xs
xsm
sm
md
lg

“ไอเฟค”ดับคามือหมอวิชัย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


     ปัญหาในบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นไอเฟค ดูจะยุ่งเหยิงวุ่นวาย กลายเป็นหนังชีวิตที่ต้องติดตามกันยาวๆ โดยไม่อาจคาดหมายตอนอวสานได้
     แม้จะจัดประชุมผู้ถือหุ้น และลงมติคัดเลือกกรรมการใหม่ แม้คณะกรรมการชุดใหม่จะประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาบริษัทแล้ว
     และแม้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จะเข้ามากำกับดูแลการแก้ปัญหาภายใน “ไอเฟค”อย่างใกล้ชิด
     แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดในการแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

     หุ้นยังถูกขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” ถูกพักการซื้อขาย การผิดนัดชำระหนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข งบการเงินปี2559ยังไม่สามารถส่งตลาดหลักทรัพย์ได้
     เสียงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ไม่โปร่งใสยังไม่มีใครเข้าไปจัดการแก้ไข
     ผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟคเหมือนตกอยู่ในนรก ได้แตกแบกรับความเสียหาย และไม่รู้จะร้องขอความช่วยเหลือจากคา
     แม้นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกกลุ่ม จะยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท พร้อมกับกรรมการกลุ่มนายทวิชอีก 3 คน และเหลือแต่กลุ่มนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ที่กุมอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะปราศจากกรรมการฝ่ายค้านแล้ว
     แต่นายแพทย์วิชัยกำลังถูกผู้ถือหุ้นรายย่อย ร้องเรียนเรื่องการบริหารงาน ถูกกล่าวหาว่า ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และไม่รับการไว้วางใจให้บริหารงานต่อไป

     การบูรณะฟื้นฟูไอเฟคภายใต้การนำของนายแพทย์วิชัยจึงหวังอะไรไม่ได้มากนัก เพราะไม่รู้ว่า นายแพทย์วิชัยจะต้านทานกระแสการรุกไล่ของผู้ถือหุ้นทั้งรายย่อยและรายใหญ่ได้ขนาดไหน
     ภาพโดยรวมของไอเฟคขณะนี้ถือว่าวิกฤตหนัก วิกฤตทั้งปัญหาหนี้ วิกฤตทั้งฝ่ายบริหาร และปัญหาดูเหมือนไม่มีทางออก ซึ่งหากวิกฤตไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ผู้ถือหุ้นจะแบกรับความเสียหายหนักยิ่งขึ้น
     แต่ใครจะช่วยผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ “ติดแหง็ก” อยู่ในไอเฟค
     เพราะก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนโดยตรง ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาไอเฟคได้ นอกจากเฝ้าสังเกตการณ์เท่านั้น แม้ไอเฟคจะล่มสลายคาตาก็ตาม

     วิกฤตของไอเฟคขณะนี้ ไม่แตกต่างจากวิกฤตของสถาบันการเงินช่วงปี 2540 ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งวิกฤตไม่ให้ลุกลาม สร้างความเสียหายในวงกว้าง
     ธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจตามกฎหมาย ในการดับวิกฤตสถาบันการเงิน โดยสั่งควบคุมสถาบันการเงินได้ทันทีที่เกิดวิกฤต สั่งถอดถอนผู้บริหารและส่งตัวแทนเข้าไปกำกับดูแลการดำเนินงานแทนได้ รวมทั้งการตรวจสอบทรัพย์สินและบัญชีงบการเงิน
     การให้อำนาจแบงก์ชาติในการควบคุมสถาบันการเงิน ก็เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ฝากเงิน และควบคุมผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงิน
     แต่ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจสั่งควบคุมบริษัทจดทะเบียน ทั้งที่วิกฤตของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ลงทุน อย่างหนักก็ตาม

    ไอเฟคควรจะถูกก.ล.ต.ควบคุมกิจการแล้ว และส่งตัวแทนเข้าฟื้นฟู จนกว่าจะพ้นจากวิกฤต แต่เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ก.ล.ต.จึงได้แต่เฝ้าดูความเสียหายของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่”ติดแหง็ก”อยู่ในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
     ข้อจำกัดของก.ล.ต.ในการแก้วิกฤตไอเฟค น่าจะนำไปสู่การแก้กฎหมาย เพื่อเปิดช่องให้หน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน มีอำนาจ เข้าควบคุมกิจการบริษัทจดทะเบียน เพื่อปกป้องประชาชนผู้ลงทุน
     เพราะเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจแบงก์ชาติ สั่งควบคุมสถาบันการเงิน เพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ ทำไมจะมีกฎหมาย มอบอำนาจให้ก.ล.ต.สั่งควบคุมบริษัทจดทะเบียน เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนไม่ได้
     แต่ถึงยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจสั่งควบคุมบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องพลิกทุกแง่กฎหมาย คิดทุกแนวทาง เพื่อหาข่องช่วยผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งกำลังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในไอเฟค
     เพราะถ้าก.ล.ต.ไม่ช่วย ตัวประกันไอเฟคมีโอกาสถูกสังหารหมู่คามือหมอวิชัยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น