“อภิศักดิ์” ระบุนักลงทุนต่างชาติมั่นใจตลาดเงินของไทย จูงใจให้เงินไหลเข้าจนทำให้ค่าบาทแข็ง ย้ำเอกชนต้องป้องกันความเสี่ยง รับมือค่าเงินผันผวน แม้ธปท.จะทำหน้าที่ควบคุมอยู่แล้ว พร้อมให้ “เอ็กซิมแบงก์” หาช่องอุ้มผู้ประกอบการรายเล็ก ด้วยการสต๊อกเงินลอตใหญ่ เพื่อทยอยขายให้รายย่อย ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยคาดสรุปภายใน 1 เดือน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งในช่วงนี้ ว่า ผู้ประกอบการบริษัทเอกชนจะต้องดูแลเรื่องความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จนลุกลามบานปลายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ หากไม่ได้ทำประกันความเสียงไว้
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จับตาดูอย่างใกล้ชิด ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงก์ พยายามหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น แนวคิดที่จะซื้อเงินลอตใหญ่เพื่อมาทยอยขายให้กับรายย่อย เพื่อที่รายย่อยจะไม่ต้องรับภาระค่าเงินผันผวน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหารือร่วมกับ ธปท.ถึงความเป็นไปได้
“ทางที่ดีที่สุด ผู้ประกอบการต้องดูแลตัวเอง ต้องป้องกันความเสี่ยง แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งแบงก์ชาติดูแลอยู่ เราไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้” นายอภิศักดิ์ กล่าว
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยในช่วงนี้ นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากนักลงทุนประเมินอัตราดอกเบี้ยในตลาดหลักอยู่ในระดับต่ำ จึงหันหาลงทุนในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ซึ่งประเทศไทยถือเป็น AAA ของตลาดเกิดใหม่ที่มีความมั่นคง บวกกับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาค่อนข้างมาก แต่จะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นหรือไม่นั้น ธปท.ติดตามอยู่ รวมทั้งได้ออกมาตรการเรื่องลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นลง
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิ์การรัฐ กับธนาคารของรัฐทั้ง 3 แห่งนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง คาดจะเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อสรุปรูปแบบในการช่วยเหลือผู้มีรายได้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี โดยในส่วนของวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่จะนำไปช่วยเหลือนั้น เป็นเงินปกติที่จะช่วยเรื่องค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่ารถเมล์ฟรี จากวงเงินงบประมาณที่ใช้อยู่ แต่การช่วยเหลือจะปรับรูปแบบไม่ได้ช่วยแบบรถเมล์ฟรีทั้งคัน แต่จะเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือที่ตรงตัวเลย โดยให้เป็นบัตรโดยสารแก่ผู้มีรายได้น้อยแทน
“ส่วนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนไว้ แนวคิดก็คือว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ แต่วิธีการช่วยเหลือก็ต้องไปดูว่า ก็ต้องใช้งบประมาณเขามีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทเท่าไหร่ ไปเติมให้เขาไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท แต่ก็ต้องไปดูงบประมาณด้วย โดยจะทำทุกปี เมื่อเขาได้รับแล้ว ก็มีเงื่อนไขต้องพัฒนาตัวเองด้วย แต่ก็ต้องมีเป้าหมายด้วย ทำอย่างไรคนเหล่านี้จะต้องพ้นความยากจนในแต่ละปี พ้นยากจนกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้คนเหล่านี้ลดลง เป็นเงื่อนไขต้องเข้าโครงการอบรมพัฒนาอาชีพ”