xs
xsm
sm
md
lg

หาเรื่องไปชาร์จแบต : เลาะบางตะบูน เดินขึ้นเขาวัง เพชรบุรี

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ผมได้พบเห็นแรงบันดาลใจที่อยากจะไปเยือนเพชรบุรีสักครั้ง ทั้งนิตยสารแจกฟรีฉบับหนึ่งที่วางอยู่ในร้านกาแฟแถวบ้าน หรือจะเป็นช่วงเวลาเปิดเฟซบุ๊กแล้วไปเห็นอ่าวบางตะบูน แต่ด้วยความที่มีวันหยุดเพียงแค่วันเดียว ตกเย็นก็ต้องกลับบ้านแล้ว เลยไม่มีโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวที่ไหนไกลๆ อย่างต่างจังหวัดสักที

ความทรงจำในวัยเด็กจำได้ว่าที่บ้านมักจะพาผมและพี่น้องไปเที่ยวทะเลแถวชะอำ หัวหิน แต่ส่วนใหญ่เพชรบุรีจะเป็นเพียงแค่ทางผ่านมากกว่า แม้แต่เขาวัง ก็ยังคงได้แค่มอง ครั้งหนึ่งผมไปเป็นผู้ช่วยวิทยากรจัดสัมมนานักเรียนของวุฒิสภาที่โรงแรมรอยัลไดมอนด์ แต่กว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปตอนดึกแล้ว และตัวเมืองเพชรบุรียามนั้นเงียบมาก

หลายคนคงคิดว่า เพชรบุรีไปง่าย ขอแค่หารถตู้ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือสายใต้ใหม่ เดินทางไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงแล้ว หรือจะต่อไปชะอำ หัวหินก็ยังได้ นึกในใจว่าถ้ามันไปง่ายขนาดนั้นก็คงไม่มีอะไรแปลกใหม่ อีกทั้งอยากจะแวะอ่าวบางตะบูนก่อน เลยหันมาลงรถตู้แม่กลองแล้วต่อด้วยรถสองแถวสายบางตะบูน แทนที่จะตรงดิ่งไปยังถนนเพชรเกษม

เรามาถึงแม่กลอง จ.สมุทรสงครามตอนสิบโมงเช้าเศษ หลังลงจากรถตู้แล้วเราเดินมุ่งหน้ามาทางโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า หรือโรงพยาบาลสมุทรสงคราม จากนั้นมองหาท่ารถสองแถวบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล จะมีรถสองแถวอยู่สามสาย ซึ่งสายบางตะบูนจะอยู่ถัดไปจากสายดอนหอยหลอด

แต่เนื่องจากบนรถสองแถวมีผู้โดยสารเพียงคนเดียว คิดว่าอีกนานกว่ารถจะออก เลยเดินไปหาอะไรกินละแวกตลาดร่มหุบ หรือสถานีรถไฟแม่กลองซึ่งอยู่ใกล้กัน เช้าวันเสาร์ดูเหมือนคนจะพลุกพล่านเป็นพิเศษ มีชาวต่างชาติแห่ถ่ายรูปรถไฟและตลาดร่มหุบซึ่งเป็นแผงลอยขายสินค้าอยู่บนรางรถไฟกันอย่างตื่นเต้น

เมื่อเวลามีจำกัดเราจึงหาอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว แวะร้านบะหมี่ “ก๋องเมงจั้น” ซึ่งที่นี่คนเยอะพอๆ กับร้านเกาเหลากรุงไทยฝั่งตรงข้าม ผมสั่งบะหมี่แห้งเกี๊ยวหมูแดง สนนราคาชามละ 40 บาท ที่นี่เกี๊ยวหมูแป้งบาง ส่วนหมูแดงรสชาติต่างจากร้านบะหมี่ทั่วไป มีรสออกจะแนวๆ กุนเชียง แต่เราไม่มีเวลามาละเลียดเก็บรสชาติเพราะต้องรีบไปต่อ

หลังกินบะหมี่แบบพออิ่มในเวลาจำกัดแล้ว เราออกเดินทางต่อไปยังบางตะบูน เป้าหมายของเราในวันนี้ ดูนาฬิการถสองแถวออกจากท่าเวลา 10.28 น. ใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ไปทาง จ.เพชรบุรี ข้ามสะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มองไปทางซ้ายมือเราจะเห็นอ่าวแม่กลองไกลสุดลูกหูลูกตา แต่ถ่ายรูปได้ยากมากเพราะสายไฟบดบัง

ไม่นานนักเรามาถึงปั้มน้ำมัน ปตท. คลองโคน หลักกิโลเมตรที่ 72 ซึ่งเป็นปากทางเข้าถนนสายคลองโคน-ชะอำโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลของกรมทางหลวงชนบท จุดนี้ใครที่มาจากกรุงเทพฯ แล้วไม่อยากแวะแม่กลอง ก็สามารถลงรถตู้ตรงจุดนี้ (บอกคนขับรถว่า ลงตรงปั้ม ปตท. คลองโคน) ได้เช่นเดียวกัน

รถสองแถวจะเข้าสู่ถนนลาดยางสายเล็กๆ สองข้างทางจะเป็นป่าชายเลนสลับกับที่รกว้างว่างเปล่า มีป้ายบอกทางไปชะอำตลอดเส้นทาง กระทั่งผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธรยี่สาร คนขับจะถามว่าลงรถตรงจุดไหน หากมีคนลงที่วัดเขายี่สาร คนขับรถก็จะวนไปส่งก่อน แต่ถ้าทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าลงบางตะบูน ก็จะตรงไปยังบางตะบูนเลย

ไม่นานนักเรามาถึงชุมชนบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รถสองแถวจะจอดบริเวณเลยวัดปากลัดมาเล็กน้อย เราจ่ายค่าโดยสารจากแม่กลองคนละ 30 บาท หากจะไปยังสะพานข้ามแม่น้ำบางตะบูนก็เดินเท้าเพียงเล็กน้อย แต่เนื่องจากตรงจุดนั้นเป็นทางโค้งรูปเกือกม้า อีกทั้งถนนแคบ จึงควรระวังรถหลังขณะเดินเท้าด้วย

เรามาถึงสะพานเฉลิมพระเกียรติปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย (ในขณะนั้น) เมื่อปี 2539 เชื่อมถนนสายคลองโคน-ชะอำ ปลายสะพานอยู่ห่างจากถนนพระราม 2 ประมาณ 14.2 กิโลเมตร บนสะพานมองไปทางซ้ายจะเห็นปากอ่าวบางตะบูน ทางขวาจะเห็นหมู่บ้าน โดยจะเห็นเทือกเขาตะนาวศรีอยู่ตรงหน้า


บนสะพานกลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะในช่วงเช้าเราจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณนี้ ท้องน้ำเบื้องหน้าเราจะเห็นบรรดากระเตง ซึ่งเป็นกระท่อมหลังเล็กของชาวประมงที่ปลูกกลางทะเลเพื่อเฝ้าฟาร์มหอยแครง ไกลสุดลูกหูลูกตา สลับกับเรือประมงชาวบ้านที่เข้า-ออกปากอ่าวสลับกัน

เบื้องล่างบริเวณเชิงสะพานเราจะเห็นท่าเทียบเรือสำหรับนำสัตว์น้ำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ขึ้นมาจากฝั่ง หากมองขึ้นไปเราจะเห็นตัวสะพานคอนกรีตอันแข็งแกร่ง สะพานแห่งนี้ไม่ได้เพียงแค่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทั้งสองฝั่งแม่น้ำ แต่ยังเป็นเส้นเลือดใหม่จากบรรดานักท่องเที่ยวและผู้สัญจรไปมาใช้เส้นทางลัดสายนี้แทนถนนเพชรเกษมอย่างไม่ขาดสาย


ทุกวันนี้เราจะเห็นร้านอาหารทะเลสดๆ จากชายฝั่งนับสิบร้าน โฮมสเตย์อีกจำนวนหนึ่ง คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติแบบชาวประมงพื้นบ้าน สังเกตจากรถที่จอดหน้าร้านอาหารหลายแห่งเป็นไปอย่างคึกคัก แต่เมนูราคาอาหารทะเลของที่นี่ดูเหมือนจะสูง จึงเหมาะสำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์หรือเลี้ยงสังสรรค์เป็นหมู่คณะมากกว่า

อ้อ… ใครที่จะกลับแม่กลอง รถสองแถวเที่ยวสุดท้ายจะออกจากบางตะบูนก่อนบ่ายสามโมง ใครที่มาทานอาหารทะเลมื้อกลางวัน หรือมาเยือนที่นี่แบบเช้าไปเย็นกลับ แล้วต้องการกลับทางถนนพระราม 2 ก็ควรเผื่อเวลาเอาไว้ด้วย

เราใช้เวลาชมความงดงาม และเก็บภาพบรรยากาศโดยรอบอ่าวบางตะบูนสักพัก ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด (ถ้าเป็นไปได้ทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านก็คงจะดี) ก็เดินทางต่อไปยังตัวเมืองเพชรบุรี ถามชาวบ้านที่พักอยู่ใต้สะพานก็บอกว่าให้ไปรอรถสองแถวที่ศาลาหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลบางตะบูน แต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่มีวี่แววของรถสองแถว

เดินไปถามมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งอยู่หน้าวัดปากอ่าวบางตะบูนฝั่งตรงข้าม เขาบอกกับเราว่าวันเสาร์-อาทิตย์ไม่มีรถ 3-4 ชั่วโมงจะมาสักคันหนึ่ง สุดท้ายเราตัดสินใจเหมารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ไปส่งที่ตัวเมืองเพชรบุรี สนนราคาอยู่ที่คนละ 150 บาท ซึ่งจากจุดนั้นระยะทางรวมกันประมาณ 22 กิโลเมตร ถือว่าไม่แพงมากนัก คิดเสียว่านั่งแท็กซี่ก็แล้วกัน

จากบางตะบูน บนเส้นทางได้เข้าสู่โครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเล ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้ปรับปรุงเส้นทางเป็นถนนลาดยางอย่างดี มีทางจักรยานบริเวณไหล่ทางด้านซ้าย ตลอดเส้นทางมุ่งหน้าไปทาง อ.บ้านแหลม จะผ่านป่าชายเลนสลับกับนาเกลือที่กว้างขวางอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งต่อจาก อ.บ้านแหลมจะผ่านหาดเจ้าสำราญ ปึกเตียน สิ้นสุดที่ชะอำ

แต่ที่น่าสงสัยคือตึกสูงทึบที่อยู่ตรงหน้า คล้ายคอนโดมิเนียม แต่ก่ออิฐถือปูนแบบทึบเกือบทั้งหลัง ไม่มีหน้าต่างนอกจากช่องระบายอากาศ นึกสงสัยว่ามันคืออะไร พอมาถึงตัวอำเภอบ้านแหลมก็ถึงบางอ้อ เพราะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงนกนางแอ่นเพื่อนำรังไปทำเป็นผลิตภัณฑ์รังนก น่าเสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพเพราะมอเตอร์ไซค์ขับเร็วมากเลยไม่สะดวก

จาก อ.บ้านแหลมตรงไปประมาณ 14 กิโลเมตร ก็ถึงตัวเมืองเพชรบุรี เราให้คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปจอดที่ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือเขาวัง ยอมรับกันตรงนี้เลยว่า ตั้งแต่เด็กจนโต ผมไม่เคยขึ้นไปเที่ยวบนเขาวังเลยสักครั้งในชีวิต ทั้งๆ ที่เป็นทางผ่านไปภาคใต้ตั้งหลายครั้ง

บริเวณทางขึ้นเขาวังด้านทิศตะวันตก จะมีบรรดาฝูงลิงต่างเดินเพ่นพ่านไปมา เราเดินขึ้นไปไล่เลี่ยกับนักท่องเที่ยวสองสามีภรรยา ซึ่งสามีเป็นชาวต่างชาติ สักพักเกิดอาการเหนื่อยหอบ จึงขึ้นไปชมวิวด้านบน เห็นตัวเมืองเพชรบุรีด้านทิศเหนือไกลสุดลูกหูลูกตา เบื้องหน้ายังคงความเป็นท้องนา และมองเห็นเขาหลวงอยู่ไม่ไกลกันนัก

ลงมาจากจุดชมวิวเราแวะซื้อน้ำอัดลมจากแม่ค้าตรงนั้นเพราะกระหายน้ำ คุยกับแม่ค้าก็บอกกับเราอย่างเป็นมิตร แม่ค้าบอกว่า ถ้าจะเข้าห้องน้ำตรงทางซ้ายมือก็เข้าไปได้ฟรี เดินตรงไปอีกหน่อยก็เป็นทางราบแล้ว ตรงจุดนั้นจะเห็นวิวทิวทิศน์ที่สวยกว่านี้ แต่ถ้าเป็นเจดีย์อีกฝั่งจะเป็นพระธาตุเฉยๆ

หลังผมดื่มน้ำดับกระหาย และจัดการธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว เดินตรงไปอีกเล็กน้อยจะเห็นทางเข้าศาลาเย็นใจ ซึ่งเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั่งรอเพื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ผมกะจะเดินขึ้นไป ปรากฏว่าฝูงลิงห้า-หกตัวยืนขวางอยู่ เลยต้องถอยห่าง ซึ่งที่นี่มีคำเตือนเป็นระยะว่าระวังลิงกัด และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของที่นี่

แต่สิ่งที่ทำให้ผมเห็นแล้วเข่าอ่อนที่สุด ยิ่งกว่าเวลาเจอลิงแล้วกังวลว่าเวลาถูกกัด กลับบ้านไปจะโดนที่บ้านด่าหรือไม่ก็คือ ป้ายบอกทางระบุคำว่า “เคเบิลคาร์” ทำให้ผมคิดในใจว่า ทำไมเราไม่ไปนั่งเคเบิลคาร์สบายๆ ไม่ต้องมาผจญกับฝูงลิง แต่คิดในทางกลับกัน ถือเสียว่าได้มาออกกำลังกายก็แล้วกัน หลังจากเป็นมนุษย์ห้องแอร์อยู่นับเดือน

ด้านบนพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ก่อนที่จะเลาะไปยังพระที่นั่งราชธรรมสภา ทราบว่าในรัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์บรรยายธรรมะ รัชกาลที่ 5 ดัดแปลงเป็นห้องเสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ

มาถึงจุดชมวิวที่สำคัญของพระนครคีรีก็คือ หอชัชวาลเวียงชัย ซึ่งเป็นหอทรงกลมสูงคล้ายกระโจมไฟ เบื้องหน้าเราจะเห็นยอดเขาด้านทิศตะวันออก ที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี ซึ่งประกอบไปด้วยพระธาตุจอมเพชร ซึ่งเป็นเจดีย์สีขาวสูงที่สุด พระอุโบสถวัดพระแก้ว รวมทั้งพระปรางค์แดงอีกด้วย

เมื่อเดินขึ้นไปบนบันไดเวียนไปยังด้านบนสุดของหอชัชวาลเวียงชัย ก็สัมผัสได้ถึงลมเย็นๆ จากทิศตะวันออกซึ่งเป็นฝั่งทะเลพัดมาที่ลำตัว มองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองเพชรบุรีเกือบๆ 360 องศา ตั้งแต่ตัวเมืองที่มีตึกแถวหนาแน่น ท้องนา ถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าชะอำ มองเห็นไปถึงเขาบันไดอิฐซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก และเขาหลวงซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างหอชัชวาลเวียงชัยขึ้นเพื่อเป็นที่ศึกษาและสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งพระองค์ถือเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ในอดีตเวลากลางคืนจะจุดโคมไฟแขวนไว้ภายในโดมกระจก เมื่อมองจากทะเลสามารถเห็นได้แต่ไกล จึงเป็นที่หมายของชาวเรือในการเดินเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมได้อย่างดี

ถัดจากนั้นจะเป็นพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ห้ายอด ตามพระราชนิยม มียอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และปรางค์เล็กอยู่ 4 มุม บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสักการะ

ปัจจุบันเราสามารถขึ้นมาอยู่บนพระราชวังแห่งนี้ได้ไม่เกินสี่โมงเย็น เว้นเสียแต่จะจัดงานพระนครคีรีปีละครั้ง ทราบมาว่าเปิดให้เข้าชมในช่วงเวลากลางคืน สามารถนั่งรถรางไฟฟ้าไปชมบรรยากาศบนเขาวังด้านบนได้ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงสามทุ่ม โดยไฮไลท์จะอยู่ที่การจุดพลุจากพระธาตุจอมเพชรนับร้อยดอกอย่างสวยสดงดงาม

น่าเสียดายที่กล้องสมาร์ทโฟนของเรามีขีดจำกัด จึงไม่สามารถถ่ายให้เห็นตัวหอดูดาวแห่งนั้นได้ เช่นเดียวกับภาพบรรยากาศปากอ่าวบางตะบูน ไม่สามารถซูมภาพของปากอ่าวให้เห็นกระท่อมกลางทะเล ที่เรียกว่ากระเตงให้เห็นเด่นชัดเช่นกัน คงต้องยอมถอยห่างให้บรรดาคนเล่นกล้องได้มาเยือนและเก็บภาพมาฝากอีกครั้ง

เที่ยวกลับลงจากเขาวัง เราลองใช้บริการเคเบิลคาร์ ซึ่งเป็นรถรางขึ้นเขาวัง ทราบมาว่าจะมีตั๋วสำหรับโดยสารไป-กลับ สนนราคาใบละ 50 บาท แต่เนื่องจากเที่ยวไปผมเดินขึ้นเขา เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้ไปเสียเงิน 30 บาทที่ช่องจำหน่ายตั๋ว จริงๆ ก็นึกสงสารแม่ค้าที่ขายน้ำอัดลมให้เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงคนเดินขึ้นเขาวังด้วยตัวเองน้อยมาก


ก่อนนั่งรถตู้กลับกรุงเทพฯ ผมไปเดินเล่นบริเวณสะพานดำ สะพานเหล็กของทางรถไฟสายใต้ข้ามแม่น้ำเพชรบุรี สิ่งที่ขัดหูขัดตาก็คือมีแผ่นผ้าไวนิลโฆษณาติดอยู่ที่กลางสะพาน ซึ่งดูแล้วไม่งามเท่าที่ควร น่าเสียดายที่เวลานั้นไม่ใช่ช่วงน้ำหลาก ระดับน้ำน้อยกว่าที่ควร จึงไม่เห็นความไหลลื่นของสายน้ำควบคู่กับความสวยงามของสะพาน

อันที่จริงที่เพชรบุรีได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวาน เพราะนอกจากขนมหม้อแกงที่เรารู้จักกันดี และเป็นของฝากขึ้นชื่อเวลาล่องใต้หรือกลับเข้ากรุงเทพฯ จะต้องมีติดไม้ติดมือ รวมทั้งขนมหวานหลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีเมนูยอดฮิตอย่างข้าวแช่ เมนูคลายร้อนตำรับชาววัง ยังคงหารับประทานได้หลายเจ้า

แต่ปัจจุบันค่านิยมตะวันตกกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ใครจะเชื่อว่าทุกวันนี้ยังมีร้านกาแฟและขนมหวานสไตล์โมเดิร์นอยู่ในตัวเมืองมากมาย ทำให้วัฒนธรรมการกินและไลฟ์สไตล์ของที่นี่ผสมผสานอย่างหลากหลาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตคนยุคใหม่จะยังคงสนใจขนมหม้อแกง ข้าวแช่อีกหรือไม่ นอกจากการดื่มกาแฟและชิมขนมเค้ก

น่าเสียดายที่การมาเยือนเพชรบุรีคราวนี้มีเวลาจำกัด เพราะต้องกลับบ้านตั้งแต่สี่โมงเย็น เลยไม่ได้มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสอาหารการกินของที่นี่ แต่ใครที่มีเวลาหาของกินยามเย็นก็อยู่ต่อได้ยันค่ำ เพราะรถตู้ไปอนุสาวรีย์ชัยมีให้บริการถึงสองทุ่ม แต่ถ้าตกรถตู้ยังมีที่พักหลายราคา รวมทั้งยังมีรถไฟสายใต้จอดรับ-ส่งผู้โดยสารตอนตีหนึ่ง-ตีสองด้วย

ใครที่อยากหาที่พักผ่อนไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นอกจากชะอำ หัวหิน ปราณบุรี ที่เรารู้จักกันดี เล่นน้ำทะเลกันชุ่มปอดแล้ว เพชรบุรีเป็นอีกแห่งที่น่า “หาเรื่องไปชาร์จแบต” เช่นเดียวกัน แม้มองผิวเผินเหมือนเมืองนี้จะไม่มีอะไรเที่ยวนอกจากเขาวัง แต่ก็เหมาะกับการสัมผัสวิถีชีวิตคนเมืองเพชร และอาหารการกินที่จะได้เพิ่มความหวานให้กับชีวิตมากขึ้น

แม้ของหวานเป็นตัวการทำให้อ้วน แต่อีกเสียงหนึ่งก็บอกว่า ของหวานทำให้อารมณ์ดี เครียดมากๆ หยิบขนมหวานใส่ปาก แค่รับรู้รสชาติก็รู้สึกมีความสุขแล้ว จริงไหมเอ่ย?
กำลังโหลดความคิดเห็น