กลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศ พร้อมกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สหพันแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูประเทศไทย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 1,000 คน รวมตัวกันแสดงพลังเนื่องในวันสตรีสากล แสดงเจตนารมณ์ เรียกร้องให้บรรจุสัดส่วนหญิงชาย 50 : 50 ในรัฐธรรมนูญ โดยมีการเดินขบวนรณรงค์ไปตามถนนราชดำเนิน และเคลื่อนขบวนไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านเวที "104 ปี 8 มี.ค. วันสตรีสากล ผู้หญิงรำลึก เฉลิมฉลองการปฏิรูปสู่อนาคต 50 : 50"
วันนี้ (8 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรผู้หญิงทั้งจากภาครัฐ และเอกชน กว่า 1,000 คน รวมตัวแสดงพลังเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล โดยร่วมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปตามถนนราชดำเนิน มายังหอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จากนั้นได้ร่วมกันอ่านประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องให้บรรจุสัดส่วนหญิงชาย 50 ต่อ 50 ในรัฐธรรมนูญ พร้อมกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น ในหัวข้อ "104 ปี 8 มีนา วันสตรีสากล ผู้หญิงรำลึก เฉลิมฉลอง การปฏิรูปสู่อนาคต 50 : 50" ภายในหอประชุมศรีบูรพา ซึ่งบรรยากาศระหว่างเดินขบวนผู้ร่วมขบวนได้ตะโกนชื่อ นางทิชา ณ นคร เพื่อเป็นการให้กำลังใจ ให้ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อศักดิ์ของผู้หญิงต่อไป
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า การรวมตัวของเครือข่ายสตรีในวันนี้ เพื่อต้องการส่งเสียงย้ำเตือนว่า ผู้หญิงยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฎิรูปสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในบทบาทภาคการเมือง และการตัดสินใจในทุกมิติ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ควรจะต้องให้มีสัดส่วน 50 ต่อ 50
"ฝากไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของผู้หญิง หากจะมีการปฎิรูป จัดสัดส่วนอะไร ต้องคำนึงถึงประชากรที่มีมากกว่าครึ่งของประเทศเกือบ 2 ล้านคน ที่ผ่านๆ มาได้สร้างกลไก หรือเครื่องมือเพื่อยกฐานะของผู้หญิงบ้างหรือยัง เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้หญิงเข้าไปนั่งในพื้นที่การเมือง ทั้งสภา หรือระดับท้องถิ่น แต่อำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชาย กรณีที่เห็นชัดเจนล่าสุดคือ กรณีของ นางทิชา ณ นคร ลาออกจากตำแหน่ง ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนไห้เห็นแล้วว่าแม้มีความตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวมมากเพียงใด แต่การเป็นเสียงข้างน้อย และไม่เปิดใจยอมรับให้ผู้หญิงได้รับโอกาสเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจในระดับสูง ก็คงสู้ไม่ไหว แต่อย่างน้อยเหตการณ์นี้เป็นแรงกระเพื่อมอย่างดีที่ทำให้สังคมหันมาพูดคุย ตระหนักถึงความเสมอภาคชายหญิงมากขึ้น"
ทั้งนี้ ในปีหน้าไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มมาให้ความสำคัญเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงให้มีบทบาทในการบริหารประเทศ และท้องถิ่น ในประเทศไทยถือว่ามีสัดส่วนผู้หญิงในสภาน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน มีแค่ร้อยละ 8 ขณะที่ประเทศอื่น อาทิ ลาว กัมพูชา มีเกินกว่าร้อยละ 10 ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรบรรจุการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระดับ