หลังจากเปิดตัวแบรนด์ชาเขียวพร้อมดื่ม “อิชิตัน” น้ำชาผสมน้ำตาลเป็นของตัวเอง ตัน ภาสกรนที ก็สร้างโรงงานของตัวเองขึ้นในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมาประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554
จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับโรงงานและผู้คนในครั้งนั้น ถูกหยิบยกมาเป็นบทเรียน ถ่ายทอดผ่านศูนย์การเรียนรู้ “ตันแลนด์” ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับ อิชิตัน กรีน แฟคทอรี ซึ่งนำเสนอภายใต้ภาพลักษณ์ “ดินแดนแห่งความสมดุล” แต่เชื่อว่าหลายคนคงตั้งคำถามว่า เนื้อหาในตันแลนด์แสดงให้เห็นถึงความสมดุลจริงๆ หรือสร้างภาพให้เชื่อว่ามีความสมดุลกันแน่?? เราเข้าไปดูด้านในกัน
จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น ทำให้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล เช่นในกรณีของกระบวนการผลิตอิชิตัน ก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้ธรรมชาติ แต่เป็นการใช้น้อยลง โดยใช้ระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ ทำให้ใช้พลาสติกในปริมาณที่น้อยลง
ภายใน “ตันแลนด์” เปิดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอิชิตัน ความเป็นมาของชา กระบวนการผลิต จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มอิชิตัน ทั้งหมดนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ T of Live และ เรียนรู้อย่างอิชิตัน
เริ่มจากส่วนแรก T of Live เป็นส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวของชา ประกอบด้วยห้องต่างๆ คือ T Time อธิบายถึงการเกิดชาขึ้นมาบนโลก ตลอด 5,000 ปี จากต้นชาและใบชา ถูกปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกไปตามยุคสมัยต่างๆ แต่ก็ยังคงจิตวิญญาณของความเป็นชาอยู่เสมอมา
T Tale บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมเครื่องดื่มของคนไทย ก่อนที่จะหันมาตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ ก่อนหน้านั้นคนไทยรับค่านิยมตะวันตกผ่านสินค้าทางวัฒนธรรม อาทิ ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่มองว่าการดื่มน้ำอัดลมเป็นความเท่และทันสมัย จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1999 ที่กำเนิดธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกิดเทรนด์รักสุขภาพของคนไทย
Transformer วิวัฒนาการเทคโนโลยีการผลิตชาพร้อมดื่ม เริ่มจากการให้บริการผ่านร้านอาหารญี่ปุ่นกลายเป็นระบบพาสเจอไรซ์ พัฒนาเป็นระบบบรรจุร้อนเพื่อยืดอายุชา จนมาถึงกระแสการเลือกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติอย่างแท้จริงในระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ
T of life เรื่องราวของชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารเคมี จนเกิดการสะสมพิษ เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงเป็นที่มาของการหาทางลดปริมาณสารเคมีที่สะสมในร่างกาย โดยเลือกกินอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิก ที่ปราศจากสารเคมีต่างๆ
ในส่วนที่ 2 เรียนรู้อย่างอิชิตัน ก็ยังแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ให้เข้าไปเรียนรู้ เริ่มจาก วิถีตัน บอกเล่าแนวคิดธุรกิจของ ตัน ภาสกรนที และการก่อตั้งมูลนิธิตันปันเพื่อสนับสนุนงานด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ห้องปรับความคิด เล่าเรื่องราวของการรักษาความสมดุลของ 3 สิ่ง ที่จะทำให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน
พิพิธภันฑ์แห่งการสาบสูญ สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ บนโลก ไม่ว่าจะเป็น วาฬ แรดป่า กำลังสูญพันธุ์ เมืองหลายเมืองบนโลก อาทิ มัลดีฟส์ เวนิส กำลังจมน้ำเป็นเมืองใต้บาดาล สิ่งต่างๆ เหล่านี้มนุษย์คิดว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัว
ห้องของน้ำ สมมติว่าโลกมีน้ำทั้งหมดเท่ากับ 1 แกลอน น้ำที่สามารถดื่มได้มีแค่ 5 หยดเท่านั้น วงจรของน้ำ 5 หยดสุดท้ายกำลังหายไปเรื่อยๆ มนุษย์สามารถขาดน้ำได้เพียง 3 วัน มากกว่านั้นก็จะเสียชีวิต แล้วจะทำอย่างไรกับน้ำ 5 หยดนี้
ขยะเงินขยะทอง ความลับที่ตันแลนด์ คือ เรารู้ว่าจะแปลงขยะมหาศาลให้เป็นเงินได้อย่างไร มาร่วมกันทำให้ขยะเป็นศูนย์ แล้วเพิ่มเงินในกระเป๋าอีกมหาศาล
บรรจุภัณฑ์ ทุกๆ วัน ภาชนะบรรจุน้ำหลายล้านชิ้นถูกโยนทิ้งอย่างไร้ค่า แต่หลายคนคงไม่รู้ว่า ภาชนะบรรจุน้ำเหล่านี้ยังสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีก โดยไปเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย
จำฝังหัว น้ำท่วมครั้งก่อนเรามัวโทษกันว่าเธอผิด เขาผิด คนนั้นผิด ที่จริงแล้วอย่าโทษกัน เพราะเราทุกคนต่างก็มีส่วนผิดร่วมกัน มาเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เคารพกัน รักกัน และไม่ทำลายกัน
“ตันแลนด์” เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ฟรี โดยสามารถมาเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ และศึกษากระบวนการผลิตของอิชิตันได้ด้วย ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้กลับบ้านไปแล้ว ก็ยังได้ภาพลักษณ์ดีๆ ของอิชิตัน กุร๊ป ติดสมองกลับไปอีกด้วย
เรียกได้ว่า “ตันแลนด์” พยายามนำเสนอภาพลักษณ์แห่งความสมดุล ที่มีความน่าสงสัยว่าสมดุลจริงหรือ?? เพราะกับแคมเปญส่งเสริมทางการตลาดทั้งหลายแหล่ที่ให้ส่งรหัสชิงโชคต่างๆ กลับส่งเสริมให้คนหน้ามืดหวังรวยทางลัดผ่านขวดชาเขียว ซึ่งงานนี้ “ตัน” มีแต่ได้กับได้ ส่วนลูกค้าที่เพียรพยายามซื้อน้ำหวานส่งรหัสไปแล้วนอกจากจะไม่ได้รวยง่ายๆ แล้วขืนดื่มมากๆ เข้าอาจจะได้เบาหวานเป็นของแถม เสียสุขภาพอีกต่างหาก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“ตันแลนด์ : อิชิตัน กรีน แฟคทอรี” ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 3 อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2762-9999
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com