xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯ ระดมนักเขียนคุย “อำนาจและการต่อต้านในวรรณกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - “ลาว คำหอม” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และเป็นนักเขียนวรรณกรรมรุ่นครู “ฟ้าบ่กั้น” เชื่อวรรณกรรมมีอำนาจจริง ขณะที่นักวิชาการวิพากษ์เผด็จการกลัวอำนาจของงานเขียน เพราะไม่เข้าใจเรื่องเสรีภาพของการเขียนวรรณกรรม

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “อำนาจและการต่อต้านในวรรณกรรม” โดยมีนักเขียนเจ้าของนามปากกา ลาว คำหอม หรือนายคำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2535 นายชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ มี รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยการแสดงความเห็นของผู้เสวนาทั้ง 3 ได้หยิบยกข้อเขียนของนักเขียนวรรณกรรมในอดีตขึ้นมาพูดเป็นแนวทาง พร้อมทั้งวิเคราะห์การใช้งานเขียนเป็นอำนาจและแสดงออกถึงการต่อต้านสังคมในแต่ละช่วงของเหตุการณ์บ้านเมือง

น.ส.ไอดาระบุว่า งานเขียนของนักเขียนในช่วงเผด็จการเรืองอำนาจทำให้เผด็จการมีอาการเหงื่อแตก เพราะกลุ่มเผด็จการไม่เข้าใจความรู้สึกของปัจเจกภาพหรือเสรีภาพในการแสดงออก บางครั้งมีการนำคนไปกักกันคุมขังเพียงเพราะใช้ถ้อยคำ โดยมีการนำไปตีความเอาตามความต้องการ

ขณะที่นายชูศักดิ์กล่าวถึงการใช้ภาษาในวรรณกรรมของ เจมส์ จอยซ์ นักเขียนอังกฤษเชื้อสายไอริช ซึ่งเป็นกลุ่มวรรณกรรมคนส่วนน้อยที่นิยมเขียนโดยใช้ภาษาของคนส่วนใหญ่ ทั้งที่ควรใช้ภาษาเกริก ซึ่งเป็นภาษาแม่ของชาวไอริช แต่จอยซ์ก็เลือกจะใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนหนังสือแทน ทั้งในเนื้อแท้คนไอริชไม่รู้สึกชอบคนอังกฤษที่ทำตัวเป็นเจ้านายของตนก็ตาม

เช่นเดียวกับนักเขียนวรรณกรรมของภาคอีสานอย่าง คำพูน บุญทวี และลาว คำหอม ก็ใช้ภาษากลางแทนการใช้ภาษาท้องถิ่นในการสร้างวรรณกรรม จึงเรียกว่าเป็นวรรณกรรมที่คนส่วนน้อยเขียนด้วยภาษาของคนส่วนใหญ่

ด้านนายคำสิงห์ ศรีนอก เจ้าของนามปากกา “ลาว คำหอม” ที่สร้างวรรณกรรมลือชื่ออย่าง “ฟ้าบ่กั้น” กล่าวถึงนักเขียนรุ่นพี่อย่าง “ศรีบูรพา” เป็นคนเชื่อในอำนาจของวรรณกรรม เช่นการเขียนเรื่องข้างหลังภาพ ศรีบูรพาแสดงออกถึงการต่อต้านวัฒนธรรมประเพณีที่ล้าหลัง เลี้ยงดูลูกเหมือนนกน้อยในกรงทอง ที่พ่อแม่ไม่ให้อิสระเสรีภาพแก่ลูกได้เลือกใช้ชีวิตของตนเอง

การเขียนวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมมีอำนาจต่อต้านประเพณีวัฒนธรรมที่ล้าหลังดังกล่าวได้

สำหรับการจัดเวทีดังกล่าว ในช่วงบ่ายจะมีการเปิดตัวหนังสือเรื่องสั้น “สุสานของความสุข” ให้นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟังด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น