xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “เงินเดือนอาจารย์”

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

จะใช้คำไหนถามเงินเดือน

มนุษย์มีนิสัยอยู่อย่างคือ “ชอบเปรียบเทียบ” ถ้าเทียบแล้วเอามาพัฒนาตัวและมีมุทิตาจิตกับคนอื่นย่อมถือว่าเป็นนิสัยดี แต่ถ้าเทียบแล้วอิจฉา อาจจะกลายเป็นนิสัยเสีย และอย่างหนึ่งที่ใครๆ ก็ชอบเทียบคือ “เงินเดือน”...เป็นเหมือนกันทุกชาติ

เราได้เท่านี้ คนอื่นจะได้เท่าไร? อยากรู้นะ แต่ไม่กล้าถาม...ไม่ใช่ไม่อยากถาม

เงินเดือนถือเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นความลับของคนส่วนใหญ่ คนญี่ปุ่นก็มักจะไม่ถามเงินเดือนกันถ้าไม่สนิทกัน แต่ผมเป็นคนไม่ค่อยปิดบังอะไร ฉะนั้นเดี๋ยวก็จะได้ทราบกันว่าในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย...ได้เงินเดือนเท่าไร

เหตุที่ทำให้นึกถึงเรื่องเงินเดือนขึ้นมาก็คือ ในระยะสองเดือนมานี้ ไม่ได้ไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส พอก้าวเข้าห้องเมื่อไร ก็เห็นใบเรียกชำระกองพูนๆ อยู่บนหลังตู้เย็นเมื่อนั้น กระทั่งนึกได้ว่าถึงเวลาที่จะต้องไปจ่ายให้ครบก่อนจะถูกตัดบริการ ก็ทำใจลำบากเมื่อจะควักเงินสองสามหมื่นเยน ผมไม่ชอบระบบหักค่าบริการผ่านธนาคารเพราะเราควบคุมวันจ่ายไม่ได้ แต่ถ้าจ่ายเอง จะไปวันไหนก็ได้ เรามีอำนาจสั่งจ่าย แม้ว่าจะต้องทำภายในกำหนดก็ตาม และเอาเข้าจริงการจ่ายค่าสาธารณูปโภคในญี่ปุ่นก็ทำได้ง่ายมาก ร้านสะดวกซื้อไหนๆ ก็รับ ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้หักผ่านธนาคาร

เมื่อมีเรื่องรายจ่าย ทำให้ใส่ใจเรื่องรายรับ และพอถึงวัยที่ต้องเป็นฝ่ายจ่าย ก็รู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ยื่นเงินให้พนักงาน ลองนึกๆ ดู มันไม่เหมือนตอนเราเด็กๆ นะ...ไม่ต้องจ่ายอะไรเองทั้งสิ้น มีอยู่มีกินสบายไปวันๆ ซ้ำบางวันยังขี้เกียจเรียนหนังสือทั้งๆ ที่ได้ค่าจ้างไปเรียนด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ถึงได้บอกนักศึกษาญี่ปุ่นเสมอว่า ไม่มีวัยไหนจะสบายเท่าวัยเรียนอีกแล้ว

อันที่จริง การพูดถึงเงินเดือนในญี่ปุ่นเป็นที่เรื่องน่าสับสนพอสมควร เพราะมีการหักโน่นหักนี่หรือจ่ายโน่นจ่ายนี่ยิบย่อยในแต่ละเดือนและมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย กล่าวโดยรวมคือ เมี่อคนญี่ปุ่นพูดถึงรายได้มักจะพูดถึงรายรับตลอดปีมากกว่าที่จะพูดถึงเงินเดือนอย่างที่คนไทยคุ้นปาก คำหลักๆ ที่คนญี่ปุ่นใช้คือคำว่า “รายรับทั้งปี” พูดว่า “เน็นชู” (年収; nenshū) และเมื่อบริษัทจะรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน ก็มักจะระบุตัวเลขรายรับรวมตลอดปีนี้ไว้ คำว่า “เน็นชู” หมายรวมถึงโบนัสด้วย ซึ่งบริษัทจำนวนมากรวมทั้งมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง

เมื่อเอ่ยถึง เงินที่ได้รับในแต่ละเดือน จะมีคำที่สร้างความสับสนได้ง่ายๆ อยู่จำนวนหนึ่ง เริ่มจากคำว่า “เก็สชู” (月収; gesshū) หมายถึง รายรับต่อเดือน นั่นหมายถึงการนำรายรับตลอดปีหารด้วย 12 (เดือน) ก็จะได้ตัวเลขรายรับต่อเดือนออกมา และมีคำว่า “เก็กกีว” (月給;gekkyū) หมายถึง เงินเดือนรวมในแต่ละเดือน ซึ่งประกอบด้วย “เงินเดือนพื้นฐาน” เรียกว่า “คิฮงกีว” (基本給; kihonkyū) กับ “เบี้ยเลี้ยง” เรียกว่า “เทะอะเตะ” (手当; teate) เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าเดินทาง เป็นต้น เหล่านี้คือคำเฉพาะ ค่อนข้างเป็นการเป็นงาน และคำว่า “เก็กกีว” จะไม่เกี่ยวกับโบนัส ไม่เหมือน “เก็สชู”

ส่วนคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็มีอีกคือ “คีวเรียว” (給料;kyūryō), “ชิงงิง” (賃金;chingin), “เทะโดะริ” (手取り;tedori) คำว่า “คีวเรียว”—เงินเดือน เป็นคำทั่วไปที่สุดที่สื่อถึงเงินค่าตอบแทนที่ได้รับในแต่ละเดือนจากการทำงาน ใช้ทั้งในภาษาสนทนาและภาษาเขียนโดยไม่ต้องการรายละเอียดเชิงลึกอย่างเคร่งครัดมากนัก ส่วนคำว่า “ชิงงิง”—ค่าจ้าง คือค่าตอบแทนตามมาตรฐานโดยได้รับจากการทำงาน ใช้ในกรณีที่ระบุถึงเรื่องเชิงกฎหมาย หรือการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า wage และอีกคำที่คนญี่ปุ่นพูดติดปาก คือ “เทะโดะริ”—เงินถึงมือ หมายถึง เงินที่ได้รับจริงหลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นตามกฎหมายแล้ว เช่น เบี้ยประกันสังคม ภาษีเงินได้ ภาษีท้องที่ เป็นต้น “เทะโดะริ” คือเงินสุทธิที่จะโอนเข้าบัญชีและนำมาใช้ได้จริง

คนไทยมองว่าคนญี่ปุ่นเงินเดือนสูง ถ้าใครได้ทำงานในญี่ปุ่น ก็จะได้เงินเดือนสูงกว่าการทำงานในเมืองไทย นั่นเป็นความจริง แต่ในทางกลับกัน รายรับที่ได้จากการทำงานในญี่ปุ่นก็อาจจะไม่เหลือมากมายนัก เพราะจะถูกหักจนเหลือ “เทะโดะริ” ไม่เท่าไร ด้วย “เทะโดะริ” เพียงเท่านั้นก็ยังจะต้องจ่ายค่าครองชีพที่สูงอีก ยกตัวอย่างกรณีของตัวผมเอง แต่ละเดือนจะต้องจ่าย เบี้ยประกันสุขภาพ+เบี้ยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ+เบี้ยประกันการว่างงาน+ภาษีเงินได้ รวมแล้วเดือนละประมาณ 60,000 เยน หรือราว 20,000 บาท นี่ยังไม่รวมภาษีท้องที่ ซึ่งเก็บต่างหาก รวมๆ ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส (สำหรับทำน้ำอุ่น) รวมเดือนละประมาณ 5,000 บาท

อาจารย์มหาวิทยาลัยได้เท่าไร?

ผมทำงานอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น ก็รับเงินเดือนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แน่นอน ก่อนจะเข้าก็ไม่มีการต่อรองเงินเดือน การต่อรองไม่ได้นี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะองค์กรอย่างเช่นมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่เป็นสภาพทั่วไปของบริษัททั่วญี่ปุ่นคือ บริษัทมีเกณฑ์เงินเดือนที่กำหนดไว้แล้ว และโดยหลักการ พนักงานแรกเข้าจะเจรจาขอเพิ่มสักสองพันสามพันอย่างบริษัทในประเทศไทยไม่ได้

คนทั่วไปมองว่าเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยสูง และอาชีพนี้มั่นคง มีเกียรติ ดำรงชีวิตได้อย่างไม่ฝืดเคือง ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่สบายหรูหราได้เสมอไป ภาพลักษณ์คือเป็นอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่าหลายๆ อาชีพและทำงานที่ไม่น่าจะลำบากนัก แต่จากประสบการณ์ของตัวเอง บอกได้เลยว่าเงินเดือนและสวัสดิการอาจจะดี แต่งานยุ่งมหาศาล

อาจารย์มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นได้เงินเดือนเท่าไรโดยเฉลี่ย? กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นสำรวจและประมวลข้อมูลเฉลี่ยของ 3 ตำแหน่งทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2557 ไว้ดังนี้

ตำแหน่งศาสตราจารย์
อายุเฉลี่ย57 ปี
ชั่วโมงทำงาน155 ชม./เดือน
รายรับต่อเดือน657,200 เยน
รายรับทั้งปี10,736,900 เยน

ตำแหน่งรองศาสตราจารย์
อายุเฉลี่ย46.9 ปี
ชั่วโมงทำงาน158 ชม./เดือน
รายรับต่อเดือน526,000 เยน
รายรับทั้งปี8,333,500 เยน

ระบบมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์แล้ว ซึ่งต่างจากของไทย และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจมีอายุเกษียณต่างกัน มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีอายุเกษียณ 70 ปี หรืออย่างมหาวิทยาลัยโตเกียวการต่างประเทศที่ผมสอนอยู่ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่ออกนอกระบบแล้ว (ผมเลี่ยงคำว่ามหาวิทยาลัยรัฐ เพราะมหาวิทยาลัยรัฐมีทั้งสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศ (แห่งชาติ) และสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจังหวัด) กำหนดอายุเกษียณที่ 65 ปี ฉะนั้น ถ้าเทียบจากอายุเฉลี่ย 57 ปีของศาสตราจาย์ นั่นหมายความว่าศาสตราจารย์จะได้รับเงินเดือนประมาณนี้ไปอีกราวๆ 10 ปี แต่แน่นอนว่ากว่าจะได้ตำแหน่งมาก็ไม่ใช่ง่ายๆ

ส่วนระดับรายรับของตำแหน่งอาจารย์คือ

ตำแหน่งอาจารย์
อายุเฉลี่ย43.2 ปี
ชั่วโมงทำงาน159 ชม./เดือน
รายรับต่อเดือน477,500 เยน
รายรับทั้งปี7,211,200 เยน

เมื่อเทียบกับข้อมูลนี้ ของผมห่างจากค่าเฉลี่ยมาก เรื่องแรกคืออายุ ตอนนี้ยังถือว่าเป็นอาจารย์เด็ก อายุต่ำกว่า 43.2 มากกว่า 5 ปี ฉะนั้นรายรับต่อเดือนก็ต่ำกว่านั้นมาก คืออยู่ในหลักสามแสนเยน และชั่วโมงการทำงานในปัจจุบันก็เกิน 159 ชั่วโมงไปมาก ไม่ต่ำกว่า 200 ชั่วโมงแน่นอน ซึ่งอาจจะผิดจากภาพที่คนภายนอกมองว่า นอกจากงานสอนแล้วอาจารย์ไม่น่าจะมีอะไรยุ่ง

ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีระบบที่บังคับให้อาจารย์ต้องทำวิจัยไปด้วย มีระบบสัมมนาที่ต้องรับนักศึกษาเข้ามาสังกัดตั้งแต่อยู่ชั้นปี 3 จนกว่าจะเรียนจบ ระหว่างนั้นต้องสอนวิธีการทำวิจัยตลอดจนการเขียนบทความวิชาการ ซึ่งการอ่านงานเขียนทีละ 20-30 หน้าของคนหลายๆ คนนี่ใช้เวลามากมาย ฉะนั้นระยะเวลาทำงานจริงๆ ของอาจารย์ทุกระดับไม่ได้น้อยไปกว่าพนักงานบริษัทเลย หรืออาจจะมากกว่าเมื่อคิดว่าอาจารย์จะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาด้วย และสำหรับอาจารย์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไปเปิดกระเป๋าดูเถิด เจอหนังสือแน่ๆ อย่างน้อยหนึ่งเล่ม เพราะอาจารย์ทั้งหลายไม่ว่าจะไปไหนก็จะพกหนังสือติดตัว ของผมนี่ถ้ามาเปิด...จะได้เจอไม่น้อยกว่าสามเล่มเสมอ ผมจึงยืนยันได้ว่าเมื่อระบบญี่ปุ่นจ่ายเงินเดือนสูง ทุกองค์กรย่อมคาดหวังว่าผู้รับเงินจะทำงานเต็มที่เต็มเวลา ไม่เล่นเฟซบุ๊กระหว่างงาน ไม่คุยไลน์หยอกล้อกัน

เงินเดือนผมโอนเข้าทุกวันที่ 17 ของเดือนนี้จะเหลือเท่าไรยังไม่ได้คำนวณ แต่ก้มมองบิลค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊ส...กำลังชั่งใจว่าจะจ่ายให้หมดๆ ไป หรือจะจ่ายแค่ค่าไฟก่อนดี เพราะมันจำเป็นที่สุดในเดือนที่กำลังเริ่มหนาว

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น