา คือความเป็นตุ๊กตาหน้าเป๊ะ ที่ไม่มีปากมีเสียงอะไร เทียบกับ “หญิงแย้” ที่เป็นตัวประกอบในฉากเล็กๆ หญิงแย้กลับทำให้ภาพของความเป็นผู้หญิงดูมี “พื้นที่ส่วนตัว” ขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่ตัวอะไรสักตัวที่ใครจะมาเกาะแกะและเล็มอย่างไรก็ได้ ขณะที่กานดาไม่ตอบโต้อะไรต่อการคุกคามในเชิงจีบแบบเรี่ยราดหรือเรื้อนๆ ของพวกตัวละครประกอบ แต่หญิงแย้กลับโต้ตอบได้แบบกระแทกหน้าขาหื่นไม่รู้เวล่ำเวลากันไปเลย

ไหนๆ ก็ไล่เลยมาถึงตัวละครประกอบแล้ว จึงขอพูดต่ออีกสักนิด คือผมจะแกล้งๆ มองข้ามความน่ารำคาญของตัวประกอบสองตัวนี้ที่พยายามทำเป็นตลกตลอดทั้งเรื่อง แล้วที่สำคัญ เข้าฉากทีไร คุยกันลั่นร้านกาแฟ มีเพื่อนแบบนี้ต้องตะเพิดหนีให้หมดครับ เพราะเสียงมันน่าจะรบกวนลูกค้าท่านอื่นมาก เชื่อผมเถอะ! (และทำไม? ต้องมาเข้าฉากร่วมกับสายลมทุกฉาก จนดูล้นรกหูรกตา ปล่อยพระเอกผู้แสนติสต์ของเรา เข้าฉากคนเดียวบ้างก็ได้) แต่นั่นยังไม่โหดร้ายกับ “มุมมอง” ที่หนังกระทำต่อตัวละครของตัวเอง มันดูผิดผู้ผิดคนไปหมด มุมมองแบบนี้ จำได้ว่าเคยอ่านเห็นจากงานเขียนชุด “ศิลปะคืออะไร” (เขียนโดย ลีโอ ตอลสตอย นักประพันธ์ชาวรัสเซีย) ซึ่งวิจารณ์งานเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของกีย์ เดอ โมปัสซังต์ นักเขียนผู้โด่งดังเป็นตำนานอีกหนึ่งท่าน (เรื่องนั้นคือเรื่อง “เหมือนบ้าน” หรือ La Maison Tellier) โดยอ้างถึงการที่ตัวเรื่องทำให้ตัวละครดูต้อยต่ำด้อยค่าเพราะพฤติกรรมทางเพศที่แทบไม่ต่างจากสัตว์ นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่า ขณะที่พระเอกนางเอกพากันดูสูงส่งอย่างมากมาย แต่ตัวละครประกอบกลับดูเป็นพวกที่ไร้ความคิดไร้สมอง ชีวิตไม่มีแก่นสารอะไรนอกไปจากความเรื้อนเรี่ยราดที่มาพร้อมกับความรู้สึกว่าอยากจะ “ฟาด” ผู้หญิงทุกคนที่พบเจอ มันอาจเป็นสิ่งที่พลั้งเผลอหรือเป็นความคุ้นเคยที่เรามักจะกระทำต่อตัวละครแบบนี้ แต่ที่จริง มันสามารถพาดพิงไปได้ว่า นี่คือมิติเชิง “ชนชั้นในหนัง” ที่ชนชั้นพระเอกนางเอกเท่านั้นถึงจะมีพฤติกรรมความคิดที่แสนดีได้ ส่วนพวกตัวประกอบ จะอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่ตลกเฮฮา ก็ถูกทำให้ดูเหมือนว่าไร้แก่นสารไป นี่เป็นสิ่งที่เรากระทำต่อเนื่องกันมาอย่างนานเนิ่น จนไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับมันแล้ว

“โปสการ์ดที่ไม่มี...ที่มา” ในความสงสัยเล็กน้อยว่าชื่อหนังจะต้องมีจุดทำไมถึงสามจุด...เป็นหนังที่มาพร้อมกับภาพสวยๆ อันเอื้ออำนวยโดยฉากโลเกชั่น ภูเขาดูรื่นรมย์ ไม่ร้อน ยืนกลางที่โล่งเหงื่อไม่มีไหล และเขาใหญ่ในหนังผ่านการจัดแจงแต่งปั้นให้ดูสวยด้วยอานุภาพของกล้อง (ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะเป็นกล้องดิจิตอล ไม่ใช่กล้องฟิล์ม!) ธีมของหนังพยายามนำเสนอประเด็นเรื่องความทรงจำ ผ่านกล้องถ่ายรูป ผ่านโปสการ์ด และผ่านตัวละครที่เชื่อว่าการถ่ายภาพคือการบันทึกความทรงจำ กระนั้นก็ตาม ต้องยอมรับว่าสคริปต์ของหนังที่จะชูเรื่องความทรงจำให้เด่นชัดและมีพลังสะเทือนใจ ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ ตอนจบเราจึงรู้สึกว่า แม้ตัวละครจะรู้แล้วว่าโปสการ์ดมาจากไหน แต่ตัวหนังเองกลับดูเหมือนจะยังมะงุมมะงาหรา ควานหาอยู่เลยว่าจะไปต่อจุดไหนดีที่ไม่เป็นการทิ้งจบแบบโหวงเหวอ

“โปสการ์ดที่ไม่มี...ที่มา” เหมือนโปสการ์ดที่มีทั้งคำหวานและคมคาย แต่จะส่งไปถึงผู้รับหรือไม่ หรือส่งไปถึงแล้ว ผู้รับอ่านแล้วดูแล้วรู้สึกเลี่ยนเอียนยี้อย่างไรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ดังนั้นแล้ว การจะซาบซึ้งตรึงจิตกับโปสการ์ดใบนี้ จึงนับเป็นความท้าทายที่ใหญ่ยิ่งประการหนึ่ง


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น