xs
xsm
sm
md
lg

ข้างหลังภาพ : นิยามแห่งความรัก จากวรรณกรรมของศรีบูรพา

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

วรรคทองในวรรณกรรม “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา ซึ่งเสมือนปรัชญาแห่งความรัก ที่หม่อมราชวงศ์กีรติ เขียนสื่อความถึงนพพร ว่า
“ฉันตาย โดยปราศจากคนที่รักฉัน
​แต่ฉันก็อิ่มใจ ว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

วาทกรรมประโยคข้างต้นสอง เปรียบดั่งคมวาทะ (Motto) ซึ่งเป็นตัวแทนคำนิยามแห่งความรักในอุดมคติ ที่หญิงผู้หนึ่ง มอบให้ไว้แด่ชายที่ตนรัก ด้วยความรักอย่างมีความเข้าใจในความรักแท้จริง โดยเนื้อแท้ ว่า ความรักแท้จริง มิใช่ความใคร่และมิได้เป็นไปเพื่อการครอบครองผู้ที่ตนรัก
ภาพปกหนังสือข้างหลังภาพ ผลงานของศรีบูรพา ที่มา: www.jellstory.com
ผู้เขียนมีโอกาสได้รำลึกถึงวรรณกรรมแห่งความรักรุ่นคลาสสิก “ข้างหลังภาพ” ที่ศรีบูรพา บรรจงลงมือสรรค์สร้างไว้ ประจวบเมื่อถึงเทศกาลแห่งความรักในวาเลนไทน์ตามค่านิยมตะวันตกนี้ ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างกลมกลืน จนจะกลายเป็นวันสำคัญหนึ่งในปฏิทินของชาวไทย จึงนับเป็นห้วงงามยามดีที่ได้ใช้เวลาอ่านพินิจ “ข้างหลังภาพ” เพื่อดื่มด่ำในนิยามแห่งความรัก ซึ่งแม้จะอ่านมาไม่น้อยกว่า 4 ครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งที่อ่าน ยังเหมือนต้องมนต์เสน่ห์ในนวนิยายชั้นบรมครูเรื่องนี้เสมอ จึง

ขอนำพาผู้อ่านร่วมซาบซึ้งถึงนิยามแห่งความรักจากข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา โดยการย่อความ ว่า
“ข้างหลังภาพ” มีที่มาจากภาพวาด ชื่อ “มิตาเกะ” ที่นพพร (ตัวละครเอกฝ่ายชาย) ได้รับเป็นของกำนัลจากหม่อมราชวงศ์กีรติ (ตัวละครเอกฝ่ายหญิง) ในวันแต่งงานของตน ซึ่งภาพวาดมิตาเกะนั้น ได้ซ่อนความทรงจำอันแสนทรมานระหว่างความรักของคนหนุ่มอย่างนพพร และความรักด้วยความลึกซึ้งของผู้ใหญ่ อย่างหม่อมราชวงศ์กีรติ ไว้ ก่อนจบลงส่งท้ายด้วยความแสนเศร้า

เล่าความถึงนพพรในวัยหนุ่มนั้น เป็นนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในญี่ปุ่น ได้มีโอกาสต้อนรับท่านเจ้าคุณอธิการบดี กับหม่อมราชวงศ์กีรติ (ภรรยาของเจ้าคุณอธิการบดี) ซึ่งไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วย โดยนพพรเป็นมัคคุเทศก์อาสา นำพาทั้งสองท่านท่องเที่ยวในญี่ปุ่น จนนพพรเกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกับหม่อมราชวงศ์กีรติมากเป็นพิเศษ จนกลายเป็นความรักต่อหม่อมราชวงศ์กีรติ และหากจะบอกเล่าถึงหม่อมราชวงศ์กีรติ ที่ศรีบูรพาได้พรรณนาไว้ (ในข้างหลังภาพ หน้า 12) มีลักษณะว่า

หม่อมราชวงศ์กีรติ เป็นกุลสตรีไทยที่มีความงดงามอย่างไทย ทั้งรอยยิ้มที่อ่อนโยน มีกิริยามารยาทอ่อนหวาน ใช้คำพูดสงบเสงี่ยมในท่าที และมีมุมมองความคิดที่รู้รอบต่อการครองชีวิต แม้ขณะนั้นในวัยร่วม 35 ปี ยังมีสง่าและภาคภูมิอย่างยิ่ง เป็นคนร่างอวบ แต่ว่าไม่ใช่คนใหญ่โต สมบูรณ์และเปล่งปลั่งผิวอ่อน ดวงหน้านั้น มีความสวยงาม ดวงตาดำใหญ่ภายใต้ขนคิ้วยาว มีน้ำสุกใสหล่ออยู่ในดวงตา แก้มปลั่งคางเล็กเชิดนิดหน่อย จนมีรอยบุ๋มอันน่าพิศวาสเหนือลูกคาง ริมฝีปากเรียวยาวและเต็ม ประทับด้วยรูปสามเหลี่ยม สีแดงสองรูปเบื้องบน และอีกรูปเบื้องล่าง ทำให้ริมฝีปากคู่นั้น งดงามเหนือสิ่งใดๆ

แต่ความงามที่พรรณนามานั้น มิได้ทำให้นพพรซึ่งพบเห็นในหม่อมราชวงศ์กีรติ ถือเป็นเหตุสำคัญในความรัก แต่กลับกลายเป็นความสงสัย ว่าเหตุใด หม่อมราชวงศ์กีรติ ผู้งดงาม จึงแต่งงานกับท่านเจ้าคุณอธิการบดี ซึ่งเป็นชายผู้มีอายุรุ่นราวคราวบิดา

นวนิยายรักแสนเศร้า “ ข้างหลังภาพ” นี้ ศรีบูรพา ได้แสดงถึงโลกทัศน์ของตนที่มีความละเอียดอ่อนในความรัก ใจความสำคัญของนวนิยายอยู่ที่บทสนทนาตอบโต้ (Dialog) ระหว่างนพพรกับหม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งเป็นบทสนทนาความรักอันแตกต่างกันระหว่างคนหนุ่มอย่างนพพร กับความรักของผู้ใหญ่อย่างหม่อมราชวงศ์กีรติ ที่มีวัยวุฒิ มุมมองที่มีต่อโลกและชีวิตต่างกัน โดยขอคัดสรรบทสนทนาบางส่วน อาทิ เหตุการณ์นั่งเรือพายในค่ำคืนหนึ่ง ณ สวนสาธารณะของเมืองหนึ่งในญี่ปุ่น มีบทสนทนาระหว่างทั้งคู่ (ในข้างหลังภาพ หน้า 36) ว่า

“นพพร เธอรู้สึกสบายใจมากไหม ในคืนที่งดงามเช่นนี้” หม่อมราชวงศ์กีรติ ถาม

“ผมสบายใจอย่างตอบไม่ถูก เกินอำนาจของถ้อยคำและวิธีพรรณนาของผม” นพพรตอบ

“ มันทำให้เธอคิดถึงบ้านบ้างไหม?” หม่อมราชวงศ์กีรติ ถาม

“ ผมจากบ้านมาอยู่ที่นี่ตั้ง 3 ปีกว่า เคยคิดถึงบ้านบ้างในบางคราว แต่เมื่อนานเข้า ความคิดถึงนั้นก็ชาไป” นพพรตอบ

“ เธอผิดกับฉัน ตรงกันข้าม ในเวลาสงบและในเวลาที่จิตใจหมกอยู่กับความงามในธรรมชาติเช่นเวลานี้ ฉันอดคิดถึงสิ่งที่ฉันรักที่สุดไม่ได้ ฉันคิดถึงท่านพ่อ ท่านแม่และน้องๆ ของฉันภายในบ้านอันเต็มไปด้วยความสงบสุข.....” หม่อมราชวงศ์กีรติ ปรารภ

จากบทสนทนานี้ แสดงให้เห็นถึงทัศนะของศรีบูรพา ในนามของหม่อมราชวงศ์กีรติ ที่แสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตในห้วงยามแห่งความสุข และอีกเหตุการณ์ในขณะพายเรือล่องลำน้ำในสวนสาธารณะ ซึ่งทั้งคู่ได้ฟังเพลงที่สตรีสาวญี่ปุ่นร้องขึ้นเบาๆ โดยนพพรได้แปลเนื้อหาบทเพลงนั้นเป็นภาษาไทย ให้หม่อมราชวงศ์กีรติ ทราบ (ในข้างหลังภาพหน้า 39) ว่า

“ แม้นเรามิได้เกิดเห็นดอกซากุระ ก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุปผาพรรณอื่นเลย
ขอแต่ให้เป็นดอกที่งามที่สุดในพรรณของเรา
ภูเขาฟูจีมีอยู่ลูกเดียว แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่
แม้นมิได้เป็นซามูไร ก็จงเป็นลูกสมุนของซามูไรเถิด
เราจะเป็นกัปตันหมดทุกคนไม่ได้ ด้วยว่าถ้าปราศจากลูกเรือแล้ว เราจะไปกันได้อย่างไร
แม้เรามิอาจเป็นถนน ขอจงเป็นบาทวิถี
นโลกนี้ มีตำแหน่งและงานสำหรับเราทุกคน งานใหญ่บ้างเล็กบ้าง
แต่เราย่อมจะมีตำแหน่งและงานทำเป็นแน่ละ
แม้เป็นดวงอาทิตย์ไม่ได้ จงเป็นดวงดาวเถิด
แม้มิได้เกิดเป็นชาย ก็อย่าน้อยใจที่เกิดมาเป็นหญิง
จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง
จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

จากเนื้อหาบทเพลงที่นพพรแปลให้หม่อมราชวงศ์กีรติเข้าใจนั้น เป็นมุมมองที่สะท้อนทัศนะของศรีบูรพา ในนามของนพพร ซึ่งแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้งต่อความสำคัญของชีวิตมนุษย์ในการสร้างความสุขจากสิ่งที่ไม่สามารถเลือกเป็นได้ แต่จงเป็นสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

อีกบทสนทนาหนึ่งที่นพพรได้ซักถามเกี่ยวกับการแต่งงานของหม่อมราชวงศ์กีรติกับเจ้าคุณอธิการบดี ในค่ำคืนหนึ่ง ณ โรงแรมโฮเต็ลไกฮิน ในกูกามากูระ ซึ่งทั้งคู่อยู่ในงานเต้นรำ (ในข้างหลังภาพ หน้า 53-55) ย่อความว่า

“คุณหญิง ยังไม่ได้ตอบคำถามผมถึงเรื่องความรัก ผมหมายถึง ความรักฉันสามี-ภรรยา ฉันชายกับหญิง” นพพรเอ่ยขึ้น

“เธอก็เห็นแล้ว ฉันเป็นอะไร เจ้าคุณเป็นอะไร วัยของเราต่างกันมาก สิ่งนี้เปรียบเสมือนภูเขาลูกใหญ่ที่กั้นความรักของเรา ทำให้ความรักของเราพบกันไม่ได้” หม่อมราชวงศ์กีรติ เปรย

“แต่ว่า ความรักระหว่างคนแก่กับหญิงสาว ก็มิอาจมีได้ไม่ใช่หรือครับ” นพพร ถามขึ้น

“ ฉันไม่เชื่อในความรักระหว่างคนสองจำพวกนี้ ฉันไม่เชื่อว่า จะมีจริงได้ นอกจาก เราจะรับเอาเอง ว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งอาจเป็นการรับเอาอย่างผิดๆ” หม่อมราชวงศ์กีรติ แสดงความรู้สึก

“ แต่คุณหญิง ก็ดูมีความสุขดีในการแต่งงาน ซึ่งตามความเห็นของคุณหญิง ก็ว่า ความรักของทั้งสองฝ่ายจะพบกันไม่ได้” นพพร ให้ความเห็นต่อ

“ ความผาสุกที่ฝ่ายหญิงแสดงว่า ได้รับหรือได้มีอยู่นี่แหละ อาจทำให้คนโดยมากเข้าใจไป ว่า ความรักย่อมอุบัติขึ้นได้ระหว่างวัยแก่กับวัยสาว นอกจากนั้น เจ้าตัวผู้หญิงเอง เมื่อมีความผาสุกพอสมควรแล้ว ก็มักไม่สนใจในปัญหาเกี่ยวกับความรัก เพราะว่า จะเป็นความรักหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีความผาสุกแล้ว จะต้องการอะไรอีก คนทั้งหลายอยู่กันโดยวิธีนี้ และคนโดยมากเชื่อถือว่า ความรักเป็นมารดาของความผาสุก ซึ่งตามความเห็นของฉันแล้ว ฉันเห็นว่า ไม่ใช่ของจริงเสมอไป ความรักอาจให้กำเนิดความขื่นขม หรือความร้ายกาจต่างๆ นานาแก่ชีวิตก็ได้ แต่ว่า ในดวงใจของผู้ที่มีความรักเช่นนั้น จะมีน้ำทิพย์แห่งความหวานชื่นหล่อเลี้ยงอยู่ชั่วนิจนิรันดร เป็นความหวานชื่นที่ซาบซึ้งใจอย่างประหลาดมหัศจรรย์ ฉันยังไม่เคยประสบสิ่งนี้ด้วยตนเอง ฉันพูดตามความเชื่อถือของฉัน” หม่อมราชวงศ์กีรติ แสดงความรู้สึกต่อความรัก

จากบทสนทนาเกี่ยวกับความรักที่หม่อมราชวงศ์กีรติสนทนากับนพพร ใจความสำคัญที่ว่า ความผาสุกที่ปราศจากความรักอาจมีได้ แสดงให้เห็นถึงมุมมองของความรักที่แฝงความลึกซึ้ง ซึ่งศรีบูรพา ได้นำเสนอไว้ในตัวละครอย่างหม่อมราชวงศ์กีรติ รวมทั้งเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งผู้เขียนรู้สึกซึ้งซาบถึงความละเอียดอ่อนของศรีบูรพา ที่แสดงถึงมุมมองของความรัก ผ่านนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติ ที่ยอดเขามิตาเกะ ดังเหตุการณ์และบทสนทนา (ในข้างหลังภาพหน้า 84-85) ที่ย่อความไว้ว่า

หลังจากที่นพพร แสดงความรู้สึกแห่งความรักของคนหนุ่มด้วยการจุมพิตต่อหม่อมราชวงศ์กีรติ ด้วยการขาดสติชั่วขณะ จนถูกตั้งคำถามจากหม่อมราชวงศ์กีรติ ว่า “เป็นการสมควรแล้วหรือ ที่เธอแสดงความรักของเธอต่อฉัน โดยวิธีการเช่นนี้”
“ผมไม่ทราบว่า จะเป็นการสมควรหรือไม่ แต่ความรักมีอำนาจเหนือผม ความรักรัดรึงใจผมอย่างที่สุด ทำให้ผมหมดสติ” นพพรตอบ

หม่อมราชวงศ์กีรติ มองนพพรด้วยความโศก แล้วพูด ว่า “ เธอแสดงความรักของเธอในเวลาที่ไร้สติ? เธอไม่รู้หรือว่า การกระทำอะไรที่เราจะต้องเสียใจในภายหลัง เท่าการทำเราได้กระทำไปในเวลาที่ไร้สติ”

นพพร ตอบ “แต่ผมรักคุณหญิงด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต”

“การแสดงความรักในเวลาที่ขาดสตินั้นจะมีความหมายอะไรเล่า” หม่อมราชวงศ์กีรติ ย้อนถาม

“ผมรักคุณหญิง ด้วยชีวิตและจิตใจของผมอย่างเที่ยงแท้ การที่ผมได้กระทำไปแล้ว ย่อมตราตรึงอยู่ในดวงใจของผม” นพพร ตอบ

“เธอคิดว่า เป็นกำไรแก่ชีวิตหรือ ถ้ามันได้ตราตรึงในใจจริงเช่นนั้น” หม่อมราชวงศ์กีรติ ถาม

“ในความรัก คนเราจะมีแก่ใจ คิดถึงต้นทุนกำไรอีกหรือ” นพพร ตอบ

“เธออาจไม่คิด และฉันอาจไม่คิด แต่ความรักอาจจะคิดเอากับเราได้” หม่อมราชวงศ์กีรติ ตอบ

จากบทสนทนาของทั้งคู่เกี่ยวกับการเผชิญสถานการณ์แห่งการแสดงออกซึ่งความรักของนพพร ต่อหม่อมราชวงศ์กีรติ ทำให้เห็นถึงมุมมองความรักที่ศรีบูรพาถ่ายทอดไว้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ถึงขั้นแฝงนัยให้คิดความหมายซ่อนเร้น ในข้อความที่หม่อมราชวงศ์กีรติ พูดว่า “เธออาจไม่คิด และฉันอาจไม่คิด แต่ความรักอาจจะคิดเอากับเราได้” ด้วยเหตุการณ์และบทสนทนาต่างๆ ที่กล่าวมาบางส่วนข้างต้น เป็นภาพสะท้อนมุมมองที่มีต่อความรักที่ศรีบูรพานำเสนอไว้อย่างลึกซึ้ง จนไม่น่าเชื่อว่า เป็นวรรณกรรมแห่งความรัก ที่ผู้เขียนเป็นผู้ชายได้รังสรรค์ผลงานนี้อย่างวิจิตร

ก่อนปิดฉากจบเรื่องเล่าข้างหลังภาพโดยการเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่น ของท่านเจ้าคุณอธิการบดีกับหม่อมราชวงศ์กีรติ จะสิ้นสุดลงในช่วงเวลาแห่งการจากลา จึงเป็นวาระแห่งความทุกข์ทรมานของผู้มีความรัก ที่มีข้อจำกัดอย่างนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติ หลังได้ลาจากกันและเขียนจดหมายติดต่อระหว่างกันเป็นเวลาอีกเกือบสองปี ซึ่งช่วยให้ความรู้สึกอันรุนแรงแห่งความรักของนพพร ได้ทุเลาเบาบางลง จนกลับสู่ภาวะปกติ ตามที่หม่อมราชวงศ์กีรติได้พูดไว้ ทำให้ผู้เขียนคิดถึงวาทะเปรียบเปรยความแตกต่างระหว่างความรักของผู้ชายกับผู้หญิง ที่ว่า

ความรักของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง นับวันยิ่งน้อยลง ตรงข้ามกับผู้หญิง ที่นับวันกลับมีมากขึ้น หรืออีกความหมายหนึ่งว่า ความรักของผู้ชายเริ่มต้นจากร้อย นับวันจะถอยหลังสู่เลขศูนย์ สวนทางกับผู้หญิงที่เริ่มความรักจากศูนย์ จนเดินทางไปสู่หลักร้อย และจวบจนปัจฉิมบทของนวนิยายเรื่องนี้ อยู่ที่นพพร ได้แต่งงานกับหญิงสาว ที่บิดามารดาได้หมั้นหมายไว้ให้ โดยไม่ได้ตั้งใจทอดทิ้งผู้หญิง ที่รอคอยตนอย่าง

หม่อมราชวงศ์กีรติ ซึ่งตรอมใจกับชายที่ตนรัก ซึ่งผู้เขียนรู้สึกยกย่องน้ำใจแห่งความรักของหม่อมราชวงศ์กีรติที่มีความรักจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต โดยหม่อมราชวงศ์กีรติ ได้เผยความในแห่งรัก ผ่านข้อความในแผ่นกระดาษที่อยู่ในกำมือ สื่อความถึงนพพร ก่อนสิ้นลมหายใจ ความว่า

​“ฉันตาย โดยปราศจากคนที่รักฉัน
​แต่ฉันก็อิ่มใจ ว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

หากจะกล่าวว่า ข้างหลังภาพ เป็นวรรณกรรมแห่งความรักคลาสสิก ที่ศรีบูรพา ได้ฉายภาพนิยามแห่งความรักอย่างลึกซึ้ง หลากมิติโดยแยบยล จนทำให้ประจักษ์ว่า ข้างหลังภาพ คือผลงานประพันธ์แห่งวรรณกรรมชั้นเลิศ ที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดมุมมองแห่งความรักที่มีเหตุผลกับความรักที่ขาดสติ ไว้เป็นอุทาหรณ์สอนคิดสำหรับคำว่า ความรัก ให้คนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันยุค

ถ้าจะกล่าวถึงบทสรุปของ “ข้างหลังภาพ” นั้น ผู้เขียนคิดเห็นว่า วรรณกรรมแห่งความรักเรื่องนี้ ได้สะท้อนภาพความรักที่เป็นอุดมคติ โดยอาศัยอุดมการณ์แห่งความรักที่มีความเชื่อมั่นและมองความรักเป็นภาพบวกต่อชีวิต แม้วรรณกรรมนี้ จะผ่านกาลเวลามาหลายยุคสมัย แต่เมื่อถึงเทศกาลให้รำลึกถึงความรักคราใด ผู้เขียนไม่อาจลืมเลือน “ความรักที่มีชีวิต” ในข้างหลังภาพของศรีบูรพา ซึ่งตราตรึงอยู่ในบรรณพิภพของหัวใจไปได้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่ออ่านวรรณกรรมแล้ว จึงได้เวลาอ่านพินิจชีวิตและความรักที่มีอยู่ในหัวใจไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น