xs
xsm
sm
md
lg

“ทรูฟิตเนส” ตาย สะเทือนบิ๊กเชนอินเตอร์ รายย่อยทุนต่ำ-คล่องตัวผุดเกลื่อนแย่งตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดฟิตเนสในไทยถือเป็นตลาดที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับภาพลักษณ์ที่เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น จากเดิมที่ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีเป็นสถานที่ที่มีอะไรไม่ดีแอบแฝงอยู่ กระทั่งปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก ตลาดก็ยังไปได้ดี มูลค่าตลาดรวมฟิตเนสในไทย อยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาทแล้ว และยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพอีกมาก

ทั้งนี้ สังเกตได้จากการมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดต่อเนื่องทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย รวมทั้งโลคัลแบรนด์ และอินเตอร์แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่อย่าง จาโตมิ จากยุโรป ที่เข้ามาเปิดในไทยที่บิ๊กซีราชดำริ และที่เทสโก้โลตัส สาขาพระราม 4 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือรายย่อยที่ผุดเป็นดอกเห็ด

มองในมุมของผู้บริโภคคนไทยเองก็หันมาเล่นฟิตเนสกันมากขึ้น เคยมีรายงานเมื่อปี 2558 ของ International Health Racquet & Sports Club Association ที่ระบุไว้ว่า คนไทยเล่นฟิตเนสเพียงแค่ 0.6% ของประชากรทั้งหมด ถือว่ายังน้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชียที่เล่นฟิตเนสอยู่ที่ 8% ก็ถือว่าธุรกิจฟิตเนสในไทยยังมีโอกาสทำตลาดได้อีกนานหากไม่สะดุดขาตัวเองล้มลงเสียก่อน

ส่วนประเทศที่ประชากรเล่นฟิตเนสมากที่สุดในเอเชีย คือ สิงคโปร์ 7% จากจำนวนประชากรทั้งหมด, ฮ่องกง 4.7%, เกาหลีใต้ 3%, ญี่ปุ่น 2.7%, จีน 2.7%, ไต้หวัน 1.8%, อินเดีย 1.4%, อินโดนีเซีย 1.3%, มาเลเซีย 1.1% ขณะที่อเมริกา อยู่ที่ 9% และนิวซีแลนด์ 11%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้การเกิดขึ้นของบรรดารายเล็กและรายกลางมีมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะที่เป็นโลคัลแบรนด์ เช่น วีฟิตเนส เอ็มฟิตเนส แมกซ์ฟิตเนส เซ็นเตอร์ สแมชยิมไทยแลนด์ ฟิตดีฟิตเนส เป็นต้น สวนทางกับฟิตเนสเชนใหญ่อินเตอร์แบรนด์ที่เริ่มล้มหายตายจากไปทีละรายสองราย ที่ล้มโด่งดังก็คือ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่ยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องของศาลอยู่ ล่าสุดอีกราย คือ ทรูฟิตเนส ที่สร้างความประหลาดใจอย่างมาก และแน่นอนว่ากรณีนี้จะต้องส่งผลสะเทือนต่อวงการทั้งในแง่ภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กู้กลับมาค่อนข้างยาก และส่งผลต่อผู้ประกอบการรายใหญ่อินเตอร์อย่างยิ่งไม่ได้ที่ต้องประคองธุรกิจให้อยู่ต่อท่ามกลางความเชื่อมั่นที่หนักไปในเชิงลบและภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

บิ๊กฟิตเนสเชน จุกอกต้นทุน

“กรณีปัญหาการปิดตัวของทรูฟิตเนสที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่วนตัวแล้วมองว่าการปิดตัวน่าจะเกิดจากเรื่องของการบริหารจัดการรวมถึงการให้บริการสมาชิกที่ผิดพลาดมากกว่า ขณะที่ในตลาดยังมีผู้เล่นโลคัลหันมาเปิดให้บริการฟิตเนสแบบเฉพาะทางมากขึ้น” เป็นความเห็นของนายโอฬาร พิรินทรางกูร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด

ตลาดฟิตเนสที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาทในไทยเวลานี้ ถูกเชนใหญ่ทั้งโลคัล แต่ส่วนใหญ่เป็นเชนอินเตอร์แบรนด์ ครอบครองตลาดไปแล้วมากกว่า 90% ไม่ว่าจะเป็น ฟิตเนสเฟิร์สท์ ทรูฟิตเนส หากไม่เจ๊งไปเสียก่อน เวอร์จิ้นแอคทีฟ เป็นต้น ที่เหลือก็เป็นรายกลางและรายย่อยของไทยเป็นหลัก

ปัญหาหลักๆ ของการล่มสลายและปิดตัวไปของฟิตเนสเชนใหญ่ที่อาจจะไม่ใช่ทุนหนา แต่อยู่ที่ต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว ผู้เชี่ยวชาญในวงการฟิตเนสเคยกล่าววิเคราะห์เอาไว้ว่า ฟิตเนสเชนใหญ่โดยเฉพาะอินเตอร์แบรนด์ มีต้นทุนเป็นปัญหาหลักที่ทิ่มแทงตังเองอยู่ทุกวัน ซึ่งหมายถึงทั้งค่าเช่าที่ที่แต่ละสาขามักจะกว้างใหญ่โอ่โถงแต่คนน้อย ค่าบริหารจัดการ ค่าจ้างพนักงาน เทรนเนอร์ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่มักอ้างว่านำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญคือ การต้องพยายามหาสมาชิกในจำนวนที่มากที่สุดให้ได้ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถเก็บค่าสมาชิกให้มากที่สุดเพื่อนำมาเฉลี่ยกับต้นทุนที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อยิ่งมีการขยายสาขาออกไปเพิ่มขึ้น ต้นทุนทุกอย่างที่กล่าวมาก็จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ยังไม่นับต้นทุนจิปาถะอย่างอื่นอีก แม้ว่ารายย่อยจะมีต้นทุนแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็ต่ำกว่ามาก การหาสมาชิกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา กำลังซื้อซบ ต้นทุนไลฟ์สไตล์บางอย่างก็ถูกจำกัดจากผู้บริโภค การที่จะต้องมาเสียค่าสมาชิกเป็นรายเดือนรายปีแบบจ่ายล่วงหน้าเป็นหลักแสนหลักหมื่น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้บริโภคจะยอมควักอีกแล้ว เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้ประกอบการแม้จะเป็นเชนใหญ่ก็ตาม

ต้นทุนด้านสถานที่ ค่าสาธารณูปโภคนี้ชัดเจนมากที่ทำให้เชนใหญ่ต้องสะดุดลง ดังกรณีของแคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็มีปัญหากับทางเจ้าของพื้นที่เกือบจะทุกสาขา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เป็นหลัก ในเรื่องของการค้างค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่

ล่าสุดกรณีของ ทรูฟิตเนส ในไทยที่ก่อตั้งและดูแลบริหารโดยนายแพทริค วี ก็หนีไม่พ้นหนามทิ่มตำแบบเดียวกัน แม้จะเป็นกลุ่มใหญ่สัญชาติสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจด้านฟิตเนสและด้านสุขภาพที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยช่วงปี 2549 เปิดสาขาแรกที่สาขาเอ็กซ์เชนจ์ ทาวเวอร์ อโศก ต่อมาได้ขยายสาขาที่ เซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และเอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย และมีเครือข่ายใน 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ไต้หวัน และจีน
แพทริค วี ผู้ก่อตั้งและบริหาร ทรูฟิตเนส ในไทย
แฉ “ทรูฟิตเนส” ค้างค่าเช่า-น้ำ-ไฟ

ความมาแตกหลังจากเป็นข่าวปิดบริการไปไม่กี่วัน เมื่อถูก บริษัท ไทยแลนด์ ไพร์ม พร็อพเพอร์ตี้ (TPRIME) ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยได้ลงทุนในอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก และเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทรูฟิตเนสเช่าเอาไว้ ออกมาแฉแบบหมดเปลือก ดังนี้

“บริษัท ไทยแลนด์ ไพร์ม พร็อพเพอร์ตี้ (TPRIME) ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยได้ลงทุนในอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ถึงกรณีที่บริษัท ทรู ฟิตเนส จำกัด และบริษัท ทรู สปา จำกัด (รวมเรียกว่า “ทรูฟิตเนส”) ได้มีการติดประกาศปิดกิจการในช่วงเย็นวันที่ 8 มิ.ย. 2560 จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีการเร่งเจรจากับผู้สนใจเช่าพื้นที่รายอื่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วและสามารถเข้ามาทดแทนผู้เช่ารายดังกล่าวได้

โดยเป็นการปิดกิจการอย่างกะทันหันมิได้มีการกล่าวแจ้งล่วงหน้าก่อน ทางบริษัท เอสซีซีพี รีทส์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ ได้ตรวจสอบผลกระทบได้ ดังนี้

ทรูฟิตเนส ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการ ชั้น 2, 3, 4 และ 21 โดยมีพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้น 4,956.10 ตารางเมตร คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 11% ของพื้นที่ปล่อยเช่าทั้งอาคาร และคิดเป็น 7.4% ของพื้นที่ปล่อยเช่าของกองทรัสต์ผู้เช่ามีการวางเงินค้ำประกันการเช่าเท่ากับค่าเช่าและค่าบริการประมาณ 10.8 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางอาคารได้มีการส่งหนังสือแจ้งแก่ทรูฟิตเนส ทราบถึงรายการค้างชำระของเดือน พ.ค.และ มิ.ย. รวมถึงค่าสาธารณูปโภค เป็นยอดค้างชำระรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ สัญญาเช่าและบริการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2561 และในเงื่อนไขของสัญญาจะต้องมีการเจรจาต่อสัญญาเช่าและบริการอย่างน้อย 7 เดือนก่อนที่สัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ได้มีการเจรจากับผู้สนใจเช่าพื้นที่รายอื่นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ทรูฟิตเนสจะไม่ต่อสัญญาเช่าและบริการไว้อยู่ก่อนแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีการเร่งเจรจากับผู้สนใจเช่าพื้นที่รายอื่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วและสามารถเข้ามาทดแทนผู้เช่ารายดังกล่าวได้ ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับผู้เช่ารายใหม่ ผู้จัดการกองทรัสต์จะรีบแจ้งให้ผู้ถือหน่วยทรัสต์ทราบ”

ส่วนที่สาขาแครายในเมเจอร์ซีนีพล็กซ์ อุปกรณ์ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ปิดประตูปิดบริการ ส่วนพื้นที่จอดรถสมาชิก ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่จอดรถสำหรับผู้หญิงไปแล้ว ส่วนทางเมเจอร์ฯ ก็ติดป้ายประกาศหาผู้สนใจเช่าพื้นที่ต่อทันทีทันควัน

ทรูฟิตเนส ได้ปิดบริการโดยปริยาย หลังจากที่สาขาแครายปิดไปก่อน และตามมาด้วยสาขาที่อโศกเอ็กซ์เชนจ์ทาวเวอร์ ในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา จากก่อนหน้าเมื่อปลายปี 2559 ปีที่แล้ว ได้ปิดสาขาใหญ่ที่ตึกเซ็นทรัลเวิลด์ไปแล้วเพราะแบกต้นทุนที่สูงมากไม่ไหว

ทรูฟิตเนสปิดตัวเองด้วยสถานภาพที่ไม่ค่อยจะดีนัก จากข้อมูลงบการเงินที่เปิดเผยออกมาระบุว่า ทรู ฟิตเนส จดทะเบียนก่อตั้ง ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท โดยมีกรรมการ 2 คน คือ นายภานุวัฒน์ แพรัตนกุล และ น.ส.ศศิธร มูลใจทราย และได้แจ้งงบการเงินปี 2558 มีรายได้ 276 ล้านบาท ต้นทุนขาย 245 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 0 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 66 ล้านบาท รวมรายจ่าย 316 ล้านบาท ดอกเบี้ย 9.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 49 ล้านบาท

ทรูฟิตเนสอ้างเจ้าหนี้ไม่เปิดโอกาส

หลังจากที่ ทรู ฟิตเนส ได้ปิดกิจการในไทยแบบกระทันหัน ในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 โดยไม่บอกให้สมาชิกทราบล่วงหน้า แต่ใช้วิธีติดประกาศด้วยกระดาษแผ่นเล็กๆ ไว้หน้าบริษัทเท่านั้น โดยวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ทรูได้ส่งเอกสารชี้แจงให้กับสมาชิก มีเนื้อหาดังนี้

“ถึงสมาชิก เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างถึงที่สุด ที่เราต้องประกาศหยุดดำเนินการในประเทศไทย โดยศูนย์ True Fitness, True Spa และ True ‘Est ทั้งหมดได้ยุติการดำเนินงานลงในวันที่ 9 มิ.ย. 2017

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้เผชิญกับเรื่องท้าทายมากมายในเมืองไทย แต่น่าเสียดายที่ธุรกิจนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อีกในสภาพที่ตลาดเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ แม้เราจะได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถดำเนินการในประเทศไทยต่อไปได้อีก แล้ว ในการแข่งขันอยู่ในตลาดที่มีภาวะเช่นนี้
เราเคยมีคนที่จะมารับช่วงธุรกิจในประเทศไทยแทนอยู่หลายเจ้า แต่เจ้าของสถานที่ไม่ยอมที่จะให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาดูแลกิจการแทน บางกรณีมีการเรียกร้องว่าหากทำเช่นนั้น ก็ต้องมีการขึ้นค่าเช่า เรายังเคยพยายามจะหาผู้มาร่วมปรับปรุงธุรกิจนี้ แต่เจ้าของสถานที่ก็ไม่ยืดหยุนพอที่จะให้ทำแบบนั้นได้

เช่นเดียวกับเจ้าหนี้ที่ไม่เปิดโอกาสให้เราปรับปรุงธุรกิจได้ทันเวลา การที่เจ้าหนี้ตัดสินใจยุติการดำเนินงานของเราจึงเกิดขึ้นโดยที่เราไม่มีทางเลือกใดๆ นอกจากต้องหยุดการทำงานทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามารับช่วงธุรกิจแทนต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดเรายังคงมองหาผู้ประกอบการด้านฟิตเนสส์ และด้านสุขภาพ ที่พร้อมจะมารับช่วงธุรกิจต่อไป ซึ่งเราหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนในช่วงเวลาเช่นนี้ ลงชื่อ ฝ่ายจัดการ True Fitness, True Spa และ True ‘Est “

“เวอร์จิ้น” รับเหยื่อ “ทรูฟิตเนส”

นายโอฬาร พิรินทรางกูร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเวอร์จิ้น แอคทีฟ ฟิตเนส ในไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ทรูฟิตเนสได้ปิดบริการลงทั้งสองสาขาตามที่เป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางบริษัทฯมองว่า เพื่อเป็นการลดภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของทรูฟิตเนส ซึ่งทางเวอร์จิ้นแอคทีฟเองก็อยู่ในธุรกิจนี้เช่นกัน จึงได้มีการปรึกษาหารือกันภายในองค์กรว่าจะหาทางช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อนเหล่านั้นอย่างไรดี

ทั้งนี้ได้ข้อสรุปออกมาว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 นี้จะเปิดให้ทางสมาชิกทรูฟิตเนสสามารถเข้าใช้บริการฟรีในทุกบริการที่เวอร์จิ้นฯ มีได้ทุกสาขา โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เพียงนำบัตรสมาชิกทรูฟิตเนสมายื่นที่เคาน์เตอร์ก่อนเข้าบริการเท่านั้น

“ในสถานการณ์ที่กระแสรักสุขภาพและการออกกำลังกายดีต่อเนื่องในไทย จากที่เป็นเพียงกระแสปัจจุบันถือเป็นพฤติกรรมหนึ่งของผู้บริโภคไปแล้ว ที่จะต้องให้ความใส่ใจและออกกำลังกายเป็นประจำ ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ที่ออกกำลังกายในไทยจะยังไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากส่วนใหญ่เป็นคนเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน รวมถึงผู้บริหารบางส่วน อายุเฉลี่ย 20-45 ปี เป็นหลัก แต่แนวโน้มในหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดเริ่มมีทิศทางไปในแนวเดียวกัน”

ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ยังคงมั่นใจและลงทุนในไทยต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี2559ที่แล้วที่ผ่านมากับการใช้งบกว่า 100 ล้านปอนด์ หรือค่าเงินในขณะนั้นกว่า 5,200 ล้านบาท สำหรับขยายสาขาในไทยให้ได้ 20 สาขา ภายใน 5 ปี โดยต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดสาขาที่ 5 คือ“เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ อีสต์วิลล์” ที่เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ มีพื้นที่ 4,200 ตารางเมตร รวม 4 ชั้น เปิดให้บริการตั้งแต่ ธ.ค.ปีก่อน และในครึ่งปีหลังนี้จะเห็นแน่นอนอีก 2 สาขา ลงทุนสาขาละ 300-400 ล้านบาท ถึงสิ้นปีมั่นใจว่าในแง่สมาชิกจะเพิ่มเป็น 20,000 คน จากปีก่อนอยู่ที่ 15,000 คนโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 100% ส่วนรายได้คาดว่าจะเติบโต 20% เท่าปีก่อน

ค่ายฟิตเนสเฟิร์สท์รายใหญ่อีกราย ดูเหมือนว่าจะมีความแข็งแกร่งมากกว่ารายอื่น ในฐานะที่เป็นเจ้าตลาด ทั้งจำนวนสมาชิก จำนวนสาขา และประสบการณ์ในตลาดประเทศไทยที่มีมานาน มีไม่ต่ำกว่า 30 สาขา รวมสมาชิกประมาณ 80,000 คนได้

ช่องว่างรายย่อยแจ้งเกิด

ความใหญ่ของเชนอินเตอร์ด้วยเรื่องขนาดพื้นที่ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าอยู่ลำบาก ถ้าหากค่าตอบแทนต่อตารางเมตรได้ไม่คุ้มเสีย เช่น ทรูฟิตเนส ใช้พื้นที่ต่อสาขามากมาย เช่น สาขาอโศกมากกว่า 4,000 ตารางเมตร เชนใหญ่อย่าง เวอร์จิ้นแอคทีฟ ก็ใช้พื้นที่มากพอๆ กัน เช่น สาขาเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ พื้นที่กว่า 4,200 ตารางเมตร, สาขาเซ็นทรัลเวสต์เกต พื้นที่ 3,000 กว่าตารางเมตร, สาขาสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ มากกว่า 5,000 ตารางเมตร เป็นต้น หรือค่ายใหญ่อย่างฟิตเนสเฟิร์สท์ก็ใช้พื้นที่หลัก 4-5 พันกว่าตารางเมตรต่อสาขาเป็นส่วนใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละค่ายจะทำอย่างไรให้คุ้มค่านั่นเอง การหาสมาชิกก็ค่อนข้างหนักหน่วง ซึ่งเมื่อทรูฟิตเนสเล่นวิธีควักจ่ายค่าสมาชิกระยะยาวทีเดียว เป็นรายปี ก็หนักหน่วงเอาการ

หากเทียบกับรายกลางรายย่อยที่มักใช้ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งทำให้การบริหารจัดการ รายได้ต่อตารางเมตรง่ายกว่ากันมาก และเสียค่าบริการแบบรายวันเป็นส่วนใหญ่ หรืออย่างเก่งก็แบบรายเดือนทำให้การตัดสินใจใช้บริการง่ายกว่า และเป็นต้นเหตุที่ทำให้สมาชิกของรายย่อยมีเพิ่มขึ้น กลายเป็นการแย่งสมาชิกจากเชนใหญ่ไปโดยปริยายเพราะมีความยืดหยุ่นมาก

รายกลางและรายเล็กที่เกิดขึ้นมาแล้วอยู่รอดก็มีมาก ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้อยู่รอดหลักๆคือ เรื่องของทำเลที่ต้องเน้นชุมชนและสแตนด์อโลนไม่ได้อยู่ในศูนย์การคา เรื่องของ ขนาดพื้นที่ ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 1,000 ตารางเมตร อุปกรณ์ที่ใช้ต้องพร้อม เป็นต้น จึงจะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 -3 ปีมานี้ รายกลางรายเล็กเกิดขึ้นมาด้วยการเปิดตามชานเมืองแต่เป็นย่านคนพลุกพล่าน และใช้พื้นที่เฉลี่ยห้องแถว 2 ห้อง และสแตนด์อะโลน หรือไม่ก็เปิดในคอมมูนิตีมอลล์ เช่น แมกซ์ ฟิตเนสเซ็นเตอร์ หรือ เอ็มฟิตเนส บลิสบอดี้ โยคะแอนด์มี เป็นต้น

อย่างกรณีของ เอม ฟิตเนส ใช้กลยุทธ์ พื้นที่ขนาดเล็ก เจาะชุมชนชานชานเมือง เช่น สาขามหาชัย พระรามสองและตากสิน วางเป้าหมายในปี 2562 จะมีรวม 10 สาขา สมาชิก 5,000 ราย ไต่ระดับรายได้จาก 12 ล้านบาทจาก 2 สาขาในปี 58 เป็น 60 กว่าล้านบาทปีนี้ ด้วยพื้นที่เฉลี่ย 400-1,200 ตารางเมตร ค่ารายเดือนเฉลี่ย 1,000 กว่าบาท

ขณะที่อีกรายที่น่าจับตามองคือ “Bliss Body” ที่เปิดตัวสาขาแรกเมื่อปี 2559 ย่านสาทร-พระราม 4 ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท สาขาแรกใจกลางเมือง ณ อาคาร KRITS BUILDING บนชั้น 5 และสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ระบบการตัดพอยต์ในการเข้าคลาส โดยเมื่อลูกค้าสมัครสมาชิกซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 แพกเกจ คือ 15,000 บาท, 35,000 บาท, 50,000 บาท และ 85,000 บาท จะได้รับพอยต์เพื่อใช้ในการเข้าคลาส โดย 1,000 บาทจะมีมูลค่าเท่ากับ 10 พอยต์ และลูกค้าสามารถนำพอยต์ดังกล่าวไปใช้บริการได้ทุกอย่างทุกคลาสไม่จำกัด และกรณีที่พอยต์เหลือสามารถโอนให้กับผู้เล่นคนอื่นได้ด้วย ขณะเดียวกันยังมีบริการคลาสออกกำลังกายเป็นรายครั้ง สำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการไม่บ่อยนักอีกด้วย

หรืออย่าง โยคะ แอนด์ มี เตรียมลงทุน 16 ล้านบาท เปิดใหม่ 2 แห่ง คือ ย่านสุขุมวิท และบางนา จากปัจจุบันมี 5 แห่ง ได้แก่ เดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์, เดอะวอล์ก ราชพฤกษ์, ตลาดบองมาร์เช, ลาวิลล่า อารีย์ และอารีย์ 2 ตึก IBM ส่วนปี 2561 จะขยายสาขาเพิ่ม ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และต่างจังหวัด สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 85% และผู้ชาย 15% ตั้งเป้ารายได้สิ้นปี2560นี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท โต 15%

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า บิ๊กฟิตเนสเชนอินเตอร์ที่เหลืออยู่ไม่กี่ราย จะขับเคลื่อนธุรกิจไปได้อย่างไรจากนี้ และจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างไรเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น