ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
เดือนที่ยุ่งจนครูต้องวิ่ง
เข้าสู่หน้าหนาว ก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี เข้าสู่เดือนที่คนญี่ปุ่นบอกว่ายุ่งที่สุด...ธันวาคม
ดูเหมือนลมหนาวในเดือนนี้พัดมาพร้อมกับความยุ่ง คำว่า “ยุ่ง” ในที่นี้หมายถึง มีธุระยุ่ง มีงานรัดตัว และถ้าถามคนญี่ปุ่นว่าเดือนอะไรยุ่งที่สุด หลายคนจะตอบว่าเดือนธันวาคม
ผมได้ทราบตั้งแต่ปีแรกที่มาอยู่ญี่ปุ่นว่า คนญี่ปุ่นคิดว่าเดือนที่ยุ่งที่สุดในรอบปีคือธันวาคม และจะยุ่งต่อไปจนถึงปีใหม่ ทีแรกก็นึกภาพไม่ออกว่า “ยุ่งที่สุด” ของคนญี่ปุ่นเป็นยังไง เพราะเห็นเดือนไหนๆ ก็ยุ่งกันอยู่แล้ว ยังสงสัยอยู่ว่ายุ่งกว่านี้มีอีกหรือ
“ไม่รู้อะไร จากที่ยุ่งอยู่แล้ว พอถึงเดือนธันวา ต้องวิ่งกันวุ่นยิ่งกว่าเดิม” ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ คุณลุงทะเกะนะกะซึ่งเป็นประธานบริษัทแห่งหนึ่งและให้เกียรติมาเป็นลูกศิษย์เรียนภาษาไทย อธิบายให้ฟังตอนช่วงปลายปี
“ทำไมล่ะครับ”
“ก็ไหนจะต้องเคลียร์งานให้เสร็จ ไหนจะต้องปิดบัญชีบริษัท ไปโบเน็งไกที่โน่นที่นี่ เขียนเน็งงะโจ ทำความสะอาดบ้านช่อง แล้วมีวันหยุดยาวใช่ไหม กว่าจะเริ่มงานอีกทีก็หลังปีใหม่ ก็เลยต้องเตรียมงานล่วงหน้าไว้อีกเยอะแยะ”
จริงๆ แล้วคุณลุงบรรยายยาวกว่านี้มาก แต่เนื่องจากเป็นปีแรก ภาษาญี่ปุ่นของผมยังโผล่ไม่พ้นน้ำขึ้นมาเห็นเดือนเห็นตะวัน จึงฟังทันบ้างไม่ทันบ้าง และมีศัพท์อีกหลายคำที่ไม่ค่อยคุ้นหู
“อ้อ...เชิญล่วงหน้าเลยละกันนะ ปีหน้าวันที่ 2 มกรา จะจัดชินเน็งไก มาให้ได้นะ” ลุงปิดท้ายการอธิบายด้วยคำเชิญข้ามปี
ฟังคำอธิบายแล้วนึกตามก็เห็นเพียงภาพความยุ่งแค่รางๆ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ตรง จนกระทั่งอยู่ญี่ปุ่นมา 15 ปี ก็ได้เห็นทุกปีว่าเรื่องความยุ่งในเดือนธันวาคมนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะบริษัทต้องเตรียมงานล่วงหน้าก่อนจะหยุดยาว ร้านค้าทั้งหลายต้องเตรียมของเข้าคลังเพื่อเตรียมไว้ขาย คนออกไปซื้อของกันมากมาย เกิดความคึกคักจากแสงไฟวิบวับตั้งแต่ต้นเดือนเพื่อรับบรรยากาศคริสต์มาสและปีใหม่ มีคนไปต่อแถวซื้อของขวัญเตรียมไว้ให้กัน มีปาร์ตี้สารพัน เป็นต้น
ความยุ่งจากการงานเป็นสิ่งที่ใครๆ คงพอนึกภาพออกแม้ไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่น แต่ถ้าคิดให้ดี ที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้นอกจากเป็นความยุ่งในงานของ ‘คนบางกลุ่ม’ แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง การงานเหล่านั้นก่อให้เกิดบรรยากาศความเคลื่อนไหวไปทั่วทั้งเมืองด้วย จึงแลดูยุ่งไปหมด ใครที่ไม่ยุ่ง ก็พลอยต้องคิดว่าฉันจะต้องยุ่งบ้างแล้วสิ ข้อสรุปที่ได้คือ ในเดือนธันวาคม ใครจะยุ่งที่สุดหรือยุ่งกันถ้วนหน้าหรือไม่ ก็อาจจะแล้วแต่ลักษณะอาชีพการงานและความรู้สึกส่วนตัว และบรรยากาศนี่เองที่ทำให้คนญี่ปุ่นคิดว่าเดือนธันวาคมยุ่งกว่าปกติ ดังนั้นจะบอกว่าเป็นความยุ่งในเนื้องานเสียอย่างเดียวก็ไม่เชิง แต่มีความรู้สึกยุ่งที่ถูกปรุงแต่งด้วยบรรยากาศจนคิดไปเองว่า ‘ยุ่งมว้าาาก’...มากในระดับที่ไม่ต้องสังเกตก็รู้สึกได้...เพราะครูก็ยังยุ่งจนต้องวิ่ง
นอกจากบรรยากาศแล้ว ภาพลักษณ์ที่ฝังใจมานานก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ต้องย้อนไปดูความเชื่อของคนญี่ปุ่นเรื่องเดือนธันวาคม ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันเรียกเดือนธันวาคมว่า “จูนิงะสึ” (12月;jūnigatsu)แปลตามตัวอักษรได้ว่า “เดือน 12” แต่เดือนเดียวกันนี้มีชื่อเรียกเป็นคำโบราณด้วยคือ “ชิวะซุ” (師走;shiwasu) ความหมายตามตัวอักษรคือ “ครูวิ่ง” คือหมายความว่าครูมีภารกิจมากมายจนต้องวิ่งรอกไปสะสาง
อันที่จริง การตีความแบบนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามตัวอักษรที่ใช้คือ 師แปลว่า ครู กับ 走 แปลว่า วิ่ง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด อาจจะเป็นแค่การเพี้ยนเสียงมาแล้วบังเอิญตรงกับตัวอักษร 2 ตัวนี้ก็เป็นได้ ทว่าคนทั่วไปก็คิดว่าข้อสันนิษฐานนี้ฟังขึ้น และเมื่อดูเหตุการณ์ประกอบก็ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นอีก กล่าวคือ คำว่า “ครู” ใน “ครูวิ่ง” ไม่ได้หมายถึงครูอาจารย์ตามสถาบันการศึกษา แต่หมายถึง ครู/อาจาย์ที่เป็นพระ สมัยก่อนพอถึงเดือนธันวาคม ก็จะมีศาสนิกชนมานิมนต์ให้ไปสวดมนต์เสริมสิริมงคลกันมากมาย พระจึงต้องเดินสายไปสวดที่โน่นทีที่นี่ทีไม่หยุดหย่อน พระจึงยุ่ง และเป็นที่มาของคำว่า “ครู (พระ) วิ่ง” นั่นเอง
เรื่องของความยุ่งในเดือนธันวาคมกับข้อสันนิษฐานด้านที่มาจึงเป็นไปด้วยประการฉะนี้
ความยุ่งตามขนบญี่ปุ่น
เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคมปีที่ 15 ในญี่ปุ่น แน่นอนว่าความตื่นเต้นของไม่เข้มข้นเท่าช่วงแรกแล้ว พอเห็นบรรยากาศประดับไฟปลายปีก็ยังมีความรู้สึกคึกคักอยู่บ้าง แต่นึกอีกทีก็รู้สึกว่า เอ...เราไม่ตื่นเต้นเหมือนตอนอยู่ปีแรกๆ เสียแล้ว
เมื่อนั่งนึกย้อนไปก็พบว่า ตอนที่ประสบการณ์น้อย ไม่ว่าจะมีความรู้สึกอะไรหรือทำอะไรก็ประทับใจไปเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะเมื่อหวนมองถึงความยุ่ง ยังจำได้ว่าตัวเองเริ่มสัมผัส ‘ความยุ่งแบบญี่ปุ่น’ ได้ในปีแรกเลย จากทีแรกที่ได้ฟังแต่ยังเห็นภาพไม่ชัด พอตัวเองเจองานเลี้ยงเข้าไปติดๆ กัน จึงเริ่มเข้าใจ ปีนั้นตัวเป็นไทยแต่พลอยยุ่งไปกับเขาด้วย คนโน้นชวน คนนี้ชวน เดี๋ยวมีจัดเลี้ยงของชมรม เดี๋ยวไปผสมโรงกับเพื่อนกลุ่มโน้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง ยุ่งหัวไม่วางหางไม่เว้น เป็นไปตามคำของลุงไม่มีผิด
ตามปกติคนญี่ปุ่นจัดงานเลี้ยงบ่อยอยู่แล้ว ใหญ่/เล็กตามโอกาสและเวลา มีให้เฮฮากันทั้งปี แต่ช่วงที่ถี่ที่สุดคือตอนเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นความยุ่งที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน การตั้งตารอรับศักราชใหม่จะเต็มไปด้วยสีสัน กลางวันยังไม่เท่าไร ถ้าออกไปเดินตอนกลางคืนตามย่านการค้า จะได้เพลินตากับแสงไฟประดับระยิบระยับ สลับกับเสียงคนที่ลอยมาจากร้านจัดงานเลี้ยงซึ่งเริ่มกันตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม แม้ภายนอกมีลมหนาวโชยมาจนมือไม้สั่น แต่ยิ่งใกล้วันสุดท้ายของปี อะไรๆ ที่ญี่ปุ่นกลับยิ่งดูคุกรุ่นด้วยความเฮฮาและตื่นเต้นไปทุกที่ และคนเดินถนนก็ตื่นเต้นเช่นกัน เพราะต้องคอยหลบอาเจียนเกลื่อนกลาดอยู่เป็นระยะๆ
คนญี่ปุ่นจะรอคอยให้ปีเก่าพ้นผ่าน ทำใจเบิกบานเป็นอิสระ ใช้เหล้าละลายความหลังในวงสังสรรค์ปลายปีที่เรียกว่า “งานเลี้ยงลืมปี” หรือ “โบเน็งไก” (忘年会;bōnen-kai) ขณะที่คนไทยจัดงาน “ส่งท้ายปีเก่า” แล้วมักพ่วงงาน “ต้อนรับปีใหม่” เข้าไปกลายเป็นทูอินวัน แต่อย่างนั้นคนญี่ปุ่นไม่ทำ คนญี่ปุ่นจัดแยกเป็นสองงาน จะสนุกสนานส่งท้ายปีก็ส่งไป พอขึ้นปีใหม่ก็จัดอีก เรียกว่า “ชินเน็งไก” (新年会;shinnen-kai) ซึ่งจัดไปจนถึงปลายเดือนมกราคม ไม่ได้กินจำกัดวันเฉพาะช่วง 30-31 ธันวาคม หรือ 1-2 มกราคมอย่างในเมืองไทย
จากนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนง่ายๆ ประเภทมีก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน ใครเชิญก็ไป หรือใครไม่เชิญก็จะแกล้งบังเอิญเดินผ่านไป พอย่างเข้าเดือนสุดท้ายของรอบปี สภาพแวดล้อมที่ญี่ปุ่นจะกระตุ้นความตื่นตัวให้แผ่ซ่านขึ้นมา ความเฉื่อยชาลดลงทันที ในช่วงนี้จะมีทั้งกินฟรี มีทั้งปาร์ตี้สนุกสนาน มีการพบปะ และมีกิจกรรมมากมาย ทำให้ยุ่งขึ้นโดยปริยาย แต่ส่วนใหญ่เป็นความยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเล่นเสียมากกว่าเรื่องงาน สถาบันการศึกษาก็ดีใจหาย เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหลายปิดเทอมภาคฤดูหนาวสองถึงสามสัปดาห์ตั้งแต่ยังไม่สิ้นปี กว่าจะเปิดก็ราวๆ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมปีถัดไป
งานที่รัดตัวใกล้วันสิ้นปีไม่ได้มีแต่งานเลี้ยง แต่ยังมีงานการเขียน “เน็งงะโจ” (年賀状;nenga-jō) หรือ “บัตรอวยพรปีใหม่” ดังที่ของไทยเรียกว่า ส.ค.ส อีกด้วย พอบอกว่าส่ง ส.ค.ส. คนไทยคงมองว่าเป็นความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ อย่างหนึ่ง แต่ถ้าถึงขั้นส่งมากเป็นร้อยใบ คงพูดได้ไม่เต็มปากว่ายังจะเป็นความบันเทิงแสนสนุก หรือจะเป็นความทุกข์แสนเมื่อยมือกันแน่
การส่งเน็งงะโจเป็นประเพณีที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติกันทั่วไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างองค์กร และแจ้งข่าวคราวความเคลื่อนไหว เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เปลี่ยนงาน ให้เพื่อนฝูงหรือญาติผู้ใหญ่ทราบ คนญี่ปุ่นส่งเน็งงะโจกันแต่ละทีไม่ได้ส่งแบบจุ๋มจิ๋มสี่ห้าใบเหมือน ส.ค.ส.ของไทย แต่ส่งกันหลายสิบใบหรือเป็นร้อยใบ
พอถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี การไปรษณีย์ของญี่ปุ่นจะพิมพ์เน็งงะโจออกมาเป็นไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ พิมพ์ทีเป็นพันล้านใบ ขนาดมีอีเมลทางคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์มือถือมาดึงส่วนแบ่งการส่งลงไปมากแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นการผลิตคราวละมากๆ ที่มากที่สุดแบบที่ไม่มีการผลิตอะไรจะมาเทียบได้ อย่างเช่นจำนวนที่พิมพ์ใช้สำหรับปี 2558 คือ 3,300 ล้านใบ นี่ยังไม่รวมจำนวนที่ประชาชนทำเองจากคอมพิวเตอร์และแหล่งอื่นๆ อีก ถ้ารวมเข้าด้วยกัน คาดว่าคนญี่ปุ่นส่งเน็งงะโจปีละประมาณ 4-5 พันล้านใบ สำหรับการส่งบัตรอวยพรนี้การไปรษณีย์ของญี่ปุ่นทำตัวได้น่ารักมาก เพราะนอกจากบัตรที่พิมพ์ออกจำหน่ายนั้นจะเป็นล็อตเตอรี่ชิงรางวัลอยู่ในตัวแล้ว (ส่วนใหญ่เป็นของ ไม่ใช่เงิน) พอขึ้นวันที่ 1 มกราคม พนักงานไปรษณีย์จะหอบเอาเน็งงะโจทั้งหมดที่รวบรวม ‘กักไว้’ มาส่งให้เราในคราวเดียวกันเลย เป็นระบบที่น่าชื่นชมและอยากให้ไทยเอาอย่างบ้าง
ในปีแรกที่อยู่ญี่ปุ่น ผมส่งเน็งงะโจแค่ 10 กว่าใบ แต่แค่นั้นก็ทำเอาแย่เพราะต้องเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น พอส่งเสร็จก็ถึงงานช้าง นี่เป็นงานสร้างที่ทุนอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่แรงกายกับแรงใจคือสิ่งสำคัญ งานที่ว่านั้นคือการทำความสะอาดห้อง ตามประเพณีญี่ปุ่น เจ้าของบ้านจะทำความสะอาดที่อยู่อาศัยขนานใหญ่ให้เสร็จก่อนวันที่ 31 ธันวาคมเพื่อรอรับปีใหม่ด้วยความสดใสและเป็นสิริมงคล คล้ายกับประเพณีจีนเมื่อใกล้ถึงวันตรุษ สำหรับห้องของตัวเองในขณะนั้น ปัญหาน่ากลุ้มไม่ได้อยู่ที่การทำความสะอาด แต่อยู่ที่ขนาดของห้อง ไม่ใช่ว่าห้องกว้างจนทำไม่ไหว แต่แคบจนท้อใจเพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรออกมาปัดกวาดก่อนดี ในความเล็กแบบญี่ปุ่นที่หมุนไปสองศอกก็แทบชนกำแพงห้อง การรื้อข้าวของออกมากองเพื่อเช็ดถูดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่เสียยิ่งกว่าขนาดของห้อง แต่ผมก็ทนทำความสะอาดขนานใหญ่จนเสร็จเพื่อส่งท้ายปีเก่า แล้วเตรียมเข้าสู่ปีใหม่ด้วยใจผ่องใส
...ถึงวันงานชินเน็งไกตามที่ลุงทะเกะนะกะเชิญ
“อะเกะมะชิเตะ โอะเมะเดะโต โกะไซมัส (あけましておめでとうございます; Akemashite o-medetō gozaimasu) - สวัสดีปีใหม่ครับ”
ประโยคแบบแผนสำหรับการพบกันครั้งแรกในช่วงปีใหม่ได้ใช้คราวนี้เอง ผู้น้อยอย่างผมย่อมต้องทักทายผู้ใหญ่ก่อนเป็นธรรมดา แล้วคุณลุงทะเกะนะกะก็ตอบรับด้วยประโยคเดียวกัน
วันนี้พี่น้องและครอบครัวทะเกะนะกะจัดเลี้ยงใหญ่รวมญาติประจำปี คนไทยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองอะไรกับเขาเลยก็อยู่ในหมู่ครอบครัวทะเกะนะกะด้วย ได้รับเกียรติอย่างนี้ นอบน้อมเป็นดีที่สุด
“โคะโตะชิ โมะ โยะโระชิกุ โอะเนะไงชิมะซุ (今年もよろしくお願いします;Kotoshi mo yoroshiku onegaishimasu) - ปีนี้ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวอีกเช่นกันครับ”
อีกหนึ่งประโยคแบบแผนที่ท่องมาอย่างแม่นยำได้ทำหน้าที่ของมันก่อนที่การรับประทานอาหารจะเริ่มขึ้น ต่อมาคุณลุงก็ยื่นซองให้ผม
“อะริงะโต โกะซะอิมะซุ (ありがとうございます;Arigatō gozaimasu) - ขอบคุณครับ” รอยยิ้มบนใบหน้าขณะรับซองคือยิ้มของมารยาทแห่งการขอบคุณผู้ให้ แต่ยิ้มที่อยู่ภายในคือยิ้มขอบใจสิริและมงคลที่ส่งผลให้เห็นทันตา เพราะทราบว่าในนั้นคือของมีค่า
คนญี่ปุ่นมีประเพณีผู้ใหญ่ให้เงินผู้น้อยช่วงปีใหม่ เช่นเดียวกับที่คนจีนและคนเกาหลีมี ต่างกันตรงที่คนญี่ปุ่นให้ในช่วงปีใหม่ตามปฏิทินสากล แต่คนจีนกับเกาหลีทำในช่วงปีใหม่ดั้งเดิม คนญี่ปุ่นเรียกเงินนั้นว่า “โอะโตะชิดะมะ” (お年玉;O-toshidama) สมัยโบราณโอะโตชิดะมะคืออาหาร หรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่มอบให้กันในครอบครัวช่วงปีใหม่ หรือไม่ก็เป็นขนมแป้งข้าวเหนียวปั้นซึ่งเรียกว่าโมะชิ (もち;mochi) ที่ใช้เซ่นไหว้เทพเจ้า เสร็จแล้วนำไปให้เด็กกินเพื่อความเจริญทั้งอายุ วรรณะ สุขะ พละ จากอดีตมาไม่ปรากฏหลักฐานว่าโมะชิได้กลายร่างเป็นเงินตั้งแต่เมื่อไร แต่คาดว่าคงเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรๆ จึงเปลี่ยนตาม ลองถามเด็กญี่ปุ่นสมัยนี้ดูก็ได้ว่า ถ้าให้เลือกเงินกับแป้งปั้น จะเลือกอะไรกันสำหรับปีใหม่
ด้วยอานิสงส์จากประเพณีนี้ของญี่ปุ่น ผู้น้อยที่ผ่านวัยเด็กไปหลายปีแล้วอย่างผมพลอยได้โอะโตะชิดะมะไปกับเขาด้วย รับทรัพย์ประเดิมปีเช่นนี้ คิดเองเออเองว่า จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ถ้ามิใช่สิริมงคลอันเป็นผลจากการทนทำความสะอาดห้อง
ทุกคนอิ่มหนำถ้วนหน้าแล้วก็ล่ำลากัน พอแยกจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยคนไทยก็หยิบซองขึ้นมา เมื่อเห็นของในซองนั้น ผมตกใจมากกว่าดีใจ เพราะรู้สึกว่ามากเกินไปสำหรับนักศึกษาไทยคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่ญาติสนิทกับครอบครัวของคุณลุง นึกไม่ถึงว่าจะได้รับความเอ็นดูขนาดนี้ พลอยทำให้เกิดความอบอุ่นใจประเดิมปีใหม่จนกลบความหนาวหายสิ้น
บัดนี้ ผ่านมา 15 ปี ผมไม่ได้อยู่ในสถานะผู้รับแล้ว แต่เป็นผู้ให้...จนบางครั้งก็คิดว่าถ้าอายุมากกว่านี้ เห็นทีต้องซื้อเสื้อโค้ตมาใส่ทีละหลายๆ ตัว เพราะมันหนาว (ฮา)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th